ว่าด้วยเจ้าศากยะนันทิยะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่ [นันทิยสูตร]

 
Khaeota
วันที่  28 เม.ย. 2553
หมายเลข  15985
อ่าน  1,759

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕[เล่มที่ 38] - หน้าที่ 541

๓. นันทิยสูตร

ว่าด้วยเจ้าศากยะนันทิยะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่

[๒๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะเข้าจำพรรษา ณ กรุงสาวัตถี เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะได้ ทรงทรามข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะเข้าจำพรรษา ณ กรุงสาวัตถี

ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะทรงมีพระดำริว่า ไฉนหนอ แม้เราก็พึงเข้าจำพรรษา ณ กรุงสาวัตถี เราจักประกอบการงาน และจักได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตามกาลอันสมควร กรุงสาวัตถีนั้น

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำพรรษา ณ กรุงสาวัตถี เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะ ก็เข้าจำพรรษา ณ กรุงสาวัตถี ได้ทรงประกอบการงาน และได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตามกาลอันสมควร ณ กรุงสาวัตถี นั้น ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากย่อมกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จ จาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะได้ทรงทราบ ข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน

ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทราบข่าวมาว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จ จาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรม เครื่องอยู่ต่างๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละๆ บพิตร การที่บพิตรเสด็จมาหาตถาคต แล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรม เครื่องอยู่ต่างๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็นการสมควร แก่บพิตรผู้เป็นกุลบุตรแล ดูก่อนบพิตร กุลบุตรีผู้มีศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธาย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ทุศีลย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสมาธิย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีสมาธิย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์

ดูก่อนบพิตร บพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๖ ประการนี้ แล้ว พึงเข้าไปตั้งสติไว้ภายในธรรม ๕ ประการ ดูก่อนบพิตร ในธรรม ๕ ประการนี้ บพิตรพึงทรงระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้ด้วยเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูก่อนบพิตร บพิตรพึงเข้าไปตั้งสติไว้ในภายใน ปรารภพระตถาคต ด้วยประการดังนี้แล

อีกประการหนึ่ง บพิตรพึงทรงระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดูก่อนบพิตร บพิตรพึงเข้าไปตั้งสติไว้ในภายใน ปรารภพระธรรมด้วยประการ ดังนี้แล

อีกประการหนึ่ง บพิตรพึงทรงระลึกถึงกัลยาณมิตรทั้งหลายว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีกัลยาณมิตรผู้เอ็นดู ผู้ใคร่ประโยชน์ ผู้กล่าวสอน ผู้พร่ำสอน ดูก่อนบพิตร บพิตรพึงเข้าไปตั้งสติไว้ในภายใน ปรารภกัลยาณมิตรด้วยประการนี้แล.

อีกประการหนึ่ง บพิตรพึงทรงระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทินคือความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน ในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทินคือความ ตระหนี่ กลุ้มรุมแล้ว ดูก่อนบพิตร บพิตรพึงเข้าไปตั้งสติไว้ในภายใน ปรารภจาคะด้วยประการดังนี้แล

อีกประการหนึ่ง บพิตรพึงทรงระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า เทวดา เหล่านั้นได้ก้าวล่วงความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้มีคำข้าวเป็นภักษาแล้ว เข้าถึงการอันสำเร็จด้วยใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่พิจารณา เห็นกิจที่ควรทำของตน หรือการสั่งสมกิจที่ตนทำแล้ว ดูก่อนบพิตร ภิกษุผู้เป็นอสมยวิมุตย่อมพิจารณากิจที่ไม่ควรทำของตน หรือการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว แม้ฉันใด ดูก่อนบพิตร เทวดาเหล่าใดก้าวล่วงซึ่งความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้มีคำข้าวเป็นภักษา เข้าถึงกายอันสำเร็จด้วยใจอย่างใด อย่างหนึ่ง เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่พิจารณาเห็นกิจที่ควรทำของตน หรือ การสั่งสมกิจที่ตนทำแล้ว ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูก่อนบพิตร บพิตรพึงเข้าไปตั้งสติไว้ในภายใน ปรารภเทวดาทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้แล.

ดูก่อนบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้ ย่อมละซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกไม่ถือมั่น ดูก่อนบพิตร หม้อที่คว่ำ ย่อมไม่กลับ ถูกต้องสิ่งที่คายแล้ว ไฟที่ไหม้ลามไปจากหญ้า ย่อมไหม้ของที่ควรไหม้ ย่อมไม่กลับมาไหม้สิ่งที่ไหม้แล้ว แม้ฉันใด อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้ ย่อมละอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก ย่อมไม่ถือมั่น (อกุศลธรรมอันชั่วช้าเหล่านั้น) ฉันนั้นเหมือนกันแล.

จบ นันทิยสูตรที่ ๓

อรรถกถานันทิยสูตรที่ ๓

นันทิยสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า กลฺยาณมิตฺเต แปลว่า ซึ่งมิตรดีทั้งหลาย ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสังฆานุสสติ ด้วยอำนาจแห่งกัลยาณมิตรด้วยประการฉะนี้.

บทว่า กวฬิงฺการภกฺขานํ ได้แก่ ของเทวดาชั้นกามาวจร.

บทว่า อสมยวิมุตฺโต ความว่า พระขีณาสพผู้หลุดพ้นแล้วด้วยอสมยวิมุตติ

จบ อรรถกถานันทิยสูตรที่ ๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ