ชีวิตคฤหัสถ์ [ประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน]

 
พุทธรักษา
วันที่  28 ก.พ. 2553
หมายเลข  15639
อ่าน  1,688

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สนทนาธรรม ณ อาคารมูลนิธิศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ ถอดเทปบันทึกเสียงโดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล

บุคคลผู้เข้าใจในเรื่อง "เหตุและผลของกรรม"ย่อมมี "ความเมตตา" เมื่อได้ทรัพย์สมบัติมาจากการประกอบ "สุจริตกรรม" ก็ควรใช้ทรัพย์นั้นและส่วนที่เหลือ ก็สละให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น "ตามสมควร" ไม่ได้หมายความว่า "คฤหัสถ์ผู้สันโดษ" จะต้องเป็นผู้ที่อยู่เฉยๆ และไม่ใช้ความรู้-ความสามารถของตนเองที่มี ไปในทางที่เป็นประโยชน์อันเป็นประโยชน์ตน และ ประโยชน์ผู้อื่น

ฉะนั้น ความสันโดษ ของชีวิตคฤหัสถ์ จึงเป็นเรื่องของ"ความเข้าใจและรู้จักตนเองตามความเป็นจริง"โดยทราบว่า ควรยินดีพอใจ "เท่าที่มี"ไม่ใช่ "เกินไป" จนกระทั่งอยากได้ของๆ บุคคลอื่นมาเป็นของตนโดย "กระทำทุจริตกรรม"

บุคคลที่มีความสามารถทางใดทางหนึ่ง ก็ควรที่จะใช้ความสามารถนั้น อย่างเต็มที่ ในทางสุจริตเพื่อ "ประโยชน์" ทั้งต่อตนเอง และบุคคลอื่น หมายความว่า ถ้าเป็น"ผลของกุศลกรรม" ที่เป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สินมามาเท่าไร ก็ "พอใจเท่าที่มี" และ "ควรสะสมความเมตตา" ต่อบุคคลอื่น โดยการสละทรัพย์ที่ได้มาบางส่วน เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นด้วย

แต่สำหรับบางคน อยากทำบุญแต่ ไม่มีทรัพย์มากพอที่จะทำได้....แล้ว "เกิดความเดือดร้อนใจ"และ มีการกระทำต่างๆ เพื่อที่จะทำในสิ่งที่ต้องการให้ได้อย่างนี้ สันโดษหรือเปล่าแต่ ถ้าเป็นทรัพย์ของตนเองและสละให้บุคคลได้ "โดยไม่ต้องรบกวนใคร" เป็นความสันโดษในทรัพย์ของตน และถ้าเป็นการใช้ทรัพย์ของตนไปในทางกุศล"ผู้มีปัญญา" ย่อมสามารถที่จะสละทรัพย์ช่วยเหลือบุคคลอื่นได้อีกมาก.

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องของ "ปัญญา" และ "ความเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรม" มีความเข้าใจในสภาพธรรมที่เป็น "โลภะ" ความยินดีพอใจ ซึ่งมีหลายระดับ

ดังนั้น "ความสันโดษ" คือ ความยินดีพอใจในสิ่งที่ตนมีก็จะต้องเป็นไป "ตามกำลังของแต่ละบุคคล" ด้วย ผู้ที่ยังมี "โลภะ" ก็ควร "รู้จักตนเอง-ตามความเป็นจริง" ด้วย ว่ามีความสันโดษ หรือไม่ ควรพิจารณาว่า ชอบในสิ่งที่เป็นของบุคคลอื่น หรือเปล่า สิ่งที่น่าพอใจ เป็นอารมณ์ของ "โลภะ" แล้ว

เมื่อมีปัจจัยให้เกิด "โลภะ" โลภะก็เกิด"โลภะ" เกิดแล้ว ดับแล้ว.!และถ้าหากไม่มี "โลภะ" หรือ ความปรารถนาต่อไป ที่จะไปขอ ไปซื้อ หรือ พยายามให้ได้มาเป็นของๆ ตน ด้วยประการต่างๆ และถ้าแม้ "โลภะ" ความปรารถนานั้น มีกำลังมากแต่ "ไม่กระทำทุจริตกรรม" เพราะความปรารถนานั้นหมายความว่ามีความเข้าใจ และมีความมั่นคงในกรรมและผลของกรรมว่า การที่จะได้ หรือไม่ได้ สิ่งที่น่าพอใจนั้น ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่ใช่ด้วย การกระทำทุจริตกรรม

เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของ "ปัญญา" คือ ความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงเข้าใจตามความเป็นจริงว่า บุคคลที่มีกิเลส ย่อมมีกิเลสตามที่สะสมมา และ การละคลายกิเลส โดยเฉพาะ "โลภะ"ต้องเป็นการละคลาย ด้วย "กำลังของปัญญา" และ ควรเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมคือ เป็นผู้ตรงต่อสภาพจิตของตนเอง ตามความเป็นจริงเมื่อมีทรัพย์สินมาก เพราะ "ผลของกุศลกรรม" สามารถที่จะสละทรัพย์บางส่วน ที่เหลือจากการใช้สอยโดยไม่เดือดร้อน ทั้งต่อตนเอง และบุคคลอื่นคือ ทราบว่า ทรัพย์นั้น เพียงพอสำหรับตนเองและบุคคลอื่น และ ควรที่ละความติดข้องในทรัพย์ของตนโดยการสละทรัพย์นั้น เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นโดยคำนึงถึง "กำลังความสามารถของตน" เท่าที่จะกระทำได้.

คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดเป็น "เรื่องของปัญญา" ถ้าเป็น "ปัญญา" คือ ความเห็นถูกต้อง ตรงต่อสภาพธรรม ตามความเป็นจริงจะไม่ผิดเลยค่ะ.!แต่ถ้าเป็น ความเห็นที่ผิด ไม่ตรงต่อสภาพธรม ตามความเป็นจริงก็ไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาค

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 มี.ค. 2553

แต่ ถ้าเป็นทรัพย์ของตนเองและสละให้บุคคลได้ "โดยไม่ต้องรบกวนใคร" เป็นความสันโดษในทรัพย์ของตน และถ้าเป็นการใช้ทรัพย์ของตนไปในทางกุศล "ผู้มีปัญญา" ย่อมสามารถที่จะสละทรัพย์ช่วยเหลือบุคคลอื่นได้อีกมาก

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 1 มี.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 1 มี.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 1 มี.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nui_sudto55
วันที่ 4 ก.พ. 2567

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ