วิทยานิพนธ์เรื่องพุทธศาสนา

 
taximeter
วันที่  11 มิ.ย. 2549
หมายเลข  1321
อ่าน  4,250

รบกวนสอบถามทุกท่าน....ผมจะทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง "การเผยแพร่พุทธศาสนาของไทยยุค 2006"

เนื่องจากการเผยแพร่ในเรื่องของพุทธศาสนาในปัจจุบันมีการสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มประชาชนกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเทศนาผ่านทีวี การเชิญชวนไปเวียนเทียน และที่เพิ่งผ่านไปนั้นคืองานวันวิสาขบูชาโลกซึ่งได้มีการลงในโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ต่างๆ กันเป็นอย่างมาก จึงอยากทราบว่า การเผยแพร่พุทธศาสนาดังกล่าวมีรูปแบบวิธีการสื่อสารอย่างไรบ้าง ทุกท่านเห็นว่าควรมิควรอย่างไร และควรใช้ทฤษฏีใดมา

ประกอบดีครับ

ขอบคุณมากครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อที่สำคัญคือผู้ที่เผยแพร่ต้องเข้าใจถูก เห็นถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นหลัก การจะใช้สื่ออย่างใดเผยแพร่ย่อมอยู่ที่ความเหมาะสมกับฐานะของผู้เผยแพร่ ซึ่งจะต้องไม่ขัดกับพระธรรมวินัยด้วย ข้อสำคัญควรจะอยู่ที่ว่าผู้เผยแพร่ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนให้เข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเข้าใจผิดและเผยแพร่ออกไปเท่ากับเผยแพร่ความเห็นผิดไม่ตรงกับหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ เป็นการทำให้คำสอนที่ถูกต้องเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น การเผยแพร่ในลักษณะอย่างนี้ ย่อมจะเป็นโทษกับผู้เผยแพร่ เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ตนและผู้อื่นที่รับฟังตลอดกาลนาน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
taximeter
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

ขอบคุณครับ..

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
taximeter
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

หากท่านใดอ่านแล้วมีความคิดเห็นเพิ่มเต็ม ก็รบกวนช่วยชี้แนะด้วยนะครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

โปรดอ่านหนังสือบทบาทของ อาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในการเผยแผ่พุทธธรรมเปิดอ่าน..คลิกที่นี่

พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจในการประกาศหลักพุทธธรรม พร้อมทั้งหนทางปฏิบัติดังกล่าว ก็เพื่อประโยชน์และความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ของพุทธธรรมตามทัศนะของพระพุทธองค์ คือ การเอาชนะกิเลสตัณหาภายในใจได้ เมื่อเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้ ชีวิตของเราจะสงบเย็น ซึ่งผ่านการพิสูจน์ในอรรถประโยชน์ด้วยพระองค์เอง จึงทรงเป็นแบบอย่างให้แก่พุทธบริษัท ๔ ทั้งฝ่ายของบรรพชิต และ คฤหัสถ์ โดยในฝ่ายของคฤหัสถ์ นอกจากจะคอยเกื้อหนุนปัจจัยหลักแก่บรรพชิตแล้ว บทบาทในการเผยแผ่พุทธธรรม ก็มีปรากฏเช่นกัน ดังตัวอย่างในครั้งพุทธกาล เช่น นางขุชชุตตรา พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นอุบาสิกาผู้เลิศในการแสดงธรรมตลอดจนจิตตคฤหบดี นางวิสาขา มหาอุบาสิกา หมอชีวกโกมารภัจ ฯลฯต่างก็มีส่วนในการเผยแผ่พุทธธรรมตามสติกำลังและความสามารถของตน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pcha
วันที่ 13 มิ.ย. 2549
ที่จริงหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจน่าจะเป็น องค์กรเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยกับการสื่อสารธรรมะ ไม่อย่างนั้นเราก็จะเจอปัญหาแบบที่เคยเป็นคือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ 2แห่ง ยังไม่มีบทบาท การเผยแผ่ผ่านพระธรรมฑูต ก็แปรตามคุณภาพแห่งผู้เผยแผ่ ไม่เช่นนั้นผู้เชี่ยวชาญแบบท่านพุทธทาส ท่านมหาปยุต ท่านพยอม แม่ชีสันศนีย์ก็เป็นไปตามบุคคลิกและเทคนิคเฉพาะตน หากเปรียบเทียบกับองค์กรทางคริสต์ที่จัดการเผยแพร่คำสอนไปทั่วโลก จะเห็นความต่างได้ชัด
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อที่สำคัญคือผู้ที่เผยแพร่ต้องเข้าใจถูก เห็นถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นหลัก หากนำคำสอนที่ไม่ตรงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไปเผยแพร่ ก็จะเป็นโทษ ดังจะเห็นแนวทางปฎิบัติมากมายในปัจจุบันที่ไม่ตรงกับพระธรรมวินัย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ไม่ได้ประสงค์ที่จะประกาศพระศาสนาแข่งกับลัทธิอื่นๆ แต่ทรงแสดงพระธรรมโปรดเวไนยสัตว์ที่มีปัญญาพอที่จะเข้าใจพระธรรมคำสอนได้ อีกประการหนึ่งการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องยึดความถูกต้องตามพระธรรมวินัยเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องการดึงคนมากๆ ให้มาสนใจพระพุทธศาสนาโดยวิธีการต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ดังนั้น จึงไม่ควรเน้นที่จำนวนหรือไปแข่งกับศาสนาอื่น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

พุทธศาสนานิกควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรมและความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นคืออะไร ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ต่างกับความจริงที่เราคิดนึกหรือเข้าใจอย่างไรบ้าง ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงเทศนาสั่งสอน พุทธบริษัทให้เข้าใจและปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้น เป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
taximeter
วันที่ 14 มิ.ย. 2549
ขอขอบคุณสำหรับ ความคิดเห็นทุกท่านครับ n_n ส่วนหัวข้อ องค์กรเผยแผ่พระพุทธ-ศาสนาในประเทศไทยกับการสื่อสารธรรมะ ผมควรทำองค์กรไหนจึงเหมาะสมครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pcha
วันที่ 15 มิ.ย. 2549

ผมว่าเริ่มจากองค์กรทางวิชาการก่อนก็ได้ครับ อาจลองดูหน่วยเผยแผ่ของมหา-วิทยาลัยสงฆ์ หรือขบวนการอย่างสวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก ที่ท่านประเวศ วะสีเคยวิเคราะห์ไว้ หรือแม้แต่บ้านธรรมะ budpage 84000.org ก็สามารถจัดหัวข้อที่พอจะเข้าไปสัมผัสได้ครับ

ส่วนการเผยแผ่แบบที่ บ้านธัมมะ เสนอไว้นั้น สำหรับปัจเจกหรือแม้แต่สงฆ์ ก็ควรเป็นเช่นที่ว่า หากแต่สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับการจัดกลุ่มช่วยกันศึกษาและเผยแผ่ ก็จะได้ประโยชน์นะครับ เพราะมีไม่มากที่สร้างสมบารมีมากพอจนเข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคลแล้วค่อยเผยแผ่ ก็เป็นไปได้ยากนะครับ

หลักตัดสินพระธรรมวินัยมีอยู่ ดังนั้น ธรรมใดเหมาะกับใคร ผู้มีสติใช้ปัญญาย่อมน้อมนำธรรมนั้นเป็นวิถีชีวิตแห่งตน แล้วจึงทำเป็นตัวอย่าง ส่วนคนอื่นนั้น แม้พระพุทธองค์ท่านก็ตรัสไว้ว่าท่านเป็นเช่นผู้ชี้ทาง หากการเดินทางเป็นเรื่องของแต่ละคนและคนที่จะสำเร็จในธรรมวินัยนี้ แม้จะมีอยู่แต่ไม่ง่าย อย่างไรก็ดี บทสวดมนต์ที่เราสวดมักจะให้อานิสงค์แห่งศีลว่าเป็นที่เกิดแก่โภคทรัพย์ ความสุข และเป็นทางไปสู่นิพพานดังนั้นการเริ่มปฎิบัติด้วยกาย วาจา ที่เกิดจากใจ เมื่อเกิดผัสสะ ที่เรียกศีลก็น่าสนใจนะครับ

เนื่องจากผู้เรียนรู้ธรรมก็มาก รู้ธรรมก็มาก หากไม่บรรลุมรรคผล ก็มีอยู่มากมายแม้ในสมัยพุทธกาล

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
audience
วันที่ 15 มิ.ย. 2549
ข้อที่สำคัญคือผู้ที่เผยแพร่ต้องเข้าใจถูก เห็นถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นหลัก หากนำคำสอนที่ไม่ตรงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไปเผยแพร่ ก็จะเป็นโทษ ดังนั้นถ้าตนเองยังไม่เข้าใจพระธรรม ก็ควรศึกษาให้เข้าใจเสียก่อนอย่างน้อยก็ควรรู้ว่าผู้ใดนำพระธรรมที่ถูกต้องมาเผยแพร่ ผู้ที่แสดงธรรมมีมากมายในยุคนี้ ผู้ฟังจะต้องพิจาราณาจนเป็นความเข้าใจถูกของตนเอง ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องฟังต่อไปโดยยังไม่ตัดสินใจว่าใครพูดถูกใครพูดผิด แต่แน่นอนที่สุดคือ พระธรรมวินัยที่ถูกต้องมีอยู่ในพระไตรปิฏกอย่างสมบูรณ์และครบถ้วน ถ้าเราได้อ่านพระไตรปิฎกก็เหมือนการฟังธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ