เทวธรรม ธรรมของเทพ คืออะไร

 
homenumber5
วันที่  30 ก.ค. 2554
หมายเลข  18832
อ่าน  20,051

เรียนท่านวิทยากร เช้านี้ได้ฟังรายการวิทยุ กล่าวว่า เทวธรรมคือธรรมของผู้เป็นเทวดาและ ฌานสมาบัติเป็นองค์ธรรมของพรหม

จึงขอเรียนถามความรู้ในเรื่องนี้เพิ่มเติมค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เทวธรรม หรือ ธรรมของเทวดา เรื่องราวก็พอจะเล่าให้ฟังเป็นดังนี้ครับ เรื่องย่อๆ เกี่ยวกับเทวธรรม ก็มีอยู่ว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกกษัตริย์ ได้ไปอยู่ป่ากับ น้องชาย อีก 2 คน พระโพธิสัตว์ให้น้องชายทั้งสองคนไปอาบน้ำ ดื่มน้ำที่สระน้ำแห่ง หนึ่ง ที่สระน้ำนั้นมีรากษศ หรือ ยักษ์รักษาไว้ และท้าวเวสวัณให้พรกับยักษ์ไว้ว่า ใครลง ที่สระน้ำเจ้า ย่อมได้กินคนนั้น เว้นคนที่รู้เทวธรรมเท่านั้น เจ้าไม่สามารถกินได้

น้องชาย คนแรก ก็ลงไปที่สระ ยักษ์จับไว้และถามว่า รู้จักเทวธรรมไหม น้องชายคนแรกตอบว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ เป็นเทวธรรม ยักษ์นั้นจึงกล่าวว่าท่านไม่รู้จักเทวธรรม จึงจับ ตัวเอาไว้ในภพของตนไว้ก่อน แม้น้องชายคนที่สองก็ลงสู่สระน้ำ ยักษ์จับไว้และถามว่า ท่านรู้จักเทวธรรมไหม ท่านตอบว่า ทิศ 4 เป็นเทวธรรม ยักษ์กล่าวว่าท่านไม่รู้จัก ธรรม ของเทวดา จึงจับเอาไว้ที่ภพของตน พระโพธิสัตว์เห็นว่าน้องชายมาช้า จึงไปตามที่ สระน้ำ เห็นแต่รอยเท้าลง ไม่มีรอยเท้าขึ้นก็รู้ว่า สระนี้มียักษ์และน้องชายถูกจับ ท่านจึง ไม่ยอมลง ยักษ์เห็นว่าพระโพธิสัตว์ไม่ยอมลง ก็แปลงเป็นมาณพ บอกว่าท่านลงสระเถิด ท่านเหนื่อยมา พระโพธิสัตว์รู้ว่าผู้นี้เป็นยักษ์จึงกล่าวว่า ท่านจับน้องชายเราหรือ ยักษ์ก็ ยอมรับว่าใช่ เราย่อมได้คนที่ลงสระนี้ พระโพธิสัตว์กล่าวว่าท่านได้ทุกคน หรือ ยักษ์ กล่าวว่า เว้นคนที่รู้เทวธรรมเท่านั้น พระโพธิสัตว์จึงจะกล่าวเทวธรรมให้ฟัง ท่านอาบน้ำ แต่งตัวให้ดี นั่งบนอาสนะสูง ยักษ์นั่งในที่ต่ำ พระโพธิสัตว์กล่าวกับยักษ์ว่า

ท่านจงตั้งใจฟัง แล้วกล่าวคาถาทีเป็นเทวธรรม หรือ ธรรมของเทวดาว่า

[๖] สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันขาว ท่านเรียกกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 ก.ค. 2554

ดังนั้น ธรรมของเทวดา ที่เป็น เทวธรรม คือ สภาพธรรมฝ่ายดี มี หิริและโอตัปปะ หิริ คือ ความละอายที่ไม่ทำบาป โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวที่จะทำบาป แต่โดยความละอียดแล้ว ธรรรมของเทวดา ยังมีความลึกซึ้งไปกว่านั้นอีกครับ หิริและโอตตัปปะ เป็นธรรมของเทวดา เพราะ ยังให้เกิดในภพภูมิที่ดี มีการเกิดเป็นเทวดา เพราะมีหิริ โอตตัปปะ นี่ประการที่หนึ่งครับ

เพราะ หิริ โอตตัปปะ เป็นเจตสิกฝ่าย ดี เป็นโสภณสาธารณะเจตสิก หมายถึง เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น รวมทั้งจิตที่ดีเกิดขึ้น ก็ต้อง มีหิริและโอตตัปปะเกิดร่วมด้วยเสมอครับ ดังนั้น กุศลทุกประเภท จึงมีหิริ โอตตัปปะครับ และการเกิดเป็นเทวดาก็ต้องเป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้น กุศลที่เกิดขึ้น อันมีเหตุจาก หิริ โอตตัปปะ

หิริ โอตตัปปะนั้นเองจึงเป็นธรรมของเทวดา เพราะทำให้ถึงความเป็นเทวดาด้วยครับ นี่นัยที่หนึ่ง

อีกนัยหนึ่ง กุศลธรรมทั้งหลาย ที่มี หิริ โอตตัปปะ เป็นเหตุ ก็ทำให้ถึงความเจริญถึงพร้อมด้วยกุศลจนสมบูรณ์ครับ เพราะอาศัยกุศลประการต่างๆ ที่มี หิริ โอตตัปปะเกิดร่วมด้วย ก็ทำให้มีความเจริญขึ้นของกุศลจนสมบูรณ์ได้ เพราะมีการเกิดขึ้นของกุศลบ่อยๆ ก็ย่อมเต็มด้วยกุศล ที่เป็นกุศลสัมปทาครับ

อีกนัยหนึ่ง คือ เพราะอาศัยกุศลธรรมประการต่างๆ มี หิริ โอตตัปปะเกิดร่วมด้วย ก็ทำให้ถึงความหมดจด คือ สามารถหมดจดจากกิเลสได้ครับ เพราะขณะที่เจริญวิปัสสนา อันเป็นหนทางละกิเลส หนทางให้หมดจดจากกิเลส ขณะที่เจริญวิปัสสนาก็ต้องมีหิริ และโอตตัปปะเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นครับ

และนัยสุดท้าย ธรรมของเทวดา เทวธรรม หมายถึง กุศลธรรมทุกๆ ประการ ไม่ใช่พียงหิริ โอตตัปะเท่านั้น สภาพธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลทุกๆ ประการก็ชื่อว่าเทวธรรมด้วย

สรุป เทวธรรมมีดังนี้นะครับ

1. หิริโอตตัปปะ ชื่อว่า ธรรมของเทวดา

1.1 ที่หิริโอตตัปปะ เป็นธรรมของเทวดา เพราะทำให้เข้าถึงความเป็นเทวดา เกิด เป็นเทวดาได้เพราะมีหิริ โอตตัปปะ

1.2 ที่หิริโอตตัปปะ เป็นธรรมของเทวดา เพราะให้ถึงการถึงพร้อมด้วยกุศล

1.3 ที่หิริโอตตัปปะ เป็นธรรมของเทวดา เพราะ ให้ถึงความหมดจดจากกิเลสได้ ในที่สุด

2. กุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งหมดที่ควรกระทำ (สุกธรรม) ชื่อว่าเทวธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 30 ก.ค. 2554

ข้อความจากพระไตรปิฎกครับ เรื่องเทวธรรม

๖. เทวธรรมชาดก

ว่าด้วยธรรมของเทวดา

[๖] สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและ โอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันขาว ท่านเรียกกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก.

จบเทวธรรมชาดกที่ ๖

ข้อความบางตอนจากอรรถกถา บทว่า สุกฺกธมฺมสมาหิตา ความว่า กุศลธรรมที่ควรกระทำมีหิริโอตตัปปะนี้แหละเป็นต้น ไป ชื่อว่า สุกกธรรม ธรรมขาว เมื่อว่าโดยนัยที่รวมถือเอาทั้งหมด สุกกธรรมนั้น ก็คือธรรมอันเป็นโลกิยะและโลกุตระอันเป็นไปในภูมิ ๔ ที่ประกอบแล้ว ประกอบพร้อมแล้วด้วยหิริและโอตตัปปะทั้งสองนั้น.

... ธรรมของเทพเหล่านี้ ชื่อว่า เทวธรรม. บทว่า วุจฺจเร แปลว่า ย่อมกล่าว จริงอยู่ กุศลธรรมทั้งหลายมีหิริโอตตัปปะเป็นมูล ชื่อว่า เป็นธรรมของเทพทั้ง ๓ ประเภทเหล่านี้ เพราะ อรรถว่าเป็นเหตุแห่งกุศลสัมปทา แห่งการเกิดในเทวโลกและแห่งความหมดจดเพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเทวธรรม แม้บุคคลผู้ประกอบด้วยเทวธรรมเหล่านั้น ก็เป็นผู้มีเทวธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงธรรมเหล่านั้น ด้วยเทศนาอันเป็นบุคคลอธิษฐานจึงตรัสว่า สัปบุรุษผู้สงบระงับเรียกว่า ผู้มีเทวธรรมในโลก...

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 30 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมฝ่ายดี คือ หิริ และ โอตัปปะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท จะเห็นได้ว่า กุศลจิต มีหลายประเภท มีหลายขั้น ดังนั้น หิริและโอตตัปปะ จึงมีหลายระดับตามประเภทของกุศลจิตประเภทนั้นๆ ด้วย

เริ่มตั้งแต่กุศลจิตในชีวิตประจำวัน ที่เป็นไปในทานบ้าง ศีลบ้าง อบรมเจริญปัญญาบ้าง จนกระทั่งสูงสุด คือ โลกุตตรกุศล ในขณะที่มัคคจิตเกิดขึ้นทำกิจประหาร (ละ) กิเลสได้ตามลำดับมรรค ซึ่งจะปราศจากหิริ และ โอตตัปปะ ไม่ได้เลย มีหิริ โอตตัปปะและโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ที่ควรพิจารณา คือ หิริ (ความละอายต่อกุศล) และ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อกุศล) ต่างก็เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีด้วยกันทั้งคู่ เกิดพร้อมกันทุกครั้ง เป็นความละอาย และความเกรงกลัวต่ออกุศล กลัวต่อผลของบาปกุศลที่จะเกิดขึ้นเพราะบาปอกุศลนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อโสภณธรรม ๒ ประการนี้เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตน กุศลจิตย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ และที่สำคัญ โสภณธรรม ๒ ประการนี้ เป็นธรรมคุ้มครองโลก เป็นเครื่องเกื้อกูลให้สัตว์โลกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สงบร่มเย็น ปราศจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ดีให้แก่กันและกันโดยประการทั้งปวง

นอกจากนั้นแล้ว สำหรับผู้ที่มีปัญญา เห็นประโยชน์ของความเข้าใจพระธรรม กลัวต่อภัยคือการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งเต็มไปด้วยทุกข์นานาประการ ก็เพราะมีหิริ โอตตัปปะ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีความตั้งใจจะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเอง ต่อไป เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าจะเป็นผู้ที่สามารถดับกิเลสทั้งหลาย ทั้งปวงได้ ไม่ต้องมีการเกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดของการอบรมเจริญปัญญา ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 30 ก.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 31 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ