สมถะสมาธิ ไม่จำเป็นจริงหรือ?

 
prasopsuk
วันที่  10 มี.ค. 2554
หมายเลข  18016
อ่าน  1,479

หลังจากได้ฟังท่านอาจารย์บรรยายธรรมมาตลอดนั้น สังเกตได้ว่าอาจารย์ไม่ส่งเสริมให้ใช้สมถะสมาธิ เพราะไม่ใช่ทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง เป็นเพียงละได้ชั่วคราว (ขณะมีสมาธิ) เท่านั้น ทำให้สงสัยว่า สมถะสมาธิไร้ประโยชน์จริงๆ รึ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chaiyut
วันที่ 11 มี.ค. 2554

ในที่นี้ เข้าใจว่า ท่านอาจารย์ไม่ส่งเสริมให้ใช้สมถะสมาธิโดยไม่เข้าใจ "ธรรม" ครับเพราะการจะใช้ ก็คือ ความเป็นตัวตนที่พยายามจะเจริญกุศล โดยไม่เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ดังนั้น การบรรยาย เรื่อง การอบรมสมถภาวนา ท่านอาจารย์จึงไม่ละทิ้งการชี้แจงให้ผู้ฟังได้เข้าใจสมถภาวนาโดยนัยของการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนาด้วย เพราะการเจริญสมถภาวนา ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริง คือ ปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขณะที่จิตสงบจากอกุศลก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง ไม่ใช่เรา ขณะที่เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา ก็เป็นนาม-ธรรมแต่ละอย่างๆ ๆ ไม่ใช่เรา เช่นกัน การบรรยายของท่านอาจารย์จะเน้นให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจธรรมที่กำลังฟังอยู่ตามลำดับขั้น ไม่ใช่ฟังเรื่องปฐวีกสิณ แล้วก็ข้ามไปให้หาดินสีอรุณมาเพ่ง โดยที่ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงครับ เพียงแต่เมื่อผู้ฟังฟังแล้วเข้าใจ สังขารขันธ์ก็จะค่อยๆ ปรุงแต่งจิตของผู้ฟัง ให้ถึงการน้อมประพฤติ-ปฏิบัติในทางกุศลที่ได้เห็นประโยชน์แล้วนั้นๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และค่อยๆ ละความต้องการที่จะชักจูงให้ไปทำสิ่งใดโดยไม่เข้าใจได้ เพียงฟังต่อไปแล้วเข้าใจขึ้นกุศลอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะเจริญขึ้นตามกำลังของปัญญาเอง ซึ่งเป็นการเจริญขึ้นโดยไม่ฝืนอัธยาศัยของผู้ฟังแต่ละท่านเลย สรุป คือ กุศลทุกประการมีประโยชน์ ควรเจริญ แต่ควรเจริญโดยมีปัญญาที่เห็นถูกว่า เป็นธรรมที่ควรเจริญ ไม่ใช่โดยความเป็นเราที่ต้องการจะไปเจริญกุศล เพราะความจริงกุศลเป็นกุศล เป็นธรรม ไม่ใช่เราเมื่อปัญญามากขึ้น ปัญญาก็จะรู้ว่า มีกำลังพอที่จะอบรมให้กุศลขั้นใดเจริญขึ้นได้ถ้าไม่สามารถเจริญสมถภาวนาจนถึงฌานจิตได้ ก็ไม่ต้องฝืนตนเอง เจริญกุศลไปเท่าที่กำลังของปัญญาจะพอกระทำได้ โดยมีความเห็นถูกว่ากุศลเป็นเป็นธรรมที่มีประโยชน์ และจำเป็นในการที่จะช่วยขัดเกลาอกุศลที่มีอยู่มากในชีวิตประจำวันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มี.ค. 2554
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มี.ค. 2554

ขอเรียนว่าเรื่องของสมาธิเป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งควรศึกษาอย่างละเอียด โดยย่อๆ สมาธิมี ๒ ประเภท คือ มิจฉาสมาธิ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ มิจฉาสมาธิเป็นสมาธิที่เกิดพร้อมกับอกุศล ไม่สงบ ส่วนสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่เกิดพร้อมกับกุศลจิต เป็นสมาธิที่สงบจากกิเลสอกุศล แม้สัมมาสมาธิก็มีหลายระดับ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ถ้าทำสมาธิโดยขาดความรู้ความเข้าใจในพระธรรมคำสอน สมาธินั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ในสมัยครั้งพุทธกาลพุทธบริษัททั้งหลายท่านเริ่มต้นด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อน ไม่ใช่เริ่มโดยการหัดทำสมาธิ ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ และทำให้ปัญญาเจริญขึ้น คือการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ถ้าไม่ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ก็อาจจะหลงผิดในข้อประพฤติปฏิบัติได้ ทางที่ดีอย่าพึ่งทำอะไรเลยครับ ขอให้ค่อยๆ ฟังก่อน... โดย prachern.s

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มี.ค. 2554

การเจริญสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา มีจุดประสงค์ ต่างกันอย่างไร

ต่างกันที่ สมถภาวนา เป็นการเจริญกุศลด้วยปัญญา ที่เห็นโทษของจิต

ที่ไม่สงบ ผู้ที่มีปัญญาจริงๆ จะรู้ว่า เมื่อเห็นสิ่งใดที่ไม่สงบด้วยโลภะบ้าง

โทสะบ้าง โมหะบ้าง เมื่อยินเสียงก็ไม่สงบด้วยโลภะบ้าง โทษะบ้าง โมหะบ้าง ผู้จะเจริญสมถภาวนา เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ สามารถรู้ขณะที่เป็นอกุศลจิตว่า

ต่างกับขณะที่เป็นกุศลจิต จึงมีปัญญารู้ว่า จิตจะสงบเป็นกุศลได้ เมื่อตรึกถึง

อารมณ์ที่ทำให้จิตสงบขึ้น สงบขึ้น ได้อย่างไร ฉะนั้น การเจริญสมถภาวนาจึง

มีจุดประสงค์ ให้จิตสงบเป็นกุศลมั่นคงขึ้น มั่นคงขึ้น จนเป็นสมาธิขั้นต่างๆ ส่วน การเจริญวิปัสสนาภาวนา นั้น เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ตามปกติตาม

ความเป็นจริง จนปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ดับ

กิเลสได้เป็นสมุจเฉท จาก..ปกิณณกธรรม

การเจริญสมถภาวนาไม่สามารถทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงไม่ทำให้

รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prakaimuk.k
วันที่ 12 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sensory
วันที่ 13 มี.ค. 2554

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยคนนะคะ ดิฉันมีความคิดเห็นว่าสมถภาวนาไม่ใช่การไปนั่งขัดสมาธิตามที่คนส่วนใหญ่นิยม แต่สมถภาวนา ที่ท่านอาจารย์เน้นย้ำอยู่บ่อยๆ แต่หลายคนอาจจะลืมไปว่าควรเจริญบ่อยๆ นั่นก็คือ เมตตา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายๆ ครั้งจะสับสนกับโลภะ ทุกคนรู้จักคำว่าโลภะ แต่ไม่รู้จักอาการหรือลักษณะของโลภะ จึงมีการหลงเข้าใจว่าลักษณะของโลภะ คือเมตตา ดิฉันคิดว่า ถ้าเพียงแค่นี้ยังแยกแยะไม่ได้ ก็คงไม่ต้องไปกล่าวถึงเรื่องสมถภาวนาประเภท กสิณ หรือขั้นฌาน เพราะยังไม่เข้าใจว่าอกุศลจิต กับกุศลจิตต่างกันเช่นไร และยังเจริญโลภะอยู่เนืองๆ จะไม่ให้สัปบุรุษห้ามปรามได้อย่างไร ในเมื่อที่กระทำไปเป็นเครื่องกั้นปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Sensory
วันที่ 13 มี.ค. 2554

ดังนั้น ถ้าเป็นการนั่งสมาธิแล้วคิดว่าจะได้ฌาน โดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย ดิฉันคิดว่าท่านอาจารย์ไม่ส่งเสริมให้ศิษย์มีความเสี่ยงที่จะทำอะไรไปด้วยความไม่รู้แน่นอน มีหลายครั้งที่ดิฉันอ่านข้อความทั่วไปตามอินเตอร์เนต พบว่าคนทั่วไปจะเข้าใจผิดว่าท่านอาจารย์ไม่แนะนำให้เจริญสมถภาวนา จริงๆ แล้วถ้าใครได้ฟังธรรมชุดสมถ-ภาวนาที่ท่านอาจารย์บรรยายไว้ จะพบว่ามีความละเอียดลึกซึ้งมากและท่านอาจารย์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเช่นกันและชี้ให้ศิษย์เห็นเสมอว่าสมถภาวนาในชีวิตประจำวันก็สำคัญเช่นกัน เพราะจะมีประโยชน์อะไร หากเข้าห้องทำสมาธิ แต่ในชีวิตประจำวัน เป็นคนที่ขาดเมตตาหรือเข้าใจว่าโลภะคือเมตตา หรือไม่เคยระลึกถึงพระพุทธคุณเลย ทั้งหมดเป็นสมถภาวนาที่ไม่จำเป็นต้องปลีกตัว เพราะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน ซึ่งสำคัญที่สุด

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
โชติธัมโม
วันที่ 14 มี.ค. 2554
ขอน้อมจิตอนุโมทนาบุญด้วยเศียรเกล้าครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 16 มี.ค. 2554

เพราะสมถภาวนาไม่ใช่หนทางการอบรมเจริญปัญญาเพื่อ "การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม"

เป็นเพียง "ธรรมเครื่องอยู่" แต่ไม่ใช่ "ธรรมนำออก" (จากสังสารวัฏฏ์) ค่ะ

ประโยชน์ของสมถภาวนา คือ จิตที่เข้าถึงความสงบในระดับต่างๆ เพราะปราศจากการ

ถูกกลุ้มรุมด้วยนิวรณธรรม แต่ถึงกระนั้นความสงบอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้

เกิดปัญญา คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องอาศัยการเจริญวิปัสสนา (สติ

ปัฏฐาน หรือ การเจริญอริมรรคมีองค์แปด) ซึ่งเป็นทางเอก ทางเดียวเท่านั้นค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ