การศึกษาปริยัติและการปฏิบัติ

 
webdh
วันที่  25 ก.ค. 2549
หมายเลข  1697
อ่าน  7,224
จำเป็นต้องศึกษาปริยัติก่อนลงมือปฏิบัติธรรมหรือไม่

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 26 ก.ค. 2549

การศึกษาตามหลักคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นไปตามลำดับคือ

ผู้ศึกษาต้องฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก่อน (ปริยัติ)

เมื่อฟังเข้าใจแล้วจึงน้อมประพฤติปฏิบัติตามคำสอน (ปฏิบัติ)

เมื่อปฏิบัติตามคำสอนจึงมีผลคือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมละกิเลสได้ตามลำดับขั้น (ปฏิเวธ)

ปฏิเวธจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง

ปฏิบัติอย่างถูกต้องจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง

แต่ทั้ง ๓ ขั้น ใช่ว่าจะแยกจากกัน คือ ขณะที่ศึกษาธรรม ฟังธรรมอยู่นั้น เมื่อเข้าใจ สติและปัญญา เกิดขึ้นรู้ความจริงก็คือการปฏิบัติ และการรู้แจ้งความจริงละกิเลสเป็นปฏิเวธในขณะที่นั่งฟังนั้นก็ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 26 ก.ค. 2549

พระสัทธรรม มี ๓

๑. ปริยัติ หมายถึง การเรียนพระไตรปิฎก ๓ คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม

๒. ปฎิบัติ หมายถึง ขณะที่ปัญญาเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

๓. ปฎิเวธ หมายถึง โลกุตตรธรรม ๙ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
luck
วันที่ 26 ก.ค. 2549

ขอโทษนะคะ

ดิฉันว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแค่ฟังธรรมแล้วทำให้เกิดความรู้แจ้งความจริงเป็นปฏิเวธในขณะนั่งฟัง เพราะการฟังธรรมก็เพียงแค่ทำให้รู้พระธรรม ซึ่งเป็นการรู้โดยการจำโดยสัญญา จะทำให้รู้แจ้งความจริงละกิเลสเป็นปฏิเวธในขณะนั่งฟังได้อย่างไร ก็คุณบอกไว้ตรงข้อความที่ว่า "ปฏิเวธจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง " ฉะนั้น แค่การฟังแล้วทำให้เกิดความเข้าใจเท่านั้นเอง จะสามารถละกิเลสไม่ได้เด็ดขาดเพราะยังไม่มีการปฏิบัติอะไรเลย ขนาดปฏิบัติก็ยังมีอีกหลายขั้นที่กว่าจะปฎิบัติให้ถึงขั้นปฏิเวธได้

กรุณาอธิบายด้วยค่ะว่าคุณเข้าใจอะไรผิดไปรึเปล่าคะ

(ด้วยความเคารพค่ะ เพราะต้องการเห็นความถูกต้องค่ะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
webdh
วันที่ 26 ก.ค. 2549

ขออนุโมทนาในคำตอบของทางมูลนิธิฯ

ผู้ศึกษาธรรมะส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องมีวิธีการต่างๆ โดยไม่เข้าใจว่า ปัญญาเกิดจากการฟังพระธรรม เมื่อฟังเข้าใจก็เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของปัญญานั่นเองใช่ไหม่ครับ แต่ก่อนก็มีความสงสัยอยู่เสมอ เพราะได้รับการชี้แนะว่าต้องไปปฏิบัติจึงจะรู้ได้เอง ทำตามวิธีที่เขาบอก มีแบบแผนต่างๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไรโดยวิธีการปฏิบัติแบบต่างๆ ไม่ทราบว่าในพระไตรปิฏกพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงวิธีปฏิบัติไว้อย่างไรบ้างครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
webdh
วันที่ 26 ก.ค. 2549

ในความเห็นที่ 3

มีข้อความว่า "ขอโทษนะคะ ดิฉันว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแค่ฟังธรรมแล้วทำให้เกิดความรู้แจ้งความจริงเป็นปฏิเวธในขณะนั่งฟัง " ได้อ่านพบพระสูตร เรื่องสันตติมหาอำมาตย์ จึงนำมาให้อ่านกันนะครับ ท่านมหาอำมาตย์ท่านเป็นผู้เคยสะสมปัญญามา เมื่อท่านได้ฟังพระธรรม ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านไม่ได้ไปปฏิบัติอะไรที่ไหนเลย เพียงฟังพระธรรม

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 113

๙. เรื่องสันตติมหาอำมาตย์ [๑๑๕]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสันตติมหาอำมาตย์ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อลงฺกโต เจปิ สมญฺจเรยฺย" เป็นต้น.

สันตติมหาอำมาตย์ ได้ครองราชสมบัติ ๗ วัน

ความพิสดารว่า ในกาลครั้งหนึ่ง สันตติมหาอำมาตย์นั้นปราบปรามปัจจันตชนบท ของพระเจ้าปเสนทิโกศล อันกำเริบให้สงบแล้วกลับมา. ต่อมา พระราชาทรงพอพระหฤทัย ประทานราชสมบัติให้ ๗ วัน ได้ประทานหญิงผู้ฉลาดในการฟ้อนและการขับนางหนึ่งแก่เขา. เขาเป็นผู้มึนเมาสุราสิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างแล้ว ขึ้นสู่คอช้างตัวประเสริฐไปสู่ท่าอาบน้ำ เห็นพระศาสดากำลังเสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่ระหว่างประตู อยู่บนคอช้างตัวประเสริฐนั่นเอง ผงกศีรษะถวายบังคมแล้ว. พระศาสดาทรงทำการแย้ม พระอานนท์ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอะไรหนอแล? เป็นเหตุให้ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏ" เมื่อจะตรัสบอกเหตุแห่งการแย้ม จึงตรัสว่า "อานนท์ เธอจงดูสันตติมหาอำมาตย์ ในวันนี้เอง เขาทั้งประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างเทียว มาสู่สำนักของเรา จักบรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาอันประกอบด้วยบท ๔ แล้ว นั่งบนอากาศ ชั่ว ๗ ลำตาล จักปรินิพพาน" มหาชนได้ฟังพระดำรัสของพระศาสดา ผู้กำลังตรัสกับพระเถระอยู่ คน ๒ พวกมีความคิดต่างกัน บรรดามหาชนเหล่านั้น พวกมิจฉาทิฏฐิ คิดว่า "ท่านทั้งหลายจงดูกิริยาของพระสมณโคดม พระสมณโคดมนั่น ย่อมพูดสักแต่ปากเท่านั้นได้ยินว่า ในวันนี้ สันตติมหาอำมาตย์นั่น มึนเมาสุราอย่างนั้น แต่งตัวอยู่ตามปกติ ฟังธรรมในสำนักของพระสมณโคดมนั้นแล้ว จักปรินิพพาน ในวันนี้ พวกเราจักจับผิดพระสมณโคดมนั้นด้วยมุสาวาท" พวกสัมมาทิฏฐิ คิดกันว่า "น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพมาก ในวันนี้เราทั้งหลาย จักได้ดูการเยื้องกรายของพระพุทธเจ้าและการเยื้องกรายของสันตติมหาอำมาตย์" ส่วนสันตติมหาอำมาตย์ เล่นน้ำตลอดวันที่ท่าอาบน้ำแล้ว ไปสู่อุทยาน นั่งที่พ่นโรงดื่ม หญิงฟ้อนเป็นลมตาย

ฝ่ายหญิงนั้น ลงไปในท่ามกลางที่เต้นรำ เริ่มจะแสดงการฟ้อนและการขับ, เมื่อนางแสดงการฟ้อนการขับอยู่ในวันนั้น ลมมีพิษเพียงดังศัสตราเกิดขึ้นแล้วในภายในท้อง ได้ตัดเนื้อหทัยแล้ว เพราะความที่นางเป็นผู้มีอาหารน้อยถึง ๗ วัน เพื่อแสดงความอ้อนแอ้นแห่งสรีระ. ในทีทันใดนั้นเอง นางมีปากล้าและตาเหลือก ได้กระทำกาละแล้ว ฯลฯ โศกเพราะภรรยาตาย สันตติมหาอำมาตย์ กล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย จงตรวจดูนางนั้น" ในขณะสักว่าคำอันชนทั้งหลายกล่าวว่า "หญิงนั้นดับแล้ว นาย" ดังนี้ ถูกความโศกอย่างแรงกล้าครอบงำแล้ว ในขณะนั้นเอง สุราที่เธอดื่ม

พระศาสดาระงับความโศกของบุคคลได้

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า "ท่านมาสู่สำนักของผู้สามารถเพื่อดับความโศกได้แน่นอน อันที่จริง น้ำตาที่ไหลออกของท่านผู้ร้องไห้ในเวลาที่หญิงนี้ตาย ด้วยเหตุนี้นั่นแล มากกว่าน้ำของมหาสมุทรทั้ง ๔" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า "กิเลสเครื่องกังวลใด มีอยู่ในกาลก่อน เธอจง ยังกิเลสเครื่องกังวลนั้น ให้เหือดแห้งไป กิเลสเครื่องกังวล จงอย่ามีแก่เธอในภายหลัง ถ้าเธอจักไม่ยึดถือขันธ์ ในท่ามกลาง จักเป็นผู้สงบระงับเที่ยวไป"

ในกาลจบพระคาถา สันตติมหาอำมาตย์ บรรลุพระอรหัต แล้วพิจารณาดูอายุสังขารของตน ทราบความเป็นไปไม่ได้แห่งอายุสังขารนั้นแล้ว จึงกราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตการปรินิพพานแก่ข้าพระองค์เถิด" ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
saowanee.n
วันที่ 26 ก.ค. 2549

ตอบความคิดเห็นที่ 3 ค่ะ

สัญญาความจำนั้นเป็นสัญญาเจตสิก ส่วนความเข้าใจนั้นเป็นปัญญา ปัญญานั้นก็มีหลายระดับขั้นตั้งแต่ขั้นความสงบจากอกุศล สติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณ จนถึงขั้นสูงสุดคือโลกุตตรมรรค การที่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องเริ่มจากความเห็นถูก เข้าใจถูกโดยการศึกษาพระธรรม เพื่อที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้จิตน้อมไปในกุศลเพิ่มมากยิ่งขึ้น

การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องนั้น คือ การเข้าถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฎขณะนี้ค่ะ ไม่ต้องไปสร้างรูปแบบให้ผิดไปจากปกติ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายหรือคิดนึกทางใจ มีรูปธรรมและนามธรรมปรากฏให้รู้ได้ตลอดเวลา ในทุกๆ อิริยาบถ และทุกๆ ทวาร

ข้อสำคัญ คือ รู้จริง รู้ชัด รู้ทั่วแล้วรึยัง ถ้ายัง ก็ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
895228
วันที่ 26 ก.ค. 2549

ความเข้าใจของคุณ luck เป็นความเข้าใจของคนส่วนใหญ่

ในสมัยนี้เห็นว่า การปฏิบัติธรรม หรือ การทำวิปัสสนา ต้องลงมือปฏิบัติกันจริงๆ จังๆ แค่ฟังพระธรรมนั้นไม่เพียงพอ บางสำนัก ก็มีข้อปฏิบัติ เป็นข้อๆ หรือ มีข้อปฏิบัติ และการเตรียมตัวก่อนเข้ากรรมฐาน เป็นการแยกปริยัติออกจากการปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง บางพวกก็ว่าศึกษาปริยัติเหมือนการศึกษาแผนที่ ยังไม่ใช่การปฏิบัติ การปฏิบัติคือการลงมือเดินทางตามแผนที่ ทางมศพ.และสมาชิกท่านอื่นๆ คงจะให้ความเข้าใจเพิ่มเติมได้นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
prapas.p
วันที่ 27 ก.ค. 2549

ขอสนทนากับคุณ luck จากความคิดเห็นที่คุณกล่าว

คำว่า แค่ฟังธรรม บางท่านก็แค่จำ ก็จริง แต่ต่างจากการฟังธรรมแล้วทำให้เกิดความรู้แจ้งความจริง เพราะฟังธรรมแล้วรู้เข้าใจธรรม หมายถึง ไม่ใช่เราฟัง แต่สภาพธรรมที่รู้เสียงธรรม มีปัญญาขั้นฟังเกิดร่วมด้วยจนเข้าใจธรรม (เป็นการปฏิบัติขั้นเข้าใจเป็นสัจจญาณแล้ว) ในบุคคลที่สะสมการฟังมามาก จนเป็นเหตุให้เกิดปัญญาในขั้นสัจจญาณคือขั้นเข้าใจปริยัติแล้วเป็นลำดับไป

กิจจญาณ คือขั้นปฏิบัติในขณะยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ได้ใช้มือปฏิบัติ หรือขาที่เดิน หรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดส่วนหนึ่งปฏิบัติ แต่เป็น สภาพธรรมในองค์มรรค ซึ่งมีปัญญาทำกิจปฏิบัติรู้แจ้งธรรมะ และในเมื่อปัญญารู้แจ้งในขณะนั่งฟังธรรมอยู่ ปัญญาในขณะนั้นเกิดดับนับไม่ถ้วนสลับกันอยู่

ทั้งขั้นสัจจญาณ (เข้าใจแล้วในปริยัติ) ทั้งขั้นกิจจญาณ (ขั้นปฏิบัติ) ทั้งขั้นปฏิเวธ ดังในตัวอย่างของเรื่องสันตติมหาอำมาตย์ หากพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระอภิธรรม มิฉะนั้น ก็ไม่ทราบว่าอะไรเป็นเหตุแห่งปัญญา ไม่ใช่เพียงพระธรรม แต่มีการฟังที่ดีและเข้าใจธรรมเป็นเหตุ คือปัญญาขั้นการฟังนั่นเอง ปัญญาขั้นปฏิบัติเป็นผลของปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาขั้นปฏิบัติเป็นเหตุปัญญาขั้นปฏิเวธเป็นผล

เพราะฉะนั้น จะเป็นอิริยาบถไหนไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ เพราะไม่ได้ใช้มือปฏิบัติหรืออวัยวะใดๆ ปฏิบัติ แต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรมะปฏิบัติขั้นการฟังเข้าใจธรรม (ธรรมะฟังเข้าใจสัจจญาณ) ธรรมะปฏิบัติ (ธรรมะเป็นสติปัฏฐานปฏิบัติ หรือ กิจญาณ) ธรรมะปฏิบัติขั้นปฏิเวธ (ธรรมะประหารกิเลสจนเป็นสมุจเฉท เป็นโลกุตตรธรรม)

ขออนุโมทนาที่ทุกความเห็นที่ได้กรุณาอนุเคราะห์ในแนวทางเดียวกันเพื่อให้เห็นว่า การปฏิบัติคือการฟังจนเข้าใจธรรมนั้นเอง เป็นกิจของปัญญาแล้วถ้าเข้าใจ เพราะผมอ่านแล้วมีประโยชน์ ที่จะได้เกิดความเห็นถูกมั่นคงขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 28 ก.ค. 2549

ขออนุโมทนา

ทุกท่านแสดงความเห็น (อันมาจากความเข้าใจจริงๆ ) ชอบแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
narong
วันที่ 31 ก.ค. 2549

ก่อนอื่นต้องรู้ว่าปริยัติคืออะไร ปฏิบัติคืออะไร เสียก่อน (ท่านอ.สุจินต์จะพร่ำสอนอยู่เสมอ)

ปริยัติคือการศึกษาคำสอน (พระธรรม) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยการอ่าน, ฟัง หรือสนทนาธรรม ซึ่งท่าน อ. สุจินต์จะใช้วิธีการสนทนาในการศึกษาเพื่อให้เกิดเป็นความเข้าใจ (ปัญญา) ของผู้ศึกษาเอง เพราะเป็นการสอบถามจากทั้งสองฝ่าย ดังนั้นจุดประสงค์ของการศึกษา ก็คือ เพื่อความเข้าใจในธรรมที่ได้สนทนา (หรืออ่าน, ฟัง) ซึ่งความเข้าใจ จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย ประกอบกับการนึกคิดพิจารณาในเรื่องธรรมะอยู่เนืองๆ เป็นเวลานานมากๆ ๆ (จิรกาลภาวนา) เหมือนการจับด้ามมีด กว่าที่จะเห็นการสึกได้ ก็สามารถถึงเฉพาะ (ปฏิ+ปัตติ) สภาพธรรมโดยสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเราเรียกว่า "การปฏิบัติ" ดังนั้นจึงไม่ใช่ "เรา" ที่จะไปปฏิบัติ (ผู้ถาม ใช้คำว่าลงมือปฏิบัติ แสดงว่าไม่เข้าใจ ความหมายของคำนี้) คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการปฏิบัติ คือ การที่เราจะต้องทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง เช่น นั่งหลับตา (นั่งสมาธิ) ฯลฯ ดังนั้นที่ถูก คือยังไม่ควรคิดถึง การปฏิบัติ หรือ เมื่อไร สติปัฎฐานจะเกิด แต่ควรสนใจศึกษาเพื่อความเข้าใจ ในสิ่งที่ได้ฟัง เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลำดับแรกที่ควรศึกษาให้เข้าใจถูกคือการรู้ความจริงว่า "ทุกอย่างเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา"

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
aurasa
วันที่ 1 ส.ค. 2549

ขออนุโมทนาด้วยกับบ้านธัมมะและทุกความเห็นที่เป็นไปในทางเดียวกันอย่างถูกต้องค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
luck
วันที่ 9 ส.ค. 2549

ดิฉันขอขอบคุณ บ้านธัมมะและ คุณ webdn มากนะคะ

ที่ช่วยให้ความกระจ่างในพระธรรมแก่ดิฉันและเพื่อนๆ ชาวสมาชิกมากขึ้น การนั่นก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงดอกบัว ๔ เหล่าที่พระพุทธองค์ท่านทรงได้ตรัสใว้แล้ว การเพียงได้ฟังธรรมแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้นก็เพราะมีเหตุปัจจัยที่นำมาสู่การนิพพาน

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pamali
วันที่ 21 ต.ค. 2553

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ขอบพระคุณค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ