อารัมณปัจจัย อารัมณปุเรชาตปัจจัย วัตถุปุเรชาตปัจจัย

 
wittawat
วันที่  23 ก.พ. 2554
หมายเลข  17943
อ่าน  4,505

กระผมมีความสงสัยเรื่องความเกี่ยวข้องของ อารัมณปัจจัย และปุเรชาตปัจจัย จึงได้ตรวจสอบในคัมภีร์ปัฏฐานภาค ๑ เล่ม ๑ ซึ่งพอจะได้ข้อสรุปซึ่งเป็นความต่างของอารัมณปัจจัย อารัมณปุเรชาตปัจจัย และวัตถุปุเรชาตปัจจัยดังนี้

๑. ความต่างระหว่าง อารัมณปัจจัย และ อารัมณปุเรชาตปัจจัย คือ อารัมณปัจจัย หมายถึงธรรมทั้งปวง แต่อารัมณปุเรชาตปัจจัย หมายถึง นิปผันรูป ๑๘ เท่านั้น

ธรรมทั้งปวง คือ อารัมณปัจจัย แต่สำหรับทางปัญจทวาร และ มโนทวารวาระแรก ซึ่งสืบต่อจากทางปัญจทวาร หมายเฉพาะ อารมณ์ ๕ (วิสยรูป ๗) เป็นอารัมณปัจจัย ในปุเรชาตปัจจัยนิเทศ ท่านกล่าวว่าไว้ ๒ บทดังนี้

ปุเรชาตปัจจัย ท่านกล่าว เฉพาะ นิปผันนรูป ๑๘ เท่านั้น (รูปที่แตกสลายเพราะ ปัจจัย มีข้าศึก คือ เย็น ร้อน เป็นต้น) ไม่กล่าวอนิปผันนรูป ๑๐

อารัมณปุเรชาตปัจจัย กล่าวเฉพาะรูป ๑๒ (เว้นจาก วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๖) ได้แก่ สี เสียง กลิ่น รส ธาตุ ๔ อินทรีย์ ๓ (ภาวรูป ๒ ชีวิตรูป ๑) กพฬีีการาหาร ๑

แต่ในส่วนของปัญหาวาระ แสดงส่วนแห่งอารัมณปุเรชาตไว้ว่า พระเสขะหรือปุถุชนพิจารณาเห็นจักษุ.โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั้นแปลว่า อารัมณปุเรชาตปัจจัย เป็น นิปผันนรูปทั้ง ๑๘

๒. วิสยรูป ๗ เป็นอารัมณปุเรชาตปัจจัยให้แก่ปัญจทวารจิต ส่วนนิปผันรูป ๑๘ เป็นอารัมณปุเรชาตปัจจัยให้แก่มโนทวารวิถีจิต

อารมณ์ ๕ มีรูปเป็นต้น เป็นปุเรชาตปัจจัยโดยส่วนเดียว แก่ทวิปัญจวิญญาณจิตด้วย และแก่มโนธาตุ ๓ ด้วย

นั่นหมายถึงว่า เฉพาะวิสยรูป ๗ คือ สี เสียง กลิ่น รส ธาตุ ๓ (ดิน ไฟ ลม) เท่านั้น เป็น อารมณปุเรชาตปัจจัยของปัญจทวาร ส่วนรูป อีก ๑๑ รูปที่เหลือไม่ปรากฏทางปัญจทวาร แต่สามารถเป็นอารมณปุเรชาตปัจจัยของมโนทวารได้

๓. หทยวัตถุเท่านั้นเป็นปุเรชาตปัจจัยให้แก่ภวังคจิต

ทั้งส่วนแห่งปุเรชาตปัจจัยนิเทศ และส่วนแห่งปัญหาวาระ ไม่ได้กล่าวไว้ว่านิปผันนรูป ๑๘ จะเป็น อารัมณปุเรชาตปัจจัย ให้กับภวังคจิตเลย กล่าวเฉพาะ หทยวัตถุ เป็น วัตถุปุเรชาตปัจจัย แก่อัพพยากตวิบากทั้งหลายในปวัตติกาล รวมทั้งเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัย แก่ กุศลขันธ์ อกุศลขันธ์ และ อัพพยากตกริยาด้วย

นั้นหมายถึง เฉพาะ หทยวัตถุเท่านั้น เป็น ปุเรชาตปัจจัย แก่ ภวังคจิต โดยวัตถุปุเรชาตปัจจัย รวมถึงจิตทุกประเภท เว้นช่วงปฏิสนธิกาล และ กาลที่มีเพียงนามไม่มีรูป

๔. วัตถุปุเรชาตปัจจัยทั้ง ๖ รูป จะเป็นปุเรชาตปัจจัยให้แก่ นามธรรมได้ ต้องล่วงเลยอุปาทขณะไปแล้ว

ปุเรชาตปัจจยนิเทศกล่าวว่า ชื่อว่า ปุเรชาต ในคำว่าปุเรชาตปัจจัยนี้ เป็นปัจจัยแก่ธรรมใด ต้องเกิดก่อนกว่าธรรมนั้น คือ ล่วงเลยขณะไปถึงฐีติขณะ

หมายถึง วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๖ รูป (จักขายตนะ กระทั่ง กายายตนะ ๕ รูป และ หทยวัตถุ ๑) ผ่านอุปาทขณะของรูปไปถึงฐีติขณะแล้ว จึงสามารถเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยให้กับ จิต และ เจตสิกที่จะเกิดตามมาได้

หากความเข้าใจกระผมผิดประการใด ขอให้ตรวจสอบแก้ไขด้วยครับ แต่ถ้าข้อความ ๔ ข้อดังกล่าวเบื้องต้น ไม่เป็นประโยชน์ประการใด ผมจะได้ขอให้ลบทิ้งครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wittawat
วันที่ 25 ก.พ. 2554

ผมเห็นว่าคำถามพวกนี้มีประโยชน์เพื่อเข้าใจความละเอียดของธรรม จึงได้ถามในมูลนิธิชั่วโมงปรมัตถธรรม

๑. อารัมณปุเรชาตปัจจัยหมายความว่าอย่างไร? เพราะเหตุใดอารัมณปุเรชาตปัจจัยจึงเป็นนิปผันรูป ๑๘ เท่านั้น?

หมายถึง ปัจจัยที่เกิดก่อนและยังมีอยู่โดยเป็นอารมณ์ขณะนั้น จึงเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น รู้อารมณ์ ณ ขณะนั้น ซึ่งอารมณ์นั้นต้องมีสภาวลักษณะครบ คือมีอายุ ๑๗ ขณะจิต จึงเป็นอารัมณปุเรชาตปัจจัยได้

รูปที่ไม่มีสภาวะ เช่น ลักขณรูป คือ อนุขณะแรกของรูป เป็นอุปจยตารูป อนุขณะที่ ๒ ถึง ๕๐ เป็นสันตติรูป และ ชรตารูป อนุขณะสุดท้ายเป็นอนิจจตารูป นั้น ไม่ครบสภาวะของรูป ๑๗ ขณะ เป็นเพียงลักษณะของรูป จึงไม่อาจเป็นอารมณปุเรชาตปัจจัยได้

๒. รูปายตนะที่เกิดก่อนและยังไม่ดับไป เป็น อารัมณปุเรชาตปัจจัย ให้กับจักขุทวารวิถีจิตทุกๆ ดวงหรือไม่? หรือเฉพาะวิญญาณจิต และ มโนธาตุ ๓?

เป็นปัจจัยให้รูปทั้ง ๑๔ รูปในปัญจทวารวิถีเกิด เพราะจากนัยของ ความเป็นปัจจัยที่เกิดก่อน และยังมีอยู่โดยเป็นอารมณ์ขณะนั้น จึงเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกที่รู้อารมณ์ ณ เดียวกันในขณะนั้นเกิด

๓. สีที่เกิดก่อนทางตา เป็นอารัมณปุเรชาตปัจจัย ให้แก่ จักขุทวารวิถีจิต แล้วดับไปแล้ว เพราะมีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิต จะเป็นอารัมณปุเรชาตปัจจัยให้แก่ มโนทวารวิถีจิตที่รู้อารมณ์เดียวกันหรือไม่?

ไม่เป็น เพราะจะเป็นอารัมณปุเรชาตปัจจัยได้ ต้องเป็นขณะที่มีอยู่ รูปที่เกิดแล้วดับแล้วในปัญจทวาร ความดับไปแล้ว หากทางปัญจทวารมีสติปัฏฐานเกิดรู้รูป คือ ปรมัตถธรรมนั้นเป็นอารมณ์ รูปนั้นเป็นอารมณปุเรชาตปัจจัยแก่ สติปัฏฐานที่เกิดนั้น ส่วนมโนทวารที่เกิดต่อจากรูป รู้นิมิตของรูป ซึ่งเป็นปัจจุบันสันตติ สืบต่อลักษณะของรูปที่ดับไปแล้วนั้น เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดทางปัญจทวารมิได้เป็น อารัมณปุเรชาตปัจจัยแก่มโนทวารวิถีจิต

๔. ต้องล่วงเลยอุปาทขณะแล้ว หทยวัตถุจึงสามารถเป็นปุเรชาตปัจจัยให้แก่ อตีตภวังคจิตเป็นต้น ตลอดจน วิถึจิตทางตา และ ทางใจที่รู้อารมณ์เดียวกัน อยากทราบว่า ภวังค์ก็ดี วิถีจิตก็ดีที่มีรูปายตนะเป็นอารมณ์จำเป็นต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเดียวกันเกิด หรือไม่อย่างไร?

หทยวัตถุรูปใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นหทยวัตถุเดียวกัน หรืออาจเป็นก็ได้ เพราะรูปที่เกิดจากกรรม คือ กัมมชรูป เช่น หทยวัตถุ เกิดหลังจากปฏิสนธิกาล ทุกๆ อนุขณะของจิต ก็มีหทยวัตถุเกิดขึ้น หทยวัตถุรูปใดเป็นปัจจัยให้ อัพยากตกิริยา หรือ อัพยากตวิบากเกิด หทยวัตถุรูปนั้น เป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยแก่ ภวังคจิตก็ดี หรือ วิถีจิตใดๆ ในปวัตติกาล ที่ไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

๕. อุปาทขณะของจักขุปสาท จะเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของอตีตภวังค์ ซึ่งเป็นภวังค์เริ่มแรกก่อนมีปัญจทวารวิถึจิตหรือไม่?

(คำถามนี้ ป้าอรวรรณช่วยถามแทนผม แต่ถามในลักษณะที่ว่า จักขุปสาทรูปที่เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิต จำเป็นหรือไม่ต้องเป็นจักขุปสาทรูปเดียวกันตลอดทั้งจักขุทวารวิถีนั้น)

ไม่ต่างกันกับ กรณีหทยวัตถุ จักขุปสาทรูปใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นจักขุปสาทรูปเดียวกัน หรืออาจเป็นก็ได้ เพราะจักขุปสาทรูปใดเกิดแต่กรรม เป็นปัจจัยให้ จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวงเกิด จักขุปสาทรูปนั้นเป็น วัตถุปุเรชาตปัจจัย

ผมเข้าใจว่าเป็นคำถามตอบที่เป็นประโยชน์ เพื่อความละเอียดในความเป็นอนัตตาจริงๆ ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้จริงจริง อนุโมทนา ท่านผู้ถาม ท่านอาจารย์วิทยากรที่อนุเคราะห์ตอบตามความรู้ ทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.พ. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องของปัจจัย เป็นเรื่องที่ละเอียดเป็นอย่างยิ่ง ก่อนอืนขอแปลชื่อของปัจจัย ๓ ปัจจัยที่ได้กล่าวถึง เพื่อการพิจารณา ดังนี้
๑. อารัมมณปัจจัย หมายถึง เป็นปัจจัยโดยความเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก กล่าวคือ อะไรก็ตามที่จิตและเจตสิกกำลังรู้ในขณะนั้น ก็เป็นอารัมมณปัจจัย ได้แก่นามธรรม (จิต เจตสิก นิพพาน) รูปธรรม และบัญญัติ
๒. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย หมายถึง เป็นปัจจัยโดยความเป็นอารมณ์ (ของจิตและเจตสิก) ซึงเกิดก่อน ได้แก่สภาวรูป ๑๘ รูปที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งเป็นอารมณ์เกิดก่อน จึงเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ในทวาร ๖
๓. วัตถุปุเรชาตปัจจัย หมายถึง เป็นปัจจัยความเป็นวัตถุ (ที่เกิดของจิตและเจตสิก) ซึ่งเกิดก่อน ได้แก่ วัตถุรูป ๖ คือ จักขุวัตถุ (ที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง) โสตวัตถุ (ที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง) ฆานวัตถุ (ที่เกิดของฆานวิญญาณ ๒ ดวง) ชิวหาวัตถุ (ที่เกิดของชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง) กายวัตถุ (ที่เกิดของกายวิญญาณ ๒ ดวง) และ หทยวัตถุ (ที่เกิดของจิตที่เหลือจากจิต ๑๐ ดวงนั้น)

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวิทวัต และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chaiyut
วันที่ 28 ก.พ. 2554

เรื่องของปัจจัยนี้ยากมากๆ ต้องขอให้คุณ wittawat และคุณ khampan.a เข้ามาเกื้อกูลกันบ่อยๆ นะครับ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทั้งสองท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wittawat
วันที่ 2 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนา อ.คำปั่น และ อ.chaiyut ที่กรุณาให้ความคิดเห็น ผมมีความเข้าใจตามกำลัง ยังมีความผิดพลาดอีกมาก เพราะเป็นแต่เพียงผู้ศึกษาตาม ยังต้องอาศัยการสอบถาม ศึกษาและแก้ไขอีกมาก ขอความกรุณาเกื้อกูลด้วยครับ และเรื่องปัฏฐานหากมีเวลา ก็ควรต้องมีการศึกษาสอบถามความละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกมาก และขออนุโมทนาอาจารย์ผู้ตอบคำถามที่มูลนิธิ ในชั่วโมงปรมัตถธรรมด้วยครับ เช่น อ.อรรณพ อ.ธิดารัตน์ และ อาจารย์วิทยากรผู้ร่วมสนทนาทั้งหลายครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 3 มี.ค. 2554

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สัมภเวสี
วันที่ 4 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนากับท่านผู้ตั้งกระทู้ด้วยครับ จากความรู้ที่ผมได้ศึกษามา จึงขอกล่าวเทคนิคเฉพาะตนเกี่ยวกับปัฏฐานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านอื่นดังนี้ครับ

1.อารัมมณปุเรชาตปัจจัย และวัตถารัมมณปุเรชาตปัจจัย จัดอยู่ใน อารัมมณชาติ ส่วน วัตถุปุเรชาตปัจจัย จัดอยู่ใน วัตถุปุเรชาตชาติ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นปัจจัยในคนละชาติ (กลุ่ม) กัน
2. สำหรับวิถีจิตทางมโนทวาร สามารถรู้อารมณ์ได้กว้างขวางตามความสามารถของมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งถ้าหากมีปัจจุบันนิปผันนรูป 18 เป็นอารมณ์ ก็จะได้ปัจจัยทั้ง อารัมมณปัจจัย อารัมมณปุเรชาตปัจจัย อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย ซึ่งหลักการคือ อารัมมณปัจจัย องค์ธรรมได้แก่ จิต 89 เจตสิก 52 รูป 28 (เตกาลิกะ) นิพพานและบัญญัติ ส่วนปัจจยุบบันได้แก่ จิต 89 เจตสิก 52 อารัมมณปุเรชาตปัจจัย อารัมมณปุเรชาตัตถิปัจจัย อารัมมณปุเรชาตอวิคตปัจจัย ซึ่งสามปัจจัยนี้มีองค์ธรรมอย่างเดียวกัน ได้แก่ ปัจจุบันนิปผันนรูป 18 ที่เกิดก่อน ปัจจยุบบันได้แก่ กามจิต 54 อภิญญาจิต 2 เจตสิก 50 (เว้นอัปปมัญญาเจตสิกเนื่องจากมีบัญญัติเป็นอารมณ์)
อาจเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมอารัมมณปุเรชาตปัจจัย เป็นต้น จึงมีอารมณ์ที่เป็นรูปเท่านั้น เพราะว่าปัจจัยนี้ต้องเป็นธรรมที่เป็นปัจจุบันและเข้าถึงฐีติขณะหรือฐีติปัตตะ สำหรับจิตและเจตสิก จะเป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัยไม่ได้เนื่องจากอายุสั้นมาก เกิดแล้ว เพียงสามอนุขณะก็ดับ ไม่ทันตั้งอยู่เหมือนนิปผันนรูปซึ่งมีอายุมากกว่าถึง 17 ขณะจิต และสามารถเป็นอารมณ์ให้กับกามาวจรวิถีจิตได้ทั้งวิถี ส่วนนิพพาน ไม่สามารถเป็นได้เนื่องจากนิพพาน ไม่มีการเกิด เป็นอสังขตะ จึงจัดว่าเกิดก่อนหรือปุเรชาตะ ไม่ได้ บัญญัติก็ไม่ได้เนื่องจากไม่มีสภาวะ ไม่มีการเกิดดับ จึงเป็นปุเรชาตะไม่ได้
สำหรับวิถีจิตทางปัญจทวาร องค์ธรรมจะแคบกว่าทางมโนทวาร เนื่องจากขอบเขตการกระทบอารมณ์ของปสาทวัตถุมีความจำเพาะ เช่น จักขุปสาท สามารถกระทบได้เพียงวัณณรูปเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงได้แค่วิสยรูป 7 ที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น แต่ทางมโนทวารวิถี มีความสามารถมากกว่านั้น เนื่องจาก มโนทวาราวัชชนจิตมีวีริยะเจตสิกเพิ่มเข้ามา ทำให้สามารถอาวัชชนะอารมณ์ได้กว้างขวางมาก และเป็นไปได้ทั้งอารมณ์ที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต รวมถึงนิพพาน บัญญัติ ได้อีกด้วย
ดังนั้น ขอบเขตอารมณ์ทางมโนทวารวิถีจึงมากกว่าทางปัญจทวารวิถี มโนทวาราวัชชนจิตจึงชื่อว่าเป็น มหาคชจิต เหมือนช้างใหญ่ในป่า มีความสามารถรู้ไปหมด แม้แต่พระสัพพัญญุตญาณของพระสุคตเจ้าจะสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต้องรู้อารมณ์ที่มโนทวาราวัชชนจิตอาวัชชนะให้ รายละเอียดที่น่าสนใจและศึกษายังมีอีกมาก เช่น มโนทวารวิถีมีความสามารถที่เหนือกว่าปัญจทวารวิถีเช่น สติปัฏฐาน ฌาน อภิญญา มรรค ผล ก็เกิดขึ้นที่มโนทวารวิถี มิได้เกิดที่ปัญจทวารวิถี เนื่องจากปัญจทวารวิถีเป็นการรู้สิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งความเข้าใจอย่างถ่องแท้หรือความด่ำดิ่งในสมาธิที่เป็นระดับอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิจะเกิดขึ้นที่มโนทวารวิถีเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ชาตินี้เป็นชาติที่ไม่สูญเปล่า ที่เราได้เกิดมาพบแสงสว่างแห่งพระธรรมที่มาจากพระสัพพัญญุตญาณ ซึ่งมีค่ามากกว่ารัตนะใดๆ ในโลก ควรที่จะรีบเร่งทำความเพียร ศึกษา ทรงจำให้มากๆ เพราะหมดยุคนี้คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว เนื่องจากปัฏฐานจะสาบสูญก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนพระสัทธรรมหมวดอื่น และปัฏฐานเป็นคัมภีรืที่จะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจสภาวธรรมอย่างแจ่มแจ้ง เพราะมีหลักเหตุผลในตัวของสภาวธรรมเอง และเกื้อกูลต่อการกำหนดปัจจัยอย่างยิ่งยวด

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
prakaimuk.k
วันที่ 12 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
mouy179
วันที่ 30 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 10 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ