อธิปติปัจจัย [๑]

 
พุทธรักษา
วันที่  13 พ.ย. 2552
หมายเลข  14220
อ่าน  3,952

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อธิปติปัจจัย

สำหรับคำว่า "อธิปติ" หมายความถึงธรรมที่เป็นหัวหน้าเป็นธรรมที่ชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น และเป็นไปตามกำลังของตน จิตกับเจตสิก แยกกันเกิดไม่ได้เลย ขณะที่จิตเกิด ขณะนั้นจะมีต้องเจตสิกเกิดร่วมด้วยขณะที่เจตสิกเกิด ก็ต้องมีจิตเกิดร่วมด้วย. เพราะเหตุว่า ทั้งจิตและเจตสิกเป็นสังขารธรรม (คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้) แต่โดยความละเอียด โดยการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคฯก็ยังทรงแสดงความเป็นปัจจัยของจิตและเจตสิกแต่ละประเภทโดยความเป็นสภาพธรรมที่เป็นหัวหน้าที่จะชักจูงให้สภาพธรรมอื่นๆ เกิดขึ้น

สำหรับ "รูป" ก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยชักจูงให้สภาพธรรมอื่น คือ จิตและเจตสิกเกิดได้ เช่นกัน ถ้ารูปนั้น เป็นอารมณ์ที่หนักแน่น เป็นที่น่าพอใจ คือ เป็นอารมณ์ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง หรือว่าควรดูหมิ่นด้วยอำนาจการเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจความปรารถนานี่เป็น เรื่องปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ

เพราะฉะนั้น อธิปติปัจจัย แยกเป็นสองปัจจัย (ย่อย) คือ สหชาตาธิปติปัจจัย ๑ และ อารัมมณาธิปติปัจจัย ๑ สำหรับ สหชาตาธิปติปัจจัย คือ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ได้แก่ นามธรรม คือฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ จิต ๑ และ วิมังสะ (ปัญญาเจตสิก) ๑

ชีวิตประจำวันจริงๆ แม้ว่า จิตและเจตสิก จะเกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันแต่สภาพอื่นนอกจากฉันทเจตสิก นอกจากวิริยเจตสิก นอกจากจิต และนอกจากปัญญาเจตสิก แล้ว สภาพธรรมอื่นเป็นอธิปดี หรือว่าเป็นอธิปติปัจจัยไม่ได้ นี่เป็นชีวิตประจำวัน ที่จะต้องทราบ ซึ่งเหตุผล ก็จะได้พิจารณาต่อไป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 พ.ย. 2552

ปกติในชวิตประจำวัน จิต เกิดดับสืบต่อ สั่งสมสันดานอยู่เรื่อยๆ ในวันหนึ่งๆ โดย ชาติ (การเกิดของจิต) จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่เป็นวิบากก็มี จิตที่เป็นกริยาก็มี เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ขณะที่เป็นวิบากจิต หรือโลกิยวิบากจิตฉันทะ ซึ่งเกิดกับโลกิยวิบาก หรือว่าวิริยะ ซึ่งเกิดกับโลกิยวิบากจิต หรือ ปัญญา ซึ่งเกิดกับโลกิยวิบากจิตทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ไม่เป็นอธิปดี คือ ไม่เป็นอธิปติปัจจัย ไม่เป็นใหญ่ หรือ ไม่เป็นหัวหน้า ฟังดูเหมือนเรื่องอื่น แต่ให้ทราบว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะเหตุใด

เพราะเหตุว่า จิตที่เป็นชาติวิบาก ที่เป็นโลกิยวิบากจิตทั้งหมด ทำอะไรไม่ได้ จะทำกุศลกรรมใดๆ ก็ไม่ได้ จะทำอกุศลกรรมใดๆ ก็ไม่ได้ เพราะว่า ไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต ไม่ใช่โมหมูลจิตคือ ไม่ใช่ขณะที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา หรือ อกุศลกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 พ.ย. 2552

ตั้งแต่ขณะปฏิสนธิ คือ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน โดยมีกรรมเป็นปัจจัย (กัมมปัจจัย) ซึ่งแล้วแต่ว่า จะเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมเป็นปัจจัยที่ทำให้อกุศลวิบาก หรือกุศลวิบาก เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

ในภูมิมนุษย์ (ภูมิที่มีขันธ์ ๕) เป็นกุศลวิบากจิต (ผลของกุศลกรรม) ที่เป็นปัจจัยทำกิจปฏิสนธิ (เกิดเป็นมนุษย์) ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ฉันทเจตสิก ก็เกิดร่วมกับมหาวิบากจิตซึ่งประกอบด้วยโสภณเหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ (เหตุ ๒ เรียกว่า ทวิเหตุ) สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด (หมายความว่า ผู้ที่เกิดด้วยทวิเหตุ จะเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการแต่กำเนิด) แต่ถึงแม้ว่า ฉันทเจตสิก จะเกิดกับวิบากจิต (ในขณะที่ปฏิสนธิ) วิริยเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต ทำกิจอะไรได้ไหม ในขณะจิตที่ปฏิสนธิจิต เกิดแล้วดับ แม้ว่าจะเป็นมหาวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่พิกลพิการตั้งแต่กำเนิด โดยสภาพ หรือโดยชาติของจิต ซึ่งเป็นชาติวิบาก หมายถึง ขณะที่จิต ซึ่งเกิดขึ้นโดยความเป็นผลที่สุกงอมของกรรมเพราะฉะนั้น วิบากจิตทั้งหมด เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง โดยฐานะ (โดยสภาพการเกิด)

ซึ่งหมายความว่า วิบากจิตไม่สามารถจะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นได้ เพราะเหตุว่า วิบากจิตเองเป็นผลของกรรมซึ่งสุกงอมแล้ว เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ร่วงหล่น คือ ดับไปไม่เป็นปัจจัยให้วิบากต่อๆ ไปเกิดได้ต่างกับกับกุศลจิตและอกุศลจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น วิบากจิต นอกจากทำกิจ
ปฏิสนธิกิจแล้ว ก็ดับไปแม้ปัญญาเจตสิก (ทีเกิด) ในขณะนั้น ก็ทำกิจอะไรไม่ได้ จะเป็นอธิปติ เป็นอธิปดี เป็นหัวหน้าอะไรก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า เป็นเพียง ชาติวิบากเป็นผลของกรรมเกิดแล้วก็ดับไป เมื่อปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นวิบากจิตดับแล้ว ภวังคจิต เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ ภวังจิตก็เป็นวิบากจิตอีก และในขณะที่ กำลังนอนหลับสนิท จะไม่ปรากฏว่า เจตสิกใด เป็นอธิปติ หรือว่าเป็นหัวหน้าเลย

เพราะว่า เจตสิกทั้งหมดต้องเป็นชาติวิบากด้วยกันคือ เกิดดับพร้อมกัน ที่เดียวกันกับจิตที่เป็นชาติวิบาก วิบากจิต เกิดขึ้นเพราะความสุกงอมของกรรม คือ กรรมใดกรรมหนึ่ง เป็นเหตุทำให้วิบากจิต (ซึ่งเป็นผล) เกิดแล้วก็ดับไป แต่ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาดู ถ้าหากไม่ทราบว่า จิตและเจตสิกชาติวิบากนั้น ปราศจากกำลัง ไม่มีกำลังอะไรเลยเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม โดยการเป็นปฏิสนธิจิตและเป็นภวังคจิต

และต่อจากนั้น ก็เป็นการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การได้กลิ่นบ้าง การลิ้มรสบ้าง การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้างซึ่งเป็นผลของกรรมเช่นเดียวกัน ตามปกติชีวิตประจำวันเราก็จะปรารถนากันมากเหลือเกิน ที่จะให้เป็นกุศลวิบากโดยลืมว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นจิตประเภทที่ไม่มีกำลังอะไรเลย เพียงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แล้วก็ดับไป เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น โลกิยวิบาก ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต หรือว่า จักขุวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิต กายวิญญาณจิต (ทวิปัญจวิญาณจิต) สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ตทาลัมพนจิต ทั้งหมด เป็นจิตชาติวิบาก ซึ่ง เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย (กับวิบากจิต) นั้นไม่เป็นอธิปติปัจจัย

ตามเหตุ ตามผลตาม ความเป็นจริง ในชีวิตประจำวันซึ่งจะเข้าใจตัวท่านละเอียดขึ้น เมื่อได้ทราบกำลังของเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตแต่ละประเภท ที่จะเห็นได้ถึงความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น สำหรับ สหชาตาธิปติปัจจัยท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ได้แก่ ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ จิต ๑
และวิมังสะ คือปัญญา ที่เกิดกับชวนจิต ๕๒ ประเภท เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 พ.ย. 2552

จำนวนยังไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่ให้ทราบว่า ที่จะเป็นอธิปติ คือ มีกำลังเป็นหัวหน้า เป็นปัจจัยที่จะชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย ต้องในขณะที่เป็น "ชวนจิต" แต่โดยความละเอียด ยังต้องเว้นอีกว่า เว้นจิตซึ่งปราศจากกำลัง ปกติแล้ว ขณะที่โลภะเกิดขึ้น หรือ ขณะที่กระทำกิจการงานใดๆ ก็ตามที่กระทำสำเร็จลงไปได้นั้น ให้ทราบว่าไม่ใช่สำเร็จลงด้วยวิบากจิต

เพราะเหตุว่า วิบากจิตเป็นเพียงผลกรรมที่เกิดขึ้น ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ แล้วก็จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และจิตอื่นๆ เช่น สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ตทาลัมพนจิต เท่านั้นเอง ที่เหลือทั้งหมด ที่จะเป็นกรรมหนึ่ง กรรมใด คือ เป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 พ.ย. 2552

ให้ทราบว่าขณะที่เป็นอกุศลจิต อกุศลกรรม หรือ กุศลจิต กุศลกรรม ขณะนั้นไม่ใช่วิบากจิตซึ่งเป็นผล แต่เป็น "ตัวเหตุ" เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่เป็น "ชวนจิต" ซึ่งเป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจตบ้างนั้นเอง สภาพธรรมที่เป็น ฉันทเจตสิกบ้าง หรือว่าเป็น วิริยเจตสิกบ้าง เป็น จิตบ้าง เป็นวิมังสา คือปัญญาเจตสิกบ้าง กำลังปรากฏความเป็น "อธิปติ" ซึ่งหมายความว่า เป็นหัวหน้าที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นในขณะนั้น

ไม่ใช่เรื่องในตำรา แต่เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถที่จะสังเกต และ พิจารณาได้ ว่า การกระทำของท่านในวันหนึ่งๆ ขณะที่เป็นกุศลบ้าง ขณะที่เป็นอกุศลบ้างนั้นเพราะสภาพธรรมใดเป็นอธิปดี หรือว่า ถ้าสภาพธรรมไม่ปรากฏ ว่าเป็นอธิปดีก็ได้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอธิปดีทุกครั้ง ที่ฉันทเจตสิก เกิดกับ ชวนจิต หรือว่า วิริยเจตสิก เกิดกับ ชวนจิต สหชาตาธิปติปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การที่สภาพธรรมเหล่านี้ จะปรากฏเป็นอธิปดีได้จะต้องเกิดกับจิตที่มีกำลัง

เพราะฉะนั้น จิตที่ปราศจากกำลัง (ที่เว้น) มี ๓ ประเภท คือ เว้นโมหมูลจิต สองประเภท และ หสิตตุปปาทจิต (จิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์)

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 พ.ย. 2552

ท่านผู้ฟังชอบอะไรบ้าง คนอื่นไม่จะสามารถที่จะรู้ได้ แต่ท่านเอง สามารถที่จะรู้ชีวิตประจำวันของท่านได้ว่า ขณะท่านกำลังทำสิ่งใดด้วยความพอใจ ขณะนั้นฉันทเจตสิก เป็นอธิปดี

ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นกุศลเท่านั้น แม้อกุศลก็เป็นอธิปดี ได้เช่น ท่านชอบเล่นอะไร ท่านชอบสนุกอะไร ท่านชอบอ่านอะไร ท่านชอบพูดคุยเรื่องอะไร ฯลฯ หรือว่า ขณะที่ท่านอาศัยวิริยเจตสิก ในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดการกระทำสิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะต้องมีความเพียร (เป็นอธิปติปัจจัย) จริงๆ เพราะเหตุว่าไม่ได้เป็นไปเพราะอาศัยฉันทเจตสิกเป็นอธิปติปัจจัยเพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็จะทราบได้ว่า เพราะวิริยเจตสิก เป็นอธิปติปัจจัยซึ่งเกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.เพราะฉะนั้น ต้องเป็นการระลึกรู้ ลักษณะสภาพของกุศลจิตและอกุศลจิตของแต่ละบุคคลนั้นเอง ว่า ในขณะไหน สภาพธรรมใดเป็นอธิปติปัจจัย

ทั้งๆ ที่ จิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน ก็ยังเห็นความต่างกันของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันซึ่งบางครั้ง สภาพธรรมหนึ่งก็เป็นอธิปดี บางครั้งก็ไม่เป็นอธิปดี เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับแต่ละบุคคล ถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้ไปเท่านั้นเอง คือไม่เห็น "ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมตามความเป็นจริง" แต่ถ้ารู้ ก็สามารถที่จะเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้นที่จะรู้ว่า ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดขึ้น โดยมีสภาพธรรมใด เป็นอธิปดี หรือว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น โดยมีสภาพธรรมใด เป็นอธิปดี

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 พ.ย. 2552

ถ้าท่านผู้ฟังเป็นช่างจัดดอกไม้ และขณะที่กำลังจัดดอกไม้ขณะนั้น สภาพธรรมอะไรเป็นอธิปติ มีไหม ทำในสิ่งซึ่งชอบ ทำด้วยความพอใจในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลหรือ ท่านที่ชอบทำอาหาร ที่ท่านทำอาหาร ทำด้วยฉันทะ ทำด้วยวิริยะ หรือบางคนไม่ชอบ แต่จำเป็นที่จะต้องทำ หรือว่าจำเป็นที่จะต้องช่วยขณะนั้นก็กำลังทำ...แล้วก็ต้องมีวิริยะด้วย ขณะนั้น จึงเห็นว่า วิริยะเป็นอธิปติ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ตาม และเมื่อใช้คำว่า สหชาตาธิปติ ก็เป็นปัจจัย ๒ ปัจจัย คือ สหชาต หรือ สหชาติ (สหชาตาธิปติปัจจัย) ๑ ปัจจัย อธิปดี หรือ อธิปติ (อธิปติปัจจัย) อีก ๑

เพราะฉะนั้น สำหรับ "สหชาตาธิปติปัจจัย" จะต้องเกิดพร้อมกันกับสภาพธรรมที่เป็นสัมปยุตต์กันซึ่งตนเองเป็นหัวหน้า หรือว่า เป็นธรรมที่ชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยพร้อมกันในขณะนั้น

เพราะเหตุว่า จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน (โดยสัมปยุตปัจจัย) เพราะฉะนั้น เมื่อเจตสิกเป็นอธิปติปัจจัย (เป็นใหญ่) เจตสิก ก็ต้องเป็นสหชาตาธิปติ เพราะเหตุว่า เกิดร่วมกับจิตและเจตสิก หรือถ้า จิต เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย จิตก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นหัวหน้าและชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกันกับตน ดับพร้อมกันกับตน จึงเป็นสหชาตาธิปติ คือ จิตและเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกันในวันหนึ่งๆ นั้นเอง ขณะใดมีสภาพธรรมใดปรากฏความเป็นอธิปติขณะนั้นก็เป็นอธิปติปัจจัย เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

โลภะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเกิดได้โดยที่ไม่มีฉันทะเป็นอธิปดีก็ได้ ไม่มีวิริยะเป็นอธิปดีก็ได้ เพราะไม่ได้หมายความว่ามีอธิปติปัจจัยเกิดร่วมด้วยทุกครั้งเพราะว่า บางครั้งสภาพที่เป็นโลภะ ก็เกิดพอใจเพียงเล็กน้อยแล้วก็หมดไป แต่ว่าขณะไหนซึ่งแสดงว่าสนใจมาก พอใจมาก ขณะนั้นอย่าลืม ความเป็น "อธิปติปัจจัย" ที่ได้ศึกษาแล้ว เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดปรากฏ แสดงความเป็นอธิปดีของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น ให้พิจารณาได้เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังทุกท่านก็พิสูจน์ได้ ว่าในขณะไหนท่านกำลังเกิดกุศลจิต หรืออกุศลจิต ที่มีความพอใจ (โลภะ) เป็นอธิปดีหรือว่า มีวิริยะเป็นอธิปดี หรือว่า มีปัญญา (คือวิมังสา) เป็นอธิปดี (เจตสิกที่เป็นอธิปดี คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 พ.ย. 2552

ถ. เรียนถามว่า ขณะที่กำลังนั่งตั้งใจฟังธรรม ขณะนี้มีอะไรเป็นอธิปดีครับ

ส. คนอื่นจะรู้ได้ไหม ถามคนอื่นนี้ไม่ได้เลย นอกจากสติจะเริ่มระลึกรู้สภาพธรรมในขณะนั้น

ถ. ก็สติระลึกรู้ ก็ยังไม่เห็นนี่ครับว่า มีอะไรเป็นอธิปดี

ส. เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ต้องมีปัญญาเพิ่มขึ้น จนสามารถที่จะรู้ชัดจริงๆ ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่าง เพียงเกิดขึ้นเป็นปัจจัย แล้วก็ดับไป แต่ถ้ายังไม่ประจักษ์ ความเป็นปัจจัย ก็จะเพียงรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่า เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมชนิดนั้น หรือว่ารูปธรรมชนิดนั้น เท่านั้นก่อน ต้องตามลำดับขั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น การศึกษานี้ ศึกษาสำหรับให้ถึงการที่จะบรรลุ ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล โดยการประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่าแม้ลักษณะของนามธรรมนั้นก็ปรากฏลักษณะซึ่งเป็นอธิปดี ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่า เป็นแต่เพียงปัจจัยหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น

ถ. ขณะที่กำลังตั้งใจฟังธรรม ก็คิดว่าต้องมีฉันทะเป็นอธิปดี หรือว่ามีวิริยะเป็นอธิปดี อันนี้ ก็คิดเอาเอง แต่จะตรงหรือว่าไม่ตรงนี่ไม่แน่ใจ แต่ว่าถ้าขณะใดที่กำลังนั่งอยู่ แต่ว่า จิตคิดไปถึงเรื่องอื่น ไม่ได้ฟังธรรมที่อาจารย์บรรยาย ก็ไม่ได้ใส่ใจ ไม่รู้เรื่อง ขณะนั้นก็จะไม่มีอธิปดีใช่ไหมครับ

ส. ค่ะ เพราะเหตุว่า ตามความเป็นจริงนะคะ ถึงแม้ว่าอธิปติปัจจัยมี ๔ แต่ว่าขณะที่ทำจิตเป็นอธิปดีนั้น ต้องเกิดเฉพาะอย่างเดียว หมายความว่า ถึงแม้ว่า ฉันทะจะเกิดร่วมกับวิริยะ จะเกิดร่วมกับจิต จะเกิดร่วมกับปัญญา แต่ถ้าฉันทะเป็นอธิปดี...สภาพธรรมอื่นจะเป็นอธิปดีไม่ได้ ในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นสภาพธรรมหนึ่งใน ๔ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น ที่เป็นอธิปดี ในแต่ละครั้ง หรืออาจจะไม่ปรากฏว่าเป็นอธิปดีเลย เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน แต่ขณะที่เป็นอธิปดีนะคะ แสดงว่า มีความพอใจ (ฉันทะ) ปรากฏให้เห็นเป็นลักษณะที่เป็นหัวหน้า หรือว่ามีวิริยะ (ความเพียร) ปรากฏลักษณะของความเพียรขณะนั้น ซึ่งขณะที่เพียร ไม่ใช่เพราะความพอใจ ไม่ใช่เพราะฉันทะเป็นหัวหน้า แต่ขณะใด ที่ไม่ปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ลักษณะของอธิปติปัจจัย แต่บางครั้ง ถึงแม้มีอธิปติปัจจัย แต่ก็ไม่รู้

เช่น เวลาที่ทุกท่านกำลังสนุกเพลิดเพลิน แล้วแต่ว่าอัธยาศัยของท่าน สะสมมาที่จะพอใจในความสนุกประเภทใด ถ้าไม่ได้ระลึกรู้ หรือว่าถ้าไม่ได้ฟังเรื่องของอธิปติปัจจัย จะไม่ทราบเลย ว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมหนึ่งเกิดขึ้นเป็นอธิปดี คือ เป็นหัวหน้าในขณะนั้น เช่น บางท่านทำในสิ่งที่ท่านไม่ได้มีฉันทะนะคะ แต่ทำด้วยวิริยะ เป็นอย่างนั้นบ้างไหม

ถ. แล้วอธิปติปัจจัย กับ อิทธิบาท ๔ นี่เหมือนกันไหมครับ

ส. สำหรับ "อิทธิบาท" ต้องใช้สำหรับขณะที่อบรมเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสนาภาวนา เพราะเหตุว่า อิทธิ หมายถึง ความสำเร็จ บาท หมายความว่า เป็นบาทเป็นเบื้องต้นที่จะให้ความสำเร็จ คือความสงบขั้นฌานจิตเกิดขึ้น หรือว่าทำให้อิทธิปาฏิหารย์เกิดขึ้น หรือว่าทำให้วิปัสนาญาณต่างๆ เกิดขึ้น

แต่ก็ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นประเภทเดียวกัน คือได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก จิต และวิมังสะ คือปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น ยังไม่เป็นอิทธิบาท ถ้าไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญภาวนา แต่เป็นเพียงอธิปติ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงหัวหน้า

สำหรับอธิปติปัจจัยนี่นะคะ เกิดได้ทั้งที่เป็นกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่เกิดความยินดีพอใจ สภาพธรรมหนึ่งในสี่ เป็นอธิปติได้ แม้ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต แต่ว่าถ้าเป็นการอบรมเจริญภาวนา ต้องเป็น อิทธิ คือ เป็นความสำเร็จ ในทางความสงบหรือเป็นในทางปัญญา จึงจะเป็น อิทธิบาท

ถ. หมายความว่า อธิปติปัจจัย กับ อิทธิบาท ๔ นี่องค์ธรรมเหมือนกัน แต่ว่าขณะที่เป็นไปในการกระทำใดๆ นั้น อิทธิบาท ๔ ต้องหมายความว่าจะต้องเป็นกุศลอย่างเดียว

ส. ถ้าไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสนาภาวนา ก็ไม่ใช่ อิทธิบาท

ขณะที่เป็นอธิปติปัจจัย เป็นไปกับกุศล หรือ อกุศลก็ได้ แต่ถ้าเป็นการอบรมสมถภาวนาหรือวิปัสนาภาวนา ก็เป็น อิทธิบาท เพราะเหตุว่า (อิทธิบาท) เป็นสภาพธรรมที่จะทำให้ถึงความสำเร็จ ของความสงบขั้นอัปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต และที่จะให้ถึงสำเร็จเป็นวิปัสนาญาณแต่ละขั้น

ถ. อธิปติปัจจัย โดยนัยของ อสังขาริกจิต ต่างกันอย่างไรครับ

ส. อสังขาริก หมายความว่าเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง แต่ไม่ได้หมายความว่า ชักจูงแล้วจะปราศจากฉันทะหรือจะปราศจากวิริยะ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่จิตในขณะนั้น ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ โดยความเป็นหัวหน้าหรือเปล่า

ทุกท่านมีโลภะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในชีวิตประจำวัน แต่ว่าขณะนั้น ไม่ปรากฏว่าอะไรเป็นอธิปดีเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าสภาพธรรมเหล่านี้ จะต้องเป็นอธิปดีทุกครั้งไป แต่ขณะเป็นหัวหน้า คือ เป็น อธิปดี (เป็นใหญ่) ขณะนั้นไม่ใช่สภาพธรรมอื่น แต่หมายถึงสภาพธรรมหนึ่งในสี่นี้เอง ที่เป็นอธิปดี จิตและเจตสิกในชีวิตประจำวัน ซึ่งกำลังเกิดดับ หากพิจารณาแล้ว ก็จะเห็นสภาพความเป็นอนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 13 พ.ย. 2552

ควรจะรู้ไหม เรื่องอธิปติปัจจัย.!แม้เพียงเล็กน้อย เพียงเข้าใจลางๆ ก็ยังเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งจะช่วยเป็นปัจจัยให้ขณะที่จิตเกิดขึ้น ระลึกลักษณะของรูปธรรรมนามธรรมปัญญา ก็จะคมกล้าขึ้น ในที่จะเห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นนามมธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

แม้ว่าจะไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา การไม่ลืม การที่จะระลึกตรึกตรอง พิจารณาพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ จนถึงกระทั่ง เป็นปัจจัยที่ทำให้ สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึก ตรง ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ตามปกติ ตามความเป็นจริง ก็จะเห็นได้ว่า ปัญญาที่จะได้ค่อยๆ คมกล้าขึ้นจะปราศจากความเป็นพหุสูต คือการได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมไม่ได้เลย

แต่ถ้าขาดการที่จะได้ยินได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิด "ความเข้าใจละเอียดขึ้น"ก็ไม่มีหนทางที่ "ปัญญาจะคมกล้าขึ้น" ได้แม้ว่า สติจะระลึก รู้ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็ยากที่จะดับการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

แต่เพราะฟังมากๆ ฟังบ่อยๆ เริ่มตรึกตรอง พิจารณาถึงเรื่องของปรมัตถธรรมมากขึ้นๆ ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อขณะที่สติฏฐานเกิดขึ้น (สติระลึก) และ ปัญญาก็มีสังขารขันธ์ ซึ่งปรุงแต่งให้เกิดความละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

ข้อความบางตอนจากเทปชุด ปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๒

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 14 พ.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมสักนิดครับว่า จิตตะ นั้นประกอบด้วยเจตสิกใดที่เป็นประธานครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ups
วันที่ 14 พ.ย. 2552

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pornpaon
วันที่ 14 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
prachern.s
วันที่ 15 พ.ย. 2552

เรียนความเห็นที่ 9

จิตตะ สภาพธรรม คือ จิตที่มีกำลัง ได้แก่ โลภะ โทสะ มหากุศล มหากิริยา มหัคคตกุศล มหัคคตกิริยา โลกุตตรจิต ซึ่งจิตดังกล่าวมีเจตสิกเกิดร่วม เป็นจำนวนมาก เช่น อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ เป็นต้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 15 พ.ย. 2552

ขอบพระคุณอาจารย์ประเชิญครับ

ขออนุญาตทำความเข้าใจเรื่องอธิปติปัจจัย ในส่วนที่มีจิตเป็นประธานเพิ่มเติมว่าจะถูกต้องหรือไม่นะครับ ว่า

ในขณะที่จิตเป็นอธิปติปัจจัยนั้น จิตก็คือจิตและเจตสิกทั่วไป (ยกเว้นโมหะมูลจิต ๒ ดวง) และไม่ใช่จิตที่มีฉันทะเจตสิก วิริยเจตสิก หรือปัญญาเจตสิก ที่มีกำลังเป็นประธาน เพียงแต่เป็นเจตสิกที่ประกอบจิตเท่านั้น

ส่วนการที่จิตเป็นอธิปติปัจจัยให้เกิดจิตตัชชรูปที่ไม่เป็นการกระทำเนื่องจากการทำสิ่งใดๆ นั้นจะมีฉันทะเจตสิก หรือวิริยเจตสิก เป็นปัจจัย

ไม่ทราบว่าจะถูกต้องอย่างไรหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 15 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
prachern.s
วันที่ 16 พ.ย. 2552

เรียนความเห็นที่ 13

จิตที่เป็นจิตตาธิปติปัจจัย ได้แก่จิตที่กระทำกิจชวนะ และมีเหตุสองขึ้นไป ซึ่งจะมีฉันทเจตสิก และวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน ส่วนเจตสิกอื่นๆ ก็ เกิดร่วมด้วยตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เว้นเพียงวิจิกิจฉาเจตสิกดวงเดียว เท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
bsomsuda
วันที่ 14 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
bsomsuda
วันที่ 14 ม.ค. 2553

แต่เพราะฟังมากๆ ฟังบ่อยๆ เริ่มตรึกตรอง พิจารณาถึงเรื่องของปรมัตถธรรมมากขึ้นๆ ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อขณะที่สติฏฐานเกิดขึ้นและ ปัญญา ก็มีสังขารขันธ์ซึ่งปรุงแต่งให้เกิดความที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านอาจารย์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ