ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร [มหาวรรค]

 
เมตตา
วันที่  12 พ.ค. 2553
หมายเลข  16145
อ่าน  2,778

[เล่มที่ 6] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๑ หน้าที่ ๔๔- ๔๙

ปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรว่าด้วย การยังธรรมจักรใหญ่) ลำดับนั้น พระปัญจวัคคีย์ ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าเงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะพระปัญวัคคีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายที่สุด ๒ อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุข ในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชนไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุด ๒ อย่างนั้น ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไฉน

ปฏิปทาทางสายกลางนั้นได้แก่ อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือ

ปัญญาอันเห็นชอบ ๑

ความดำริชอบ ๑

เจรจาชอบ ๑

การงานชอบ ๑

เลี้ยงชีวิตชอบ ๑

พยายามชอบ ๑

ระลึกชอบ ๑

ตั้งจิตชอบ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล เป็นทุกขอริยสัจ คือความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประกอบด้วยสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล เป็นสมุทยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือตัณหานั่นแล ดับไปโดยไม่มีเหลือด้วยมรรคคือ วิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ตั้งจิตชอบ ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่ ท่านพระโกณฑัญญะ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วน มีความดับไปเป็นธรรมดา

ครั้นพระผู้มีพระภาคได้ประกาศ ธรรมจักร อันยอดเยี่ยม เหล่าภุมเทวดาได้บรรลือเสียงว่า "นั่นพระธรรมจักร อันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้"

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเปล่งพระอุทานว่า "ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ" เพราะเหตุนั้น คำว่า "อัญญาโกณฑัญญะ" นี้จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้

จบ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
homenumber5
วันที่ 22 ม.ค. 2554

สาะสาธุสาธุ อนุดมทามิ ท่านผู้แสดงบทความนี้

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ย้อนรำลึกธรรมวันพืชมงคล

พระโพธิสัตว์ ได้ฌาน เมื่ออายุ 7 ขวบ ในวันประกอบพิธีแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโทธนะ ราชบิดา ไหว้พระโพธิสัตว์

[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ 139

ในที่ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญ ได้มีต้นหว้าต้นหนึ่ง มีใบหนาทึบ มีร่มเงาร่มรื่นภายใต้ต้นหว้านั้น พระราชารับสั่งให้ปูที่บรรทมของกุมาร ข้างบนคาดเพดานขจิตด้วยดาวทอง ล้อมด้วยกำแพงม่านตั้งอารักขา ทรงเครื่องสรรพาลังการ แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จไปสู่พระราชพิธีแรกนาขวัญ ณ ที่นั้น พระราชาทรงถือคันไถทอง พวกอำมาตย์ถือคันไถเงิน ๘๐๐ หย่อนหนึ่ง ชาวนาถือคันไถที่เหลือ. เขาเหล่านั้น ถือคันไถเหล่านั้นไถไปทางโน้นทางนี้. ส่วนพระราชา เสด็จจากข้างนี้ไปข้างโน้นหรือจากข้างโน้นมาสู่ข้างนี้. ในที่นี้เป็นมหาสมบัติ พระพี่เลี้ยงนั่งล้อม

พระโพธิสัตว์คิดว่า เราจักเห็นสมบัติของพระราชา จึงพากันออกไปนอกม่าน พระโพธิสัตว์ทรงแลดูข้างโน้นข้างนี้ ไม่เห็นใครๆ จึงรีบลุกขึ้นนั่งขัดสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออก ยังปฐมฌานให้เกิด. พระพี่เลี้ยงมัวเที่ยวไปในระหว่างโรงอาหารช้าไปหน่อยหนึ่ง เงาของต้นไม้อื่นก็คล้อยไป แต่เงาของต้นไม้นั้น ยังตั้งเป็นปริมณฑลอยู่. พระพี่เลี้ยงคิดว่า พระราชบุตรอยู่ลำพังพระองค์เดียว รีบยกม่านขึ้น เข้าไปภายในเห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิบนที่บรรทม และเห็นปาฏิหาริย์นั้นแล้ว จึงไปกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ พระกุมารประทับอย่างนี้ เงาของต้นไม้อื่นคล้อยไป เงาต้นหว้าเป็นปริมณฑลอยู่ พระราชาเสด็จไปโดยเร็ว ทรงเห็นปาฏิหาริย์ ทรงไหว้พระโอรสด้วยพระดำรัสว่า นี้เป็นการไหว้ลูกเป็นครั้งที่สอง.

การทำนาทางธรรม

กสิภารทวาชสูตร

กสิภารทวาชพราหมณ์ ประกอบพิธีมงคลในการหว่านพืช คือ ข้าว ครั้งแรก พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยการบรรลุเป็นพระอรหันต์ของกสิภารทวาชพราหมณ์ ทรงเสด็จไปในขณะที่ กสิภารทวาชพราหมณ์กำลังหว่านพืช คือ เมล็ดข้าว กับคนงาน 2500 คน เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึง รัศมีของพระองค์ ทีมีสีทอง ทำให้คนงานทั้งหมด หยุดการหว่านข้าว มองแต่พระพุทธเจ้า กสิภารทวาชพราหมณ์โกรธ ที่ทำให้คนงานไม่ทำงาน จึงทูลกับพระพุทธเจ้าว่า ข้าพระองค์ไถและหว่านจึงบริโภค พระองค์ก็ควรไถและหว่านแล้วบริโภคเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้เราก็ไถและหว่านทำนา แล้วจึงบริโภคเองเช่นกัน กสิภารทวาชพราหมณ์สงสัย จึงทูลถามว่า ข้าพระองค์ไม่เห็น ไถ โค แอก ที่เป็นเครื่องทำนาของพระองค์เลย ขอพระองค์ตรัสบอก การทำนาของพระองค์

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศรัทธาของเราเป็นพืช ความเพียรของเราเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริของเราเป็นงอนไถ ใจของเราเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและปฏัก เราคุ้มครองกาย คุ้มครองวาจา สำรวมในอาหาร ในท้อง ย่อมกระทำการถอนหญ้า คือ การกล่าวให้พลาดด้วยสัจจะความสงบเสงี่ยมของเราเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลส ความเพียรของเรานำธุระไปเพื่อธุระนำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ ไม่หวนกลับมา ย่อมถึงสถานที่ๆ บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถนานั้นเราไถแล้วอย่างนี้ การไถนานั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลไถนานั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง.

อธิบายดังนี้ครับว่า

ศรัทธา เป็นพืช คือ เพราะ อาศัย ศรัทธา เป็นเบื้องต้น กุศลธรรมประการต่างๆ จึงเจริญได้ ฉันใด แม้ ข้าวกล้า การทำนาจะมีขึ้นได้ ก็ต้องมีพืช เมล็ดพืชก่อนเป็นสำคัญ ความเพียร ที่เป็นตบะ ที่เป็นธรรมเครื่องเผากิเลส คือ การสำรวมทางตา หู จมูกล ลิ้น กาย ใจ ที่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เป็นเหมือนฝนที่ช่วยทำให้เมล็ดพืชงอกงาม

ปัญญา เป็นแอก และไถ คือ การไถนา จะมีได้ ก็เพราะอาศัย แอก และไถ เป็นสำคัญฉันใด การจะดับกิเลส จะมีได้ ก็เพราะอาศัย ปัญญา ความเห็นถูก เป็นสำคัญ เพราะปัญญาเป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลาย และเป็นปัจจัยให้สามารดับกิเลสได้

หิริ เป็นงอนไถ เพราะอาศัย ความละอายต่อบาป กุศลประการต่างๆ ย่อมเจริญเกิดขึ้นพร้อมๆ กับปัญญาทีเกิดขึ้น ใจของเราเป็นเชือก ใจในที่นี้ หมายถึง ใจที่ประกอบด้วยสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ เมื่อมีสัมมาสมาธิ ความฟุ้งซ่าน ก็ย่อมทำให้ปัญญาเจริญ ถูกต้อง พร้อมๆ กับ กุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย เปรียบเหมือนเชือก ย่อมช่วยยึดตัวโค และ ไถ แอกไว้ได้ ฉันใด ใจที่ประกอบด้วยสัมมาสมาธิ ย่อมยึดกุศลธรรมประการต่างไว้ได้ และไปด้วยกัน ครับ

ดังนั้น ขณะที่เจริญสติ อบรมปัญญา เจริญสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนี้ รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ชื่อว่า กำลังทำนาทางธรรม ด้วยการหว่านพืช คือ ศรัทธา และ ไถนา ด้วยอุปกรณ์ คือ ปัญญา และ หิริ ย่อมทำนาสำเร็จได้คือ ถึงการบรรลุ มรรคผล นิพพาน ดังนั้น การไถนา และการทำนาทางธรรม ผลคือ ละอวิชชา กิเลสประการต่างๆ ได้หมดสิ้น มีอมตะ เป็นที่สุด คือ ถึงพระนิพพาน ครับ

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็ชื่อว่า กำลังเริ่มประกอบกิจ คือ การทำนาอยู่ ครับ

เรื่อง ผลของการหว่านเมล็ดพันธุ์พืช

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 168

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี ส่วนคนทำเหตุชั่วย่อมได้ผลชั่ว.

กรรม ย่อมยุติธรรมเสมอ เมื่อบุคคลหว่านพืช ชนิดใด ก็ย่อมได้พืช ต้นไม้ ชนิดนั้น เมื่อปลูกอ้อย ผลที่ได้ ก็ต้องเป็นอ้อย ไม่ใช่ข้าว ดังนั้น ผู้ที่ทำเหตุที่ดี คือ กุศลกรรม ผลที่ได้ คือ วิบากที่ดี คือ กุศลวิบาก มีการเกิดในภพภูมิที่ดี เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินสิ่งที่ดีเป็นต้น จะไม่ให้ผลเป็นวิบากไม่ดี ไม่ได้เลย หว่านพืชเช่นไร ย่อมให้ผลเช่นนั้น และเมื่อบุคคล ทำอกุศลกรรม ทำเหตุที่ไมดี่ ผลที่ไม่ดี ก็ย่อมเกิดขึ้น คือ เกิดในภพภูมิที่ไม่ดี มี นรก เป็นต้น และทำให้เห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี เพราะ อกุศลกรรมคือ เหตุที่ไม่ดีเป็นปัจจัย อกุศลกรรม จะให้ผลเป็นความสุข สิ่งที่ดีไม่ได้เลย เพราะหว่านพืชเช่นไร ย่อมให้ผลเช่นนั้น ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
orawan.c
วันที่ 2 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ