อะไรเลือก - เลือกสะสมอะไรมามากกว่ากัน.

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  15 ส.ค. 2554
หมายเลข  18946
อ่าน  1,779

เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคม ที่ผ่านมาท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวว่า

"ชีวิตทั้งหมด ไม่มีเรา มีแต่สิ่งที่สะสมมา เวลาเลือกทำอะไรสักอย่าง รู้ไว้ว่า อะไรเลือก กุศล หรือ อกุศล เลือกสะสมอะไรมามากกว่ากัน"

ขออนุญาตขยายความและทำความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องนี้ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จิต เป็นสภาพธรรมที่สะสม คือ สะสมทั้งสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี (กุศล) และสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี (อกุศล) แต่สำหรับปุถุชน ผู้เกิดมาในสังสารวัฏฏ์นับชาติไม่ถ้วน ซึ่งก็คือสภาพธรรม (นามธรรม) ที่เป็นจิต เจตสิก เกิดดับสืบต่อกันไม่ขาดสายนั่นเอง ในความเป็นจริง ก็สะสมสิ่งที่ไม่ดี สั่งสมกิเลสในใจ โปรยกิเลสไว้ในใจเป็นส่วนมากนับตั้งแต่ในอดีตชาติจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลส คือเป็นปุถุชน เพราะฉะนั้น แม้ในขณะนี้ ที่เป็นชีวิตประจำวัน สภาพธรรมอะไรเกิดมาก กุศล หรือ อกุศล.? ก็ต้องเป็น อกุศลธรรม ที่เกิดมาก เป็นปกติ เพราะการสั่งสมมาในอดีต ที่เป็นอกุศลที่มีมากนั่นเองครับ

ดังนั้น เมื่อมากไปด้วยการสะสมกิเลส ในชีวิตประจำวัน แม้การจะทำอะไร จะเลือกสิ่งใด โดยมากก็เลือกด้วยความยินดีพอใจ ติดข้อง ที่เป็นอกุศล คือ โลภะ เป็นส่วนใหญ่ครับ เลือกที่จะทำงาน เลือกที่จะรับประทานอาหาร อาหารชนิดไหน เลือกที่จะไปที่ไหน ทำอะไร ก็เลือกด้วยอกุศลจิต ด้วยโลภะเป็นส่วนใหญ่ ในชีวิตประวัน เลือกแม้กระทั่ง สี ชอบสีไหน ก็เลือกสีนั้น เลือกสิ่งนั้น ตามความติดข้อง ที่สะสมความชอบมาเนิ่นนานครับ

เปรียบโลภะ เหมือนอาจารย์ที่คอยสั่งศิษย์คือตัวเราให้ทำสิ่งต่างๆ เลือกสิ่งต่างๆ ก็ด้วยอาจารย์ คือ โลภะ ครับ และ โลภะก็เปรียบเหมือนเพื่อนสนิท ติดตามไปตลอด คือเกิดขึ้นบ่อยๆ นั่นเองครับ เพราะฉะนั้น เลือกด้วยอกุศล เพราะสะสมอกุศลมามากในอดีตนั่นเองครับ

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 40

"มัจจุ ย่อมพา นระ ผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ

ผู้เลือกเก็บดอกไม้อยู่เที่ยวไป

เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดชาวบ้านอันหลับแล้วไป ฉะนั้น."

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 ส.ค. 2554

ส่วนการเลือกด้วยกุศล คือ เลือกด้วยปัญญาก็มี คือ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าอะไรดีหรือไม่ดี อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ จึงเลือกเว้นด้วยปัญญา ไม่ใช่ตัวเราที่เป็นอกุศล โลภะที่เลือก เว้น แต่เลือกและเว้นด้วยปัญญาที่เห็นถูก ว่ากุศลควรเจริญ อกุศลควรเว้น

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 35

บุคคลพึงเว้นกรรมชั่วทั้งหลายเสีย เหมือนพ่อค้ามีทรัพย์มาก มีพวกน้อย เว้นทางอันพึงกลัว (และ) เหมือนผู้ต้องการจะเป็นอยู่ เว้นยาพิษเสีฉะนั้น"

ที่สำคัญที่สุดแม้แต่การเจริญสติปัฏฐาน การอบรมปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนี้มีสภาพธรรม เมื่อใดที่จะเลือกรู้สภาพธรรมใด เลือกที่จะรู้หมวดหนึ่ง หมวดใด เช่น จะรู้กาย จะรู้จิต ขณะที่เลือกจะรู้สภาพธรรมใด ขณะนั้นก็เป็นอกุศลที่เลือก คือ โลภะความต้องการที่จะเลือกรู้สภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่ง ที่เรามักใช้คำว่า เป็นเรา เป็นตัวตน ก็คือเป็นโลภะนั่นเองครับ

ดังนั้น เมื่อได้ศึกษาธรรมแล้ว อกุศลไม่ได้หายไปไหนจากอดีตชาติที่สะสมมามาก ก็ทำให้มีการเลือกที่จะรู้สภาพธรรมใด สภาพธรรมหนึ่ง ลืมความเป็นอนัตตาของสติและปัญญา ว่าแล้วแต่สติและปัญญาจะเกิด รู้ลักษณะสภาพธรรมใดครับ และก็จะเลือกหาวิธีการที่จะรู้ได้เร็ว ก็ไม่พ้นจากโลภะ อกุศลที่เลือกอีกครับ ดังนั้นก็เข้าใจถูกว่าเลือกเพราะอะไร และขณะที่เลือกเป็นธรรมไหม เพราะขณะที่เลือกก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา เข้าใจตรงนี้ก็จะสามารถรู้ลักษณะที่เลือกและละความยึดถือว่าเป็นเราได้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาและตั้งประเด็นเพื่อสนทนาธรรมครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมหรือกุศลธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลสประการต่างๆ จึงมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา และเกิดมากกว่ากุศลด้วย ตามความเป็นจริง อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้ใครเลย มีแต่จะนำทุกข์มาให้ในภายหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่จิตเป็นอกุศลย่อมเร่าร้อนเพราะอกุศลเจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วย และถ้ามีกำลังถึงขั้นล่วงเป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ ยิ่งเร่าร้อนมาก กล่าวได้ว่าเร่าร้อนทั้งในขณะที่ทำ และในขณะที่ได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆ ด้วย ในทางตรงกันข้าม ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นย่อมผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมได้เลย เป็นจิตคนละประเภทกัน มีแต่สภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ศรัทธา (สภาพธรรมที่เลื่อมใสในกุศล) สติ (สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ เมื่อมีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้เป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล และเห็นคุณค่าของกุศลธรรม ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งในกุศลและในอกุศลแม้จะเล็กน้อย เป็นผู้เจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขจัดมลทิน คือ กิเลส อกุศลของตนเอง ถึงแม้ว่ากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา จะเกิดน้อยหรือไม่เกิดเลย ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ทอดธุระ ไม่ใส่ใจในการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าเมื่อกุศลไม่เกิดขึ้น ไม่เจริญขึ้น ก็เป็นโอกาสของอกุศลที่นับวันจะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล กุศลธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทั้งสิ้น ไม่มีตัวตนที่จะเลือกหรือไม่เลือก แต่กุศลธรรมจะค่อยๆ เจริญขึ้น ตามระดับขั้นของปัญญาที่เห็นโทษของอกุศลธรรมและเห็นประโยชน์ของกุศลธรรม ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ร่วมเดินทางและทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 15 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 15 ส.ค. 2554

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

ท่านอาจารย์ถามในห้องพักวิทยากร มศพ. ว่า : -"ทราบไหมคะ ว่าการเลือกทั้งทางฝ่ายกุศลและอกุศล อะไรเป็นผู้เลือก? สภาพที่เลือกได้แก่ปรมัตถธรรมใด? ยังไม่มีใครตอบเจาะจงตัวปรมัตถธรรมเลยค่ะ"

คำตอบ : - "ฉันทเจตสิก เป็นผู้เลือกค่ะ ! เพราะฉันทะ เกิดได้ทั้งทางฝ่ายกุศลและอกุศล"

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขออนุญาตเรียนสอบถามครับว่า

ฉันทเจตสิก ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เลือกนั้น เป็นอธิปติปัจจัย ด้วยหรือไม่ครับ และมีกรณีอื่นที่เป็นปัจจัยให้เลือกกุศลกรรมและอกุศลกรรมหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 15 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ฉันทาธิปติ หมายถึง ความพอใจ ใคร่ที่จะทำเป็นใหญ่ เช่น พอใจในการศึกษาพระธรรม พอใจในการดูภาพยนตร์หรือซื้อหาสิ่งของต่างๆ ดังนั้น ขณะที่เลือกจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ เลือกที่จะทำอกุศลกรรม หรือ กุศลกรรม ด้วยความพอใจที่เป็นใหญ่แล้ว ก็เป็นฉันทาธิปติได้ครับ เช่น ขณะที่ทำกุศลกรรมมีการให้ทาน เพราะมีความพอใจ ใคร่ที่จะทำอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะทำกุศลขั้นทาน เป็นต้น หรือขณะที่เป็นอกุศล เช่น อ่านหนังสือต่างๆ ทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่ธรรม ขณะนั้นก็แล้วแต่ฉันทะที่จะเลือก ซึ่งมีฉันทะเป็นใหญ่ในขณะนั้น คือ เป็นใหญ่กว่า วิริยะ จิต และวิมังสา (ปัญญา) ครับ

และจากคำถามที่ว่า

และมีกรณีอื่นที่เป็นปัจจัยให้เลือกกุศลกรรมและอกุศลกรรมหรือไม่ครับ

- การเลือกทำกุศลกรรมและอกุศลกรรมก็ไม่ใช่มีเพียงปัจจัยเดียว มีหลายปัจจัยครับ เช่น ปกตูปนิสสยปัจจัย ตามการสะสมมาของบุคคลนั้นว่าสะสมฝ่ายกุศลมามาก ก็เลือกที่จะทำกุศลแทนอกุศล หรือสะสมอกุศลมามาก ก็เลือกที่จะทำอกุศลแทนกุศล ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า ความดี คนดีทำง่าย คนชั่วทำยาก ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย คนดีทำได้ยาก ... ก็ด้วยอำนาจการสะสมมาของแต่ละบุคคลครับ แต่ไม่มีเราที่จะเลือกหรือไม่เลือก เป็นไปตามเหตุปัจจัยตามที่กล่าวมาครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
แสงจันทร์
วันที่ 15 ส.ค. 2554

ผมอยากให้ท่านอาจารย์ขยายความ คำว่า ขโณ โว มา อุปจฺจคา

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

ว่ามีนัยอย่างไรบ้าง เพื่อความเข้าใจแจ่มชัดและลึกซึ้งยิ่งขึ้นหน่อยครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pat_jesty
วันที่ 15 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 15 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้าที่ 180

ท่านทั้งหลายจงกระทำตามพระพุทธพจน์ คือ จงกระทำตามพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ซึ่งตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเพ่ง (พินิจ) อย่าเป็นผู้ประมาท คือ จงยังข้อปฏิบัติให้ถึงพร้อมตามที่ทรงพร่ำสอน.

บทว่า ขโณ โว มา อุปจฺจคา

ความว่า จริงอยู่ บุคคลใด ไม่กระทำตามพระพุทธพจน์

ขณะแม้ทั้งหมดนี้ คือ

ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ๑

ขณะที่ได้เกิดขึ้นในปฏิรูปเทสะ (ประเทศอันสมควร) ๑

ขณะที่ได้สัมมาทิฏฐิ ๑

ขณะที่มีอวัยวะทั้ง ๖ ไม่บกพร่อง

ย่อมล่วงเลยบุคคลนั้น ขณะอันนั้น อย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 454

การที่พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๑

การได้กำเนิดเป็นมนุษย์ ๑

การแสดงสัทธรรม ๑

ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หาได้ยากในโลก ชนผู้ใคร่ประโยชน์ จึงควรพยายามในกาล ดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้ จะเข้าใจสัทธรรมได้ ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

จากข้อความที่ยกมาในเรื่อง "ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านไปเสีย" ก็ต้องเข้าใจก่อนครับ ว่า ขณะในที่นี้ คือ ขณะคือช่วงเวลาที่ประเสริฐ คือ

พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๑

การได้เกิดเป็นมนุษย์ ๑

การอยู่ในประเทศอันสมควรที่มีพระพุทธศาสนา ๑

ขณะช่วงเวลาที่มีการแสดงธรรม ๑ และ

ขณะที่อินทรีย์ร่างกายไม่บกพร่อง มี ตา และหู ... ใจ ๑

สามารถศึกษาธรรมได้และ มีความเห็นถูก หากมีขณะ คือ ช่วงเวลา ตามสิ่งที่กล่าวมานี้ ผู้ที่ไม่ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรม ไม่กระทำตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปในสิ่งอื่น ชื่อว่า ล่วงเลยขณะที่ประเสริฐครับ

ดังนั้น ขณะอย่างล่วงเลยพวกท่านไปเสีย คือ เมื่อพระธรรมยังอยู่และได้เกิดเป็นมนุษย์ มีความเห็นถูก เกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา เป็นต้น ก็ควรศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ขณะนั้นชื่อว่าไม่ล่วงเลยขณะที่ประเสริฐนั่นเองครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎกข้างต้น ที่ได้ยกมา

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
แสงจันทร์
วันที่ 15 ส.ค. 2554

ขอขอบคุณสำหรับคำอธิบาย แค่การได้เกิดเป็นมนุษย์ข้อเดียวก็แสนจะยากแล้ว

ขโณ โว มา อุปจฺจคา ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 16 ส.ค. 2554

จากความเห็นที่ 7.

ฉันทเจตสิก ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เลือกนั้น เป็นอธิปติปัจจัย ด้วยหรือไม่ครับ

จากข้อความใน ...

ขอเรียนถามเรื่องอธิปติปัจจัย

อธิปติปัจจัย มี ๒ คือ สหชาตาธิปติปัจจัย และ อารัมมณาธิปติปัจจัย ... การเลือกด้วยฉันทะที่เป็นสหชาตธิปติปปัจจัยเป็นไปได้ทั้งอกุศลหรือกุศล แต่ถ้าเป็นฉันทะที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยต้องเป็นกุศลเท่านั้น ... และฉันทะที่เป็นไปในกุศลหรืออกุศลไม่เป็นอธิปติปปัจจัย ก็ได้. ใช่ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 16 ส.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

ต้องเข้าใจครับว่า อธิปติปัจจัย มี ๒ อย่าง คือ สหชาตาธิปติปัจจัย กับ อารัมมณาธิปติปัจจัย

สหชาตาธิปติปัจจัย หมายถึง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และ วิมังสา เท่านั้น ครับ

แต่ถ้าเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย หมายถึง อารมณ์ ซึ่งไม่ควรทอดทิ้ง ไม่ได้หมายถึง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และ วิมังสาเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยให้เกิดกุศล หรือ อกุศล

สภาพธรรมแทบทุกอย่าง เว้น โทสมูลจิต โมหมูลจิต ทุกขกายวิญญาณ ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เพราะไม่เป็นสิ่งที่น่าพอใจอย่างยิ่งที่ไม่ควรทอดทิ้งครับ ส่วนสภาพธรรมอื่นๆ แม้ ฉันทเจตสิก ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ สภาพธรรมที่เป็นกุศล เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลหรืออกุศล ก็ได้ แต่ รูปธรรม ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ