สันตติ

 
samroang69
วันที่  19 เม.ย. 2554
หมายเลข  18231
อ่าน  1,245

อยากถามว่า การที่เราได้ทำอะไรที่ผิดลงไปนั้นโดยที่เราก็รู้ว่าผิดนั้น และความรู้สึกผิด นั้นก็ได้มีในขณะปัจจุบันเป็นเพราะเหตุไร และเราสามารถที่จะออกจากความรู้สึกผิดนั้น ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เราพยายามจะลืมก็กลับมีขึ้นได้อีกตามเหตุและปัจจัยที่คล้ายๆ กับ เหตุการณ์ที่เราได้ทำผิดนั้นก็ทำให้เราระลึกได้อีก บางครั้งก็อาจจะส่งผลได้เท่ากับ เหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นไม่นานทั้งที่เหตุการณ์นั้นได้ผ่านมานานแล้วก็ตาม เป็นเพราะ เหตุไรครับ แล้วจะพอมีทางแก้บ้างใหมครับ

ขอความกรุณามานะที่นี้ด้วยนะครับ

ขอบคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การระลึกถึงสิ่งที่ทำผิดไปแล้ว ทั้งๆ ที่เหตุการณ์นั้นผ่านมานานก็ตาม เป็นธรรมและเป็นธรรมดาครับ แต่ธรรมทั้งหลายต้องมีเหตุ หากไม่มีจิต ไม่มีสัญญาที่จำ ย่อมจะไม่มีทางที่จะทำให้ระลึกถึงเรื่องราวหรือสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาได้เลยครับ ดังนั้นเพราะมีธรรมจึงทำให้มีการระลึกถึง การระลึกถึงก็เป็นธรรม ดังนั้นเพราะอาศัยธรรม จึงมีธรรมเกิดขึ้นครับ เห็นถึงความไม่มีเราไม่มีสัตว์บุคคลมีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย นั่นคืออาศัยธรรมจึงให้มีธรรมอื่นเกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 เม.ย. 2554

ส่วนเหตุผลที่ทำไมบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ผ่านไปนานยังจำได้อยู่ แต่บาง เหตุการณ์แม้เกิดมาไม่นานก็ไม่ระลึกถึง ด้วยเหตุผลหลายประการ เข้าใจก่อนครับว่า

ความเป็นจริงมีแต่สภาพธรรมไม่ใช่เรา มี จิต เจตสิก รูป การกระทำที่ทำไปคืออะไรคือเจตนาที่เป็นไปในกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ไม่มีเราทำมีแต่กุศลกรรมที่เกิดขึ้นและอกุศลกรรมที่เกิดขึ้นที่เป็นการกระทำ

การกระทำที่ทำผิดลงไป แน่นอนครับว่าจะต้อง เป็นการกระทำที่ไม่ดี เป็นอกุศลกรรม อกุศลกรรมที่ทำลงไป อกุศลกรรมแต่ละประเภท ก็มีกำลังแตกต่างกันไป อกุศลกรรมที่มีกำลังน้อย บาปน้อย อกุศลกรรมที่มีกำลังมาก บาปมาก

เพราะฉะนั้น เมื่อกระทำผิดลงไปในเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นอกุศลกรรมที่มีกำลัง ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้ยังนึกถึงกรรมนั้นอยู่ ไม่ลืม แม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านไปนาน แล้วก็ตามก็ยังนึกถึงบ่อยๆ

ดังตัวอย่างในพระไตรปิฎก ที่พระภิกษุรูปหนึ่งทำลาย ลาภคือ อาหารของพระอรหันต์ที่ท่านควรได้ แต่พระรูปนั้นทำลายเสีย เมื่อทำกรรมนั้นเสร็จก็ ระลึกถึงแต่กรรมนั้นบ่อยๆ ไม่ลืมครับ ส่วนอกุศลกรรมที่กำลังน้อย แม้จะเพิ่งทำ ผ่านไป ไม่นาน แต่ไม่มีกำลัง ก็ย่อมไม่มีการระลึกบ่อยๆ เหมือนอกุศลกรรมที่มีกำลังครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 19 เม.ย. 2554

เราสามารถที่จะออกจากความรู้สึกผิดนั้นได้อย่างไร?

ที่สำคัญเราควรเข้าใจความเป็นอนัตตา เข้าใจถึงความจริงว่ามีแต่ธรรมไม่ใช่เรา ปัจจุบันมีสภาพธรรม ความเดือดร้อนใจก็เป็นธรรม มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ความเข้าใจธรรมนั่นเองย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นแม้ความเดือดร้อนใจ ก็เบาได้ด้วยกุศลธรรมและปัญญาครับ

เริ่มที่ขณะนี้ อบรมเหตุคือความไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง การเดือดร้อนใจจึงมีเหตุคือการทำอกุศลกรรม การเป็นผู้ทุศีลคือไม่มีศีล การไม่ประพฤติสิ่งอันสมควร มีการไม่เลี้ยงบิดา มารดา เป็นต้น รวมถึงการไม่อบรมปัญญา เหตุเหล่านี้เองจึงทำให้เป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังครับ

ผู้ที่เข้าใจด้วยปัญญาแล้วจึงทำเหตุในปัจจับันคือ การทำความดีประการต่างๆ เห็นโทษของอกุศลกรรมในปัจจุบั นและการอบรมปัญญาในหนทางที่ถูกครับ

เชิญคลิกอ่านกระทู้ที่เป็นประโยชน์ในการอบรมเหตุเข้าใจเรื่องความเดือดร้อนใจครับ

ถ้าหากเข้าใจ...ก็ไม่เดือดร้อน!

ทำไมจึงเดือดร้อนบ่อยจัง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 19 เม.ย. 2554

คงไม่มีหนทางอื่นที่จะถึงความไม่เดือดร้อนใจจริงๆ อันนำมาซึ่งความโล่งใจ อันเกิดจากปัญญา นั่นคือการอบรมปัญญาระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่จริงในขณะนี้ว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรมอันเป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ครับ

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้าที่ 94

ช. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็บรรดาเป็นไฉน ปฏิปทาเป็นไฉน เพื่อกระทำความโล่งใจนั้นให้แจ้ง.

สา. อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ตั้งใจชอบ นี้แลเป็นบรรดา เป็นปฏิปทา เพื่อกระทำความโล่งใจนั้นให้แจ้ง.

ช. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ บรรดาดีนัก ปฏิปทาดีนัก เพื่อกระทำความโล่งใจนั้นให้แจ้ง และเพียงพอเพื่อความไม่ประมาท นะท่านสารีบุตร.

เชิญคลิกอ่านกระทู้ที่เป็นประโยชน์อันเกี่ยวกับเรื่องเหตุให้เดือดร้อนใจ

เหตุทำให้เดือดร้อน [ตปนียสูตร]

ว่าด้วยเหตุที่ทำจิตให้เดือดร้อน [ชนสันธชาดก]

ชนสันธชาดก .. พระราชาผู้ยังชนให้ตั้งมั่นด้วยดีในกุศลธรรม

บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนภายหลัง [เขมสูตร]

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 19 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยปกติของผู้ที่มีกิเลสแล้ว อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นเป็นไปมาก ในชีวิตประจำวันถ้ามีกำลังมากก็ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนใจในภายหลัง ซึ่งถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ก็ไม่สามารถที่จะเห็นโทษของอกุศลธรรม และ ไม่สามารถถอยกลับจากอกุศลประการนั้นๆ ได้ มีแต่จะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะแก้ไขได้ ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด แต่ผิดแล้ว เห็นโทษหรือไม่ พร้อมที่จะขัดเกลาให้ดียิ่งขึ้นหรือไม่ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตราบใดที่่เป็นผู้เต็มไปด้วยกิเลส และ ปัญญาขั้นที่จะประหารกิเลสคือดับกิเลส (โลกุตตรปัญญา) ยังไม่เกิดขึ้น กิเลสที่ได้สะสมมาก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว

พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ก่อนที่ท่่านจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ท่านก็เป็นผู้ที่มีกิเลส มีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส แต่เพราะได้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา จึงทำให้ท่านเหล่านั้นได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง และสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น กิเลสที่ละได้แล้วก็ไม่เกิดขึ้นอีกในสังสารวัฏฏ์ จึงแสดงให้เห็นว่า เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา แล้วโลกุตตรปัญญาเกิด จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้ ดับความไม่ดีทั้งหลายได้ แต่ว่าก่อนนั้นทุกคนเต็มไปด้วยอกุศลนานาประการ ดังนั้น กิเลสที่มีมาก ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา อบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) เป็นต้น จึงจะดับได้ กิเลสอกุศลธรรมที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เปรียบเหมือนเมฆก้อนใหญ่ อริยมรรคมีองค์ ๘ เปรียบเหมือนลมแรง ลมแรง ย่อมพัดเมฆก้อนใหญ่ให้มลายหายไปได้ ฉันใด เมื่ออบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็สามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปได้ ฉันนั้น ดังข้อความบางตอนจากทุติยเมฆสูตร ที่ว่า

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๕๔

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลมแรง ย่อมยังมหเมฆอันเกิดขึ้นแล้ว ให้หายหมดไปได้ในระหว่างนั่นเอง แม้ฉันใด ภิกษุ เมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมยังกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หายสงบไปในระหว่างได้โดยพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน"

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
samroang69
วันที่ 19 เม.ย. 2554

ขอบคุณมากครับที่ให้ความเข้าใจได้มากขึ้นอย่างมากครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 20 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั้นและอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 21 เม.ย. 2554

น่าสังเกต...คำว่า "ความรู้สึก-ผิด" เป็นคำที่ใช้กันบ่อยๆ จนเคยชินเช่น...."รู้สึกผิดจริงๆ ที่ได้ทำสิ่งนั้นลงไป"

เรียนถามท่านผู้รู้ความรู้สึก-ผิด มีด้วยหรือคะ.? กรุณาแนะนำด้วยค่ะ...อนุโมทนา.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 8

ความรู้สึกผิด ถามว่ามีจริงไหมครับ มีจริงเพราะหากไม่มีจริงก็คงไม่มีความรู้สึกผิด เกิดขึ้นครับ ดังเช่นถามว่าโกรธมีไหม มีจริงเพราะมีความโกรธเกิดขึ้น ส่วนภาษาไทย เราใช้คำว่ารู้สึกผิด หมายถึงการรู้ตัวว่าได้ทำผิดไปและย่อมมีความเดือดร้อนใจด้วย

ความรู้สึกผิด จึงไม่ได้หมายถึง เวทนาเจตสิก ที่เป็นความรู้สึก เพราะความรู้สึกที่เป็น เวทนาเจตสิก จะไม่ใช่ความรู้สึกที่ผิดครับ แต่เวทนาเจตสิกเป็นความรู้สึกสุข โสมนัส ความรู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกทุกข์กาย โทมนัส

ดังนั้นเราจะต้องแยกภาษาไทยกับภาษา บาลีในพระพุทธศาสนาว่าคนละส่วนกันครับ

บางครั้ง เราก็พูดว่า รู้สึกสังหรณ์ใจ รู้สึกดี จังวันนี้ รู้สึกชอบแล้ว ภาษาไทยใช้ความหมายความรู้สึกต่างกับความรู้สึกในพระพุทธ- ศาสนาครับ แต่ถ้าเราไม่ได้ติดที่คำ ความรู้สึกผิดมีจริงไหม มีจริงโดยไม่ใช้ชื่อ แต่ เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดเป็นอย่างนั้นจริงๆ ขึ้นในขณะนั้น แต่ไม่ได้มุ่งหมายถึงเวทนา เจตสิกครับ ความรู้สึกผิดจึงเป็นการรู้ว่าตัวเองทำผิดไป ด้วยความเห็นว่าเป็นโทษ แต่ ไม่ใช่ความรู้สึกที่เป็นเวทนาครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chaiyut
วันที่ 21 เม.ย. 2554

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ที่มีการรู้ตัวว่าผิดนั้น ....เพราะเหตุว่ามีการจำได้ , มีการระลึกได้ครับ

ความจำเป็นสภาพรู้ เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งทำกิจรู้สิ่งต่างๆ โดยทำหน้าที่จำเท่านั้นครับ ความจำในภาษาบาลี เรียกว่า สัญญาเจตสิก สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง จึงสามารถที่จะเกิดกับจิตที่ดีก็ได้ - จิตที่ไม่ดีก็ได้ แต่เกิดคนละขณะ ไม่พร้อมกันครับ

ถ้าความจำเกิดกับจิตที่ไม่ดี เป็นอกุศลสัญญา เช่น จำได้ว่าทำผิด ขณะนั้นจิตมีความเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เพราะเกิดพร้อมกับเจตสิกฝ่ายไม่ดีอื่นๆ ด้วย เช่น ความเดือดร้อนในทุจริตกรรมที่ได้กระทำลงไปแล้ว คือ กุกกุจจะเจตสิกซึ่งเกิดกับโทสมูลจิตเป็นต้น ถ้าเป็นอกุศลจิต จะไม่ได้มีแต่ความจำและจิต แต่จะต้องมีเจตสิกฝ่ายไม่ดีเช่น โลภเจตสิก , โทสเจตสิก , โมหเจตสิกเกิดร่วมกับจิตด้วย ตามควรแต่ประเภทของอกุศลจิตนั้นๆ ครับ

แต่ขณะที่ความจำเกิดกับกุศลจิต เป็นกุศลสัญญา จำได้ว่าทำผิดเช่นกัน แต่สภาพของจิตไม่เศร้าหมอง เพราะเกิดพร้อมกับเจตสิกฝ่ายดีอื่นๆ เช่น ความระลึกได้เรียกว่า สติเจตสิก , ความรู้ชัด เรียกว่า ปัญญาเจตสิก เป็นต้น ทำให้ขณะนั้น จิตเป็นกุศล ผ่องใส เพราะมีการพิจารณาโดยแยบคาย เช่น ระลึกรู้ได้ว่าได้ทำผิด แต่เข้าใจถูกว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้นไม่ถูกต้อง เมือรู้ว่าผิด ก็ไม่เข้าข้างตัวเองว่าถูก มีความตรง ละอาย เกรงกลัวต่อบาป รู้ว่าไม่สมควรที่จะกระทำอีก มีความเพียรที่จะละเว้นแก้ไข บรรเทา ป้องกัน ขัดเกลาให้น้อยลง จนถึงการดับหมดสิ้นไม่เหลือ เป็นต้นครับ

แต่ส่วนใหญ่ ที่เราอยากจะออกจากความรู้สึกผิด เพราะความรู้สึกผิดนั้นมาจากอกุศลที่ทำให้ใจเดือดร้อน ความจำที่เกิดขึ้นกับอกุศลจิต จำสิ่งที่ได้ทำผิดลงไป โดยเกิดพร้อมกับความเดือดร้อนใจ ที่เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกเสียใจ ชีวิตของผู้ที่ยังมีความอยากและความรักตนเป็นปกติ จึงอยากให้ตนไม่เสียใจ , อยากให้ตนหมดความเดือดร้อนใจในขณะนั้นครับ

แต่เราไม่รู้ว่าความอยากนี่เองที่เป็นเหตุให้เราออกจากตรงนี้ไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าความอยากไม่ใช่ปัญญา ความอยากเป็นอกุศล เป็นโลภเจตสิก ซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต พร้อมกันนั้น ทุกขณะที่ความอยากเกิด มีความไม่รู้ คือ โมหเจตสิก เกิดร่วมด้วย ความไม่รู้นี่เอง ที่ไม่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้โดยถูกต้องได้เลย ทั้งยังเป็นเป็นเครื่องปกปิดไม่ให้รู้ความจริงว่า แม้อกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง คือ เป็นจิต ไม่ใช่เรา, แม้ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นกับจิต แต่ไม่ใช่จิต และไม่ใช่เรา ...เป็นเจตสิกธรรมฝ่ายไม่ดี ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยในชั่วขณะนั้นเท่านั้น สิ่งที่มีชั่วขณะนั้นเกิดแล้ว ดับแล้ว หมดไป สิ่งที่มีแล้วหมดไป จะเป็นเรา เป็นของเราโดยแท้จริงได้อย่างไร

แต่เพราะยังมีความไม่รู้ จึงเป็นปัจจัยให้มีความอยาก เพราะมีความอยากจึงเป็นปัจจัยให้มีความเห็นผิดว่าเป็นเรา พอเป็นเรา ก็ไม่อยากให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีกับเรา อยากจะให้มีแต่สิ่งที่ดีกับเรา ความอยาก, ความยึดมั่นว่าเป็นเราที่เกิดนั้น เป็นอกุศลทั้ง-หมด และเป็นเครื่องกั้นไม่ให้รู้ความจริงของสิ่งที่มีปรากฏในชีวิตประจำวัน

ชีวิตของผู้ที่มีความอยากมาก ความเป็นเรามาก ก็คือ ปุถุชน ปุถุชนจึงเป็นผู้ที่เดือดร้อนมากเพราะความไม่รู้ เดือดร้อนมากเพราะความอยากและความยึดมั่นในสิ่งที่ไม่ใช่เรา ว่าเป็นเรา เป็นของเราครับ

ทางแก้ไขทางเดียว คือ ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ฟังให้เกิดความเข้าใจความจริงที่ถูกต้องก่อน ความเข้าใจความจริงนั่นเอง เป็นปัญญาที่สามารถจะเห็นถูกว่าสิ่งที่เกิดนั้น เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เรา ขณะที่รู้ถูกว่าไม่ใช่เรา ก็เบาจากความยึดถือลงทีละเล็กทีละน้อย แต่ไม่มีทางที่จะหมดความเป็นเรารวดเร็วในทีเดียว ต้องค่อยๆ ศึกษาไปจนกว่าจะดับความเป็นเราจนหมด ...ด้วยปัญญา

แต่ในความจริง เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายที่จะรู้ถูกต้องโดยเหตุผลจริงๆ ว่า สิงที่มีจริง ที่เคยเป็นเรา ...ไม่ใช่เรา ได้อย่างไร เพราะเหตุว่าได้สะสมความไม่รู้ ความอยาก ความยึดมั่น และอกุศลต่างๆ มานานแสนนาน เมื่อไม่รู้ จึงต้องอาศัยการฟังธรรมให้เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด เพื่ออบรมปัญญา และเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อการ "ละ" ด้วยปัญญาเป็นสำคัญ ละขั้นต้น คือละความไม่เข้าใจ ยังไม่ต้องทำอะไรผิดไปจากชีวิตปกติครับ เพียงเริ่มฟังธรรม ฟังเพื่อเข้าใจ ขณะที่เข้าใจในธรรมที่ได้ฟัง ขณะนั้นปัญญาเกิด ละความไม่เข้าใจความจริงในขั้นของการฟังก่อนครับ ปัญญาขั้นอื่นจะเกิดได้ก็ต้องอาศัยปัญญาขั้นฟัง การเจริญปัญญาข้ามขั้นไม่ได้ต้องค่อยๆ อบรมไปตามลำดับครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 21 เม.ย. 2554

ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ควรทำปัจจุบันให้ดี ควรละอกุศที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ควรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ควรเจริญกุศล ที่่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ควรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป ฯลฯ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
bsomsuda
วันที่ 26 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณทุกท่าน และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 3 พ.ค. 2554

สิ่งที่ผ่านไปแล้วคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่ย้อนกลับมาอีก ที่ควรรู้คือขณะนี้เอง ขณะนี้เท่านั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ