ขอฟังข้อธรรมที่เกี่ยวข้องกับความริษยาค่ะ

 
michii
วันที่  21 ก.ค. 2554
หมายเลข  18785
อ่าน  11,424

ถูกพี่ที่ทำงานพูดกระทบ บางครั้งก็ทำท่าทีแดกดันบ่อยๆ เวลาที่เรามีความสุข คิดว่าเป็นเพราะเค้าริษยาเรา ตัวเราเองก็เสียใจว่าไม่เคยไปริษยาเขาว่าเขาเลย ทำไมถึงได้ทำกับเราแบบนี้ บางครั้งก็เสียใจจนโกรธ ทำให้ใจเศร้าหมอง

อยากฟังข้อธรรมะที่จะทำให้ดับความโกรธ ความเสียใจ ความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นค่ะ

ขอให้พี่ๆ เพื่อนๆ ที่นี่ช่วยลงข้อธรรมะที่จะช่วยเตือนสติดิฉันในขณะนี้ด้วยนะคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความอิจฉาริษยา ในภาษาธรรมะเรียกว่า อิสสา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นสภาพธรรมฝ่ายไม่ดีครับ เป็นสภาพธรรมที่เป็นฝักฝ่ายของโทสะ เพราะขณะที่เกิดความริษยาในสมบัติของผู้อื่น สมบัติในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เพียง ทรัพย์สินเงินทองเท่านั้นครับ รวมถึงสิ่งที่ดีๆ ที่บุคคลอื่นๆ ได้ เช่น การเคารพ สักการะ หรือการได้รับสิ่งที่ดีๆ เมื่อริษยาเกิด ก็เกิดความขุ่นใจ ไม่พอใจในสิ่งที่บุคคลอื่นได้ จึงเป็นธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายโทสะ คือความไม่พอใจ ขุ่นใจในขณะนั้นด้วยครับ

ลักษณะของความอิจฉาริษยา หรือ อิสสานั้น คือ ขณะนั้นย่อมไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ขุ่นใจ ในเมื่อบุคคลอื่นได้ลาภ ได้สักการะ ได้ความเคารพ ได้ความนับถือ ได้รับการไหว้และบูชา กล่าวได้ว่าเห็นบุคคลอื่นได้ดีแล้ว ทนไม่ได้ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ดี นี้เป็นลักษณะของความริษยา (ธรรมะที่ตรงกันข้ามกับความริษยา คือ มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี เมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี) ความริษยา จึงมีความไม่พอใจ ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ในสิ่งที่ดี เป็นลักษณะของความริษยาครับ

เหตุให้เกิดความริษยา

ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงเหตุให้เกิดความริษยาว่า เกิดจากอารมณ์ที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจเป็นเหตุ หากไม่มีอารมณ์ที่ดีและไม่ดีแล้ว ก็จะไม่มีการติดข้องเกิดขึ้น เพราะไม่มีอารมณ์ให้ติดข้องนั่นเอง แต่เมื่อมีอารมณ์ คือ สิ่งที่รับรู้ที่ดี มี สี เสียง ที่น่าปรารถนา เช่น คำสรรเสริญ เป็นต้น และอารมณ์ที่ไม่ดี คือ สิ่งที่รับรู้ที่ไม่ดี ก็ทำให้ติดข้องในอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่รับรู้ต่างๆ เมื่อมีการติดข้องในสิ่งที่น่าพอใจมาก ก็เป็นเหตุให้เมื่อตัวเองไม่ได้ คนอื่นได้ ก็เกิดความริษยา ไม่อยากให้คนอื่นได้ เป็นต้นครับ รวมทั้งมีความไม่ชอบบุคคลนั้นด้วย จึงมีความไม่พอใจในเมื่อบุคคลนั้นได้รับสิ่งที่ดีครับ นี่คือเหตุให้เกิดความริษยา อิสสานั่นเอง ส่วนผู้ที่จะดับความริษยาหรืออิสสา ไม่เกิดขึ้นอีกเลยคือพระโสดาบันครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อิสสา

อิสสามีลักษณะอย่างไร

อิสสาและมัจฉริยะเป็นไฉน? [ธรรมสังคณี]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

สำหรับเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องในเมื่อผู้อื่นเกิดความริษยาเรา ไม่ชอบเราและก็พูดจาไม่ดีกับเรา ควรพิจารณาด้วยความเห็นถูกดังนี้ครับ

ประการที่ ๑

พิจารณาเพราะกรรมไม่ดีในอดีตที่เคยกระทำไว้ การที่เราได้ยินเสียงที่ไม่ดี ต้องมีเหตุ แน่นอนครับว่าต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ไม่ดีที่ได้เคยทำไว้ จึงทำให้ได้ยินเสียงไม่ดี เพราะการได้ยินเสียงที่ไม่ดีในทางธรรมแล้ว เป็นผลของกรรมที่ไม่ดีครับ เมื่อทำเหตุที่ไม่ดีไว้ ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะต้องได้ยินเสียงที่ไม่ดีเพราะการกระทำกรรมไม่ดีของเราเอง จึงไม่มีใครที่ทำให้เรา กรรมต่างหากที่ทำให้ได้ยินเสียงไม่ดีครับ เมื่อเข้าใจดังนี้ จะโกรธเสียงที่ไม่ดีได้ไหมครับ และที่สำคัญก็เป็นกรรมของเราเองที่ทำไว้ จะโทษใครได้นอกจากการที่ทำไม่ดีของเราเองที่ทำไว้ครับ ทุกอย่างจึงมีเหตุที่ทำให้ได้ยินเสียงไม่ดีได้ครับ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านถูกภิกษุทั้งหลาย ด่าว่าท่าน ท่านก็โกรธ ด่าว่าภิษุนั้นกลับ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสว่า เธอทำกรรมไม่ดีไว้ในอดีต ทำให้เธอต้องได้รับกรรมอย่างนี้แล้ว ได้รับการด่าว่าด้วย ทำไมเธอถึงยังทำกรรมที่ไม่ดีอีก ความหมายคือ เพราะเธอทำกรรมไม่ดีไว้จึงทำให้ได้รับผลของกรรม คือ การด่าว่าในปัจจุบันแล้ว เธอจะสร้างเหตุใหม่ไม่ดีอีกทำไม ควรพิจาณาด้วยปัญญา เมื่อได้ยินเสียงไม่ดี ก็พึงเป็นเหมือน ระฆังหรือ กังสดาลที่ไม่มีขอบที่ใครตีก็ไม่ดังนั่นเองครับ คือเมื่อกระทบเสียงที่ไม่ดี ก็พิจารณาว่าเป็นกรรมที่ไม่ดีที่เราทำไว้เอง ควรหรือที่จะทำเหตุใหม่ที่ไม่ดี ไปโกรธเขาอีกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ประการที่ ๒

พิจาณาโดยความเป็นญาติกันในสังสารวัฏฏ์ สัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดมาในสังสาวัฏฏ์ เกิดมาในฐานะต่างๆ กันมากมาย ทั้งเคยเป็นบิดาและมารดาเรามาแล้ว เมื่อเคยเป็นมารดาเรา เคยดูแล อุ้มท้องและให้สิ่งดีๆ กับเรามากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรมีเมตตาและเข้าใจถึงความมีพระคุณของบุคคลนั้น แม้บุคคลนั้นจะทำไม่ดีกับเรา แต่เขาก็เคยมีพระคุณกับเรานั่นเอง ควรเข้าใจและอดทน ในบุคคลที่เคยมีพระคุณครับ

ประการที่ ๓

พิจาณาส่วนที่ดีของบุคคลอื่น ทุกคนที่ยังเป็นปุถุชนยังมีกิเลสะสมมามากมาย ไม่เว้นแม้แต่เรา เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีกิเลสเกิดขึ้นเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมและก็มีการล่วงเกินทางกายและวาจา ตามกำลังของกิเลสที่แต่ละคนสะสมมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นคนไม่ดีไปทั้งหมด ส่วนที่ดี ก็อาจจะมีบ้าง ดังนั้นควรพิจารณาส่วนที่ดีของเขา แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อมีการกระทำไม่ดีกับเรา ก็เข้าใจถึงความเป็นธรรมดาของปุถุชนที่จะต้องมีทุกคนรวมทั้งเราด้วย จึงพิจาณาส่วนที่ดีของเขานั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ประการที่ ๔

พิจารณาโดยการที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน ใครทำกรรมใดก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น ดังนั้น การที่เขาทำกรรมไม่ดี มีกายและวาจาไม่ดี เขาก็ต้องเป็นไปตามกรรมของเขาที่จะต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดีเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเขาจะต้องได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคต ควรเห็นใจเขาหรือควรจะโกรธเขาครับ เพราะเรามักจะสงสาร เห็นบางบุคคล บางเหตุการณ์ที่ได้รับสิ่งที่ไม่ดี บางคนก็ถูกจองจำ เฮลิคอปเตอร์ตก ถูกทรมาน ก็เพราะกรรมไม่ดีให้ผลทั้งนั้น แต่เราก็สงสารตรงที่ผลเกิดแล้ว แต่เพราะเขาทำกรรมไม่ดีก็จึงทำให้ได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีเช่นนี้ ดังนั้น ควรสงสาร เห็นใจตั้งแต่ที่เขาทำอกุศลกรรมในขณะนั้น ว่าเขาจะต้องได้รับผลไม่ดีเช่นกันครับ พราะฉะนั้นการที่ใครทำไม่ดีกับเรา เขาก็ต้องได้รับกรรมไม่ดี ควรเห็นใจ และสงสารในขณะนั้น แทนที่จะโกรธบุคคลนั้น เพราะเมื่อโกรธและเราทำสิ่งไม่ดีบ้างก็เท่ากับทำเหตุใหม่ที่ไม่ดีเหมือนเขาเช่นกันครับ

ประการที่ ๕

พิจารณาโดยความเป็นธาตุ คือ เป็นธรรมเท่านั้น การได้ยินสิ่งที่ไม่ดี การได้ยินเป็นเพียงธรรมเท่านั้นไม่ใช่เราที่ได้ยิน การที่ผู้อื่นมีอกุศล มีความริษยาก็ไม่ใช่เขาที่อิจฉา ริษยา แต่เป็นธรรมะที่เกิดขึ้น คือ อกุศลที่เกิดขึ้นที่เป็นความริษยานั่นเอง จึงไม่มีใครริษยาและไม่มีบุคคลใดถูกริษยา มีแต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเท่านั้นที่เกิดขึ้น อกุศลจึงเป็นธรรมะไม่ใช่เราและไม่ใช่เขาครับ และการได้ยินเสียงก็เป็นเพียงจิตเท่านั้นเองครับ และขณะที่คิดว่าคนอื่นริษยาก็เป็นเพียงความคิดที่เป็นธรรมไม่ใช่เราเช่นกัน ดังนั้นจึงมีแต่ธรรมะที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นครับ จะโกรธใครในเมื่อมีแต่ธรรมะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

อกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งนั้น หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลา หรือละคลายอกุศลให้เบาบางลง ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เข้าใจอกุศลว่าเป็นอกุศล อกุศล ให้ผลที่เป็นทุกข์ไม่นำประโยชน์มาให้เลย ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจว่า เป็นธรรมจริงๆ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ ความริษยา ก็จะค่อยๆ เบาบางลงได้ ตามกำลังของปัญญา ครับ (ผู้ที่จะดับความริษยาได้เด็ดขาด ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน) พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่ออนุเคราะห์ให้พุทธบริษัทมีความประพฤติที่ดีงาม งามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ถ้าเป็นผู้ที่ได้สั่งสมอบรมมาในเรื่องความมีเมตตา มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ความริษยาก็จะไม่ค่อยเกิดกับบุคคลนั้น ดังนั้น กุศลธรรม จึงเป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่อกุศลเป็นสิ่งที่ควรละครับ

ที่สำคัญ ควรเข้าใจความจริงของสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น แม้แต่ความไม่โกรธ ความขุ่นใจที่เกิดขึ้นก็พราะมีกิเลสที่สะสมมามาก เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ดีก็ทำให้เกิดโทสะได้เป็นธรรมดาครับ ซึ่งผู้ที่จะไม่เกิดโทสะอีกเลย คือถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีนั่นเองครับ ดังนั้นหนทางในการอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลสได้จริงๆ นั้นจะต้องดับกิเลสไปตามลำดับขั้น ไม่ใช่จะไม่ให้โทสะเกิดเลย ต้องเกิดแน่นอนครับ แต่หนทางในการอบรมปัญญา คือ เข้าใจสิ่งที่เกิดแล้ว แม้โทสะที่เกิดขึ้น ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะการพิจารณาถูก ไม่เกิดโทสะในขณะนั้น แต่เดี๋ยวก็เกิดโทสะอีก เพราะการคิดพิจารณาถูก เพียงความคิดนึกยังไม่ใช่หนทางในการดับกิเลส ดังนั้น เริ่มจากความเห็นถูกว่า ควรเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจดังนั้นก็จะละกิเลสเป็นลำดับขั้นจนถึงความไม่มีโทสะได้ในอนาคตครับ แต่ต้องเริ่มจากความเห็นถูกเบื้องต้นก่อนครับว่าปัญญาเบื้องต้น ต้องเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใชเรา แม้แต่โทสะที่เกิดขึ้นครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

ผู้ร่วมงานอายุน้อยกว่าชอบอิจฉา ริษยา ใช้ธรรมะใดข่มดีคะ

เหตุให้เกิดความริษยาและความตระหนี่ [สักกปัญหสูตร]

อุทิศุกศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ความริษยา" ความริษยา (ภาษาบาลี คือ อิสฺสา) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็ดับความริษยาอย่างเด็ดขาดไม่ได้ แต่ละบุคคลย่อมมีตามการสะสม บางคนอาจจะมีมาก บางคนอาจจะมีน้อย จึงควรที่จะพิจารณาตนเองว่ามีความริษยาบ้างไหมในชีวิตประจำวัน? เพราะว่า ธรรม คือ ขณะนี้จริงๆ บางคนอาจจะไม่ริษยาในเมื่อผู้อื่นได้วัตถุสิ่งของต่างๆ แต่อาจจะมีความริษยาในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ของบุคคลอื่นก็ได้ ซึ่งเป็นความล้ำลึกของอกุศล พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นี้เป็นความจริงของกิเลสที่สะสมมา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปดับความริษยาได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีความริษยาอีกเลย, ควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่ควรที่จะไปริษยาบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย เพราะถึงแม้ว่าจิตของเราจะเร่าร้อนเพราะความริษยาสักเท่าไร บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข เพราะกรรมดีที่ได้กระทำมาแล้ว ก็มีเหตุที่จะทำให้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น อุดมสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรที่จะให้จิตเป็นอกุศลที่ริษยาในบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อย ก็ควรทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ควรจะละให้หมดสิ้นไป นี้คือความเป็นจริงที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

"เมื่ออยู่ร่วมกันและยังมีกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งนั้น"

แต่ละบุคคลมีการสะสมมาที่แตกต่างกัน ความคิด การกระทำและคำพูด จึงแตกต่างกันออกไปตามการสะสม มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลเลย มีแต่ความเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ นามธรรม กับ รูปธรรม เท่านั้น ที่สำคัญเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพียงคนเดียว อยู่รวมกันหลายคน ทั้งเขาทั้งเราก็มีส่วนที่ไม่ดี ด้วยกันทั้งนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ถึงการดับกิเลสได้ทั้งหมด จึงควรอย่างยิ่งที่จะเห็นใจคนที่มีกิเลสด้วยกัน ยิ่งถ้ามีการไตร่ตรองพิจารณา เข้าใจในเหตุในผลของธรรมจริงๆ ก็จะมีความเข้าใจ มีความเห็นใจแล้วมีเมตตาในบุคคลนั้นๆ ได้ แทนที่จะโกรธ แทนที่จะไม่พอใจ และควรที่จะพิจารณาว่า การที่บุคคลนั้นจะมีความเห็นและพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างนั้นได้ ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เมื่อเขาเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็ควรที่จะเข้าใจเห็นใจ แล้วถ้ามีอะไรที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขาได้ นั่นเป็นการดีที่สุดที่จะช่วยเขาตามกำลังปัญญาของตนเอง ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าความโกรธ ความไม่พอใจ เพราะความโกรธ ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ก็ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

และคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ไม่มีการสอนให้โกรธ มีแต่สอนให้ดับความโกรธ แต่จะดับได้อย่างไรถ้าไม่มีปัญญา ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาจริงๆ ถึงจะดับได้ และไม่สามารถดับได้ในเวลาอันรวดเร็ว ฟังพระธรรมวันนี้แล้วจะให้บรรลุเป็นพระอนาคามี ไม่โกรธอีกเลย เป็นไปไม่ได้ ปัญญา จะต้องค่อยๆ สะสมอบรมไปจริงๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า กิเลสอกุศลธรรมประการต่างๆ ต้องอาศัยปัญญาความเข้าใจถูก เห็นถูก ที่เกิดจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เท่านั้น จึงจะค่อยๆ ละคลายไปตามลำดับได้ ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การดับกิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจพระธรรมจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน ที่ใดมีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีกุศลทั้งหลาย ครับ.

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
michii
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ขอบคุณค่ะ ตอนแรกคิดถึงแต่ปัจจุบันว่าเราไม่เคยทำอะไรเขาเลย

ขอบคุณที่ช่วยเตือนสตินะคะ ทุกสิ่งเกิดขึ้นมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pamali
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pat_jesty
วันที่ 21 ก.ค. 2554
กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jans
วันที่ 24 ก.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
homenumber5
วันที่ 31 ก.ค. 2554

เรียนท่านเจ้าของกระทู้ ขอร่วมแสดงความเห็นค่ะ

ขออนุโมทนาท่านวิทยากรทุกท่านที่มีข้อธรรมน้อมนำให้จิตคลายอกุศลลง ไม่ว่าผู้ใดจะถูกว่ากล่าวกระทบทางร้าย ธรรมดาย่อมน้อยใจเสียใจโกรธอาฆาต การที่ท่านเจ้าของกระทู้เปลี่ยนความทุกข์จากการถูกริษยามาเข้าสู่เว็บและสนทนาธรรม คิดอีกแง่นึงคือ คุณมีโอกาสมาสนทนาธรรมเพราะเขาที่มาริษยา นับว่าคนผู้นี้เป็นผู้มากระตุ้นให้เรามาสู่ธรรมะเร็วขึ้น ลองคิดว่าทุกวันมีแต่คนสรรเสริญ ไม่มีใครติติง ทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ การงานก้าวหน้า คนประเภทนี้คงมีน้อยคนที่จะมาสิกขาธรรม จริงไหมคะ ขอให้กำลังใจแก่คุณ ว่า หาก เราลด ความโกรธ เกลียด อาฆาต พยาบาท ตระหนี่ ขี่บ่น หงุดหงิด รำคาญง่าย น้อยใจ เสียใจ ต่างๆ ลงได้ นั่นแหละค่ะ เรามีจิตใจกุสลมากขึ้นแล้ว ทำได้ก็เพราะเข้าใจธรรมะ ที่ท่านวิทยากรอธิบายมานี้ แต่ ยากมาก เพราะ เราสะสมมาเป็นกิเลสมากมายหลายชาติ จึงต้องมาสะสมฟังใหม่ ไม่งั้นก็มีอาการเหล่านี้กลับมาอีกค่ะ

ขอขอบคุณท่านเจ้าของกระทู้ที่ถามมาและท่านวิทยากร อธิบายอย่างละเอียด จนเข้าใจ มากขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณทุกท่านที่ชี้แนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 15 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง

จาก ใหญ่ราชบุรี - ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Wiphaluck
วันที่ 24 ก.พ. 2561

สาธุค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ