ท่านผู้ฟังสงสัยว่า ผู้ที่ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตัวว่าไม่มีกิเลส คืออย่างไร

 
พุทธรักษา
วันที่  10 ก.พ. 2553
หมายเลข  15425
อ่าน  1,541

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สนทนาธรรม ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๓

ท่านผู้ฟัง เมื่อเช้า ฟังพระธรรมจากเทป ฯ ได้ยินข้อความที่ว่าคนมีกิเลส แต่ไม่รู้ตัว ว่า มีกิเลส ก็พอเข้าใจได้คนมีกิเลส แต่รู้ตัว ว่า มีกิเลส ก็พอเข้าใจได้แต่คนไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตัว ว่า ไม่มีกิเลส ไม่ทราบว่าฟังผิดหรือเปล่า เพราะคิดว่า ถ้าคนที่ไม่มีกิเลส ก็ถึงขั้นพระอรหันต์แล้ว แต่ทำไมจึงไม่รู้ตัว ว่า ไม่มีกิเลส ก็เลยข้องใจค่ะ ท่านอาจารย์กรุณาอธิบาย ขยายความ ให้เข้าใจหน่อยค่ะ

ท่านอาจารย์ หลายคน ก็คงฟังมาด้วยกัน แต่เก็บมาคนละเล็ก คนละน้อยจริงๆ แล้ว อยากจะขอให้คัดข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก มาสนทนากันจะได้ "ไม่คลาดเคลื่อน" คุณคำปั่นจำได้ไหมคะ ฟังด้วยหรือเปล่า

คุณคำปั่น เข้าใจว่า เป็นข้อความใน "อนังคณสูตร" ซึ่งมีข้อความว่า"ผู้ที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ ว่าตัวเองมีกิเลส เป็นบุคคลผู้เลวทรามผู้ที่มีกิเลส แต่รู้ ว่าตัวเองมีกิเลส เป็นบุคคลผู้ประเสริฐผู้ที่ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่าตัวเองไม่มีกิเลส เป็นบุคคลผู้เลวทรามผู้ที่ไม่มีกิเลส และ รู้ว่า ตัวเองไม่มีกิเลส เป็นบุคคลผู้ประเสริฐ"

ท่านอาจารย์ ขอให้คุณคำปั่น นำหลักฐานจากพระไตรปิฎกมาเทียบเคียง จะได้ตรงค่ะ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.พ. 2553

คุณคำปั่น จะขออ่านข้อความโดยตรง จากพระไตรปิฎก

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 339

๕. อนังคณสูตร

[๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว (บุคคล ๔ จำพวก)

[๕๔] ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า คุณครับ บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
๔ จำพวกนั้นเป็นไฉน ดูก่อน ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้ มีอังคณกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีอังคณกิเลสในภายใน ๑ บุคคลลางคนในโลกนี้ มีอังคณกิเลสก็รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีอังคณกิเลสในภายใน ๑ บุคคลลางคนในโลกนี้ ไม่มีอังคณกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน ๑ บุคคลลางคนในโลกนี้ ไม่มีอังคณกิเลสก็รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน ๑.

ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดมีอังคณกิเลสแต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีอังคณกิเลสในภายใน บุคคล ๒ จำพวกที่มีอังคณกิเลสเหมือนกันนี้ บุคคลนี้ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม.

ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดมีอังคณกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีอังคณกิเลสในภายในบุคคล ๒ จำพวก ที่มีอังคณกิเลสเหมือนกันนี้ บุคคลนี้ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ.

ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดไม่มีอังคณกิเลสแต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน บุคคล ๒ จำพวกที่ไม่มีอังคณกิเลสเหมือนกันนี้บุคคลนี้ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม.

ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดไม่มีอังคณกิเลสเลย รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน บุคคล ๒ จำพวก ที่ไม่มีอังคณกิเลสเหมือนกันนี้บุคคลนี้ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ.

(ความต่างระหว่างคน ๔ จำพวก)

[ ๕๕ ] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้วท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสารีบุตรว่า ท่านสารีบุตรขอรับ เหตุอะไรหนอ ปัจจัยอะไรหนอ?ที่เป็นเหตุทำให้บุคคล ๒ จำพวกที่มีอังคณกิเลสเหมือนกันนี้ คนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทรามคนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ.

ดูก่อนท่านพระสารีบุตร เหตุอะไรหนอ ปัจจัยอะไรหนอ ที่เป็นเหตุทำให้บุคคล ๒ จำพวกที่ไม่มีอังคณกิเลสเหมือนกันนี้ คนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทรามคนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ

(บุคคลจำพวกที่ ๑)

สา. ท่านครับ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดมีอังคณกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีอังคณกิเลสในภายในข้อที่บุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักไม่ยังความพอใจให้เกิด จักไม่พยายาม จักไม่ปรารภความเพียร-เพื่อละ-อังคณกิเลสนั้นเสีย เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสมีจิตเศร้าหมอง ทำกาละ เหมือนถาดทองสัมฤทธิ์ ที่บุคคลนำมาแต่ร้านตลาด หรือแต่สกุลช่างทอง อันละอองและสนิมจับอยู่โดยรอบ.เจ้าของก็ไม่ใช้ และไม่ขัดสีถาดทองสัมฤทธิ์นั้น ซ้ำเก็บไว้ในที่มีละอองเมื่อเป็นอย่างนี้ สมัยอื่น ถาดทองสัมฤทธิ์นั้น จะพึงเป็นของเศร้าหมอง สนิมจับยิ่งขึ้น ฉันใด.

ม. อย่างนั้นหรือ ท่านขอรับ

สา. อย่างนั้นแหละ ท่านครับ บุคคลนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังมีอังคณกิเลสอยู่แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เรายังมีอังคณกิเลสในภายในข้อที่บุคคลนั้น พึงหวังได้ คือ เขาจักไม่ยังความพอใจให้เกิด จักไม่พยายาม จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อละกิเลสนั้นเสีย. เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีอังคณกิเลส มีจิตเศร้าหมอง กระทำกาละ

นี่คือ บุคคลจำพวกแรกท่านอาจารย์จะอธิบาย "บุคคลประเภทแรก" ก่อนไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.พ. 2553

ท่านอาจารย์ บุคคลแรก ที่มีกิเลส ก็ไม่รู้ว่ามีกิเลส มีเยอะไหมคะ อุปมาเหมือนถาดทองสัมฤทธิ์ ทั้งสกปรก และ เก็บไว้ในที่ๆ มีฝุ่นนับวัน ก็จะยิ่งสกปรกเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการขัดออกเลยฉะนั้น ก็ไม่มีทางที่จะไปสู่สุคติได้

คุณคำปั่น ท่านกล่าว่า เป็นผู้หลง ผู้ตายไปพร้อมกับการมีกิเลส เมื่อกระทำกละ (ตาย) เป็นผู้ที่ตายอย่างไม่มีที่พึ่ง

ท่านอาจารย์ สมมติ ถ้าทุกคนตายเมื่อวานนี้ ขณะที่มีกิเลส เป็นไปได้ไหม แล้ววันนี้ละคะ ก็เป็นไปได้ ฉะนั้น ถ้าไม่มี "ปัญญา" ที่เป็นปัจจัยให้ "กุศลจิต" เกิดขึ้นก็เป็น "อกุศลจิต" ที่สะสมมา ซึ่งเป็นปัจจัยให้ "สะสมอกุศลจิต" ต่อไป และ อกุศลจิตที่สะสมมาและสะสมต่อไป ก็เกิดบ่อยๆ แล้วจะตายไปขณะไหน ก็ไม่มีใครทราบได้ ฉะนั้น ผู้ที่ตายไปพร้อมกับการมีกิเลส ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.พ. 2553

คุณคำปั่น ต่อไป ขอกล่าวถึง "บุคคลประเภทที่ ๒" ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึง ความต่างกันจริงๆ ระหว่าง ผู้ที่รู้ กับ ผู้ที่ไม่รู้.ขอกล่าวถึงข้อความจากพระไตรปิฎก (บุคคลจำพวกที่ ๒)

สา. ท่านครับ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้นบุคคลใด ยังมีอังคณกิเลสอยู่ ก็รู้ตามเป็นจริงว่า เรายังมีอังคณกิเลสในภายใน ข้อที่บุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักยังความพอใจให้เกิดจักพยายาม จักปรารภความเพียร เพื่อละกิเลสนั้นเสีย เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมอง ทำกาละ เปรียบเหมือนถาดทองสัมฤทธิ์ที่บุคคลนำมาแต่ร้านตลาด หรือแต่สกุลช่างทองอันละอองและสนิมจับอยู่โดยรอบ เจ้าของใช้ และขัดสีภาชนะสัมฤทธิ์นั้น และไม่เก็บไว้ในที่มีละอองเมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยอื่น ภาชนะสัมฤทธิ์ จะเป็นของหมดจดผ่องใส ฉันใด

ม. อย่างนั้นหรือ ท่านขอรับ

สา. อย่างนั้นแหละ ท่านครับ บุคคลนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันยังมีอังคณกิเลสอยู่ ก็รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีอังคณกิเลสในภายในข้อนี้ อันบุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักยังความพอใจให้เกิดจักพยายาม จักปรารภความเพียร เพื่อละกิเลสนั้นเสีย. เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมอง ทำกาละ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.พ. 2553

ท่านอาจารย์ บุคคลประเภทที่ ๒ ก็ชัดเจนนะคะทุกคนในที่นี้ รู้ว่ามีกิเลสหรือเปล่าคะ จึงศึกษาพระธรรมเพราะรู้ว่ามีกิเลส และ เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสเปรียบเหมือน การขัดถาดทองสัมฤทธิ์

คุณคำปั่น "บุคคลประเภทที่ ๓ "ขอกล่าวถึงข้อความจากพระไตรปิฎก (บุคคลจำพวกที่ ๓)

สา. ท่านครับ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใด ไม่มีอังคณกิเลส แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายในข้อที่บุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจัก มนสิการสุภนิมิต เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิต (เขา)

เขาจักเป็นผู้ยังมีราคะ โทสะ โมหะยังมีอังคณกิเลส ยังมีจิตเศร้าหมอง ทำกาละ เปรียบเหมือนถาดทองสัมฤทธิ์ ที่บุคคลนำมาแต่ร้านตลาด หรือแต่สกุลช่างทอง เป็นของสะอาดหมดจด แต่เจ้าของไม่ใช้ และไม่ขัดถาดนั้น ซ้ำเก็บไว้ในที่ที่มีละออง เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยอื่น ถาดทองสัมฤทธิ์นั้น จะพึงเป็นของเศร้าหมอง สนิมจับ ฉันใด.

ม. อย่างนั้นหรือ ท่านขอรับ

สา. อย่างนั้นแหละ ท่านครับ บุคคลนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีอังคณกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน ข้อที่บุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจัก มนสิการสุภนิมิตเพราะ มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิต (เขา) เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีอังคณกิเลสยังมีจิตเศร้าหมอง ทำกาละ.

ท่านอาจารย์ ขณะนี้ กำลังเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ขณะนี้ เป็น กุศล หรือเปล่า และ รู้ไหมคะ ว่า เป็น กุศล ถ้าไม่รู้ ก็หมายความว่า ทั้งๆ ที่ขณะนี้ กำลังเป็น กุศล ก็ไม่รู้ว่าเป็น กุศล ฉะนั้น ก็ยังมีความพอใจ ยินดี ในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะหรือ มีความยึดมั่นในความเป็นตัวตน แล้วบุคคล แล้วแต่ว่าจะมุ่งหมายถึงบุคคลไหน แต่ ควรทราบตามความเป็นจริง ว่า วันหนึ่งๆ มีทั้งกุศล และ อกุศลแล้วแต่บุคคล ว่าจะมีกุศลมาก หรือมีอกุศลมาก.
ขณะที่กำลังฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้น เป็นกุศล หรือ อกุศล รู้ไหม ว่า แม้เป็นกุศล ก็ "ไม่ใช่เรา" ที่มีกุศล หรือ เป็นกุศล "ของเรา"

ถ้ายัง "เป็นเรา" (เป็นกุศลของเรา) ก็แสดงให้เห็นว่า เปรียบเหมือนกำลังถูกจับด้วยฝุ่นละออง (คือกิเลส) แล้วก็ยังคงมีความยินดีใน "ความเป็นเรา"แม้แต่ ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม (ขณะที่เป็นกุศล) ก็ยัง "เป็นเรา" ที่ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ต่อไปข้างหน้า สิ่งใดจะทำให้เป็นสนิม ก็สามารถที่จะเพิ่มขึ้นได้เพราะเหตุว่า แม้ขณะนี้ เป็นขณะที่เป็นกุศล คือขณะที่ไม่มีกิเลสก็ไม่รู้ ว่า เป็นกุศล และ ไม่รู้ว่า "ไม่ใช่เรา" อีกด้วย

อาจารย์กุลวิไล บุคคลประเภทที่ ๓ นี้ หมายถึง บุคคลที่ท่านผู้ฟังสงสัย เพราะท่านใช้คำว่า "เป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตัวว่าไม่มีกิเลส"ตามนัยที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกท่านหมายถึง "ขณะที่เป็นกุศล" นั่นเอง.!ไม่ได้หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งขัดเกลากิเลสได้หมดเป็นสมุจเฉท (พระอรหันต์) เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า "กุศลจิต" เกิดขึ้น ก็ยังมี "ความติดข้องในกุศลจิตนั้น" เพราะ มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะ จักครอบงำจิต (เขา) บุคคลนั้น ก็ไม่สามารถที่จะขัดเกลากิเลสได้จึงไม่ใช่ บุคคลผู้ประเสริฐ.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.พ. 2553

คุณคำปั่น ต่อไปเป็น "บุคคลประเภทที่ ๔" ซึ่งเป็นบุคคลประเภทสุดท้ายขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก (บุคคลจำพวกที่ ๔)

สา. ท่านครับ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้นบุคคลใดไม่มีอังคณกิเลส ก็รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายในข้อที่บุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจัก (ไม่) มนสิการสุภนิมิต เพราะ (ไม่) มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักไม่ครอบงำจิต (เขา) เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะโทสะ โมหะ ไม่มีอังคณกิเลสมีจิตไม่เศร้าหมอง ทำกาละ

เปรียบเหมือนถาดทองสัมฤทธิ์ที่บุคคลนำมาแต่ร้านตลาด หรือแต่สกุลช่างทองเป็นของสะอาดหมดจด เจ้าของใช้ และขัดสีถาดทองสัมฤทธิ์นั้น และไม่เก็บมันไว้ในที่มีละออง เมื่อเป็นเช่นนี้สมัยอื่น ถาดทองสัมฤทธิ์นั้นก็พึงเป็นของสะอาดหมดจดยิ่งขึ้น ฉันใด.

ม. อย่างนั้นหรือ ท่านขอรับ?

สา. อย่างนั้นแหละ ท่านครับ บุคคลนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีอังคณกิเลส ก็รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีอังคณกิเลสในภายใน ข้อที่บุคคลนั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักไม่มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิตไม่ได้. เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีอังคณกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมอง ทำกาละ

ท่านโมคคัลลานะ เหตุนี้แล ปัจจัยนี้แล ที่เป็นเหตุทำให้บุคคล ๒ จำพวก ที่มีกิเลสเหมือนกันนี้คนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทรามคนหนึ่ง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ อนึ่ง เหตุนี้แล ปัจจัยนี้แล ที่เป็นเหตุ ทำให้บุคคล ๒ จำพวก ที่ไม่มีอังคณกิเลสเหมือนกันนี้คนหนึ่ง บัณฑิต กล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม คนหนึ่ง บัณฑิต กล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.พ. 2553

ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตประจำวันนะคะทุกคน มีทั้ง กุศล และ อกุศล ขึ้นอยู่กับว่า เป็นอกุศล ก็ไม่รู้ ว่า เป็นอกุศลหรือ ขณะที่เป็นกุศล ก็ไม่รู้ว่า เป็นกุศล.เพราะเหตุนี้ จึงไม่สามารถ ละคลายการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน ได้ ก็ขออนุโมทนา ท่านผู้ฟัง นะคะ ที่ทำให้เราได้มีโอกาส ศึกษาพระสูตร และ อรรถกถา นี้ค่ะ

ขอเชิญอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ค่ะ

ความหมายของอังคณกิเลส [อนังคณสูตร]

บุคคล ๔ จำพวก [อนังคณสูตร]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ups
วันที่ 11 ก.พ. 2553

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 12 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 12 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
captpok
วันที่ 12 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วิริยะ
วันที่ 12 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pornpaon
วันที่ 13 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
orawan.c
วันที่ 15 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
aditap
วันที่ 15 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ