ควรเห็นประโยชน์ของวิชชา

 
kanchana.c
วันที่  13 ก.ค. 2549
หมายเลข  1583
อ่าน  860

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์ ครั้งที่ ๒๐๕๐ ค่ะ

เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้เห็นประโยชน์ของวิชชา เพราะถ้าวิชชาไม่เกิด ไม่มีหนทางที่จะละคลายอวิชชาเลย

ข้อความในสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้าที่ 586 ข้อ ๒๔๗๐ มีข้อความว่า

[๒๔๗๐] บุคคลควรคบหาท่านผู้รู้ทั้งหลาย ละเอียดละออ เป็นพหูสูตพึงเป็นทั้งนักเรียน และไต่ถาม พึงตั้งใจฟังคำสุภาษิตโดยเคารพ นรชนทำอย่างนี้จึงจะเป็นผู้มีปัญญา. ผู้มีปัญญานั้นย่อมพิจารณาเห็นกามคุณทั้งหลายโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นโรค ผู้เห็นแจ้งอย่างนี้ย่อมละความพอใจในกามทั้งหลายอันเป็นทุกข์ มีภัยอันใหญ่หลวงเสียได้. ผู้นั้นปราศจากราคะแล้ว กำจัดโทสะได้ พึงเจริญเมตตาจิตไม่มีประมาณ งดอาชญาในสัตว์ทุกจำพวกแล้ว ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนพรหม. เชิญคลิกอ่าน...คุณของปัญญา[สรภังคชาดก]

สำหรับผู้สามารถละความติดในรูปได้ ในเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะปราศจากราคะแล้ว กำจัดโทสะแล้ว เจริญเมตตาจิตไม่มีประมาณ ก็ย่อมบรรลุคุณธรรม ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งเมื่อเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว ก็จะเกิดในพรหมภูมิ ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือ ในกามสุคติภูมิอีก

สำหรับข้อความในพระไตรปิฎก เป็นข้อที่เตือนให้อบรมเจริญปัญญาแม้ในขุททกนิกาย เถรคาถา ท่านพระเถระทั้งหลาย ผู้ที่ยินดีในปัญญา ก็ได้กล่าวคาถาที่เป็นประโยชน์เพื่อเตือนให้อบรม ให้เจริญปัญญาอยู่เสมอ ซึ่งข้อความว่า เถรคาถา สัตตกนิบาต ท่านพระลกุณฏกเถระได้กล่าวคาถานี้มีข้อความว่า

[๓๖๒] ภัททิยภิกษุอยู่ ณ อัมพาฏการามอันสวยงามในชัฏแห่งป่า ได้ถอนตัณหา พร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป็นผู้เจริญด้วยคุณมีศีลเป็นต้น เพ่งฌานอยู่ในไพรสณฑ์นี้ กามโภคีบุคคลบางพวกย่อมยินดีด้วยเสียงตะโพน เสียงพิณและบัณเฑาะว์ แต่ความยินดีของพวกเขานั้นไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ส่วนเรายินดีแล้วในคำสอนของพระพุทธเจ้า อยู่ที่โคนไม้ ก็พระพุทธเจ้าได้ประทานพรแก่เรา เรารับพรนั้นแล้ว ถือเอากายคตาสติอันโลกทั้งปวงพึงเจริญเป็นนิตย์ ชนเหล่าใดถือรูปร่างเราเป็นประมาณ และถือเสียงเราเป็นประมาณ ชนเหล่านั้นตกอยู่ในอำนาจฉันทราคะ ย่อมไม่รู้จักเรา คนพาลถูกกิเลสกั้นไว้รอบด้าน ย่อมไม่รู้ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอก ย่อมลอยไปตามเสียง แม้บุคคลผู้เห็นผลภายนอก ไม่รู้ภายใน แต่เห็นภายนอก ก็ลอยไปตามเสียง ส่วนผู้ใดมีความเห็นไม่ถูกกั้น ย่อมรู้ชัดทั้งภายใน ทั้งเห็นแจ้งภายนอก ผู้นั้นย่อมไม่ลอยไปตามเสียง. เชิญคลิกอ่าน.....ควรเจริญปัญญาเป็นนิตย์[ลกุณฏกเถรคาถา]

เป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยปัญญา แต่คำที่ท่านกล่าว ก็เป็นคาถาที่เตือนผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ และอาจจะเป็นผู้ที่ไม่เห็นกิเลสเล็กๆ น้อยๆ ของตนเองแต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นกิเลสเล็กๆ น้อยๆ ของตนเอง ก็จะรู้ความหมายของคาถาของท่านพระเถระเหล่านั้น ที่ว่าคนพาลถูกกิเลสกั้นไว้รอบด้าน ย่อมไม่รู้ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอก ย่อมลอยไปตามเสียง

ฟังอย่างนี้ อาจจะยังไม่ทราบว่า กำลังไม่รู้ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอก ไม่รู้ทั้งภายใน คือ ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่ตนเองตามความเป็นจริงซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ ความแข่งดี มานะ ความสำคัญตนหรือทางฝ่ายที่เป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่างๆ เหล่านี้นะคะ เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด ย่อมไม่รู้ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอก ย่อมลอยไปตามเสียง

แม้บุคคลผู้เห็นผลภายนอก ไม่รู้ภายใน แต่เห็นภายนอก ก็ลอยไปตามเสียง ผู้ที่เห็นผลภายนอก เช่น เห็นลาภบ้าง เห็นยศบ้าง เห็นทรัพย์สมบัติบ้าง นี่เป็นผลภายนอก แต่ไม่รู้ภายใน คือ ไม่รู้เหตุที่จะให้เกิดผลต่างๆ เหล่านั้น ก็ลอยไปตามเสียง ทุกคน ทุกวัน ลอยไป จิตใจนี้ลอยไปตามเสียงชมบ้าง เสียงติบ้าง แต่ผู้ที่มีความเห็นไม่ถูกกั้น ย่อมรู้ชัดทั้งภายใน ทั้งเห็นแจ้งภายนอก ผู้นั้นย่อมไม่ลอยไปตามเสียง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 18 พ.ย. 2551

ขออนุญาตเสริมครับ

ท่านพระภัททิยเถระ เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุผู้แสดงธรรมด้วยเสียงไพเราะ

ขอเชิญอ่าน

ว่าด้วยคาถาของพระลกุณฏกเถระ[ลกุณฏกเถรคาถา]

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ