การรักษาใจ

 
bou
วันที่  10 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20130
อ่าน  6,872

การรักษาใจ คือ อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ใจ คือสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิต ที่เกิดขึ้น จิตหรือใจไม่ใช่มีใจเดียว แต่จิตหรือใจ มีหลายประเภท คือมีจิตหลายประเภทเกิดขึ้น เพราะมีเจตสิก คือสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิต เจตสิกที่หลากหลายมีมาก จิตจึงมีมากด้วยครับ

จิตมีหลายประเภท จิตที่ดีก็มี คือจิตที่เป็นกุศล จิตที่ไม่ดีก็มี คือจิตที่เป็นอกุศล จิตดีได้เพราะไม่มีเจตสิกที่ไม่ดีเกิดขึ้น (กิเลส) แต่มีเจตสิกที่ดีเกิดขึ้นครับ และจิตที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้เพราะมีเจตสิกที่ไม่ดีเกิดขึ้นร่วมด้วย (กิเลส) แต่ไม่มีเจตสิกที่ดีเกิดขึ้นครับ

การรักษาใจ ใจที่รักษาดีแล้ว คือใจที่ไม่เป็นอกุศล เพราะอกุศลหรือกิเลสที่เกิดขึ้นกับใจ นำมาซึ่งโทษต่อตนเองและผู้อื่น แต่ใจที่รักษาดีแล้ว และรักษาใจคือใจที่ดีเป็นกุศล รักษาใจของผู้ที่เกิดเองและรักษาผู้อื่น เพราะเป็นกุศลธรรมในขณะนั้น กายวาจาที่ดีที่เกิดจากจิตที่ดี เป็นกุศล ก็ไม่เป็นโทษกับผู้อื่นเลยครับ

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นเลยว่าจะเกี่ยวข้องกับใคร ไม่ว่าจะเป็นคนที่ดีหรือไม่ดี ไม่ว่าใคร สำคัญที่ใจของตนเอง ที่จะรักษาใจของตนก่อน ด้วยกุศลธรรมที่เกิดขึ้น กาย วาจาและใจย่อมประพฤติดีกับทุกๆ คนเมื่อกุศลธรรมเกิดครับ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงไว้ครับ ผู้ที่รักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วย คือขณะใดที่เป็นกุศลธรรม มีขันติ ความอดทน เมตตา ความหวังดี คิดดีกับผู้อื่นเกิดขึ้น ขณะนั้น ชื่อรักษาตนรักษาใจของเรา ไม่ให้เป็นอกุศล ไม่ทำร้ายใจ และเมื่อมีเมตตามีขันติด้วยกุศลจิต ก็รักษาผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่นด้วยกายและวาจา แต่นำสิ่งที่ดีมีประโยชน์ไปให้บุคคลนั้นครับ

เพราะฉะนั้น การจะรักษาใจ เมื่อเกี่ยวข้องกับผู้อื่น คือเกิดกุศลจิต คิดดี และกระทำทางกาย วาจาดีกับผู้อื่น ไม่ว่าใคร ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้ ธรรมทั้งหลายจะต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น กุศลธรรม จิตที่ดีมีเมตตา ขันติ เป็นต้น ก็ต้องอาศัยเหตุจึงเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุ คือการฟังพระธรรมที่ถูกต้องในส่วนต่างๆ ให้มีความเข้าใจ ปัญญาเจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ มีเมตตา ขันติ ก็เกิดขึ้นน้อมไปตามกำลังของปัญญาที่เพิ่มขึ้น เพราะปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมรู้ตามความเป็นจริงในสิ่งที่ควรกระทำและไม่ควรกระทำต่อตนเองและผู้อื่นครับ

การศึกษา การฟังพระธรรม จึงเป็นสิ่งที่มีอุปการะมากที่จะเกื้อกูลให้เห็นถูก และกุศลต่างๆ เจริญขึ้น และก็จะทำให้รักษาใจ คือไม่ให้เป็นอกุศล แต่เป็นกุศลกับบุคคลนั้น โดยไม่ได้แบ่งแยกเลยว่าจะเป็นใคร เพราะกุศลธรรมที่เกิดขึ้น รักษาใจแล้วในขณะนั้นครับ

เข้าใจถึงความเป็นอนัตตาว่าเมื่อปัญญายังน้อย จะไม่ให้อกุศลเกิดไม่ได้ คือยังโกรธยังไม่ชอบคนอื่นได้ แต่ควรเข้าใจว่า ค่อยๆ อบรมได้ จนในที่สุดก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม วิธีรักษาใจที่ดีที่สุด คือฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขอนำข้อความที่ได้ตอบไว้ อันมีประโยชน์ในการพิจารณาเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในชีวิตประจำวันและเข้าใจความจริงที่เป็นอยู่ครับ

ประการที่ 1 พิจารณาเพราะกรรมไม่ดีในอดีตที่เคยกระทำไว้ การที่เราได้รับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีต้องมีเหตุแน่นอนครับว่าต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ไม่ดีที่ได้เคยทำไว้ จึงทำให้ได้ยินเสียงไม่ดี เพราะการได้ยินเสียงที่ไม่ดี ในทางธรรมแล้วเป็นผลของกรรมที่ไม่ดีครับ เมื่อทำเหตุที่ไม่ดีไว้ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะต้องได้ยินเสียงที่ไม่ดีเพราะการกระทำกรรมไม่ดีของเราเอง จึงไม่มีใครที่ทำให้เรา กรรมต่างหากที่ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดีครับ เมื่อเข้าใจดังนี้ จะโกรธคนอื่นที่ไม่ดีได้ไหมครับ และที่สำคัญก็เป็นกรรมของเราเองที่ทำไว้ จะโทษใครได้นอกจากกรรมที่ทำไม่ดีของเราเองที่ทำไว้ครับ ทุกอย่างจึงมีเหตุที่ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดีครับ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านถูกภิกษุทั้งหลายด่าว่าท่าน ท่านก็โกรธด่าว่าภิกษุนั้นกลับ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสว่า เธอทำกรรมไม่ดีไว้ในอดีต ทำให้เธอต้องได้รับกรรมอย่างนี้ แล้วได้รับการด่าว่าด้วย ทำไมเธอถึงยังทำกรรมที่ไม่ดีอีก ความหมายคือเพราะเธอทำกรรมไม่ดีไว้จึงทำให้ได้รับผลของกรรม คือการด่าว่าในปัจจุบัน แล้วเธอจะสร้างเหตุใหม่ไม่ดีอีกทำไม ควรพิจาณาด้วยปัญญา เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่ดี ก็พึงเป็นเหมือนระฆังหรือกังสดาลที่ไม่มีขอบที่ใครตีก็ไม่ดังนั่นเองครับ คือเมื่อกระทบเสียงที่ไม่ดี ก็พิจารณาว่าเป็นกรรมที่ไม่ดีที่เราทำไว้เอง ควรหรือที่จะทำเหตุใหม่ที่ไม่ดี ไปโกรธเขาอีกครับ

ประการที่ 2 พิจาณาโดยความเป็นญาติกันในสังสารวัฏฏ์ สัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดมาในสังสาวัฏฏ์ เกิดมาในฐานะต่างๆ กันมากมาย ทั้งเคยเป็นบิดาและมารดาเรามาแล้ว เมื่อเคยเป็นมารดาเรา เคยดูแลอุ้มท้องและให้สิ่งดีๆ กับเรามากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ควมีเมตตาและเข้าใจถึงความมีพระคุณของบุคคลนั้น แม้บุคคลนั้นจะทำไม่ดีกับเรา แต่เขาก็เคยมีพระคุณกับเรานั่นเอง ควรเข้าใจและอดทนในบุคคลที่เคยมีพระคุณครับ

ประการที่ 3 พิจาณาส่วนที่ดีของบุคคลอื่น ทุกคนที่ยังเป็นปุถุชนยังมีกิเลสสะสมมามากมาย ไม่เว้นแม้แต่เรา เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีกิเลสเกิดขึ้นเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมและก็มีการล่วงเกินทางกายและวาจาตามกำลังของกิเลสที่แต่ละคนสะสมมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นคนไม่ดีไปทั้งหมด ส่วนที่ดีก็อาจจะมีบ้าง ดังนั้น ควรพิจารณาส่วนที่ดีของเขาแม้เพียงเล็กน้อย เมื่อมีการกระทำไม่ดีกับเรา ก็เข้าใจถึงความเป็นธรรมดาของปุถุชนที่จะต้องมีทุกคนรวมทั้งเราด้วย จึงพิจารณาส่วนที่ดีของเขานั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ประการที่ 4 พิจารณาโดยการที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน ใครทำกรรมใดก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น ดังนั้น การที่เขาทำกรรมไม่ดี มีกายและวาจาไม่ดี เขาก็ต้องเป็นไปตามกรรมของเขาที่จะต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดีเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเขาจะต้องได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคต ควรเห็นใจเขาหรือควรจะโกรธเขาครับ เพราะเรามักจะสงสาร เห็นบางบุคคล บางเหตุการณ์ที่ได้รับสิ่งที่ไม่ดี บางคนก็ถูกจองจำ เฮลิคอปเตอร์ตก ถูกทรมานก็เพราะกรรมไม่ดีให้ผลทั้งนั้น แต่เราก็สงสารตรงที่ผลเกิดแล้ว แต่แพราะเขาทำกรรมไม่ดี จึงทำให้ได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีเช่นนี้ ดังนั้น ควรสงสาร เห็นใจตั้งแต่ที่เขาทำอกุศลกรรมในขณะนั้นว่าเขาจะต้องได้รับผลไม่ดีเช่นกันครับ เพราะฉะนั้น การที่ใครทำไม่ดีกับเรา เขาก็ต้องได้รับกรรมไม่ดี ควรเห็นใจและสงสารในขณะนั้นแทนที่จะโกรธบุคคลนั้น เพราะเมื่อโกรธ และเราทำสิ่งไม่ดีบ้างก็เท่ากับทำเหตุใหม่ที่ไม่ดีเหมือนเขาเช่นกันครับ

ประการที่ 5 พิจารณาโดยความเป็นธาตุ คือเป็นธรรมเท่านั้น การได้รับสิ่งที่ไม่ดี เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้นที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น การที่ผู้อื่นมีอกุศล มีความไ่ม่ชอบเรา เป็นต้น ก็เป็นแต่เพียงเป็นธรรมที่เกิดขึ้น คืออกุศลที่เกิดขึ้นที่เป็นความไม่ชอบ จึงไม่มีใครไม่ดีและไม่มีใครไม่ชอบ มีแต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเท่านั้นที่เกิดขึ้น อกุศลจึงเป็นธรรม ไม่ใช่เราและไม่ใช่เขาครับ และการได้รับสิ่งไม่ดีก็เป็นเพียงจิตเท่านั่นเองครับ และขณะที่คิดว่าคนอื่นไม่ดีก็เป็นเพียงความคิดที่เป็นธรรม ไม่ใช่เราเช่นกัน ดังนั้น จึงมีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นครับ จะโกรธใครในเมื่อมีแต่ธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ธรรมนั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะธรรมฝ่ายดีเท่านั้น แต่สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรมแต่เป็นธรรมฝ่ายไม่ดีที่ควรรู้ตามความเป็นจริงแล้วค่อยๆ ขัดเกลาให้เบาบางลง, อกุศลเป็นอกุศล ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม และโดยปกติก็เกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวันตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล, บุคคลที่เป็นคนไม่ดี ทำในสิ่งที่ไม่ดี มีจิตใจที่ปราศจากคุณธรรม ก็เพราะเขาสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น เมื่อเสพคุ้นกับความไม่ดีมากขึ้นๆ ย่อมมีโอกาสที่จะคล้อยตามในสิ่งที่ไม่ดีได้มาก เหตุย่อมสมควรแก่ผล เมื่อสร้างเหตุที่ไม่ดี ผลที่ไม่ดีก็ย่อมเกิดขึ้น สัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน ใครทำกรรมอะไรไว้ ก็ย่อมจะได้รับผลของกรรมนั้น เมื่อศึกษาธรรมเข้าใจตามความเป็นจริงอย่างนี้ ก็จะไม่เกิดความไม่พอใจ ความโกรธ ความอาฆาต เมื่อได้ทราบหรือพบเห็นการกระทำที่ไม่ดีของบุคคลเหล่านั้น เพราะเหตุว่าการกระทำของบุคคลอื่นไม่เป็นประมาณ ที่สำคัญคือรักษาใจของตนเองด้วยกุศลธรรม ไม่ให้เป็นอกุศลประการต่างๆ ทั้งการโกรธตอบ การไม่มีเมตตา การผูกอาฆาตพยาบาท เป็นต้น รวมไปถึงอกุศลประการอื่นๆ ด้วย

สิ่งที่เป็นอกุศลธรรม เมื่อเกิดขึ้น ย่อมทำร้ายตนเองเท่านั้น ตนเองเท่านั้นที่เดือดร้อน เมื่อเราสะสมความไม่ดีมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ก็อาจจะล่วงเป็นทุจริตกรรมประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ยิ่งจะเป็นเหตุให้ตัวเราเองเท่านั้นที่จะได้รับผลของอกุศลกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ ข้อความธรรมเตือนใจสั้นๆ ที่ได้ฟังจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ควรเก็บไว้ในใจ เพื่อเตือนตัวเองเป็นอย่างยิ่ง มีดังนี้คือ ข้อสำคัญที่สุด ควรจะเห็นข้าศึกภายใน คือความโกรธของตนเอง แทนที่จะคิดว่าท่านมีศัตรูหลายคน หรือว่าอาจจะมีคนที่ไม่ชอบท่าน ทำสิ่งที่ไม่ดีกับท่านหลายคน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ข้าศึกที่แท้จริงอยู่ภายใน คือความโกรธของท่านเอง ในขณะที่คิดมุ่งร้ายต่อผู้อื่น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อน เคยโกรธใคร ไม่ชอบใคร จะโกรธต่อไป ไม่ชอบต่อไป หรือจะมีเมตตา? ถ้าโกรธต่อไป ไม่ชอบต่อไป นั่นคือประมาทกิเลสแล้ว คนอื่นเขาไม่ได้ตกนรกเพราะเราโกรธเขา แต่ตัวเราเองต่างหากที่จะตกนรกเพราะกิเลสของเราเอง ดีมากนักหรือสำหรับอกุศล? โกรธคนอื่น ไม่ชอบคนอื่น คิดร้ายต่อคนอื่น ดีมากนักหรือ? แล้วจะเก็บไว้ทำไม เพราะไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากเป็นอกุศล การสอนให้โกรธ การสอนให้ทำร้ายต่อบุคคลอื่นนั้น ไม่มีในคำสอนทางพระพุทธศาสนา ถ้าเห็นโทษของความโกรธ ความคิดร้าย ความพยาบาท ความปองร้ายซึ่งเป็นกุศลธรรม ก็จะเป็นผู้เริ่มเจริญเมตตาแม้ในขณะนี้ได้ กุศลที่ควรจะง่ายและสะดวก ไม่ต้องคอยกาลเวลาเลยก็คือการให้อภัย ถ้าชาตินี้ยังไม่ให้อภัย ชาติหน้าจะให้อภัยได้หรือ? ถ้าชาตินี้ไม่ให้อภัย ชาติหน้าก็ให้อภัยไม่ได้

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

คำสั้นๆ ... เมตตา

ดังนั้น การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกนั้น จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละอกุศล และทำกุศลยิ่งขึ้น สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างมีความสุขได้ด้วยกุศลธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระธรรมเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับทุกกาลสมัยอย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลผู้น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจเท่านั้นครับ.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Nareopak
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

อนุโมทนาในการแสดงความคิดเห็นของ คุณ Paderm และ อาจารย์ khampan.a แต่หากไม่ได้ฟังธรรมบ่อยๆ อยู่เป็นเนืองนิจ และมิได้นำข้อธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมาพิจารณา ยังไม่มั่นคงในกรรมและผลของกรรม ก็ยังคงต้องหลง (ร่วมวง) ไปกับเรื่องราวและสิ่งที่มากระทบทั้งทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งดิฉันเองก็หลงบ่อยแต่พอมีสติรู้ตัวก็กลับสู่ความเป็นปกติได้เร็วกว่าตอนที่ยังไม่ได้มาฟังธรรมที่มูลนิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ปุ้ม
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ธาตุเดิมของจิต เมื่อสลัดคืนขันธ์ ๕ รอเวลาอิสระ เราไม่ได้เป็นอะไร ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรตาย จิตที่เศร้าหมอง กลับผ่องใส ได้แต่รู้สติ มีสัมปชัญญะ ปัญญาเกิดแก้ เราไม่ต้องทำอะไร เพราะไม่มีอะไรต้องทำแล้ว เมื่อก่อนไม่รู้ กลับมารู้ ไม่รักไม่ชัง รอเวลาหมดกรรมในขันธ์ ๕ สิ่งที่ผมกล่าวมานี้มันเกิดกับจิต สิ่งที่ผมเข้าใจต่อไปอีกคือ ก็จิตดวงนี้นี่แหละที่ถ้าบริสุทธิ์แล้ว จะเป็นธาตุนิพพาน ผมเข้าใจถูกหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่น และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 10 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ

ควรแยกระหว่าง สภาพธรรมที่เป็น จิต และนิพพานครับ จิต เจตสิกและรูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป มีปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือไม่เกิดขึ้นเลย ดังนั้น จิตดวงนี้จะกลายมาเป็นพระนิพพานไม่ได้ เพราะเป็นสภาพธรรมคนละอย่างกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nong
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pat_jesty
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ปุ้ม
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

เมื่อรู้ว่านี้คือเหตุ (จิตที่เกาะอารมณ์ปล่อยชึ่งขันธ์ ๕) ละเหตุได้แล้ว ก็ไม่มีเจตนาในการเป็นใดๆ สิ่งนั้นคืออะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 12 ครับ

เหตุที่ทำให้ยึดถือขันธ์ ๕ คือกิเลส เมื่อละกิเลสได้แล้ว ก็ไม่ยึดถือด้วยปัญญาไม่มีเจตนาที่เป็นอกุศลและกุศล เป็นกิริยาจิตนั่นเองของพระอรหันต์ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ปุ้ม
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขอกราบขอบพระคุณครับอาจารย์ ที่อาจใช้คำสมมติไม่ถูกไปบ้าง กระผมขอกราบขอบพระคุณในความกรุณามาอีกครั้งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
kinder
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
pamali
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ผิน
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ