ผู้นั้นอยู่ในโลกโดยชอบ ย่อมไม่ใฝ่ฝันต่อใครๆในโลกนี้.

 
pirmsombat
วันที่  25 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18616
อ่าน  1,281

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 485
……………………………

[๘๔๗] ผู้นั้นแลมีความรู้ เป็นเวทคู รู้ธรรมแล้วไม่อาศัยผู้นั้นอยู่ในโลกโดยชอบ ย่อมไม่ใฝ่ฝันต่อใครๆ ในโลกนี้.[๘๔๘] คำว่า มีความรู้ ในคำว่า ผู้นั้นแลมีความรู้ เป็นเวทคูความว่า มีความรู้ ถึงวิชชา มีญาณ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีปัญญาแจ่มแจ้งมีปัญญาทำลายกิเลส. คำว่า เป็นเวทคู ความว่า ญาณในมรรค ๔ เรียกว่าเวท ฯลฯ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในเวทนาทั้งปวง ล่วงเวทนาทั้งปวงแล้ว ชื่อว่าเป็นเวทคู เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นแลมีความรู้เป็นเวทคู.[๘๔๙] คำว่า รู้ธรรมแล้วไม่อาศัย ความว่า รู้แล้ว คือ ทราบพิจารณา เทียบเคียง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ทำให้เป็นแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา. คำว่า ไม่อาศัยความว่า ความอาศัย ๒ ประการ คือ ความอาศัยด้วยตัณหา ๑ ความอาศัยด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยทิฏฐิ ผู้นั้นละความอาศัยด้วยตัณหา สละคืนความอาศัยด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ไม่อาศัย ไม่พัวพัน ไม่เข้าถึง ไม่เยื่อใย ไม่น้อมใจไป ออกสละ พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฯลฯ รูปที่เห็นเสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบ และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง เป็นผู้มีจิตอันทำให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รู้ธรรมแล้วไม่อาศัย.[๘๕๐] คำว่า ผู้นั้นอยู่ในโลกโดยชอบ ความว่า ฉันทราคะในอายตนะภายในและภายนอก เป็นกิเลสอันผู้นั้นละแล้ว ตัดรากขาดแล้วทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดาด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเที่ยวไปอยู่ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา บำรุง เยียวยาอยู่ในโลกโดยชอบปุญญาภิสังขารก็ดี อปุญญาภิสังขารก็ดี อาเนญชาภิสังขารก็ดี เป็นสภาพอันผู้นั้นละแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดาด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเที่ยวไป อยู่ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติรักษา บำรุง เยียวยาอยู่ในโลกโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นอยู่ในโลกโดยชอบ.ว่าด้วยตัณหาเรียกว่าความใฝ่ฝัน[๘๕๑] คำว่า ย่อมไม่ใฝ่ฝันต่อใครๆ ในโลกนี้ ความว่า ตัณหาเรียกว่าความใฝ่ฝัน ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูลตัณหาอันเป็นความใฝ่ฝันนั้น อันผู้ใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ผู้นั้นย่อมไม่ใฝ่ฝันต่อใครๆ เป็นกษัตริย์ก็ตาม เป็นพราหมณ์ก็ตาม เป็นแพศย์ก็ตาม เป็นศูทรก็ตามเป็นคฤหัสถ์ก็ดี เป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นเทวดาก็ตาม เป็นมนุษย์ก็ตามเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมไม่ใฝ่ฝันต่อใครๆ ในโลกนี้ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าผู้นั้นแลมีความรู้ เป็นเวทคู รู้ธรรมแล้วไม่อาศัยผู้นั้นอยู่ในโลกโดยชอบ ย่อมไม่ใฝ่ฝันต่อใครๆ ในโลกนี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
bsomsuda
วันที่ 25 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wirat.k
วันที่ 26 มิ.ย. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pirmsombat
วันที่ 26 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณเผดิมและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ZetaJones
วันที่ 28 มิ.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ