คุณสมบัติของผู้เจริญกายคตาสติ [วุฏฐิสูตร]

 
เมตตา
วันที่  18 ก.ค. 2553
หมายเลข  16756
อ่าน  2,066
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที ๗๓๘ สีหนาทวรรคที่ ๒

๑. วุฏฐิสูตร

(ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้เจริญกายคตาสติ)
[๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์เจริญ ข้าพระองค์ จำ

พรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถีแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะหลีกจาริกไปในชนบท พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตรเธอจงสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป. ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้ว ไม่ขอโทษ หลีกจาริกไป ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงมานี่ จงไปเรียกสารีบุตรตามคำของเราว่า ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าว กะท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร พระศาสดารับสั่ง ให้หาท่าน ท่านพระสารีบุตรรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระอานนท์ ถือลูกดานเที่ยวประกาศไปตามวิหาร ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงรีบออกเถิดๆ บัดนี้ท่านพระสารีบุตรจะบันลือสีหนาทเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า. ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตรเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ กล่าวหาเธอว่า ข้าแต่พระองค์เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้ว ไม่ขอโทษหลีกจาริกไปแล้ว. ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ ไม่ขอโทษแล้ว พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงบน

แผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใดข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยแผ่นดินอันไพบูลย์กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่. ข้าแต่พระองค์เจริญ ชนทั้งหลายย่อมล้างของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงในน้ำ น้ำก็ไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใดข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยน้ำอันไพบูลย์กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษพึงหลีกจาริกไปเป็นแน่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ไฟย่อมไม่อึดอัดระอา หรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยไฟอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญกายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่.

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 18 ก.ค. 2553
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลมย่อมพัดซึ่งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้างลมย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็เหมือนกันฉันนั้นแล มีใจเสมอด้วยลมอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มี ประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษพึงหลีกจาริกไปเป็นแน่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าสำหรับเช็ดธุลี ย่อมชำระของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง สูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ผ้าเช็ดธุลีย่อมไม่อึดอัดระอา หรือ เกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยผ้าสำหรับเช็ดธุลีอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกไปเป็นแน่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารหรือกุมาริกาของคนจัณฑาลถือตะกร้า นุ่งผ้าเก่าๆ เข้าไปยังบ้านหรือนิคม ย่อมตั้งจิตนอบน้อมเข้าไป แม้ฉันใด เข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยกุมารหรือกุมาริกาของคนจัณฑาล อันไพบูลย์กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญกายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษพึงหลีกจาริกไปเป็นแน่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคเขาขาด สงบเสงี่ยม ได้รับฝึกดีแล้วศึกษาดีแล้ว เดินไปตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนนกันแล มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญกายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาว เป็นคนชอบประดับตบแต่งพึงอึดอัดระอาเกลียดชังด้วยซากศพงู หรือซากศพสุนัขที่เขาผูกไว้ที่คอแม้ฉันใดข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมอึดอัดระอาและเกลียดชังด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกายภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนประคองภาชนะมันข้น มีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมบริหารกายนี้มีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องน้อยใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกไปเป็นแน่. ลำดับนั้น ภิกษุนั้นลุกจากอาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลงเป็นคนไม่ฉลาดอย่างไร ที่ข้าพระองค์ได้กล่าวตู่ท่านพระสารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล คนหลง ไม่ฉลาดอย่างไร ที่เธอได้กล่าวตู่สารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว กระทำคืนตามธรรม เราย่อมรับโทษของเธอนั้น ดูก่อนภิกษุ ข้อที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตร เธอจงอดโทษต่อโมฆบุรุษผู้นี้ มิฉะนั้น เพราะโทษนั้นนั่นแล ศีรษะของโมฆบุรุษนี้จักแตก ๗ เสี่ยง. ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมอดโทษต่อท่านผู้มีอายุนั้น ถ้าผู้มีอายุนั้น กล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ขอท่านผู้มีอายุนั้นจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วย.

จบ วุฏฐิสูตรที่ ๑
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ruttikarn
วันที่ 21 ส.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 3 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ