ที่นั่งที่นอนอันสงัด

 
จักรกฤษณ์
วันที่  13 ก.พ. 2554
หมายเลข  17882
อ่าน  2,437

จากการสนทนาพระสูตรเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ ที่ผ่านมาที่มูลนิธิฯ

มีท่านผู้ร่วมสนทนาสอบถามท่านอาจารย์และคณะวิทยากร เรื่อง ที่นั่งที่นอนอันสงัด ในโอวาทปาติโมกข์ ว่า ต้องเป็นสถานที่ประเภทใด เนื่องจาก สงัด ในที่นี้หมายถึงสงัดจากกิเลสทั้งปวง ดังนั้น หากผู้ที่ไปอยู่ในสถานที่ที่มีการแสดงรื่นเริง แต่สติอาจเกิดขึ้นเป็นกุศลก็เป็นไปได้

ซึ่งท่านอาจารย์กรุณาอธิบายว่า เป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้เนื่องจากทุกอย่างเป็นอนัตตา แม้แต่สถานที่ หากต้องไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้นก็ด้วยเหตุปัจจัย ผู้ที่อบรมมาแล้วสติย่อมเกิดเป็นกุศลได้ คนส่วนใหญ่ชอบเลือกสถานที่ ไม่เข้าใจเรืองของอนัตตา

ผมจึงมีข้อที่สงสัยและอยากทำความเข้าใจว่าจะถูกต้องหรือไม่ครับว่า

ในโอวาทปาติโมกข์ ทุกบท ตั้งแต่

"ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น

ความยังกุศลให้ถึงพร้อม

ความทำจิตของตนให้ผ่องใส

การไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย

ความสำรวมในพระปาติโมกข์

รู้ประมาณในภัตตาหาร

ที่นั่งที่นอนอันสงัด

ความประกอบโดยเอื้อเฟื้อในอธิจิต" นั้น

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของจิตเป็นที่ตั้งแห่งกุศลทั้งสิ้น

ดังนั้น บทที่ว่า "ที่นั่งที่นอนอันสงัด" นั้น จึงควรเป็นเรื่องของจิตเป็นที่ตั้งเช่นกัน ว่าไม่ว่าจะนั่งจะนอนที่ใด ก็ให้สงัดจากอกศุลจิต ไม่ใช่เป็นเรื่องของสถานที่ตัวตั้งว่า ที่สงัด ต้องเป็นสถานที่สัปปายะ ในป่า ในเขา ในเรือนว่างโคนต้นไม้ หรือสถานที่ที่เอื้อให้กุศลจิตเกิดอื่นๆ เพราะหากใช้สถานที่เป็นตัวตั้ง แต่หลายครั้งแม้จะนั่งจะนอนอยู่ในวัดในวา อกุศลจิตก็เกิดได้ บางทีก็มากๆ ด้วย

ในทางตรงกันข้าม แม้ไปอยู่ในสถานบันเทิง เห็นคนเต้นรำร้องเพลงกัน อาจระลึกเป็นซากศพเคลื่อนที่ได้ ดังที่ท่านผู้ถามยกตัวอย่าง เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม "ที่นั่งที่นอนอันสงัด" อาจจะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของเพศสำหรับเพศบรรพชิต มีพระวินัยคุ้มครองมิให้ไปในสถานที่อันเอื้อให้กิเลสกำเริบ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดในการเจริญภาวนาตามเพศ จึงถือว่ามีปัจจัยที่จะไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้นได้น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมแก่เพศแล้ว แต่หากยังมิกิเลสอยู่ ก็ถือว่าไม่สงัดเช่นกัน

สำหรับเพศฆราวาส ไม่มีกฎระเบียบใดบังคับ แต่ต้องใช้ชีวิตประจำวันตามปกติของแต่ละคน ต้องมีการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ญาติมิตร ตามประเพณี ต้องมีการผ่อนคลายในบางครั้งด้วยเครื่องบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สำหรับผู้ที่มีการอบรมก็พอใจที่จะแสวงหาสถานที่ที่ทำให้กุศลเกิดหากเป็นไปได้ แต่หากมีเหตุมีปัจจัยต้องไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่สนับสนุนให้กุศลจิตเกิดก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นผู้ที่อบรบ สติก็อาจเกิด ซึ่งถือว่าสงัดจากกิเลสได้เช่นกัน

ดังนั้น การที่เข้าใจว่า "ที่นั่งที่นอนอันสงัด" นั้น สำคัญอยู่ที่จิตอันเป็นกุศลในขณะนั่งขณะนอนมากกว่าสถานที่ที่นั่งหรือนอนแล้วจะทำให้กุศลเกิด จะเป็นการเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ครับ หรือ มีข้อควรพิจารณาประกอบอีกหรือไม่ครับว่า ต้องไปหาสถานที่ที่เอื้ออำนวยให้นั่งหรือนอนด้วยกุศลจิตด้วย

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 ก.พ. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่งเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษา ได้เข้าใจตามความเป็นจริง แม้แต่คำว่า ที่นั่งที่นอนอันสงัด ก็เช่นเดียวกัน สำคัญอยู่ที่สภาพจิต อย่างที่คุณจักรกฤษณ์ ได้กล่าวไว้ เพราะถ้ากุศลจิตเกิด จะอยู่ที่ใด ที่นั่นก็สงัด เช่น ขณะที่นั่งฟังพระธรรมอยู่ที่บ้าน มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็สงัดจากอกุศล ชั่วขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น เป็นต้น แต่ถ้าเป็นนัยตรงกันข้าม ถ้าอยู่ในสถานที่ที่สมมติกันว่าเป็นสถานที่เงียบสงบ แต่จิตเป็นอกุศล มีความติดข้องต้องการ หรือ หนักไปกว่านั้น คือ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะนั้น ก็ไม่สงัด เพราะจิตเป็นอกุศล ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวเตือนไว้ว่า ควรเข้าใจในโวหาระ ในพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สงัดในที่นี้ หมายถึง สงัดจากอกุศล โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปหา หรือ ไปเจาะจงว่าที่ไหนเป็นที่ที่ควรแก่การให้กุศลจิตเกิด-เพื่อจะได้สงัดจากอกุศล เพราะแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง มีอัธยาศัยสะสมมาแตกต่างกันแต่เพราะปัญญาและกุศลธรรมประการต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไป จึงมีการน้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

ที่นอนที่นั่งอันสงัด ความสงัด ความสันโดษ ตอนที่ ๒

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 14 ก.พ. 2554

"...แต่หากมีเหตุมีปัจจัยต้องไปอยู่ในสถานที่ ที่ไม่สนับสนุนให้กุศลจิตเกิดก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นผู้ที่อบรม สติก็อาจเกิด ซึ่งถือว่าสงัดจากกิเลสได้เช่นกัน..."

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chaiyut
วันที่ 15 ก.พ. 2554

ถ้าเป็นปัญญาที่เจริญขึ้นตามลำดับ ปัญญาย่อมเห็นช่องทางที่จะยังกุศลให้เกิดได้ทุกสถานที่ตามเหตุตามปัจจัยครับ ฉะนั้น สำคัญที่ปัญญา สำคัญที่สภาพของจิต ถ้าปัญญารู้ชัดจริงๆ ก็จะหมดปัญหาเรื่องของสถานที่ คือ จะเป็นที่ไหนก็ตาม ไปแล้ว ไปถึงแล้ว เมื่อปัญญาเกิด ปัญญาก็จะพาออกจากอกุศลครับ เห็นว่าสิ่งใดเหมาะควร สิ่งใดสัปปายะ ความฉลาดคือปัญญาจะช่วยเลือกให้เสร็จสรรพ โดยไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าเป็นโลภะ , โมหะ, เป็นอกุศลแล้ว ย่อมจะมีปัญหาติดตามไปทุกสถานครับ แม้ว่าจะเลือกแล้วก็ตาม ว่าจะอยู่ในที่ๆ เงียบสงัด แต่ก็ไม่สงัด เพราะใจไม่สงบจากอกุศล และอกุศลที่เลือกที่สงัด ก็ช่วยให้สงัดไม่ได้ เพราะอกุศลไม่สงบครับ ดังนั้น ความสำคัญ คือ ปัญญาเห็นถูกว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะมีโอกาสได้ไปที่ไหนก็ตาม มีธรรมทุกที่ แต่จะรู้หรือไม่รู้เท่านั้น และขณะที่ระลึกรู้ธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นจึงสงัดจากอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ นี่คือทางสายกลางที่ไม่มีตัวตนจะไปทำอะไรซึ่งผิดปกติ แต่เป็นความรู้ในสิ่งที่มีจริงตามปกติ ตามการสะสมของปัญญาของแต่ละคนครับ ...ขออนุโมทนาคุณจักรกฤษณ์ด้วยครับ ที่กรุณาเปิดประเด็นธรรมเพื่อให้มีการร่วมสนทนาธรรมกันได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.พ. 2554

สำคัญที่จิตใจที่เป็นกุศล ที่สงัดจากอกุศล ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใดก็ตาม เช่น พระพุทธเจ้ามีบริวารมากมาย แต่ท่านก็ไม่ติดข้อง ไม่คลุกคลี่กับภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่มีปัญญาจะไม่เดือดร้อน ไม่ว่าจะอยู่ทีใดก็แล้วแต่ปัญญาก็เกิดได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Noparat
วันที่ 15 ก.พ. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 15 ก.พ. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
มกร
วันที่ 16 ก.พ. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ