วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 158
[การสอนตนเมื่อเกิดปฏิฆะ]
[นัยที่ ๑ ระลึกถึงโทษของความโกรธ]
แต่ถ้าเมื่อเธอนำจิตเข้าไปในคนเป็นศัตรูกัน ปฏิฆะเกิดขึ้นเพราะระลึกถึงความผิดที่เขาทำให้ไซร้ เมื่อเช่นนั้น เธอพึงเข้าเมตตา (ฌาน) ในบุคคลลำดับหน้า ๆ (มีคนที่รักเป็นต้น) ในบุคคลไร ๆ ก็ได้บ่อยๆ ออกแล้วทำเมตตาถึงบุคคลนั้นร่ำไป บรรเทาปฏิฆะให้ได้ถ้าแม้เมื่อเธอพยายามไปอย่างนั้น มันก็ไม่ดับไซร้ ทีนี้ เธอพึงพยายามเพื่อละปฏิฆะ โดยระลึกถึงพระพุทธโอวาททั้งหลาย มีกกจูปมโอวาท (พระโอวาทที่มีความอุปมาด้วย เลื่อย) เป็นต้น บ่อย ๆ เถิด๑ก็แลโยคาวจรภิกษุนั้นเมื่อจะสอนตน พึงสอนด้วยอาการ (ต่อไป)นี้แลว่า๒ "อะไรนี่เจ้าบุรุษขี้โกรธ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มิใช่หรือว่า (๑) "ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้หากพวกโจรป่า ๓ จะพึง (จับตัว) ตัดองค์อวัยวะด้วยเลื่อยที่มีด้าม ๒ ข้าง แม้นผู้ใดยังใจให้คิดร้ายในพวกโจรนั้น เพราะเหตุที่ใจร้ายนั้น ผู้นั้นหาได้ชื่อว่าสาสนกร(ผู้ทำตามคำสอน) ของเราไม่" ฯลฯ
[สอนตนนัยที่ ๒ ระลึกถึงความดีของเขา]
เมื่อเธอเพียรพยายาม (สอนตน) อยู่อย่างนี้ ถ้าปฏิฆะนั้นระงับลงได้ไซร้ ระงับได้ดังนี้นั่นเป็นการดี หากไม่ระงับ ทีนี้ธรรมใดๆ ของบุคคลนั้น เป็นส่วนที่เรียบร้อยหมดจด ระลึกถึงเข้าจะนำมาซึ่งความเลื่อมใสได้ ก็พึงระลึกถึงธรรมนั้น ๆ (ของเขา) ขจัดความอาฆาตเสียให้ได้เถิด
[สอนตนนัยที่ ๓ โกรธคือทำทุกข์ให้ตนเอง]
แต่ถ้าเมื่อพระโยคาวจรนั้นพยายามอยู่ถึงอย่างนั้น ความอาฆาตก็ยังเกิดขึ้นอยู่นั่นไซร้ ทีนี้เธอพึงโอวาทตนดังนี้ว่า "(๑) ถ้าศัตรูทำทุกข์ให้แก่เจ้าใจสิ่งอันเป็นวิสัย(คือกาย) ของตนไซร้ ไฉนเจ้าจึงปรารถนาจะทำทุกข์ไว้ในใจของตัว ซึ่งมิใช่วิสัย (คือไม่ใช่กาย) ของเขาเล่า"
[สอนตนนัยที่ ๔ - พิจารณากัมมัสสกตา]
แต่ถ้าเมื่อเธอแม้สอนตนอยู่อย่างนี้ ปฏิฆะก็ยังไม่ระงับอยู่นั่นไซร้ทีนี้ เธอพึงพิจารณาให้เห็นความที่ตนและคนอื่น มีกรรมเป็นของๆ ตนต่อไป ใน ๒ ฝ่ายนั้น พึงพิจารณาฝ่ายตนก่อนดังนี้ "นี่แน่ะพ่อเอ๊ย เจ้าโกรธเขาแล้ว เจ้าจักทำอะไร กรรมอันมีโทสะเป็นเหตุ นั่นมันจักเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียแก่ตัวเจ้าเองมิใช่หรือ เพราะว่าเจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นผู้รับมรดกของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัยไป เจ้าจักทำกรรมใดไว้ เจ้าจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯลฯ
[สอนตนนัยที่ ๕ - พิจารณาถึงบุพจริยาของพระศาสดา]
แต่ถ้าเมื่อพระโยคาวจรนั้น แม้พิจารณากัมมัสสกตาอยู่อย่างนี้ปฏิฆะก็ยังไม่ระงับอยู่อีกไซร้ ทีนี้เธอพึงพิจารณาถึงพระคุณส่วนบุพจริยาของพระศาสดา ๑ (ต่อไป) (ต่อไป) นี้เป็นนัยแห่งการพิจารณาในบุพจริยคุณของพระศาสดานั้น (คือสอนตน) ว่า "นี่แน่ะพ่อนักบวช พระศาสดาของเจ้าในกาลก่อนแก่สัมโพธิสมัย แม้เป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ทรงบำเพ็ญพระบารมีอยู่ตลอด ๔ อสงไขยกับแสนกัป ก็มิได้ทรงยังพระจิตให้ (คิด) ประทุษร้ายในบุคคลทั้งหลายผู้เป็นศัตรู แม้ (ถึงกับ) เป็นผู้ปลงพระชนม์เอาในชาตินั้น ๆ มิใช่หรือ ข้อนี้มีเรื่องอย่างไรบ้าง ฯลฯ
[สอนตนนัยที่ ๖ - พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ]
แต่ถ้าเมื่อเธอแม้พิจารณาถึงพระคุณ อันเป็นส่วนบุพจริยาของพระศาสดาดังกล่าวมานี้อยู่ ปฏิฆะของเธอผุ้ตกเป็นทาสของกิเลสทั้งหลายมาช้านานนั้น ก็ยังไม่ระงับอยู่นั่นไซร้ ทีนี้เธอพึงพิจารณาถึงบทพระสูตรทั้งหลาย ที่มีความเนื่องด้วยศัพท์อนมตัคคะ (สงสารที่ไม่ปรากฏต้นปลาย) ก็ในสุตตบทเหล่านั้น สุตตบท (ต่อไป) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดุกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ที่ไม่เคยเป็นมารดาไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดา (ของเรา) มิใช่หาได้ง่าย" ดังนี้ ฯลฯ
[สอนตนนัยที่ ๗ - พิจารณาอานิสงส์เมตตา]
แต่ถ้าแม้อย่างนี้ เธอก็ยังไม่อาจดับจิต (ร้าย) ลงได้ไซร้ ทีนี้เธอพึงพิจารณาถึงอานิสงส์เมตตา (ต่อไป) อย่างนี้ว่า "นี่แน่ะพ่อบรรพชิต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มิใช่หรือว่า 'ดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อเจโตวิมุติ คือ เมตตา ภิกษุเสพโดยเอื้อเฟื้อ เจริญทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นดุจวัตถุ* ก่อตั้งสั่งสมทำให้สำเร็จอย่างดีแล้วอานิสงส์ ๑๑ เป็นหวังได้ อานิสงส์ ๑๑ คืออะไรบ้าง อานิสงส์ ๑๑ คือผู้เจริญเมตตา ย่อม หลับเป็นสุขตื่นเป็นสุขไม่ฝันร้ายเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลายเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลายเทวดารักษาไฟก็ดี พิษก็ดี ศัสตราก็ดี ไม่แผ้วพานเขาจิตตั้งมั่นเร็วสีหน้าผ่องใสไม่หลงทำกาลกิริยาเมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่งกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก"
[สอนตนนัยที่ ๘ - ใช้วิธีแยกธาตุ]
แต่พระโยคาวจรผู้ไม่อาจยังจิต (ร้าย) ให้ดับไป แม้โดยอุบายอย่างนี้ พึงทำธาตุวินิพโภค (แยกธาตุ) ต่อไป ถามว่า ทำอย่างไรแก้ว่า พึงสอนตนโดยวิธีแยกอย่างนี้ว่า 'นี่แน่ะพ่อบรรพชิต ก็ตัวเจ้าเมื่อโกรธบุคคลนั้น โกรธอะไร โกรธผมหรือ หรือว่า โกรธขน ฯลฯ
[วิธีสุดท้าย - ทำทานสังวิภาค]
แต่พระโยคาวจรผู้ไม่อาจทำธาตุวินิพโภค ก็พึงทำทานสังวิภาค(การให้และการแบ่ง) เถิด (คือ) พึงให้ของๆ ตนแก่ปรปักษ์ รับของๆ ปรปักษ์มาเพื่อตน แต่ถ้าปรปักษ์เป็นภินนาชีวะ (มีอาชีวะแตก คือไม่บริสุทธิ์) มีบริขารไม่เป็นของควรแก่การบริโภคไซร้ ก็พึงให้แต่ของ ๆ ตน (ไปฝ่ายเดียว อย่ารับของ ๆ เขาเลย) เมื่อเธอทำอันชื่อว่าการให้นี่ มีอานุภาพมากอย่างนี้ สมคำ(โบราณ) ว่า การให้ ปราบคนที่ใคร ๆ ปราบไม่ได้ (ก็ได้)การให้ ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จ (ก็ได้) ด้วยการให้กับการเจรจาไพเราะ (ประกอบกันทำให้)คนทั้งหลายเงยก็มี ก้มก็มี