ข้อความเตือนสติเรื่องปริสาสูตร

 
wittawat
วันที่  8 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18497
อ่าน  3,327

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร..
ปริสาสูตร .. บริษัท ๓ จำพวก

๑. สงบ สันติ สามัคคี เท่าไรจึงพอ

สงบ สันติ สามัคคี เกิดได้เพราะกุศล แม้อยากเป็นคนดี แต่ความอยากก็ไม่ทำให้ถึงความเป็น คนดี แม้เข้าใจว่าตัวเองดี แต่ผู้ที่ละเอียด ดีเท่าไรก็ไม่พอ และทางเดียวที่จะดียิ่งขึ้นได้ คือ รู้ความจริงของ ธรรม

๒. ความหมายของ บริษัท ๓ ประเภท ได้แก่ บริษัทที่เป็นคนดี บริษัทที่เป็นพรรค บริษัทที่สามัคคีกัน

บริษัทที่เป็นคนดี

คนดี เริ่มจากแต่ละหนึ่งๆ บริษัทที่ดีก็เริ่มจากที่เราเป็นคนดี หากหวังให้บริษัทดี โดยที่เราไม่ดีเป็นไปไม่ได้ และดีเท่าไรก็ไม่พอจนกว่าจะหมดกิเลส ขณะใดที่ฟังธรรมเข้าใจ มั่นคงขึ้นในความไม่ใช่เรา และก็ทำความดีสะสมปัญญา ขณะนั้นก็เป็น บริษัทที่เป็นคนดี

บริษัทที่เป็นพรรค (บริษัทที่แก่งแย่ง ทะเลาะ ทิ่มแทงกันด้วยด้วยหอกคือ ปาก)

ขณะที่มีความเป็นเรา เห็นแก่ตัว แม้คิดริษยาโดยไม่รู้ความจริงว่า ตั้งแต่เกิดก็เพราะกรรม หรือ แม้มีเมตตาแก่สัตว์เลี้ยงได้ แต่ไม่ให้แก่คนที่ไม่ชอบ ทั้งหมดถ้ามีเราก็เป็น บริษัทที่เป็นพรรค

บริษัทที่สามัคคีกัน

แต่ขณะที่คนดีพร้อมเพรียงกันทำสิ่งที่ดี ก็เป็นบริษัทที่สามัคคีกัน

ความต่างของบริษัทที่เป็นคนดี และ บริษัทที่สามัคคี

คนมี ๒ ประเภท ทั้งดี และ ไม่ดี เมื่อคนดีรวมกัน พร้อมกันทำดีทางกาย วาจา และ ใจ เป็นไปเพื่อประโยชน์ และการขัดเกลากิเลส ก็เป็นบริษัทที่สามัคคี เช่น การจัดดอกไม้ บูชาต้น พระศรีมหาโพธิ์ สนทนาธรรม เป็นต้น

ประโยชน์ของการฟังเรื่องบริษัท

แม้บริษัททั้ง ๓ นี้ก็ไม่พ้นธรรม คือ กุศล และ อกุศล ทั้งหมดก็เพื่อรู้ความจริง พิจารณาขณะนี้ว่าเป็นตนเองไม่ใช่คนอื่น ที่ตนเองเป็นอย่างนี้ก็เพราะเป็นไปตามการสะสม เพราะยังมีกิเลส ความไม่รู้

๓. ความสามัคคี ที่เป็นไปทางกายทวาร และ วจีทวาร

ความสามัคคี คือ การกระทำด้วยกาย ด้วยวาจาที่พร้อมเพรียงกัน ถ้าไม่มีกายทวาร และ วจีทวาร ก็มีความพร้อมเพรียงกันไม่ได้ เพราะใจคิดอย่างไรก็เป็นปัจจัยให้เสียงกล่าวคำนั้นออกมา อย่างนั้น ซึ่งเป็นไปตามการสะสม เช่น ครูทั้ง ๖ มีความคิด ความเห็นผิด แม้คำพูด การแสดงธรรม ก็แตกต่างจากพระผู้มีพระภาคเจ้า การกระทำ ข้อประพฤติปฏิบัติก็ต้องต่างกัน

๔. มงคล

ไม่คบคนพาล

เพราะคนพาลนำภัยอันตรายมาให้อย่างเดียว ได้แก่ คนที่มีกิเลส มีความไม่รู้ มีอกุศล

คบบัณฑิต

บัณฑิตเป็นแสงไฟในความมืด เพราะบัณฑิตผู้มีปัญญาสามารถที่จะทำให้เริ่มเข้าใจว่าความจริงคืออะไร

บูชาบุคคลที่ควรบูชา

ได้แก่ บูชาคนดี ผู้ที่รู้คุณของความดีจึงบูชาคุณความดี แต่ผู้ที่ไม่รู้คุณของความดีก็ไม่บูชาความดีเลย

อยู่ในประเทศที่สมควร

คือมีพระธรรม มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม มีคำสอนที่จริง คือ สัจจธรรม ดีกว่าอยู่ที่อื่น ทำเรื่องอื่นก็ไม่มีโอกาสฟังธรรม ซึ่งบางบุคคลไม่มีโอกาสได้ฟังตั้งแต่ เกิดจนตาย

ได้กระทำบุญไว้แต่ปางก่อน

ที่ได้ฟังธรรมเพราะได้กระทำบุญไว้แต่ปางก่อน และขณะนี้กำลังเป็นปางก่อนของชาติหน้า มิฉะนั้น จะไม่มีการขวนขวายเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น ที่แม้ธรรมปรากฏ แล้วฟัง แต่ก็ยังยากที่จะ

เข้าใจ เพราะสะสมความไม่รู้มานาน แต่เพราะบุญที่กระทำไว้แล้วเป็นปัจจัย จึงมีโอกาสได้ยินอีก ได้ฟังอีก ไตร่ตรองความละเอียดอีก เข้าใจอีก เพราะฉะนั้นขณะที่มีความเพียร ที่จะกระทำสิ่งที่ดี ก็เป็นการได้บำเพ็ญบุญไว้แต่ปางก่อนเมื่อจะถึงชาติหน้า

ตั้งตนไว้ชอบ

หมายถึง การได้ฟังพระธรรม ได้ไตร่ตรองความจริง ค่อยๆ มีความเห็นตรงตามจริงนั้น แล้วจึงสามารถตั้งตนไว้ คือ ประพฤติตามพระธรรม ไม่ผิดจากพระดำรัส ที่ทรงแสดงไว้โดยชอบธรรม ไม่ประมาทแม้เพียงคำสอนที่แสดงไว้โดยเล็กน้อย คือ การเห็นค่าของรัตนะ คือ พระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว ที่จะสามารถละจากความเป็นพรรคพวก (บุคคลที่ขัดแย้งกัน เพราะยังมีอกุศล คือ ความเป็นเรา) ได้ ก็ต้องอาศัยการตั้งตนชอบ ค่อยๆ สะสมกุศลธรรม อบรมรู้ความจริงของสัจจธรรม รู้ตรงว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่พรรคพวก แต่เป็นธรรม

พหูสูต

คือ ความเข้าใจพระพุทธพจน์ แม้คาถาเพียงสี่บาท แต่ถ้าเราเข้าใจถูกต้องจริงๆ คือ ตรงตามความจริงแล้วนั้น ก็เป็นพหูสูต

๕. บุคคลผู้บริโภครัตนะ

รัตนะ คือ สิ่งมีค่าประเสริฐสูงสุด เพราะนำความเบิกบานมาให้ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการบริโภคก็ดี แต่รัตนะเหนือรัตนะใด คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ซึ่งผู้ต่ำทราม แม้เห็นอยู่ ใกล้ชิดอยู่เพียงใดก็ไม่อาจบริโภคได้

๖. ความรักประเทศชาติที่แท้จริง คือ เมตตา

ปเทส หมายถึง ถิ่นที่อยู่อาศัย

ชาติ คือ การเกิด

บุคคลรักประเทศชาติ คือ การอยู่รวมกันอย่างมีสุข โดยที่บุคคลนั้นต้องเริ่มด้วยการเป็นคนดี รักไม่ใช่โลภะ แต่คือ รักด้วยเมตตา ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน มุทิตา ยินดีในสุข ของคนอื่น ไม่ใช่ด้วยอกุศลจิต ทำร้ายเบียดเบียน หวังร้าย หากมีความเมตตาจริงก็หวังดี พร้อมที่จะทำประโยชน์ เกื้อกูล กว้างขวางไปไม่จำกัดเฉพาะบุคคล หรือชาตินั้น ตั้งแต่บ้าน ถนน ทั้งประเทศ เพื่อนร่วมโลก นั่นคือเมตตาที่เจริญขึ้น

๗. อรรถของวิเวก

วิเวก หมายถึง การสงัดจากอกุศลธรรม ได้แก่

กายวิเวก (สงัดกาย)

คือ ความสงัดของกาย หมายถึง การไม่คลุกคลีกับหมู่คณะด้วยอกุศล บางนัย ได้แก่ อัธยาศัยในการออกจากกาม

จิตวิเวก (สงัดจิต)

คือ ความสงัดของจิต หมายถึง ไม่คลุกคลีติดพันด้วยอกุศลจิต ได้แก่ สมาบัติ ๘, ฌานจิตขั้นต่างๆ หรือแม้ขณะที่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นก็เป็นจิตวิเวก

อุปธิวิเวก (สงัดจากอุปธิ)

อุปธิ นี้ได้แก่ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ทั้ง ๔ คือ กิเลส ขันธ์ กาม และ เจตนา ซึ่งไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหมด

อุปธิวิเวก หมายถึง พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่สงัดจากสิ่งที่เป็นไปในทุกข์ สงัดจากสิ่งที่เป็นไปในกิเลส, อุปธิวิเวก เป็นความสงัดจากสังขารธรรม สงัดจากกิเลส แม้ว่าชอบอยู่คนเดียว แต่อกุศลมากมายก็ไม่ใช่กายวิเวก แต่ขณะที่กายกำลังปะปนอยู่กับหมู่ คณะ บริษัท แต่จิตกำลังรู้ลักษณะสภาพธรรม ก็เป็นขณะที่ทั้งกายวิเวก และ จิตวิเวก ได้

๘. ความหมายของ ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านเป็นภัย

ภัยทั้งหลายเกิดจากอกุศล หากเกียจคร้านในทางอกุศลก็ดี แต่หากเกียจคร้านในทางกุศลก็ เป็นภัย

๙. ความหมายของ ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง ธรรมที่ยังไม่บรรลุ ธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง

ธรรมที่ยังไม่ถึง ธรรมที่ยังไม่บรรลุ ธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง หมายถึง สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏขณะนี้ ได้แก่ เห็น คิด โลภะ ทุกอย่างที่เป็นธรรม

ความเพียร หมายถึง ความเพียรที่เห็นถูก ไม่ใช่เป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตั้งแต่ขั้นต้น คือ ฟัง จนถึงที่สุด คือ มรรค ผล

ความเพียรถูกที่เจริญขึ้น จนกระทั่งทำให้แจ้ง คือ สัจฉิกิริยา กำลังฟัง ก็คือ ความเพียรเริ่มต้นที่จะรู้ว่าอนัตตาเป็นอย่างไร ธรรมเป็นอย่างไร เกิดได้ อย่างไร ซึ่งต้องอาศัยความอนทนเห็นถูก คือ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง เพราะเป็นธรรม เผากิเลส คือ ความไม่รู้ จนกระทั่งถึงกาลที่ถึงเฉพาะลักษณะของธรรม แต่ก็ยังไม่ บรรลุจนกว่าประจักษ์แจ้งการเกิดดับ และยังมีปัญญาที่ต้องเกิดอีกมากมาย เพราะมี ปัญญาถึงความสมบูรณ์ที่คลายการยึดถือ สภาพธรรมที่รู้ว่าแต่ละอย่างเกิดดับ จึง น้อมไปสู่สภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ

๑๐. ลักษณะของขณะที่ถึงเฉพาะ

คือ ขณะที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะของธรรมตรงลักษณะนั้น ทีละอย่างไม่ใช่เรา เช่น มีแข็ง ก็มีแข็งเท่านั้น ไม่มีคิดปะปน

ข้อความเตือนสติจากบทสนทนาอื่นที่ได้รับประโยชน์ในชั่วโมงพระสูตร

๑๑. ขณะที่มีการสะสม

ขณะที่จักขุวิญญาณเกิด สะสมกุศล และ อกุศลไม่ได้ ต้องเป็นขณะที่กุศล และอกุศล เกิด แต่สิ่งที่สะสมไม่ได้สูญหายไป สะสมสืบต่อในจิตทุกขณะ

๑๒. ต้นเหตุของความวุ่นวาย

คือ ความคิดที่ไม่ดี ซึ่งเกิดจากอวิชชาความไม่รู้ความจริง แต่ปัญญานั้นรู้ความจริงว่าเป็น ธรรม เช่น อกุศล เป็นธรรมบังคับบัญชาไม่ได้ เกิดแล้วดับ จึงไม่ใช่เรา เป็นความเข้าใจที่สะสม ละเอียดขึ้น จนกว่าจะเป็นธรรมทั้งหมด คือ สภาพธรรมใดก็เป็นสภาพธรรมนั้น เกิดเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้

๑๓. การสะสมในชีวิตประจำวัน

สะสมอกุศลมามาก แม้ตั้งแต่เช้าก็ประมาณไม่ได้ กุศลไม่มีปัจจัยให้เกิดมากเช่น อกุศล อกุศลมีปัจจัยเกิด พร้อมเมื่อไรก็เกิดเมื่อนั้น แม้ดับก็ไม่รู้ว่าดับ เสมือนมีเราอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริงไม่มีอะไรเหลือเลย แม้เดี๋ยวนี้ คิดครู่เดียวก็ดับไป คิดใหม่ก็ไม่ใช่คิดเก่าที่กลับมาคิด นี้คือการเริ่มเข้าใจ ไตร่ตรองความจริงในสัจจะจนกระทั่งสามารถรู้จริงอย่างนั้น

๑๔. ความยากและละเอียดของพระธรรม และการเกิดขึ้นของความรู้

ขณะไม่รู้ คือ มีสิ่งที่มีจริง แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

ขณะที่รู้ คือ รู้ว่าสิ่งที่มีในขณะนี้ ความจริงคืออะไร เช่น แข็งมีเมื่อปรากฏ เพราะแข็งปรากฏ จึงรู้ว่ามี เกิดเองเพราะมีเหตุปัจจัย แข็งเกิดเองบังคับไม่ให้ปรากฏก็ไม่ได้ คิดว่ามีเราตั้งแต่เกิดจนตาย สนุกสนานรื่นเริง สุข ทุกข์ ในวันก่อนๆ แล้วทั้งหมดอยู่ไหนแล้ว แต่เพราะมีปัจจัยให้เกิดต้องเกิด เป็นอย่างนั้น มีจริงเพียงชั่วคราวแล้วหมดไป ซึ่งจะรู้ได้ต้องอาศัยธรรมจากผู้ที่รู้แล้ว แม้ฟังแล้วก็ลืม บ่อยๆ เพราะปรกติสะสมความไม่รู้ แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าไม่ฟังธรรมจะไม่รู้ความจริงอะไรเลย

๑๕. สิ่งที่มีประโยชน์แท้จริงในชีวิตที่มีอยู่เพียงชั่วคราว

ถ้าคิดถึงความชั่วคราวของการมีชีวิตอยู่ สาระจริงๆ คือ ประโยชน์ที่ได้เข้าใจความจริงๆ เพิ่ม ขึ้นๆ กระทั่ง ละความติดข้อง และอกุศลทั้งหลายได้ หนทางเดียว คือ ความเห็นถูกเท่านั้น

๑๖. ความเสียประโยชน์ด้วยอวิชชา

ความรู้ไม่เสียประโยชน์ ความไม่รู้เสียประโยชน์ แม้ในวันหนึ่งๆ ได้อกุศลมามากเท่าไรก็ไม่รู้ ลืมทั้งหมด แต่ละครั้งได้ยินเสียง จำเป็นเรื่องราวต่างๆ แม้แค่เสียงปรากฏทีละวาระ คนไม่ได้ฟังธรรม อกุศลเท่าไร นี้คือความต่างกันของความรู้ และความไม่รู้ ประโยชน์ คือ สะสมความรู้ต่อไป

๑๗. ความไพเราะที่แท้จริง คือ ปัญญาที่เบิกบานไม่เศร้าโศก

ศึกษาธรรม เพื่อละความไม่รู้ รู้สิ่งที่ปรากฏ ได้แก่ เห็น เข้าใจความจริงว่าเป็นธาตุที่ไม่มี รูปร่างเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นต้องรู้ เกิดได้ต่อเมื่อมีจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ กำลังปรากฏ จึงเห็นสิ่งที่ปรากฏ เดี๋ยวนี้ว่าเป็นอย่างนี้ เพราะจิตเกิดขึ้น แม้ฟังอย่างนี้ยังไพเราะ แต่จะ ไพเราะยิ่งขึ้นได้ ถ้าเป็นปัญญาที่รู้จริงด้วยความเบิกบานไม่เศร้าโศก

๑๘. ความละเอียดของสีลัพพตปรามาส

สีลพพตปรามาส หมายถึง ความประพฤติผิดหนทางแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งจะดับได้ด้วย โสตาปัตติมรรคจิตเท่านั้น เช่น การไม่รู้ แต่คิดรวมกันว่าเป็นจิต เจตสิก แข็ง อ่อน เสียง โดยคิดว่า รู้อย่างนั้นจริงๆ แต่ความจริงนั้นเกิดดับรวดเร็วสุดประมาณเหลือไว้แต่เพียงนิมิต เครื่องหมาย ให้รู้ว่าเป็นสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งอื่น จึงอยู่ในโลกของนิมิต ความทรงจำเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏให้รู้ว่าต่างกัน เหมือนว่ารู้ (ธรรมนั้น เช่น แข็งจริงๆ ) แต่ความรู้อย่างนี้หยาบ คือ ปรากฏเป็นธรรมดาเพราะสืบต่อกัน จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร (เช่น เห็นที่ปรากฏเหมือนไม่ดับ พร้อมกับได้ยิน แต่ก็คิดว่ารู้เห็นแล้ว) แต่ถ้ารู้โดยละเอียดจะไม่ธรรมดาอย่างนี้ เพราะขณะนั้นรู้เฉพาะอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
orawan.c
วันที่ 2 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปุ้ม
วันที่ 6 พ.ย. 2554

ขอขอบพระคุณในความละเอียดแห่งพระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 8 พ.ย. 2554

ถ้าคิดถึงความชั่วคราวของการมีชีวิตอยู่ สาระจริงๆ คือ ประโยชน์ที่ได้เข้าใจความจริง เพิ่ม ขึ้นๆ กระทั่ง ละความติดข้อง และอกุศลทั้งหลายได้ หนทางเดียว คือ ความเห็นถูกเท่านั้น

ขอบพระคุณ และขออนุมทนาในกุศลจิตของคุณ wittawat ด้วยค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 11 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pamali
วันที่ 12 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
หลานตาจอน
วันที่ 13 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 14 พ.ย. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เข้าใจ
วันที่ 11 ก.ค. 2555

เตือนสติได้ดีจริงๆ ครับ กราบขอบพระคุณมากครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nookaimrs
วันที่ 1 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
papon
วันที่ 1 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Nataya
วันที่ 24 ส.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ