หมูท้าราชสีห์ [สูกรชาดก]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ส.ค. 2549
หมายเลข  1831
อ่าน  1,114

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้าที่ 17

๓. สูกรชาดก

ว่าด้วยหมูท้าราชสีห์

[๑๕๕] ดูก่อนสหาย เราก็มี ๔ เท้า แม้ท่านก็มี ๔ เท้าจงกลับมาสู้กันก่อนเถิดสหาย ท่านกลัว หรือจึงหนีไป

[๑๕๖] ดูก่อนหมู ท่านเป็นสัตว์สกปรก มีขน เหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ดูก่อนสหาย ถ้าท่านประสงค์จะสู้รบกับเรา เราก็จะให้ชัยชนะ แก่ท่าน

จบ สูกรชาดกที่ ๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 ส.ค. 2549

อรรถกถาสูกรชาดกที่ ๓

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภ พระเถระแก่รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า จตุตปฺปโห อห สมฺม ดังนี้

ในวันหนึ่งเมื่อการฟังธรรมยังเป็นไปอยู่ในตอนกลางคืน เมื่อพระศาสดาประทับยืน ณ แผ่นหินแก้วมณี ใกล้ประตูพระคันธกุฏี ประทานสุคโตวาทแก่หมู่ภิกษุแล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฏี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรถวายบังคมพระศาสดา แล้วได้ไปยัง บริเวณของตน พระมหาโมคคัลลานะก็ไปยังบริเวณของตน เหมือนกัน พักอยู่ครู่หนึ่งจึงมาหาพระเถระ แล้วถามปัญหา พระธรรมเสนาบดีได้แก้ปัญหาที่พระมหาโมคคัลลานะถามแล้วๆ ได้ทำให้ชัดเจนดุจทำพระจันทร์ให้ปรากฏบนท้องฟ้า แม้บริษัท สี่ก็นั่งฟังธรรมอยู่ ณ ที่นั้นพระเถระแก่รูปหนึ่งคิดว่า หากเรา จะเย้าพระสารีบุตร ถามปัญหาในท่ามกลางบริษัทนี้ บริษัทนี้ รู้ว่า ภิกษุนี้เป็นพหูสูต ก็จักกระทำสักการะและยกย่อง จึงลุกขึ้นจากระหว่างบริษัทเข้าไปหาพระเถระยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสสาริบุตร ข้าพเจ้าจักถาม ปัญหาข้อหนึ่งกะท่าน ขอจงให้โอกาสแก่เราบ้าง ขอท่านจงให้ การวินิจฉัยแก่ข้าพเจ้า โดยอ้อมก็ตาม โดยตรงก็ตาม ในการติเตียนก็ตาม ในการยกย่องก็ตาม ในการวิเศษก็ตาม ในการไม่ วิเศษก็ตาม พระเถระแลดูพระแก่นั้นแล้วคิดว่า หลวงตานี่ ตั้งอยู่ในความริษยา โง่ ไม่รู้อะไรเลย จึงไม่พูดกับพระแก่นั้น ละอายใจวางพัดวีชนี ลงจากอาสนะเข้าไปยังบริเวณ แม้พระมหาโมคคัลลานเถระก็ได้เข้าไปยังบริเวณของตนเหมือนกัน พวกมนุษย์พากันลุกขึ้นประกาศว่า พวกท่านจงจับพระแก่ ใจร้ายนี้ ไม่ให้พวกเราได้ฟังธรรมอันไพเราะ แล้วก็พากัน ติดตามไป พระเถระนั้นหนีไปตกในวัจจกุฏีเต็มด้วยคูถซึ่งมี ไม้เลียงหักพังท้ายวิหาร ลุกขึ้นมาทั้งที่เปื้อนคูถ พวกมนุษย์ เห็นดังนั้นพากันรังเกียจได้ไปเฝ้าพระศาสดา

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นมนุษย์เหล่านั้น จึงตรัส ถามว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมนอกเวลา พวกมนุษย์พากันกราบทูลเนื้อความให้ทรงทราบ พระศาสดา ตรัสว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ภิกษุแก่นี้ผยอง ไม่รู้กำลัง ของตน ทำทัดเทียมกับผู้มีกำลังมาก แล้วก็เปื้อนคูถ มิใช่ใน บัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนภิกษุแก่นี้ก็เคยผยองไม่รู้กำลังของตน ทำทัดเทียมกับผู้มีกำลังมากแล้วก็เปื้อนคูถ เมื่ออุบาสกอุบาสิกา ทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า ครั้งอดีต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นราชสีห์อาศัยอยู่ในถ้ำ ภูเขาใกล้หิมวันตประเทศ ในที่ไม่ไกลภูเขานั้นมีสุกรเป็นอันมาก อาศัยสระแห่งหนึ่งอยู่ พระดาบสทั้งหลายก็อาศัยสระนั้นอยู่ บนบรรณศาลา อยู่มาวันหนึ่งราชสีห์ฆ่าสัตว์มีกระบือและช้าง เป็นต้น ตัวใดตัวหนึ่ง เคี้ยวกินเนื้อจนเพียงพอแล้ว ลงไปยังสระนั้น ดื่มน้ำขึ้นมา ขณะนั้นสุกรอ้วนตัวหนึ่งเที่ยวหาอาหารอยู่แถว สระนั้น ราชสีห์เห็นสุกรอ้วนตัวนั้น จึงคิดว่า สักวันหนึ่งเราจัก กินเจ้าสุกรตัวนี้ แต่มันเห็นเราเข้าจะไม่มาอีก เพราะกลัวมัน จะไม่กลับมา จึงขึ้นจากสระหลบไปเสียข้างหนึ่ง สุกรมองดู ราชสีห์คิดว่า ราชสีห์นี้พอเห็นเราเข้าก็ไม่อาจจะเข้าใกล้เพราะ กลัวเรา จึงหนีไปเพราะความกลัว วันนี้เราควรจะต้องต่อสู้กับ ราชสีห์นี้ แล้วชูหัวร้องเรียกราชสีห์ให้มาต่อสู้กัน กล่าวคาถา แรกว่า :-

ดูก่อนสหาย เราก็มี ๔ เท้า แม้ท่านก็มี ๔ เท้าจงกลับมาสู้กันก่อนเถิดสหาย ท่านกลัว หรือจึงหนีไป.

ราชสีห์ได้ฟังคำท้าของสุกรนั้นจึงกล่าวว่า ดูก่อนสหาย สุกร วันนี้เราไม่สู้กับท่าน แต่จากนี้ไป ๗ วัน จงมาสู้กันในที่นี้ แหละ แล้วก็หลีกไป สุกรรื่นเริงเบิกบานใจว่า เราจักได้สู้กับราชสีห์ จึงเล่าเรื่องนั้นให้พวกญาติฟัง พวกญาติสุกรฟังแล้ว พากันตกใจกลัวพูดขึ้นว่า เจ้าจะพาพวกเราทั้งหมดให้ถึงความ ฉิบหายกันคราวนี้แหละ เจ้าไม่รู้จักกำลังของตัวจะหวังสู้กับราชสีห์ ราชสีห์จักมาทำให้เราทั้งหมดถึงแก่ความตาย เจ้าอย่า ทำกรรมอุกอาจนักเลย สุกรสะดุ้งตกใจกลัวถามว่า คราวนี้เรา จะทาอย่างไรดีเล่า พวกสุกรต่างพากันพูดว่า นี่แน่ะสหาย เจ้าจงไปในที่ถ่ายอุจจาระของพวกดาบสเหล่านี้ แล้วเกลือกตัวเข้า ที่คูถเหม็น รอให้ตัวแห้งสัก ๗ วัน ถึงวันที่ ๗ จงเกลือกตัวให้ ชุ่มด้วยน้ำค้าง แล้วมาก่อนราชสีห์มา จงสังเกตทางลม แล้วยืน เหนือลม ราชสีห์เป็นสัตว์สะอาดได้กลิ่นตัวเพื่อนแล้ว จักให้ เพื่อนชนะแล้วกลับไป สุกรอ้วนได้ทำตามนั้น ในที่วันที่ ๗ ได้ไป ยืนอยู่ ณ ที่นั้น ราชสีห์ได้กลิ่นตัวมันเข้าก็รู้ว่าตัวเปื้อนคูถ จึงกล่าวว่า ดูก่อนเพื่อนสุกร ท่านคิดชั้นเชิงดีมาก หากท่านไม่ เปื้อนคูถ เราจักฆ่าท่านเสียตรงนี้แหละ แต่บัดนี้เราไม่อาจกัด ตัวท่านด้วยปาก เหยียบตัวท่านด้วยเท้าได้ เราให้ท่านชนะแล้ว จึงกล่าวคาถาที่สองว่า :-

ดูก่อนสุกร เจ้าเป็นสัตว์สกปรก มีขน เหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ดูก่อนสหายหาก ท่านประสงค์จะสู้กับเรา เราก็จะให้ชัยชนะแก่ท่าน

ในบทเหล่านั้นบทว่า ปูติโลโมสิ ได้แก่ ขนมีกลิ่นเหม็นเน่า เพราะเปื้อนขี้

บทว่า ทุคฺคนฺโธ วายสิ ได้แก่ มีกลิ่นปฏิกูล น่าเกลียดยิ่งนัก ฟุ้งไป

บทว่า ชย สมฺม ททามิ เต ได้แก่ เรา ให้ท่านชนะ

ราชสีห์ครั้นกล่าวว่าเราแพ้แล้ว เจ้าไปเสียเถิดดังนี้ แล้ว ก็กลับจากที่นั้นเที่ยวแสวงหาอาหาร ดื่มน้ำในสระ เสร็จแล้วก็ กลับเข้าถ้ำภูเขาตามเดิม แม้สุกรก็บอกแก่พวกญาติว่า เราชนะ ราชสีห์แล้ว พวกสุกรเหล่านั้น พากันตกใจกลัวว่าราชสีห์จะ กลับมาสักวันหนึ่งอีก จักฆ่าพวกเราตายหมด จึงพากันหนีไปอยู่ที่อื่น

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรง ประชุมชาดก สุกรในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุแก่ในครั้งนี้ ส่วนราชสีห์ได้เป็นเราตถาคตนี้แล

จบ อรรถกถาสูกรชาดกที่ ๓

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 18 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ