สัปปุริสทานสูตร อสัปปุริสทานสูตร และ ปฐมสัปปุริสสูตร ... เสาร์ที่ ๙ ม.ค. ๒๕๕๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ม.ค. 2553
หมายเลข  14982
อ่าน  7,041

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๙ ม.ค. ๒๕๕๓ เวลา๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

สัปปุริสทานสูตร

ว่าด้วยทานของสัตบุรุษ ๕ ประการ

อสัปปุริสทานสูตร

ว่าด้วยทานของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษ

จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 314

... และ ...

ปฐมสัปปุริสสูตร

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 488

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 314

๘. สัปปุริสทานสูตร

ว่าด้วยทานของสัตบุรุษ ๕ ประการ

[๑๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑

ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑

ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑

เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑

ย่อมให้ทาน ไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล (บังเกิดขึ้น)

ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงานเป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

ครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

ครั้นให้ทานไม่กระทบคนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล.

จบสัปปุริสทานสูตรที่ ๘

อรรถกถาสัปปุริสทานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสัปปุริสทานสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สทฺธาย ได้แก่ เชื่อทานและผลแห่งทาน.

บทว่า กาเลน ได้แก่ตามกาลที่เหมาะที่ควร.

บทว่า อนุคฺคหจิตฺโต ได้แก่ มีจิตไม่เสียดาย คือ สละขาดไปเลย.

บทว่า อนุปหจฺจ ได้แก่ ไม่กระทบ คือ ไม่ลบหลู่คุณทั้งหลาย.

บทว่า กาลาคตา จสฺส อตฺถา ปริปูรา โหนฺติ ความว่า ประโยชนทั้งหลายเมื่อจะมาถึง มิได้มาเมื่อเจริญวัยแล้ว ย่อมมาในเวลาที่เหมาะที่ควรในปฐมวัยนั่นเองทั้งมากด้วย.

จบอรรถกถาสัปปุริสทานสูตรที่ ๘

๗. อสัปปุริสทานสูตร

ว่าด้วยทานของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษ

[๑๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

อสัตบุรุษย่อมให้โดยไม่เคารพ ๑

ให้โดยไม่อ่อนน้อม ๑

ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ๑

ให้ของที่เป็นเดน ๑

ไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึงให้ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

สัตบุรุษย่อมให้โดยเคารพ ๑

ให้โดยอ่อนน้อม ๑

ให้ด้วยมือตนเอง ๑

ให้ของไม่เป็นเดน ๑

เห็นผลที่จะมาถึงให้ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล.

จบอสัปปุริสทานสูตรที่ ๗

อรรถกถาอสัปปุริสทานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอสัปปุริสทานสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อสกฺกจฺจํ ทานํ เทติ ได้แก่ หาเคารพคือทำใจให้สะอาดให้ทานไม่.

บทว่า อจิตฺตึ กตฺวา เทติ ได้แก่ ให้ด้วยอาการไม่ยำเกรง โดยความไม่เคารพ.

บทว่า อปวิฏฺฐํ เทติ ได้แก่ ไม่ให้ส่งๆ ไป. อีกอย่างหนึ่งให้เหมือนประสงค์จะทิ้ง.

บทว่า อนาคมนทิฏทิโก เทติ ได้แก่ หาทำความเห็นผลกรรมกันมาอย่างนี้ว่า ผลแห่งกรรมที่ทำจักมาถึงดังนี้ให้เกิดขึ้นไม่. ในฝ่ายขาวพึงทราบวินิจฉัยดังนี้

บทว่า จิตฺตึ กตฺวา เทติ ได้แก่ เข้าไปตั้งความยำเกรงในไทยธรรมและในทักขิไณยบุคคลแล้วให้. ในสองอย่างนั้นบุคคลกระทำไทยธรรมให้ประณีต มีรสอร่อยแล้วให้ ชื่อว่า เข้าไปตั้งความยำเกรงในไทยธรรม. บุคคลเลือกบุคคลแล้วให้ ชื่อว่า เข้าไปตั้งความยำเกรงในทักขิไณยบุคคล.

บทว่า สหตฺถา เทติ ความว่า ไม่ใช้มือของคนอื่นให้ตามคำสั่ง ให้ด้วยมือของตนเองเท่านั้น ด้วยคิดว่า ชื่อว่า เวลาที่เราท่องเที่ยวไปในสงสารอันไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้ว ได้ใช้มือและเท้านั้นไม่มีประมาณเลย เราจักทำความหลุดพ้นไปจากวัฏฏะ ความออกไปจากภพ ดังนี้.

บทว่า อาคมนทิฏฺทิโก ได้แก่ เชื่อกรรมและวิบาก ว่าจักเป็นปัจจัยแห่งภพในอนาคตแล้วให้ ดังนี้.

จบอรรถกถาอสัปปุริสทานสูตรที่ ๗

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 488

๗. ปฐมสัปปุริสสูตร

[๑๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ

ให้ของสะอาด ๑

ให้ของประณีต ๑

ให้ตามกาล ๑

ให้ของสมควร ๑

เลือกให้ ๑

ให้เนืองนิตย์ ๑

เมื่อให้จิตผ่องใส ๑

ให้แล้วดีใจ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล.

สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่ สะอาด ประณีตตามกาล สมควร เนืองนิตย์ ใน ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี บริจาคของ มากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ทานผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วอย่างนี้ เมธาวี บัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทาน อย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียนเป็นสุข.

จบ สัปปุริสสูตรที่ ๗


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ups
วันที่ 5 ม.ค. 2553

สาธุ

เรียนอาจารย์ประเชิญ ถ้าเป็นไปได้เรื่องพระสูตร ถ้ามีกล่าวเรื่องอุเบกขาที่มีข้อความเป็นไปในอกุศล ซึ่งทำให้เข้าใจว่าเป็นกุศล จะขอความกรุณาให้นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ จะเป็นความกรุณายิ่ง

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 5 ม.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป ทั้ง ๓ พระสูตร

สัปปุริสทานสูตร (ว่าด้วยการให้ทานของสัตบุรุษ)

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงการให้ทานของสัตบุรุษ ๕ ประการ พร้อมทั้งทรงแสดงผลของการให้ ด้วย ดังนี้

๑. ให้ทานด้วยศรัทธา (ผลคือ มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และมีรูปสวยงามน่าดู)

๒. ให้ทานโดยความเคารพ (ผลคือ มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และ พูดอะไรๆ ก็มีคนเชื่อฟัง)

๓. ให้ทานโดยกาลอันควร (ผลคือ มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และ เป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาล บริบูรณ์)

๔. เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน (ผลคือ มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และ เป็นผู้มีจิตน้อมไปที่จะใช้สอยสิ่งที่ได้มา สูงยิ่งขึ้น)

๕. ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น (ผลคือ มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และ เป็นผู้มีโภคทรัพย์ ไม่มีภัยอันตรายใดๆ ) .


อสัปปุริสทานสูตร

(ว่าด้วยการให้ทานของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ)

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงการให้ทานของอสัตบุรุษ และ สัตบุรุษ ฝ่ายละ ๕ ประการ ดังนี้ คือ การให้ทานของอสัตบุรุษ ได้แก่

๑. ให้โดยไม่เคารพ

๒. ให้โดยไม่อ่อนน้อม

๓. ไม่ให้ด้วยมือตนเอง

๔. ให้ของที่เป็นเดน

๕. ไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึง ให้ ส่วนการให้ทานของสัตบุรุษ มีนัยตรงกันข้าม.


ปฐมสัปปุริสสูตร (ว่าด้วยการให้ทานของสัตบุรุษ)

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัปปุริสทาน (การให้ทานของสัตบุรุษ) ๘ ประการ ดังนี้ คือ

๑. ให้ของที่สะอาด

๒. ให้ของที่ประณีต

๓. ให้ตามกาล

๔. ให้ของที่สมควร

๕. เลือกให้

๖. ให้เนืองนิตย์

๗. เมื่อให้ ก็มีจิตใจผ่องใส

๘. ครั้นให้แล้ว ก็ดีใจ.


... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 5 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 5 ม.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 6 ม.ค. 2553

เป็นพระสูตรที่น่าสนใจมากกล่าวถึงเรื่องของทานซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่นๆ ... ซึ่งการศึกษาสามารถนำมาพิจารณาในเรื่องการให้ทานได้อย่างดียิ่ง ...

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 7 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
arin
วันที่ 7 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 8 ม.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
opanayigo
วันที่ 9 ม.ค. 2553

ทุกพระสูตร ไพเราะ ลึกซึ้ง มีความหมาย เป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เกิดประโยชน์ เมื่อน้อมพิจารณา และ ประพฤติตามได้จริงๆ

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Nareopak
วันที่ 9 ม.ค. 2553

๗. ปฐมสัปปุริสสูตร

[๑๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล.

ขอความอนุเคราะห์ช่วยอธิบายหรือขยายความ "เลือกให้" เลือกอย่างไรทำไมต้องเลือกค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
prachern.s
วันที่ 10 ม.ค. 2553

เรียน ความเห็นที่ 10

การเลือกให้ อรรถกถาแก้ว่า วิเจยฺย เทติ คือ เลือกปฏิคาหก หรือเลือกโดยตั้งใจให้อย่างนี้ว่า ทานที่ให้แล้วแก่ผู้นี้ จักมีผลมาก ที่ให้แก่ผู้นี้ไม่มีผลมาก ดังนี้แล้วให้.

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วิริยะ
วันที่ 11 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
h_peijen
วันที่ 11 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
patnaree
วันที่ 14 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
เข้าใจ
วันที่ 5 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 11 พ.ย. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
สิริพรรณ
วันที่ 14 ส.ค. 2560

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณมากค่ะ

ได้อ่าน หรือได้ยิน ข้อความจากพระสูตร ครั้งใด ทุกครั้งที่เข้าใจเป็นขณะที่ประเสริฐยิ่งนัก

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ