บุคคล ๒ พวกที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย

 
pirmsombat
วันที่  29 ม.ค. 2555
หมายเลข  20458
อ่าน  2,939

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 357

.................................

สูตรที่ ๒

บุคคล ๒ พวกที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย

[๒๗๘] ๓๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทน

ไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง ทั้งสองท่านคือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึ่ง

ประดับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิต อยู่ตลอด ๑๐๐ ปี

และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ

และการดัด และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสอง

ของเขานั่นแหละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า

อันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

อนึ่ง บุตรพึงสถาปนาบิดามารดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์

ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การการทำกิจอย่างนั้น

ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้น

เพราะเหตุไร

เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้

แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทาน

ตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีล-

สัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา

ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูก่อน

ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า

อันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา.

จบสูตรที่ ๒

อรรถกถาสูตรที่ ๒

ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า มาตุ จ ปัตุ จ ได้แก่ มารดาผู้บังเกิดเกล้า ๑ บิดาผู้

บังเกิดเกล้า ๑. บทว่า เอเกน ภิกฺขเว อํเสน มาตรํ ปริหเรยฺย ความว่า

บุตรพึงปรนนิบัติมารดาแบกไว้บนจะงอยบ่าข้างหนึ่ง. บทว่า เอเกน

อํเสน ปิตรํ ปริหเรยฺย ความว่า บุตรพึงปรนนิบัติบิดาแบกไว้บนจะงอย

บ่าข้างหนึ่ง. บทว่า วสฺสสตายุโก วสฺสสตาชีวี ความว่า มีอายุถึง ๑๐๐ ปี

ทรงชีพอยู่ ๑๐๐ ปี. มีคำอธิบายว่า ถ้าบุตรคิดว่าจักตอบแทนคุณบิดา

มารดา กระวีกระวาดให้มารดานั่งบนจะงอยบ่าข้างขวา ให้บิดานั่งบน

จะงอยบ่าข้างซ้าย มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ทรงชีพแบกอยู่ ๑๐๐ ปี. บทว่า

โส จ เนสํ อุจฺฉาทนปริมทฺทนนฺหาปนสมฺพาหเนน ความว่า บุตรนั้น

แลพึงบำรุงบิดามารดาผู้นั่งอยู่บนจะงอยบ่านั่นเอง ด้วยการอบกลิ่นให้

ตัวหอม เพื่อบรรเทากลิ่นเหม็น ด้วยการนวดมือเท้า เพื่อบรรเทาเมื่อยขบ

เวลาหนาวให้อาบน้ำอุ่น เวลาร้อนให้อาบน้ำเย็น ด้วยการดัดคือ ดึงมือ

และเท้าเป็นต้น . บทว่า เต จ ตตฺเถว ความว่า บิดามารดาทั้งสองก็นั่ง

ถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่บนนั้นแหละ คือบนจะงอยบ่าทั้งสองของบุตรนั้น.

บทว่า น เตฺวว ภิกฺขเว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการ

ปรนนิบัติถึงเพียงนี้ จะเป็นอันบุตรนั้นได้ทำคุณหรือได้ตอบแทนคุณแก่

บิดามารดาแล้ว หามิได้เลย. บทว่า อิสฺสราธิปจฺเจ รชฺเช พระผู่มีพระ-

ภาคเจ้าตรัสหมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทีเดียว. บทว่า อาปาหกา

แปลว่า เป็นผู้ให้เติบโต เป็นผู้ดูแล. เพราะบุตรทั้งหลาย บิดามารดา

ทำให้เติบโตและดูแลแล้ว. บทว่า โปสกา ได้แก่ เป็นผู้เลี้ยงดู โดยให้

มือเท้าเติบโต ให้ดื่มโลหิตในหทัย. เพราะบิดามารดาเลี้ยงบุตรอย่างดี

ประคบประหงมด้วยข้าวน้ำเป็นต้น . บทว่า อิมสฺส โลกสฺส ทสฺเสตาโร

ความว่า ถ้าในวันที่บุตรเกิด บิดามารดาจะจับเท้าบุตรเหวี่ยงไปในป่าหรือ

ในเหว บุตรก็จะไม่ได้เห็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในโลกนี้ แต่เพราะ

ท่านไม่ทำอย่างนี้ ฟูมฟักเลี้ยงดู บุตรจึงเห็นอิฏฐารมณ์ เละอนิฏฐารมณ์

ในโลกนี้ เพราะอาศัยบิดามารดา ฉะนั้น บิดามารดาจึงชื่อว่าเป็นผู้แสดง

โลกนี้แก่บุตร. บทว่า สมาทเปติ ได้แก่ ให้เธอถือ. ในพระสูตรั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ผสมกันทั้งโลกิยะ

และโลกุตระ ภิกษุเช่นพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ พึงทราบว่า

ชื่อว่ายังบิดามารดาให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมเหล่านั้น.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มารดา และ บิดา เป็นผู้มีบุญคุณและมีอุปการะมาก เพราะเป็นผู้ให้กำเนิด แสดงโลก

นี้กับบุตร คือ ชี้ให้เห็นให้รู้สิ่งต่างๆ เป็นอาจารย์ เป็นครูคนแรก เพราะสั่งสอนบุตรให้รู้

สิ่งที่ควร หรือ ไม่ควรก่อนใคร เป็นผู้สมควรแก่การให้สิ่งต่างๆ เป็นเนื้อนาบุญของบุตร

เพราะท่านมีบุญคุณมาก ตามที่กล่าวมา หากไม่มีท่านทั้งสอง บุตรจะเกิดมาได้อย่างไร

หากไม่มีมารดา บิดา ก็ไม่มีโอกาสได้อบรมปัญญา เจริญกุศลได้เลยครับ

เมื่อท่านมีพระคุณมากอย่างนี้ การตอบแทนท่านทั้งสอง จึงไม่ใช่ง่าย แม้จะให้ทรัพย์

สมบัติ ทั้งจักรวาล มอบความเป็นใหญ่ แม้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ก็ไม่ชื่อว่าตอบแทน

ท่านเลย เพราะเพียงให้สมบัติที่ให้ความสุขในโลกนี้เท่านั้นครับ แต่การตอบแทนที่

เป็นตอบแทนท่านจริงๆ คือ การให้ความเข้าใจพระธรรม ให้เกิดกุศลธรรม มีศรัทธา

ศีล จาคะ ปัญญา เป็นต้น เป็นการตอบแทนจริงๆ เพราะให้ประโยชน์ในโลกนี้ และ

ประโยชน์ในโลกหน้า และเมื่อท่านมีความเข้าใจพระธรรม ท่านก็สามารถอบรมเจริญ

กุศล และอบรมปัญญาต่อไปจนถึงการดับกิเลสได้ในอนาคตครับ เปรียบเหมือน การ

ที่ให้เราให้ปลากับชาวบ้าน กับ การสอนให้ชาวบ้าน หาปลาด้วยการให้เบ็ดและสอน

วิธีหาปลา ย่อมหาปลาได้เอง ไม่ใช่เพียงแต่รับแต่ไม่สามารถหาปลาได้อีกครับ เบ็ด

ก็เหมือนกุศลธรรมและปัญญา ที่จะสามารถหาปลา คือ ทรัพย์สมบัติและได้ปลา คือ

กุศลธรรม และ บรรลุ มรรค ผลได้ในที่สุดครับ แต่พระธรรมไม่เป็นสาธารณะกับทุกคน

และบิดา มารดาของทุกค น แต่ผู้เป็นบุตรก็ทำหน้าที่เท่าที่ทำได้ ทั้งการช่วยเหลือ

กิจการงาน ให้เงินและทองและเมื่อมีโอกาสก็แนะนำพระธรรมบ้างตามกาลเวลา โดย

ไมไ่ด้หวังว่าท่านจะสนใจหรือไม่อย่างไร เพราะได้ชื่อว่าทำหน้าที่ของบุตรที่ดีที่สุดแล้ว

ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 29 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pirmsombat
วันที่ 29 ม.ค. 2555

ขอบคุณและอนุโมทนาอย่างสูง แด่คุณเผคิม คุณคำปั่นและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 29 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระคุณของมารดาบิดา ที่ท่านได้กระทำต่อบุตรนั้น มีมากมายมหาศาล ยากที่จะพรรณนาให้หมดสิ้นได้ ท่านเป็นผู้ที่เอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรให้เจริญเติบโตอย่างปลอดภัย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ท่านเป็นผู้พร่ำสอนให้บุตรออกจากความชั่ว แล้วให้ตั้งอยู่ในความดี สอนให้รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ พร้อมทั้งให้ศึกษาศิลปวิทยา เพื่อให้บุตรมีความรู้ติดตัวอันจะเป็นบ่อเกิดแห่งการงานประการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตของบุตรดำเนินไปด้วยความไม่เดือดร้อนในภายภาคหน้า เป็นต้น เมื่อมารดาบิดาเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อบุตร มากมายมหาศาลอย่างนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุตรจะต้องมีความกตัญญูกตเวที คือ รู้ถึงพระคุณที่มารดาบิดากระทำแก่ตนแล้วกระทำตอบแทนท่าน ถ้าหากว่าบุตรคนใดไม่รู้คุณอีกทั้งไม่ทำการตอบแทนพระคุณของมารดาบิดา บุตรนั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นบุตรอกตัญญู (คนอกตัญญู ย่อมไม่พบหนทางแห่งความเจริญในชีวิต) ส่วนบุตรผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดานั้น บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว ดังนั้น ความกตัญญูกตเวที เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่ควรจะอบรมเจริญให้มีขึ้น ถึงแม้ว่าบุตรจะยังไม่สามารถกระทำตอบแทนพระคุณมารดาบิดาได้อย่างสูงที่สุด ด้วยการให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธา ศีล จาคะ (การสละ,การให้) และ ปัญญา ก็ตาม แต่การที่ได้รู้ว่า ท่านทั้งสองนั้นเป็นผู้ที่มีพระคุณมากมายมหาศาลแล้วทำการเลี้ยงดู ปรนนิบัติเอาใจใส่ดูแลท่านเป็นการตอบแทน กระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ช่วยเหลืองานของท่านเท่าที่จะทำได้ ตั้งใจเป็นคนดี ย่อมเป็นสิ่งที่บุตรจะพึงกระทำ ทั้งนั้น จนกว่าจะเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา มีความเข้าใจถูกที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ เมื่อนั้นจึงจะเป็นผู้สามารถตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาอย่างสูงสุด ด้วยการให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาศีล จาคะ และ ปัญญาได้ ก่อนอื่นที่สุดต้องเริ่มที่ตนเองก่อน จึงจะสามารถเกื้อกูลผู้อื่นให้เข้าใจตามความเป็นจริงได้ในโอกาสต่อไป ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 29 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อย่าลืมพระอรหันต์ที่บ้านนะครับ

ขอบพระคุณคุณหมอ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
รวงข้าวท้องแก่
วันที่ 29 ม.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 29 ม.ค. 2555
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 7 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ