อยากทราบการวิปัสสนาครับ

 
โจโกโปะคุง
วันที่  25 มิ.ย. 2549
หมายเลข  1431
อ่าน  1,264

คือว่า ผมเกิดสงสัยเรื่องของวิปัสสนาน่ะครับ ยังไม่เข้าใจแน่ชัดว่าทำอย่างไร ตามที่ผมกำลังปฏิบัติอยู่ตอนนี้ ก็คือนั่งสมาธิจนจิตพอจะนิ่งได้ แล้วก็เริ่มตรวจดูกายว่าไม่เที่ยงดูขันธ์ 5 ว่าเป็นทุกข์ แล้วก็ดูอารมณ์ไปเรื่อยๆ น่ะครับ ไม่ทราบว่าการทำแบบนี้ถือว่าเป็นวิปัสสนาแล้วหรือยังครับ ขอความกรุณาให้ความรู้ด้วยครับ สาธุ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 26 มิ.ย. 2549


วิปัสสนา
คือ ปัญญาที่รู้ชัดในรูปนามขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ก่อนที่ปัญญาจะรู้รูปนามโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นนั้น ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ และรู้ปัจจัยของนามรูปก่อน และก่อนที่จะรู้ลักษณะของนามรูป ต้องฟังศึกษาปริยัติ จากหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องลักษณะของธรรมะ ประเภทต่างๆ จนเข้าใจก่อน จึงจะค่อยๆ รู้ตัวสภาพธรรมไปตามลำดับ ถ้าหากขาดการศึกษาในหลักธรรมแล้ว ผู้ปฏิบัติไม่อาจรู้ถูกต้องตามลักษณะของนามรูปได้ ฉะนั้น ในเบื้องต้นอย่าเพึ่งปฏิบัติ ควรศึกษาให้เข้าใจก่อน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornchai.s
วันที่ 26 มิ.ย. 2549

ผู้ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญวิปัสสนาได้ ต้องเข้าใจว่าขณะใดเป็นกุศลขณะใดเป็นอกุศล รู้ความต่างกันของ "สติ" กับ "หลงลืมสติ" สติในที่นี้ หมายถึง สติเจตสิก ซึ่งเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่สติในความหมายของภาษาไทย ที่มักใช้รวมกันว่า "สติสัมปชัญญะ" "สติปัญญา" สติเจตสิก เกิดร่วมกับกุศลจิต ไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ถ้าจิตในขณะนั้น

1. ไม่เป็นไปกับกุศลขั้นทาน (การให้สิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ ต่อผู้อื่น)

2. ไม่เป็นไปกับกุศลขั้นศีล (การละเว้นทุจริต เช่น ศีล 5)

3. ไม่เป็นไปกับกุศลขั้นความสงบของจิตซึ่งเป็นกุศล (สมถะ วิปัสสนา)

ถ้าจิตในขณะนั้นไม่เป็นไปกับกุศล 3 อย่างนี้ จิตขณะนั้น ต้องเป็นอกุศล ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornchai.s
วันที่ 26 มิ.ย. 2549


อุเบกขาเวทนา เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่โทมนัสเวทนา (รู้สึกเศร้าใจ) ไม่ใช่โสมนัสเวทนา (รู้สึกสุขใจ) อุเบกขาเวทนาเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้เนื่องจากไม่ใช่โทมนัส ไม่ใช่โสมนัส จึงรู้ได้ยากมาก ถ้าปัญญาไม่เกิด จิตขณะนั้นเป็นอกุศล ก็คิดว่าเป็นกุศล

ชีวิตประจำวันของเราคุ้นเคยกับอุเบกขาซึ่งเกิดกับโลภะเป็นส่วนมาก ตั้งแต่เช้าตื่นมา อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ก็ทำไปด้วยโลภะที่เป็นอุเบกขาทั้งนั้น หรือถ้ารู้สึกสดชื่น กะปรี้กะเปร่า ก็เป็นโลภะที่เกิดกับโสมนัส เห็นฝุ่นนิดหน่อยก็เป็นโทสะ เป็นโทมนัสอีก สิ่งเหล่านี้เป็นอกุศลธรรมที่เบาบาง จนเราเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เป็นปรกติ พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้เรารู้จักกับอกุศลธรรมในชีวิตประจำวันนี่เอง แต่ไม่ได้ทรงสอนให้หลีกหนีจากอกุศลธรรมต่างๆ เหล่านี้ เพราะจะหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น ถ้าวิปัสสนาปัญญาไม่เกิด สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้

ทรงสอนให้เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อยเพราะอกุศลเล็กๆ น้อยๆ สามารถที่จะสะสมเป็นอกุศลที่ใหญ่ได้ ไฟที่หัวไม้ขีดสามารถเผาบ้านเผาเมืองได้ ฉันใด อกุศลที่สะสมมาเรื่อยๆ เมื่อได้เหตุปัจจัย ก็ย่อมกระทำอกุศลกรรมได้ วันนี้ตบยุง ฆ่ามด วันหน้าก็ฆ่าคนได้ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุเป็นพระโสดาบัน ปุถุชนทั้งหลาย ยังมีเหตุปัจจัยให้กระทำอนันตริยกรรมได้ทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prapas.p
วันที่ 29 มิ.ย. 2549
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prapas.p
วันที่ 29 มิ.ย. 2549

หากจิตฟุ้งซ่านอยู่ ปัญญาไม่รู้ชัดในวิญญาณขันธ์ (จิตฟุ้งซ่าน) ก็ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า จิตฟุ้งซ่านไม่ไช่ตัวตน เพราะรอจิตนิ่ง เมื่อจิตที่ฟุ้งซ่านดับ ก็ไม่สามารถรู้จิตตามความเป็นจริงได้ จึงไม่ไช่วิปัสสนา เมื่อนั่งสมาธิก็ไม่รู้ว่าไม่มีตัวตนที่นั่ง เมื่อจิตนิ่งก็ไม่รู้อีกว่าเป็นจิตประเภทไหนซึ่งก็ไม่ใช่ตัวตน แล้วจะไปรู้ขันธ์ ๕ อื่นได้อย่างไรเพราะรอ และเว้นซึ่งไม่ไช่ลักษณะของปัญญา แต่เป็นความเข้าใจที่ตรงกันข้ามกับสัมมามรรค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อไม่ให้ผู้เจริญปัญญาเข้าใจผิด เพราะแสดงว่าเมื่อจิดใดเกิด ไม่ว่า กุศล อกุศล อัพยากต ก็ให้รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ไช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นแต่ธรรม หรือ ขันธ์ ๕ เท่านั้น หากยังฟังไม่เข้าใจก็ฟังต่อไป และสอบถามผู้รู้อย่างนี้ และตรวจสอบได้กับพระไตรปิฏก ก็จะไม่ต้องคิดทำสมาธิก่อน แต่เข้าใจก่อน ในพระไตรปิฏกทรงแสดงธรรมให้แก่ภิกษุบ้างพระราชาบ้าง พ่อค้าบ้าง โจรบ้าง ไม่ได้แสดงวิปัสสนาแก่ผู้ต้องมีสมาธิก่อนเท่านั้นเมื่อพบว่า แสดงให้มีสมาธิ หมายถึง ผู้ที่ฟังธรรมเข้าใจวิปัสสนาแล้ว และสะสมการทำสมาธิไว้แล้ว ท่านจึงแสดงให้เห็นประโยชน์กุศลขั้นสมถภาวนา และสมาธิก็เป็นแต่ธรรมไม่ใช่ตัวตน ฉะนั้น ความต้องการ คือ โลภะที่เกิดกับความเห็นผิด ที่จะเจริญมรรค (สติปัฏฐาน) จะเกิดขึ้นในขณะต้องการผลโดยไม่เข้าใจ จึงต้องรู้จักและเห็นว่าเป็นโทษ ปัญญาจึงจะเจริญสัมมามรรคได้
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ