อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย

 
SOAMUSA
วันที่  8 เม.ย. 2554
หมายเลข  18160
อ่าน  7,494

อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยธรรมที่เพิ่งดับไปก็มีพลังส่งให้ธรรมกลุ่มเดียวกันเกิดขึ้นได้

ปัจจยธรรม ได้แก่ จิตทั้งหลายที่เกิดก่อนแล้วเพิ่งดับไปโดยไม่มีกลุ่มจิตประเภทอื่นเกิดมาคั่นในระหว่าง

ปัจจยุปบันธรรม ได้แก่ จิตทั้งหลายที่เกิดขึ้นภายหลังจากปัจจยธรรมนั้น โดยที่ยังไม่มีกลุ่มจิตประเภทอื่นมาคั่นในระหว่าง

กรุณาอธิบาย จิตที่ขีดเส้นใต้ ให้เข้าใจด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จาก บ้านธัมมะ

อธิบายคำว่า ปัจจัย

ปฏิ = ปจฺจ (อาศัย) + อิ ธาตุ = อย (ในความเป็นไป) ปจฺจย

ธรรมชาติเป็นที่อาศัยเป็นไป, เหตุ หมายถึง ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลหรืออุปการะให้ผลธรรมเกิดขึ้น เมื่อธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด คือเกิดขึ้นจากเหตุ เหตุนั้นเองเป็นที่อาศัยของธรรมทั้งหลาย เมื่อเหตุดับ ธรรมทั้งหลายก็ดับด้วย (เฉพาะสังขารธรรมเท่านั้น นิพพานเป็นวิสังขารธรรม ไม่มีเหตุเป็นแดนเกิด ไม่อาศัยปัจจัย จึงไม่เกิดไม่ดับ)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 เม.ย. 2554

จากบ้านธัมมะ

อธิบาย ปัจจยุบบัน

ปัจจัย (ธรรมชาติเป็นที่อาศัยเป็นไป เหตุ) + อุปฺปนฺน (เกิดขึ้น)

ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย ผล หมายถึง สังขารธรรมซึ่งเป็นผลของปัจจัยได้แก่ จิต เจตสิก และรูปทั้งหมด ปัจจยุบบันจึงหมายเฉพาะสภาพธรรมที่เกิดดับเท่านั้น นิพพานและบัญญัติไม่เกิดดับจึงไม่เป็นปัจจยุบบันของปัจจัยใดๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 8 เม.ย. 2554

เมื่อเราพูดถึงเรื่องของปัจจัยอันเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ก็ต้องเข้าใจคำว่าปัจจัยก่อน

ตามความคิดเห็นที่ 1 ที่ได้แสดงไว้ว่า ปัจจัยหรือปัจจยธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผล หรืออุปการะให้ผลธรรมเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุคือปัจจยธรรมแล้วก็ต้องมีผลของปัจจัยซึ่งในทางธรรมเรียกว่า ปัจจยุปบันธรรม ดังความคิดเห็นที่ 2 ได้ให้ความหมายไว้

อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย

อนันตรปัจจัย คือสภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไป เมื่อดับไปจึงเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้น จิต เจตสิกที่ดับไปจึงเป็นอนันตรปัจจัยให้จิต เจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้นทันที

สมนันตรปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไป เมื่อดับไปจึงเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้น โดยไม่มีระหว่างคั่นและด้วยดี ต่างกับตรงอนันตรปัจจัยที่ว่าเมื่อจิตและเจตสิกประเภทนั้นดับไปเป็นสมนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกอื่นเกิดต่อเป็นลำดับด้วยดี เช่น เมื่อจักขุวิญญาณจิตดับไป จิตอื่นก็เกิดต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่นและเกิดเป็นลำดับด้วยดี สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เป็นลำดับด้วยดี

จักขุวิญญาณจิตดับ สันตีรณจิตจะเกิดต่อไม่ได้ ต้องเป็นสัมปฏิจฉันนจิตจึงเกิดต่อเป็นลำดับด้วยดีเป็นสมนันตรปัจจัย

จากข้อความที่ถามในส่วนที่ขีดเส้นใต้นั้นที่ว่า

อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย

ปัจจยธรรม ได้แก่ จิตทั้งหลายที่เกิดก่อนแล้วเพิ่งดับไปโดยไม่มีกลุ่มจิตประเภทอื่นเกิดมาคั่นในระหว่าง ไม่ได้หมายถึงจิตเท่านั้น เจตสิกด้วย คือจิตและเจตสิกที่เกิดก่อนแล้วดับไปเป็นเหตุ เช่น จักขุวิญญาณจิตที่ดับไป จักขุวิญญาณจิตและเจตสิกเป็นเหตุ ทำให้เกิดจิตดวงต่อไปเกิดขึ้น คือสัมปฏิจฉันนจิตที่เป็นผลคือเป็นปัจจยุปบันธรรม เป็นจิตที่เกิดขึ้นภายหลังจากจักขุวิญญาณจิตที่ดับไปครับ ดังนั้น คำว่าจิตทั้งหลายที่เกิดก่อนคือจิตที่เป็นเหตุ เช่น จักขุวิญญาณ จิตนั้นดับไปเป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดขึ้นภายหลัง เกิดขึ้น

ปัจจยุปบันธรรม ได้แก่ จิตทั้งหลายที่เกิดขึ้นภายหลังจากปัจจยธรรมนั้น โดยที่ยังไม่มีกลุ่มจิตประเภทอื่นมาคั่นในระหว่าง นัยเดียวกันที่กล่าวมาครับ ปัจจยุปบันธรรมเป็นผลจากเหตุคือปัจจยธรรม เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นก่อน (ปัจจยธรรม) เช่นจักขุวิญญาณจิตที่เกิดขึ้นก่อนและดับไป เป็นปัจจัยให้เกิดจิตดวงต่อไปหรือเป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดขึ้นภายหลังคือสัมปฏิจฉันนจิต สัมปฏิจฉันนจิตเป็นผล เป็นจิตที่เกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นปัจจยุปบันธรรมครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 8 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม หมายถึง สิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงนี้ ก็มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

จากคำถามเรื่องของปัจจัยทั้งสองปัจจัย คือ อนันตรปัจจัย (ความเป็นปัจจัย โดยไม่มีระหว่างคั่น, ไม่มีธรรมอย่างอื่นคั่น) และ สมนันตรปัจจัย (ความเป็นปัจจัย โดยไม่มีระหว่างคั่นด้วยดี หรือ ที่เข้าใจกัน คือ ความเป็นปัจจัยโดยเป็นลำดับด้วยดี) นั้น ทั้งสองปัจจัยนี้ หมายถึงเฉพาะนามธรรม คือ จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเท่านั้น เมื่อจิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ขณะต่อไปเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่น ซึ่งเมื่อไม่มีระหว่างคั่นแล้ว ยังจะต้องเป็นลำดับด้วยดีด้วย จะสับลำดับกันไม่ได้ เพราะตามความเป็นจริงของจิตแล้ว จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามลำดับ จิตที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยโดยอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ซึ่งจิตขณะต่อไปที่เกิดขึ้น (รวมทั้งเจตสิก) นั้น ก็เป็นผลของอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยนั่นเองครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 8 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chaiyut
วันที่ 8 เม.ย. 2554

สำหรับปุถุชน หลังจากมโนทวาราวัชชนจิตดับไป ส่วนใหญ่จะเป็นอนันตรปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดสืบต่อทันที โลภมูลจิตเกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ขณะในวาระของวิถีจิตหนึ่งๆ เร็วและมากจนนับไม่ถ้วนว่าโลภมูลจิตที่เกิดแล้วนั้น จะมีจำนวนมหาศาลถึงเพียงไหน ชีวิตประจำวันของเราเป็นไปกับโลภมูลจิตมากโดยไม่รู้ตัว โลภมูลจิตขณะที่ ๑ ดับไป เป็นอนันตรปัจจัยให้โลภมูลจิตขณะที่ ๒ เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น นอกจากนี้ โลภมูลจิตขณะที่ ๑ ที่ดับไปนั้น ยังเป็นสมนันตรปัจจัยให้โลภมูลจิตขณะที่ ๒ เกิดสืบต่อด้วยดีโดยไม่มีระหว่างคั่นด้วย คือจะมีจิตใดจะมาเกิดต่อจากโลภมูลจิตขณะที่ ๑ ทันทีไม่ได้ จิตที่จะเกิดต่อจากโลภมูลจิตขณะที่ ๑ ได้ จะต้องเป็นโลภมูลจิตขณะที่ ๒ เท่านั้น ถ้าค่อยๆ เข้าใจปัจจัยขึ้น ก็จะค่อยๆ เริ่มเห็นถูกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีตัวตนไปห้ามสภาพธรรมไม่ให้เกิด-ดับ เป็นไปตามเหตุปัจจัย เราจะขอให้กุศลจิตเกิดต่อจากโลภมูลจิตขณะที่ ๑ ทันทีก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือจะหยุดโลภมูลจิตขณะที่ ๒ไม่ให้เกิดสืบต่อจากโลภมูลจิตขณะแรกก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะเหตุว่า จิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะนั้น เป็นไปตามจิตนิยาม เป็นไปตามความเป็นไปโดยปกติของจิตนั้น

โลภมูลจิตในชีวิตประจำวันเกิดมากและมีมากมายหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นที่เบาบางที่สุดไปจนถึงระดับที่กลุ้มรุม คือทำความไม่สงบให้ปรากฏ อกุศลจิตในชีวิตประจำวันมีมากกว่าที่เราคิดว่าเรามีนับไม่ถ้วน และมากกว่าที่ปัญญาขั้นอบรมของเราเพิ่งจะเริ่มรู้ แต่ทำอะไรกับอกุศลไม่ได้เลย นอกจากจะฟังพระธรรมให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงโดยชัดเจนเพิ่มขึ้น ศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจความจริงที่มีในชีวิตประจำวันของเรา แล้วปัญญาคือความเข้าใจ ก็จะเริ่มทำกิจของปัญญา การศึกษาพระธรรมในส่วนของปัจจัย จะช่วยอุปการะเกื้อกูลความเห็นถูกของผู้ศึกษาให้ค่อยๆ มั่นคงขึ้นในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลาย แต่ก็เป็นส่วนที่ยากที่สุดเช่นกัน ไม่ควรประมาทว่าง่าย เพราะเป็นอภิธรรมส่วนที่ละเอียดยิ่ง เราไม่สามารถคิดเองได้ แต่ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจขึ้นได้ตามกำลัง การฟังจะปรุงแต่งให้ปัญญาเห็นความละเอียดของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ มากขึ้น การฟังจะช่วยให้ปัญญาเข้าใจความเป็นอนัตตาของสิ่งที่มีจริงในชีวิตปกติประจำวัน เพียงฟังเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม เมื่อปัญญามากขึ้น ปัญญาก็จะค่อยๆ เห็นถึงความละเอียดลึกซึ้งของธรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 8 เม.ย. 2554

อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ตัวอย่าง ขณะที่กุศลชวนะขณะที่ ๑ เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้กุศลชวนะขณะที่ ๒ เกิดขึ้น โดยไม่มีจิตอื่นคั่น และต้องเป็นไปตามลำดับค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 เม.ย. 2554

ในชีวิตประจำวัน มีกรณีที่จิตและเจตสิก ไม่เป็นไปตาม "สมมันตรปัจจัย" หรือไม่ อย่างไร กรุณายกตัวอย่างด้วย ได้ไหมคะ

ขอบพระคุณค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 9 เม.ย. 2554
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 18160 ความคิดเห็นที่ 8 โดย พุทธรักษา

ในชีวิตประจำวัน มีกรณีที่จิตและเจตสิก ไม่เป็นไปตาม "สมมันตรปัจจัย" หรือไม่ อย่างไร.? กรุณายกตัวอย่างด้วย ได้ไหมคะ.ขอบพระคุณค่ะ.

ในชีวิตประจำวัน ไม่มีกรณีใดที่ไม่เป็นสมนันตรปัจจัยเลย คือ สภาพธรรมคือจิต เจตสิก ที่เกิดก่อนแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกดวงใหม่เกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่นและเป็นลำดับด้วยดี เหตุผลที่จิต เจตสิกเป็นสมนันตรปัจจัยเสมอเพราะเป็นจิตนิยามคือความแน่นอนของจิต ธรรมจิตของจิตที่ต้องเป็นไปตามลำดับด้วยดีอย่างนั้นจะไม่ข้ามไปประเภทอื่น ตามลำดับอื่นๆ เลยครับ แต่ยกเว้นจุติจิตของพระอรหันต์ จะไม่เป็นสมนันตรปัจจัย จุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นสมนันตรปัจจัย เพราะจุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกเกิดขึ้นอีก จุติจิตของพระอรหันต์ดับไป จิต เจตสิกก็ไม่เกิดขึ้นอีกครับ เมื่อไม่มีจิต เจตสิกเกิดขึ้นอีกหลังจากจุติของพระอรหันต์ดับไป การดับไปของจุติของพระอรหันต์จึงไม่เป็นสมนันนตรปัจจัยเพราะสมนันนตรปัจจัยคือ จิต เจตสิกใด ดับไปเป็นปัจจัยให้ จิต เจตสิกอื่นเกิดต่อเป็นลำดับด้วยดีครับ

จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปตามลำดับด้วยดีเสมอเพราะจิตนิยามที่เป็นไปอย่างนั้น เพราะเป็นสัจจะไม่เปลี่ยนแปลงครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chaiyut
วันที่ 9 เม.ย. 2554

เรียน คุณพุทธรักษา ครับ

จิตและเจตสิกที่เกิดและดับไป เป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย แก่จิตและเจตสิกที่เกิดใหม่สืบต่อทันที ฉะนั้น อาการปรากฏของจิตก็คือมีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย ขณะนี้เสมือนว่าจิตไม่ได้หายไป เพราะมีการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วด้วยอำนาจของปัจจัย แต่โดยความละเอียด จิตเกิดดับสืบต่อกันทีละ ๑ ขณะ จิตทุกขณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในชีวิตประจำวัน ขณะที่จิตและเจตสิกเกิดเป็นกุศล ไม่ได้อาศัยอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยจากอกุศลจิตที่ดับไปก่อนหน้าแล้วหลายวาระ เช่น ขณะที่เข้าใจธรรม เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ได้อาศัยอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยจากโลภมูลจิตที่เกิดและดับไปในวาระก่อนๆ แต่มีโลภมูลจิตเป็นปัจจัยอื่นได้ เช่น อุปนิสสยปัจจัย คือโลภมูลจิตเกิดและดับไป ต่อมาในภายหลัง (ไม่ใช่วาระเดียวกัน) กุศลจิตจึงเกิด ระลึกได้ว่ายังมีโลภะอยู่ มีความไม่ประมาท ตั้งใจฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจธรรมะ เพื่อขัดเกลาโลภะและความไม่รู้คืออวิชชา เป็นต้น

ส่วนจิตและเจตสิกที่ไม่เป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยแก่จิตและเจตสิกใดๆ อีกเลย ไม่มีในชีวิตประจำวันของเรา แต่เป็นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นครับ จิตประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นจิตของใครก็ตาม เมื่อดับไปแล้ว ก็ยังสามารถที่จะเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยแก่จิตและเจตสิกที่เกิดสืบต่อจากตนได้ เพราะเหตุว่ายังมีชีวิตอยู่ในวัฏฏะ ยังไม่ถึงกาลแห่งการดับขันธปรินิพพานของพระอรหันต์นั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
SOAMUSA
วันที่ 10 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาบุญในธรรมทานของทุกๆ ท่านค่ะ

กราบขอบพระคุณในทุกๆ ข้อความค่ะ ยากมากนะคะที่จะสามารถเข้าใจได้ทั้งหมดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

อ่านแล้ว เสมือนว่า อนันตรปัจจัย ไม่ต่างจาก สมนันตรปัจจัย เพราะเหตุใด ท่านอรรถกถาจารย์ จึงแสดงเป็น ๒ ปัจจัย คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
khampan.a
วันที่ 10 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 12 ครับ

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น ดังนี้ ครับ

อนันตรปัจจัย และ สมนันตรปัจจัย ต่างก็แสดงความเป็นจริงของสภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น โดยไม่มีระหว่างคั่น และไม่มีระหว่างคั่นด้วยดี (เป็นลำดับด้วยดี) แสดงให้ให้เห็นว่าทั้งจิตและเจตสิกเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เป็นสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจุติจิตของพระอรหันต์จะเกิด จึงจะเป็นการสิ้นสุดของสังสารวัฏฏ์ ทั้งปัจจัยและผลที่เกิดจากปัจจัยของสองปัจจัยนี้เหมือนกัน พยัญชนะต่างกันแต่อรรถเหมือนกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่พอจะแนะนำได้ (เวไนยสัตว์) ตามสมควรแก่อัธยาศัยของแต่ละคน ซึ่งมีอัธยาศัยที่แตกต่างกันตามการสะสม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 เม.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
intira2501
วันที่ 11 เม.ย. 2554

กราบขอบพระคุณในทุกความเห็นค่ะ

ยากมากนะคะที่จะสามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ในความรู้สึก การเข้าใจเรื่องปัจจัยเป็นประโยชน์มากจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตเจ้าของคำถามค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
orawan.c
วันที่ 13 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ลุงหมาน
วันที่ 29 พ.ค. 2554

คำถามที่ จขกท.ถามเป็นคำถามในคัมภีร์มหาปัฏฐานอันเป็นคัมภีร์สุดท้ายของชั้นมหาอภิธรรมิกะเอก รู้สึกว่ายากนะครับ คำว่า อนันตรปัจจัย กับ สมนันตรปัจจัย ดังที่พระมหาพุทธโฆจารย์ได้แสดงไว้ในปัฎฐานอรรถกถาว่า

โย อนนฺตรปจฺจโย เสวฺว สมนนฺตรปจฺจโย พยญฺชนมตฺตเมว เหตฺถ นานํ อุปจฺจยสนฺตติอา ทีสุวิย อธิจวจนิรุตฺติทุกาทีสุวิย จ อตฺถโต ปน นานํ นตฺถิ

ธรรมใดเป็นอนันตรปัจจัย ธรรมนั้นแหละเป็นสมนันตรปัจจัย แท้จริงปัจจัยทั้ง ๒ นี้คงต่างกันก็เพียงพยัญชนะเท่านั้น ส่วนเนื้อความไม่มีต่างกัน เป็นไปเหมือนในอุปัจจยรูปและสันตติรูป เป็นต้น หรืออธิวจนทุกะ และนิรุตติทุกะเป็นต้น ดังจะอุปมาดังนี้

อนันตรปัจจัย อุปมาเหมือน พระเจ้าจักรพรรดิ์ ที่ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ์ไม่อยู่ครองราชสมบัติแล้ว โอรสของพระเจ้าจักรพรรดิ์นั้น ก็ครองราชสมบัติต่อทันที และการสืบต่อราชสมบัตินี้ ก็ต้องได้แก่โอรสองค์ที่ ๑ ก่อน จะข้ามไปให้แก่โอรสองค์ที่ ๒ องค์ที่ ๓ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ต่อเมื่อโอรสองค์ที่ ๑ ไม่ได้ครองแล้วองค์ที่ ๒ จึงจะรับสืบต่อไปได้ตามลำดับกันต่อไป ดังนี้

สมนันตรปัจจัย อุปมาเหมือน พระเจ้าจักรพรรดิ์ที่สวรรคตไปแล้ว พระราชโอรสของพระจักรพรรดิ์นั้น ต้องสืบราชสมบัติแทนพระราชบิดาต่อไป อย่างแน่นอน บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะเข้ามาคั่นตำแหน่งนี้ได้เลย

และคงไม่ต้องแสดงอะไรมากอีกเพราะท่านทั้งหลายได้อธิบายไว้ดีแล้ว เพียงแต่จะเข้ามาเสริมดังจะอุปมาให้ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
yanong89
วันที่ 31 พ.ค. 2561

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
prinwut
วันที่ 28 พ.ย. 2562

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
Eagle007
วันที่ 8 มี.ค. 2564

ขอนอบน้อมคาราวะในคุณพระธรรมใคร่ขอ อ.Paderm อธิบายคำ อนันตรปัจจัย กับคำ สมนันตรปัจจัย ว่าทำไมมีชื่อต่างกันแต่มีคุณสมบัติเหมือนกัน คือต่างก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปสืบต่อโดยไม่มีภวังค์ระหว่างคั่นและด้วยดี

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2564

เรียน ความเห็นที่ 21 ครับ

อนันตรปัจจัย กับคำ สมนันตรปัจจัย ต่างก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้น แต่ความต่าง คือ ถ้าเป็น สมนันตรปัจจัย จะเพิ่มขึ้นมา คือ จิตที่เกิดต่อไปนั้นเป็นปัจจัยด้วยดี คือ ไม่ข้ามไปจิตประเภทอื่น เช่น เพราะจิตเห็นดับไป เป็นปัจจัยให้จิตคือสัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ จะไม่ใช่ ชวนจิตเกิดต่อแน่นอน จะไม่ข้ามไปจิตประเภทอื่น จิตเห็นจึงเป็นปัจจัยให้จิต คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อด้วยดี ไม่ข้ามไปเป็นจิตประเภทอื่น ตามลำดับด้วยดี ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
chatchai.k
วันที่ 10 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
Selaruck
วันที่ 18 เม.ย. 2565

ขอบคุณและอนุโมทนากับทุกท่านยิ่งค่ะในทั้งคำถามและคำอธิบาย

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
Junya
วันที่ 17 ธ.ค. 2565

กราบยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ