คำสอนเซ็น

 
บ้านดอย
วันที่  22 ก.ย. 2554
หมายเลข  19779
อ่าน  3,281

คำสอนเซ็นสามารถบรรลุแบบพุทธได้ไหม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตามความเป็นจริงแล้ว กุศลประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทาน การให้ การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น และ กุศลขั้นศีล ที่เป็นการงดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ แม้ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ก็มี แต่ว่าถ้าเป็นปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ นั้น ศาสดาอื่นไม่สามารถจะสอนได้ เพราะศาสดาเหล่านั้นไม่ได้ตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม ในเมื่อไม่ได้ตรัสรู้ความจริง ก็สอนให้เห็นผิด สอนให้มีความเป็นตัวตน ไปกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความเป็นตัวตน จดจ้องต้องการ แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นศาสดาเอกของโลกทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม และทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามพระองค์ด้วย พระองค์ทรงตื่นจากกิเลส แล้ว ทรงปลุกให้สัตว์โลกตื่นจากกิเลส ด้วย

ซึ่งจะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญปัญญา มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา เท่านั้น พระอริยบุคคลขั้นต่างๆ กล่าวคือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น พระอริยบุคคลหรือสมณะผู้สงบจากกิเลส ในภายนอกพระพุทธศาสนานี้ ไม่มี เพราะไม่มีข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล เพราะหนทางที่จะทำให้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๕ ซึ่งเริ่มด้วยความเห็นที่ถูกต้อง อันเป็นหนทางที่พระสัมมาสัม-พุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง จึงไม่มีในภายนอก มีเฉพาะในพระธรรมวินัย นี้เท่านั้น ครับ. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มได้ที่นี่ครับ ทางอื่น ไม่มี [คาถาธรรมบท]

ถ้ามีทางลัดพระผู้มีพระภาคต้องทรงแสดง

ทางลัด ไม่มี
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านดอย
วันที่ 22 ก.ย. 2554

ธุเจ้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 22 ก.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผิน
วันที่ 22 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 23 ก.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
akrapat
วันที่ 23 ก.ย. 2554

ศาสนาเซ็น เป็นเรื่องของ กุศโลบาย หรือสอนให้ใช้ปัญญาคิดพิจารณา เช่น อาจจะให้

ปริศนาธรรมไป ข้อนึง แล้วให้ลูกศิษย์คิด จะไม่ค่อยเน้นที่เปลือกหรือพิธีการ เช่น การ

สวดมนต์ การทำสมาธิ

คนที่จะเข้าใจก็ต้องประเภทพิจารณา บ่อยๆ ช่างสังเกต แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่เข้าใจ

กลายเป็นความฟุ้งซ่าน ซะส่วนใหญ่

แต่การปล่อยวางที่แท้จริง เพราะมีปัญญา ไม่จะวางก็วางเลยคงไม่มีอะไรง่ายขนาดนั้น

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 23 ก.ย. 2554

ร่วมสนทนาในความเห็นที่ 6 เรื่อง ศาสนาเซ็นครับ

ตามความเข้าใจนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ยาก ละเอียดลึกซึ้ง

ดังนั้นการอบรมปัญญาจึงต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือ เริ่มจาก ปริยัติ การฟังพระธรรม

ให้เข้าใจ ซึ่งต้องใช้เวลาและอบรมยาวนาน เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมแล้ว ปัญญาขั้น

การฟังนั่นเองที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ การเกิดสติและปัญญารู้

ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ และจนถึงที่สุด คือ ปฏิเวธ การบรรลุธรรม ถึงการ

ตรัสรู้ ที่สำคัญ เมื่อเราพูดถึงความจริงที่ควรรู้ คือ สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน

ดังนั้นไม่ว่าจะใช้ชื่อศาสนาเซ็น ความเชื่อ ลัทธิอะไรก็ตาม สัจจะความจริงคือ สภาพ

ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่ว่าสภาพธรรม เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สี กลิ่น รส คิดนึก เป็น

ความจริงที่มีอยู่ ไม่ว่าใคร ศาสนาใด บุคคลใด ก็มีความจริงเหล่านี้ ดังนั้นการจะตรัสรู้

สัจจะ ความจริง คือ เข้าใจความจริงในขณะนี้ การตรัสรู้ จึงเป็นสัจจะ โดยไม่ใช่การคิด

นึกโดยการใช้อุบาย เพราะอุบาย คือ ทางแห่งความสำเร็จในพระพุทธศาสนา คือ อาศัย

การฟังพระธรรมในเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีใน

ขณะนี้นั่นเองครับ การตรัสรู้สัจจะ จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรมอย่างยาวนาน และไม่ใช่

เรื่องการคิดนึก แล้วจะเข้าใจได้ครับ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม

จริงๆ ครับ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นลัทธิ ศาสนาใด สัจจะไม่เปลี่ยนแปลง คือ ต้องเข้าใจความ

จริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 23 ก.ย. 2554

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยนะครับในเรื่องนี้ เนื่องจากผมสนใจศึกษาแนวทางของศาสนาพุทธนิกายเซ็น (เซ็น) นี้มาก่อนหน้านี้จากหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เนื่องจากเซ็นเป็นลัทธิที่ผสมผสานเอาคำสอนของศาสนาพุทธนิกายมหายานและปรัชญาของเต๋ามาหล่อหลอมรวมกันจึงมีคำสอนที่เกี่ยวข้องในหลักการบางเรื่องตามคำสอนของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกอยู่ด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การยกเอาพระสูตรสัทธรมปุณฑริกสูตร ที่ว่าด้วยปัญหาที่ท้าวมหาพรหมทูลถามพระพุทธองค์ความว่า

สมัยหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชกูฎ

ท้าวมหาพรหมได้มาถวายดอกไม้เป็นพุทธบูชา แล้วนั่งลงกราบทูลให้ทรงแสดงธรรม

พระตถาคตจึงทรงแสดงโดยการชูดอกไม้ขึ้น ณ ท่ามกลางสันนิบาติ แล้วมิได้ตรัสอะไร

ในขณะนั้นปวงเทพและมนุษย์ทั้งหลายต่างไม่เข้าใจในความหมาย

มีแต่พระมหากัสสปะยิ้มน้อยๆ อยู่

พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า ตถาคตมีธรรมจักษุอันถูกตรงพระนิพพานและจิตที่เยี่ยม

ภาวะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะ มอบให้แก่มหากัสสปะแล้ว

จากข้อความที่ปรากฏในพระสูตรนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดของเซ็นในการเข้าถึงธรรมด้วยวิธีการที่การที่ไม่อาศัยคัมภีร์ ไม่อาศัยตัวหนังสือหรือคำพูด แต่มุ่งตรงไปยังแก่นแท้ในจิตของมนุษย์ทั้งหลาย โดยกล่าวว่าทุกคนมีจิตที่เป็นพุทธะอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ถูกบิดบังด้วยกิเลส ตัณหา และอวิชชา เซ็นจึงสอนให้เข้าถึงการบรรลุธรรม หรือที่เรียกกันว่า "ซาโตริ" คือการรู้แจ้งความเป็นจริงในสรรพสิ่งอันเป็นหนึ่งเดียว คือ ความว่าง หรือ ควาามปล่อยวางจากความยึดถือในตัวตนและสิ่งต่างๆ ปล่อยวางจากกรอบของสมมติบัญญัติที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เป็นการหลุดพ้นจากพันธนาการต่างๆ และเข้าถึงซึ่งสภาวะแห่งพุทธะนั่นเอง

ด้วยหลักการและแนวทางการสอนของเซ็นที่ไม่เน้นคัมภีร์และคำพูด
แต่จะเน้นไปที่การทำลายกรอบแห่งความคิดของมนุษย์ที่ติดยึดอยู่
โดยการนิยมสร้างปริศนาธรรมขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ขบคิดหรือพิจารณาปริศนาธรรมนั้นๆ
ไม่ยึดถือในความคิดเดิมๆ แต่ให้กลับมาอยู่กับสภาวะปัจจุบันโดยเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนแต่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว และปราศจากการยึดถือใดๆ ตัวอย่างปริศนาธรรม เช่น

ศิษย์ถามว่า พระโพธิธรรม (สังฆปรินายกของเซ็น) เดินทางมาที่นี้ด้วยวัตถุประสงค์ใด

อาจารย์ตอบว่า โอ้... ก่อไผ่ต้นนี้ช่างสูงตระหง่านเสียจริงๆ

เห็นได้ว่าคำตอบของอาจารย์ไม่สัมพันธ์กับคำถามเลย แต่อาจอธิบายว่าเป็นการกระตุ้นให้ศิษย์ออกไปจากความคิดที่จะเป็นเหตุเป็นผลตามความรู้เดิมๆ และพยายามให้ย้อนกลับมาพิจารณาถึงความที่สรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกันและเชื่อมโยงกันในสภาวะปัจจุบันว่าพระโพธิธรรมเดินทางมาก็เพื่อสอนให้รู้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งทั้งหลาย แม้แต่ก่อไผ่ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าก็เช่นกัน เป็นต้น

เซ็นในสาขารินไซ นิยมยกปริศนาธรรมหรือที่เรียกกันว่า "โกอาน" ให้ลูกศิษย์พิจารณาขบคิด
ตัวอย่างปริศนาธรรม เช่น

จงแสดงใบหน้าที่แท้จริงของท่านก่อนท่านจะเกิด

อะไรคือเสียงของการตบมือข้างเดียว

การไขปริศนาธรรมนี้ก็เพื่อที่จะให้ศิษย์ได้หลุดพ้นไปจากกรอบความคิดและเหตุผลธรรมดา
ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกล้อมกรอบด้วยอวิชชา ซึ่งหากผู้ใดเข้าใจกระจ่างแจ้งในปริศนาธรรมนั้นแล้ว
ก็จะเข้าสู่สภาวะ "ซาโตริ" ซึ่งเป็นบรรลุธรรมโดยฉับพลัน

จะเห็นได้ว่า แนวทางของเซ็นนอกกรอบเหตุและผลของความคิดมนุษย์ในสังคมต่างๆ
การสอนจึงไร้รูปแบบ และเน้นวิธีการที่ถึงลูกถึงคน บางทีอาจารย์ถึงกับลงไม้ลงมือทุบตีศิษย์เพื่อให้กลับมาอยู่กับสภาวะปัจจุบันและให้ทิ้งความคิดต่างๆ ไปเสีย มีถ้อยคำสนทนาต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้พิจารณาได้แง่คิดที่น่าสนใจมากมาย
ตัวอย่างเช่น

มีลูกศิษย์ ๒ คน เถียงกันขณะที่มองไปยังธงที่โบกสะบัดอยู่หน้าวัด
ศิษยคนหนึ่งกล่าวว่า เธอเห็นธงที่สะบัดไปมาไหม
ศิษย์อีกคน บอกว่าธงไม่ได้สะบัดแต่ลมต่างหากสะบัดพัดไปมา
อาจารย์ได้ยินจึงเอ่ยขึ้นว่า ธงไม่ได้สะบัด ลมไม่ได้พัด แต่ใจเธอต่างหากที่สะบัดไปมา

เนื่องจากแนวคิดและคำสอนของเซ็นนั้น
มีลักษณะที่โดดเด่นและแฝงไปด้วยปรัชญา
จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาที่มีความรู้และนักปรัชญามาก
จึงอาจทำให้เห็นไปได้ดังที่คุณบ้านดอยกล่าวว่า
คำสอนเซ็นเปรียบเสมือนคำสอนระดับด็อกเตอร์ของพุทธศาสนา

แต่ก่อนที่ผมยังไม่ได้มาศึกษาที่มูลนิธิฯ
ผมก็คิดเช่นเดียวกับคุณบ้านดอยว่า
แนวทางของเซ็นนี้น่าจะเป็นคำสอนของพุทธศาสนาระดับสูงทีเดียว
เนื่องจากมีแนวทางปฏิบัติที่ปล่อยวางอย่างอุกฤษ
ไม่เน้นไปที่พิธีรีตรองอะไร
มุ่งตรงไปแนวคิดของการปล่อยวางเพียงเรื่องเดียวเพื่อให้บรรลุสัจจธรรมเข้าสู่จิตเดิมแท้ของเราที่มีอยู่
แต่หากพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ แล้วเราจะเห็นความแตกต่างระหว่างแนวทางการสอนของเซ็นและคำสอนของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกเป็นอย่างมากทีเดียวครับ

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ
พระพุทธศาสนาเน้นเหตุและผล
อธิบายได้ตามความเป็นจริง
ถามอะไรขึ้นมาก็ย่อมต้องตอบได้ด้วยเหตุและผล
จนเข้าใจตามความเป็นจริง
ไม่มีปริศนาธรรมที่ให้ไปนึกคิดพิจารณาเอง
โดยให้ละทิ้งเหตุและผลเพื่อไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น
แต่ใช้เหตุและผลทำให้ละความยึดมั่นถือมั่น

ศาสนาพุทธสอนให้เราทำความเข้าใจไปเป็นลำดับ
ไม่มีการก้าวกระโดดข้ามขั้น
การศึกษาต้องเป็นไปตามขั้นอย่างชัดเจน
ตั้งแต่ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฎิเวธ ดังนั้น การบรรลุธรรมโดยฉับพลันย่อมไม่มี
ตัวอย่างที่ปรากฏว่ามีท่านผู้บรรลุธรรมด้วยการฟังพระธรรมเพียงครั้งเดียวนั้น
หากไม่ศึกษาให้ดีแล้วจะเข้าใจไปได้ว่าเป็นการบรรลุธรรมโดยฉับพลันได้
แต่จริงๆ แล้วทุกท่านที่จะบรรลุธรรมได้ย่อมต้องสะสมปัญญามาก่อนทั้งนั้น
เพียงแต่เรามายึดเอาเฉพาะตอนที่ผลจะเกิดเท่านั้น
ไม่ได้ย้อนไปดูว่าแต่ละท่านนั้นสะสมเหตุอะไรมานานเท่าไหร่แล้ว

พุทธศาสนาเน้นที่ปัญญาและต้องเป็นปัญญาที่มั่นคงในสัจจธรรมตามลำดับ
ดังนั้น การพิจารณาปริศนาธรรมเพื่อจะให้ปล่อยวางหรือให้เชื่อว่าไม่มีตัวตนโดยยังไม่มีปัญญาที่แท้จริงแล้ว ย่อมไม่ส่งผลใดๆ แน่นอกจากจะไม่เข้าใจธรรมะจริงๆ แล้ว คงไม่ต้องกล่าวว่าจะบรรลุเห็นสัจจธรรมใดๆ ได้เลย การที่จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยยังไม่เข้าใจอะไรเลยนั้น
ย่อมเป็นไปไม่ได้

ถ้อยคำในพุทธศาสนาในแต่ละคำมีการอธิบายไว้อย่างละเอียดชัดเจนไม่ว่าจะเป็นคำว่า พุทธะ
ธรรมะ จิต ความสงบ การปล่อยวาง ความว่าง ความไม่มีตัวตนกิเลส ตัณหา อวิชชา ฯลฯ
การเข้าใจถ้อยคำความหมายต่างๆ ก็เป็นขั้นตอนแรกที่จะนำไปสู่ความเข้าใจสภาพที่เกิดขึ้นปรากฏอย่างแท้จริง ดังนั้น หากไม่มีการอธิบายให้เข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้นแล้ว ย่อมทำให้เกิดความนึกคิดของตนเองได้ และย่อมเสี่ยงต่อการเข้าใจไปเองว่าได้รู้แจ้งความจริงแล้ว ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเน้นที่คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นเวลาถึง ๔๕ พรรษา ซึ่งในภายหลังได้รวบรวมเป็นพระไตรปิฎกและอรรถกถาให้ผู้ศึกษาได้ทำความเข้าใจโดยละเอียดเป็นลำดับ ซึ่งเมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วย่อมรู้จักสภาวะอันแท้จริงตามคำสอนของพระพุทธองค์ ปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจดังกล่าวจึงจะเริ่มทำหน้าที่ขัดเกลาความเห็นผิดต่างๆ และเพิ่มความรู้แจ้งแทงตลอดในสัจจธรรม อันนำมาสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสอย่างแท้จริง

ดังนั้นความแตกต่างนี้
จึงทำให้น่าคิดพิจารณาคำถามของคุณบ้านดอยนะครับว่า
คำสอนเซ็นสามารถบรรลุแบบพุทธได้หรือไม่

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 23 ก.ย. 2554
การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ไม่มีในศาสนาอื่น นอกจากศาสนาพุทธเท่านั้นค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pat_jesty
วันที่ 24 ก.ย. 2554

คำสอนที่ไม่ช่วยให้รู้ หรือเข้าใจอะไร สงสัย ติดข้องในเรื่องราว ย่อมไม่เป็นประโยชน์

แต่คำสอนที่สอนให้รู้ ให้ค่อยๆ เข้าใจได้ในความจริงที่มี จึงจะเป็นประโยชน์สูงสุดค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
lnwcat
วันที่ 30 ต.ค. 2554

ขอนำคำพระพุทธองค์ มาตอบในกระทู้ที่ได้ถาม

"อานนท์! ให้สุภัททะเข้ามาหาเราเถิด"

เพียงเท่านี้สุภัททะปริพพาชก ก็ได้เข้าเฝ้าสมประสงค์ เข้ากราบลงใกล้เตียงบรรทมแล้วทูลว่า "ข้าแต่พระจอมมุนี! ข้าพระองค์นามว่า สุภัททะ ถือเพศเป็นปริพพาชกมาไม่นาน ได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือเกียรติคุณแห่งพระองค์ แต่ก็หาได้เคยเข้าเฝ้าไม่ บัดนี้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ขอประทานโอวาทซึ่งมีอยู่น้อยนี้ ทูลถามว่าข้อข้องใจบางประการ เพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง"

"ถามเถิดสุภัททะ" พระศาสดาตรัส

"พระองค์ผู้เจริญ! คณาจารย์ทั้ง ๖ คือปูรณะ กัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธะ กัจจายนะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก เคารพบูชามาก ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสหรือประการใด"

"เรื่องนี้หรือ สุภัททะ ที่เธอดิ้นรนขวนขวายพยายามมาหาเราด้วยความพยายามที่อย่างยิ่งยวด" พระศาสดาตรัส ยังหลับพระเนตรอยู่

"เรื่องนี้เองพระเจ้าข้า" สุภัททะทูลรับ

พระอานนท์รู้สึกกระวนกระวายทันที เพราะเรื่องที่สุภัททะมารบกวนพระศาสดานั้นเป็นเรื่องไร้สาระเหลือเกิน ขณะที่พระอานนท์จะเชิญสุภัททะออกจากที่เฝ้านั้นเอง พระศาสดาก็ตรัสขึ้นว่า

"อย่าสนใจกับเรื่องนั้นเลย สุภัททะ เวลาของเรา และของเธอยังเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จงถามสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เธอเองเถิด"

"ข้าแต่ท่านสมณะ! ถ้าอย่างนั้นข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา ๓ ข้อ คือรอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่มี สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่?"

"สุภัททะ! รอยเท้าในอากาศนั้นไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์ ๘ สมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เทียงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอมีเท่านี้หรือ?"

"มีเท่านี้พระเจ้าข้า" สุภัททะทูลแล้วนิ่งอยู่

พระพุทธองค์ผู้ทรงอนาวรณญาณ ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะแล้วจึงตรัสต่อไปว่า "สุภัททะ ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ ดูก่อนสุภัททะ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทางประเสริฐสามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุหรือใครๆ ก็ตามพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคาอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ นี้อยู่ โลกนี้จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ