สอบถามท่านผู้รู้แจ้ง

 
จักรกฤช
วันที่  4 ก.ค. 2554
หมายเลข  18673
อ่าน  1,191

สมาธิและภาวนาต่างกันอย่างไรบ้าง และประโยชน์ของสมาธิและภาวนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สมาธิ คืออะไร

สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต ดังนั้นสมาธิจึงมีหลายระดับ ตามระดับความตั้งมั่น สมาธิ สภาพธรรมคือ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท เกิดกับจิตที่ เป็นกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ครับ เพราะฉะนั้น ขณะที่มีจิตเกิดขึ้น ไม่ว่า ประเภทใดก็มีเอกัคคตาเจตสิก มีความตั้งมั่นแห่งจิตที่เป็นสมาธิในขณะนั้น ดังนั้น ขณะที่มีจิตเกิดขึ้นก็มีสมาธิ เป็นสมาธิที่เป็นขณิกสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิตชั่ว ขณะนั่นเองครับ

สมาธิที่เป็นเอกัคคตาเจตสิก ทีเกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้นจึงเกิดได้กับอกุศลและ กุศลก็ได้ เพราะฉะนั้น สมาธิ จึง 2 อย่างคือ สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธินั่นเองครับ สัมมาสมาธิเกิดกับจิตที่เป็นกุศลด้วยความตั้งมั่นของจิต ส่วนมิจฉาสมาธิก็ตรงกันข้าม

ภาวนาคืออะไร

ภาวนา หมายถึง การอบรมสิ่งที่ยังไม่มี ให้มีขึ้น และสิ่งที่มีแล้วให้เจริญขึ้น ดังนั้นก็ ต้องเป็นการอบรมเจริญในสิ่งที่ดี นั่นก็คือ กุศลและปัญญานั่นเองครับ ภาวนา มี 2 อย่างคือ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนา คือ การอบรมเจริญกุศลที่มีให้มากขึ้นจนตั้งมั่น และเกิดกุศลติดต่อกัน ไปด้วยความสงบของจิตที่เป็นกุศล แต่ต้องมีปัญญาที่รู้ว่าจะเจริญความสงบให้ตั้งมั่น ติดต่อกันไปได้อย่างไร

วิปัสสนาภาวนา คือ การอบรมเจริญ ปัญญาให้เจริญขึ้น อันเป็นปัญญาที่รู้ความจริง ของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้นจึงเป็นการอบรมให้มีขึ้นและ ให้เจริญขึ้นของปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ครับ

ดังนั้นการเจริญภาวนาทั้งสองจึงเป็นเรื่องของกุศลและ ปัญญา ทั้งสิ้นครับ จึงจะเป็น ภาวนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 ก.ค. 2554

สมาธิและภาวนาต่างกันอย่างไรบ้าง เกี่ยวข้องกันอย่างไร

สมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ที่เป็นฝ่ายกุศล ที่เป้็นสัมมาสมาธิก็ได้ และเป็นฝ่ายอกุศล เป็นมิจฉาสมาธิก็ได้ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงภาวนา ทีเป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ต้องเป็นกุศลและมีปัญญาด้วย

ดังนั้น ความแตกต่างในบางส่วนคือ สมาธิที่เป็นอกุศล ที่เป็นมิจฉาสมาธิ จะไม่เกิดกับภาวนาเลยครับ

ซึ่งขณะที่เป็นภาวนาขณะนั้นต้องมีจิต และเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และ ต้องมีเอกัคคตาเจตสิก ทีเป็นสมาธิ แต่ต้อง เป็นสัมมาสมาธิที่เกิดกับกุศลเท่านั้นครับ ไม่ใช่มิจฉาสมาธิที่เกิดกับอกุศลเลย ดังนั้น การจะตัดสินว่า เจริญสมถภาวนา หรือ วิปัสสนาภาวนา เพียงเพราะว่าขณะนั้นจิตไม่ ซัดส่ายไปที่ใด ก็เป็นภาวนาแล้วไมได้ครับ เพราะมิจฉาสมาธิก็ตั้งมั่นเหมือนกันครับ ดังนั้น ความต่างก็คือ ภาวนาไมได้ตัดสินว่าต้องเป็นมีความแน่วแน่ ไม่คิดเรื่องอะไรก็ เป็นภาวนา แต่ต้องมีปัญญาและเกิดกับกุศลครับ ซึ่งเป็นสัมมาสมาธิ ดังนั้น สมาธิ จึง เป็นความตั้งมั่นที่เกิดกับจิตทุกดวง จึงเป็นอกุศลก็ได้ ทีเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเป็น ภาวนาแล้ว เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งสมาธิทีเป็นเอกัคคตาเจตสิกทีเกิด ร่วมด้วยในขณะที่เจริญภาวนาก็เป็นสัมมาสมาธิครับ

ซึ่งความเกี่ยวข้องของสมาธิกับภาวนาก็มีในส่วนที่ขณะที่เจริญภาวนาก็มีสมาธิด้วย เช่น สมถภาวนา เมื่อเจริญก็มีสมาธิ มีความตั้งมั่นของจิตทีเกิดกับกุศลจิตและปัญญา เป็นสัมมาสมาธิ จนถึงระดับที่เป็นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เป็นความตั้งมั่น แนบแน่น เป็นกุศลครับ อันเป็นสัมมาสมาธิ ส่วนวิปัสสนาภาวนา ก็มี สมาธิชั่วขณะที่ เป็นขณิกสมาธิ แต่เมื่อเกิดกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาจึงเป็นสัมมาสมาธิใน ขณะนั้นครับ เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงภาวนาแล้ว ต้องเป็นสัมมาสมาธิครับ นี่คือความ ต่าง และความเกี่ยวข้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 4 ก.ค. 2554

ประโยชน์ของสมาธิและภาวนา

คำว่าประโยชน์ก็ต้องจำกัดความกันก่อนครับ เพราะประโยชน์ของแต่ละคนก็ไม่ เหมือนกัน แต่ประโยชน์ที่เป็นสัจจะ ความจริง คือ นำมาซึ่งสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ และสิ่งนั้นก็ไม่มีโทษเลย ดังนั้นประโยชน์ก็คือ สิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นกุศล และธรรมฝ่ายดี เป็นต้น อันนำมาซึ่งความสุขและความไม่มีโทษกับตนเองและผู้อื่นครับ

สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว สมาธิ มีทั้ง มิจฉาสมาธิ ที่เกิดกับ จิตที่เป็นอกุศล และสัมมาสมาธิ ทีเกิดกับจิตที่เป็นกุศล อันเป็นความตั้งมั่นของจิต ดังนั้น เมื่อจำกัดความคำว่าประโยชน์ตามที่กล่าวมา

มิจฉาสมาธิจึงไม่เป็นประโยชน์ กับจิตของผู้เกิดเลย เพราะขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เป็นความตั้งมั่นทีเกิดกับอกุศล อกุศลไม่นำประโยชน์มาให้มีแต่เป็นโทษกับตัวเองและผู้อื่นได้ครับ

แต่ สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิตทีเกิดกับกุศลจิต เมื่อเป็นกุศล สมาธินั้นก็เป็นประโยชน์ เพราะ กุศลทีเกิดย่อมเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีโทษในขณะนั้นและนำมาซึ่งความสุขเพราะจิตเป็นกุศล นั่นเอง และผู้อื่นด้วยครับ นี่คือประโยชน์ของสมาธิครับ ซึ่งสัมมาสมาธิก็เกิดกับ การ เจริญภาวนาด้วย ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 4 ก.ค. 2554

ประโยชน์ของภาวนา คือ การเจริญขึ้นของกุศลและปัญญา ซึ่งสมถภาวนา ประโยชน์ คือ ระงับอกุศลไม่ให้เกิด เกิดกุศลเจริญขึ้นและติดต่อกันไป แต่ก็ไม่ใช่หนทางดับทุกข์ เพราะไมได้รู้ความจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นธรรมใช่เรา ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์ใน ปัจจุบันสำหรับผู้เจริญ นั่นคือ เป็นธรรมเครื่องอยู่ผาสุข อันสงบจากกิเลสชั่วขณะนั่น เองครับ นี่คือประโยชน์ของสมถภาวนา

วิปัสสนาภาวนา ประโยชน์คือความเจริญขึ้นของกุศลและที่สำคัญทีสุด เป็นการ เจริญขึ้นของปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ อันเป็นหนทางดับกิเลส ได้แท้จริง เพราะขณะที่เจริญวิปัสสนา คือรู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ค่อยๆ ละคลาย ความไม่รู้ กิเลสที่สะสมมามาก ที่ยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ เป็นต้น

อันเป็นประโยชน์สูงสุดคือการรู้ความจริงและถึงการดับกิเลสได้ครับ นี่คือประโยชน์ สูงสุดของพระพุทธศาสนาครับ

สมาธิจึงมีประโยชน์และโทษ เพราะสมาธิ มีทั้ง มิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ส่วน ภาวนา ก็มีประโยชน์ฝ่ายเดียวเพราะเป็นกุศล และมีปัญญา แต่ประโยชน์ก้มีหลายระดับ เพียงสงบจากกิเลส ไม่สามารถดับกิเลส เป็นสมถภาวนา ส่วนประโยชน์สูงสุดคือดับ กิเลสได้ นั่นคือการเจริญวิปัสสนาครับ

ดังนั้น ที่กล่าวมาในทุกเรื่อง ต้องเริ่มจากความเข้าใจพื้นฐานโดยการฟังให้เข้าใจ การ ศึกษาพระธรรมจึงเกื้อกูลให้เป็นผู้เห็นถูกและนำมาซึ่งความเจริญขึ้นของปัญญาครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"สมาธิ" เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกประการหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภท คือ เอกัคคตาเจตสิก เมื่อเกิดกับจิตใด ก็เสมอกันกับจิตนั้น คือ ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดร่วมกับกุศล ก็เป็นกุศล ถ้าเกิดร่วมกับวิบาก ก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดร่วมกับกิริยา ก็เป็นกิริยา ขึ้นอยู่กับจิตในขณะนั้นว่าเป็นจิตประเภทใด สมาธิ จึงมีทั้งที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลแล้ว ไม่มีโทษ แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว มีโทษอย่างแน่นอน และยังเป็นเป็นไปเพื่อเพิ่มอกุศลให้มีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

สำหรับ ภาวนา นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า ภาวนา คือ อะไร คำว่า ภาวนา หมายถึง การอบรม, การยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีปัญญาจึงจะอบรมได้ไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การท่องบ่น แต่เป็นการอบรมเจริญกุศลให้มีมากยิ่งขึ้น จากที่กุศลไม่มี ก็ค่อยๆ มีกุศลขึ้น จากที่ปัญญาไม่มี ก็ค่อยๆ อบรมเจริญให้มีขึ้น ภาวนามี ๒ อย่าง คือ สมถภาวนา (การอบรมความสงบของจิต เป็นการอบรมกุศลให้มั่นคงแนบแน่นเป็นสมาธิ) และ วิปัสสนาภาวนา (การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง) เมื่อกล่าวถึงสมาธิที่เป็นสมถภาวนา ต้องเป็นสมาธิทางฝ่ายกุศล ไม่ใช่อกุศล และแน่นอนว่าจะต้องเกิดร่วมกับปัญญาจึงจะสามารถเห็นโทษของอกุศลประการต่างๆ ได้ในชีวิตประจำวัน [ภาวนาทั้งสอง จะขาดปัญญาไม่ได้เลย]

ส่วนวิปัสสนาภาวนา เป็นการอบรมเจริญปัญญา ในขณะนั้นสมาธิก็มีด้วย เกิดร่วมกับปัญญา ที่เป็นไป น้อมไปเพื่อการเห็นธรรมตามความเป็นจริง, วิปัสสนาภาวนาผลสูงสุด ทำให้ผู้อบรมสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด แต่สมถภาวนา ผล คือ ระงับกิเลส (ไม่ใช่ดับกิเลสอย่างเด็ดขาด) และ เป็นเหตุให้เกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌานที่ได้ ซึ่งยังเป็นไปในวัฏฏะ ยังไม่พ้นจากกองแห่งทุกข์ทั้งปวง ครับ.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณจักรกฤช,คุณผเดิมและทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pamali
วันที่ 5 ก.ค. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จักรกฤช
วันที่ 5 ก.ค. 2554

ขอกราบนมัสการที่ได้ชี้แนะทางสว่างให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 5 ก.ค. 2554

นมัสการ น. การแสดงความอ่อนน้อมด้วยการกราบไหว้; คําที่ใช้ขึ้นต้นและลงท้าย จดหมายที่มีไปถึงพระภิกษุสามเณร. (ป. นมกฺการ; ส. นมสฺการ) . (พจนานุกรมฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒)

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ