email จากประเทศเดนมาร์ก 23 May 2006

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 พ.ค. 2549
หมายเลข  1261
อ่าน  1,278

เมล์ที่ดิฉันได้ส่งไปและคุณเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้อื่นก็กรุณานำออกเผยแพร่ได้เลยค่ะ ขออนุโมทนาด้วยค่ะ.

ขอเชิญอ่าน e-mail และร่วมสนทนาธรรมกับท่านผู้ชมจากประเทศเดนมาร์กนะครับ..

email จากประเทศเดนมาร์ก ๒๓ พค ๒๕๔๙

ดิฉันเชื่อว่า หลายคนคิดว่าการได้มีโอกาสมาอยู่ต่างประเทศ เหมือนถูกล๊อตเตอรี่ ก็มีส่วนถูก แต่ไม่ทั้งหมด เพราะเราต้องมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยเฉพาะที่ประเทศเดนมาร์ก เพราะที่นี่ชาวต่างชาติที่อาศัยที่นี่ต้องเรียนภาษาของเขา. ที่นี่ปฎิบัติธรรมะ ในเรื่อง " ขันติ " ได้ดีมาก. มีสิ่งที่เราจะต้อง อด และ ทน มากมาย. สวัสดิการที่นี่ดีมากจึงไม่มีคนจน คือ ทุกคนมีอาหาร ที่อยู่ เสื้อผ้า การเจ็บป่วยรักษาฟรี. ที่นี่ไม่มีใครเดือดร้อนเรื่องปัจจัย 4 แต่ก็ยังประสบกับความทุกข์. ที่นี่ความเป็นอยู่จะใช้เวลากับงานมาก แทบไม่มีเวลาให้กับครอบครัวหรือตัวเอง. คนที่นี่ก็จะต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยช่วยเหลือกัน อะไรก็ต้อง จ้างเป็นเงิน เขาถึงต้องทำ กันเอง ถ้าทำไม่เป็นก็ต้องหาทางทำให้เป็น ค่าแรงที่นี่แพงมากคิดเป็นต่อชั่วโมง. คนที่นี่เวลามีอะไรเกิดขึ้นที่ไม่ค่อยดี เขามักพูดกันว่า "ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหละ" (That is a life.) เขามองเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนอะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิด และ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นอะไรที่เราจะต้องประสบอยู่เป็นธรรมดา.

ที่นี่เขาสนใจเรื่องสมาธิมาก แต่เขาจะไม่ฟังว่า พระพุทธเจ้า คือใคร ท่านสอนอะไร.แต่เขาก็ชอบคนไทยที่จิตใจสงบ มองโลกในแง่ดี ในใจลึกๆ บางคนจึงสนใจพระ-พุทธศาสนา เพราะคิดว่าที่คนไทยยิ้มง่าย ดูมีความสุข คงเป็นเพราะคำสอนของศาสนาของเรา. เพื่อนบางคนเคยถามว่าทำไมนิ่งได้ สงบได้ เธอเสแสร้งหรือเปล่า ก็ได้แต่บอกเขา ว่าให้ดูไป เพราะถ้าคนเสแสร้งก็จะรู้ได้ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และก็บอกเขาว่าเราเป็นชาวพุทธแท้ เราเห็นคุณของการสงบได้ และโทษของการไม่สงบ. เพื่อนเคยถามว่า ฉันไม่เคยเห็นเธอดุเด็ก หรือโมโหเด็กเลย ก็เลยบอกไปว่าเด็กไม่ต้องการการดุว่า หรือผู้ใหญ่ที่ดุเขา สิ่งที่เด็กต้องการคือ ความรัก ความเข้าใจ ในตัวเขา และเขาต้องการผู้ใหญ่ที่จะช่วยเขาให้เขาได้เรียนรู้สิ่งที่ถูกต้อง. เด็กที่นี่ บางคนก็มีพ่อแม่ที่ดื่มมาก / สูบบุหรี่มาก และเครียดมาก. กฎหมายที่นี่ห้ามทำร้ายร่างกายเด็ก พ่อแม่ที่ทำร้ายร่างกายเด็ก รัฐจะเอาตัวเด็กไปดูแล จนกว่าพ่อแม่สามารถเลี้ยงเด็กได้โดยไม่ทำร้ายเด็ก. นี่ก็เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของเด็กที่นี่.

เรื่องเกี่ยวกับศาสนาที่นี่คนส่วนใหญ่ คือ พึ่งตนเอง หรืออาจพูดได้ว่ามีตนเองเป็นที่พึ่ง. คนที่อ่อนแอก็กลายเป็นโรคประสาทไปได้ หรือพึ่งยากันมาก บางคนก็ต้องไปหาจิตแพทย์เพื่อระบายสิ่งต่างๆ เด็กๆ ก็หาจิตแพทย์เด็ก เพราะไม่สามารถคุย/ปรึกษากับพ่อแม่หรือคนใกล้เคียงได้. ตามโรงเรียนจะสอนวิชาศาสนาคริสต์ของเขา เด็กๆ ก็จะเชื่อตาม แต่พอโต ความเชื่อก็คลาย เพราะเขาไม่สามารถหาคำตอบได้ เช่นว่า อะไรคือสาเหตุให้คนเราต่างกันถ้าพระเจ้ารักเราเช่นลูกของท่าน เป็นไปได้อย่างไรที่ท่านจึงให้ชีวิตที่แตกต่างกันมาก. สำหรับลูกสาว ดิฉันสอนเขาตามพระพุทธศาสนา คือ ทุกอย่างมีเหตุ มีผล. เหตุอย่างนี้ก็ทำให้เกิดผลอย่างนี้ เหตุอย่างนั้นก็จะทำให้ผลเป็นอย่างนั้น. เธอฟังแล้วเข้าใจ. หน้าที่ของแม่ก็พยายามทำอย่างดีที่สุด และก็ต้องเป็นครูที่ดีของลูกด้วย คือสอนลูกอย่างไร เราก็ต้องทำอย่างนั้น.

การศึกษาธรรมะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับดิฉันมาก ต้องศึกษาไป ฝึกหัดไป สอนลูกไป. ทุกวันนี้เลยไม่มีเวลาไปดูใคร ดูตัวเองตั้งแต่ตื่นจนนอน. ธรรมะของ อ.สุจินต์ ดิฉันฟังแล้วได้ประโยชน์มาก แต่ก่อนคิดแต่อยากไปวัด ปฎิบัติธรรม แต่ อ.สอนว่า เราต้องพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง. แค่ประโยคนี้ก็คิดอยู่หลายวันและก็ฝึกตนเองให้พิจารณาทุกอย่างอย่างที่มันเป็นจริง จิตเราก็เช่นกันตามดูจิต ให้รู้สภาพจิต. นี่ก็คล้ายกับเราฝึก สติ และสมาธิอยู่ตลอดเวลา. ดิฉันเห็นว่า ถ้าเรามองทุกสิ่งตามสภาพธรรมที่มันเป็น โดยปราศจากการปรุงแต่ง เราก็จะเห็นมันอย่างที่มันเป็น และเราก็สามารถเข้าใจสิ่งนั้นได้โดยแท้จริง อย่างที่มันเป็น. ดิฉันยังต้องศึกษาและฝึกฝนอีกมาก สำหรับดิฉัน " หัวหน้าโค " คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. ดิฉันจึงต้องศึกษาพระไตรปิฎก แต่ก็ต้องมีครูคอยให้ความกระจ่าง ซึ่งดิฉันก็ต้องค่อยๆ ศึกษาไป เพราะครูบางท่านพาเราไปทางตรง แต่บางท่านอาจพา เราไปทางอ้อม.

ดิฉันเขียนมามากแล้ว ขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ. จ.ม.ทุกฉบับที่ดิฉันส่งมาก็ออกเผยแพร่ได้นะคะถ้าพอมีประโยชน์กับบางท่าน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบ-การณ์ซึ่งกันและกันค่ะ. ดิฉันระลึกถึงความตายอยู่บ่อยๆ ทำให้เราไม่ประมาท และใช้เวลาของชีวิตที่มีอยู่เพียงน้อยนิดนี้ได้อย่างคุ้มค่ามาก.

ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ ผู้ศึกษาธรรมและปฎิบัติธรรม ทุกๆ ท่านค่ะ. อนุโมทนา

นิรัญญา


  ความคิดเห็นที่ 6  
 
shumporn.t
วันที่ 23 พ.ค. 2549

ดีใจมากที่มีผู้สนใจพระธรรม อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Pandora
วันที่ 23 พ.ค. 2549

ขออนุโมทนาในความคิดเห็นของคุณนิรัญญาค่ะ แม้จะอยู่ห่างจากบ้านเกิด ห่างไกลจากแหล่งพระพุทธศาสนา ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้เห็นที่ถูกต้องลดลงไปได้เลย เมื่อศึกษาแล้ว เข้าใจแล้ว ก็จะน้อมนำมาปฏิบัติ สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
sucheep
วันที่ 23 พ.ค. 2549

ขอร่วมสนทนาครับ..

เมื่อต้นปีได้เดินทางไปที่ฮ่องกง 3-4 วัน เช้าวันหนึ่ง ขณะนั่งรถประจำทาง ระหว่างทางเกิด นึกได้ว่า... ที่นี่ไม่มี พระภิกษุ ออกมาบิณฑบาตรเลย.....ไม่เห็นเลย ที่ได้อยู่ ในเมืองไทย โชคดีแค่ไหน ที่ยังอุดมด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า... และ เรายังเกิดในช่วงเวลาและสถานที่ที่มีกาลสมบัตินั้นเพราะอีกไม่นาน เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลง และเสื่อมตามกาลเวลา...ดังพุทธทำนายและจะมีช่วงเวลา อีกแสนนาน ที่จะปราศจาก ธรรมของพระองค์...แสนนาน... และ ชีวิตเช่นนั้น ก็คงเกิดดับอย่างไร้ทิศทาง และมืดมน..... ถ้าเกิดเป็นเทพ ก็ถือ ว่า เป็นโชคมหาศาล ที่อาจจะได้ฟังธรรมของพระองค์อีกถ้าเป็นมนุษย์ ก็หมดโอกาสฟังธรรม เพราะ เป็นช่วงเวลา ที่ปราศจากธรรมของพระองค์ แล้ว แม้นว่าอาจทำกุศล อื่นได้บ้าง แต่ใครล่ะ....จะมาชักนำ ถ้าเป็นสัตว์ คงแทบหมดทางแม้แต่กุศลขั้นต้นเปรต, อสูรกาย, สัตว์นรก ยิ่งแล้วใหญ่..... มีแต่ทรมาน ด้วยกุศลในอดีต ที่ทำให้ผมได้มาฟังธรรมจากอาจารย์สุจินต์...แต่กำลังของอกุศลจิตที่สะสม ก็ยังแรงนัก กายและวาจา ทุจริต ที่เคยประพฤติแม้จะน้อยลงแต่ก็ยังละไม่ได้...ประตูอบาย ก็ยังเปิดกว้างรอรับ

ขอกราบเท้าอาจารย์สุจินต์ และ ทีมงานทุกท่าน ด้วยความเคารพยิ่งที่ร่วมเผยแพร่ธรรมที่ลึกซึ้งเช่นนี้แก่ ทุกคน และ แก่สัตว์เช่นผม ผู้มืดบอดและประมาท

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
aurasa
วันที่ 24 พ.ค. 2549

ขอร่วมสนทนาค่ะ

เมื่อเริ่มอ่านอีเมลล์ ของคุณนิรัญญา ยังไม่ทันจบ ก็รู้สึกปิติ จนน้ำตาซึมมาเรื่อยๆ

จนเดี๋ยวนี้ขณะพิมพ์ข้อความก็ยังไม่หาย ชาวพุทธที่ศึกษาพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพอย่างยิ่งย่อมคิดถูก ทำถูก พูดถูก ตามแนวทางของผู้เจริญปัญญา แม้นว่าจะอยู่ที่ใดห่างไกลบ้านก็ตาม ก็ยังมีพระธรรมนำทาง ขออนุโมทนาด้วยค่ะ ดิฉันก็คิดเช่นเดียวกันกับคุณ ต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ และคณะเป็นอย่างสูง ที่ได้ทำการเผยแพร่พระธรรมของพระพุทธองค์ได้อย่างดีเยี่ยม ยาวนาน และมั่นคง

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
prachern.s
วันที่ 24 พ.ค. 2549
ดีใจมากครับที่ได้ทราบว่ามีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการฟังพระธรรม โปรดติดตามศึกษาต่อไปเรื่อยๆ แล้วท่านจะได้รับประโยชน์ที่พระธรรมมากยิ่งขึ้น

ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Niranya
วันที่ 24 พ.ค. 2549

สวัสดี กัลยาณมิตร ทุกท่าน ค่ะ

ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมอนุโมทนาและเข้ามาคุยด้วยค่ะ.

ดิฉันสนใจธรรมะ แบบศึกษามาเรื่อยๆ แต่เริ่มสนใจจริงๆ ก็ตอนที่ลูกสาวเริ่มโตขึ้น. ดิฉันรักและเคารพในพระรัตนตรัยมาก และรู้ว่าเราพ้นทุกข์ได้ด้วยปัญญาของเรา ไม่ใช่พ้นทุกข์ได้ด้วยความเชื่อ หรือบุคคลอื่น. ลูกสาวก็เรียนวิชาศาสนาของที่นี่ และเราก็มีเรื่องคุยกันเกี่ยวกับศาสนาของที่นี่ ดิฉันบอกว่าเราก็เลือกสิ่งที่ดี มาปฎิบัติได้ แต่การจะเชื่อ ต้องมีเหตุ มีผล และต้องลองปฎิบัติด้วย ถ้าพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง จึงจะเป็นทางที่ถูกต้อง.

ดิฉันเน้นเรื่องศีล 3 ข้อแก่ลูกสาว คือ ข้อ ไม่เบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น ไม่ว่าทางกาย วาจา หรือใจ, ข้อ ไม่เอาสิ่งที่ผู้อื่นมิได้ให้ เราพึงพอใจสิ่งที่เรามีอยู่ และ ข้อ ไม่พูดปด - คำหยาบ.

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Niranya
วันที่ 24 พ.ค. 2549

ดิฉันเชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็คงมองดูสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยความเมตตา ปราถนาให้ทุกชีวิตพ้นจากความทุกข์ เปรียบดั่งพ่อแม่ ที่เห็นความทุกข์ของลูก แล้วก็ต้องการให้ลูกพ้นจากทุกข์นั้น พระองค์จึงทรงเมตตาสั่งสอนเราให้รู้อริยสัจจ์สี่.

ดิฉันก็รักลูกสาว และเห็นว่ามรดกที่มีค่าที่สุดที่จะให้ลูกได้ ก็คือ พระรัตนตรัย ให้ลูกได้รู้จักและศึกษา. ดิฉันอยู่กับลูกสองคน จึงเป็นความโชคดีที่เราสามารถให้เขาเต็มที่. ดิฉันเปิดโอกาสให้ลูกได้ศึกษาและรู้เกี่ยวกับศาสนาอื่นด้วย เพราะเขาจะต้องใช้ปัญญาของเขาเอง เพื่อเห็นความแตกต่าง และเลือกทางเดินชีวิตที่ถูกต้อง ที่จะพาเขาไปถึงความดับทุกข์ที่แท้จริงได้.

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
prapas.p
วันที่ 30 พ.ค. 2549

ก่อนอื่นขออนุโมทนา คุณนิรัญญา ที่พากเพียรในการฟังและสนทนาธรรมแม้อยู่แดนไกล ผมขอร่วมสนทนาธรรมกับคุณนิรัญญา โดยขอยกข้อความที่น่าสนใจมากบางตอนของคุณ มาเพื่อร่วมสนทนา

นิ. “ธรรมะของ อ.สุจินต์ ดิฉันฟังแล้วได้ประโยชน์มาก แต่ก่อน คิดแต่อยาก ไปวัดปฎิบัติธรรม แต่ อ. สอนว่า เราต้องพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง แค่ประโยคนี้ก็คิดอยู่หลายวัน และก็ฝึกตนเองให้พิจารณาทุกอย่าง อย่างที่มันเป็นจริง จิต เราก็เช่นกัน ตามดูจิต ให้รู้สภาพจิต".

"นี่ก็คล้ายกับเราฝึก สติ และสมาธิอยู่ตลอดเวลา"

"ไม่มีเวลาไปดูใคร ดูตัวเอง"

"เราเห็นคุณของการสงบได้ และโทษของการไม่สงบ"

"ดิฉันรักและเคารพในพระรัตนตรัยมาก และรู้ว่าเราพ้นทุกข์ได้ด้วยปัญญาของเรา"

"ดิฉันยังต้องศึกษาและฝึกฝนอีกมาก สำหรับดิฉัน หัวหน้าโค คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า"

"ดิฉันจึงต้องศึกษาพระไตรปิฎก แต่ก็ต้องมีครูคอยให้ความกระจ่าง ซึ่งดิฉันก็ต้องค่อยๆ ศึกษาไป เพราะครูบางท่านพาเราไปทางตรง แต่บางท่านอาจพาเราไปทางอ้อม"

ป. เมื่อคุณนิรัญญาฟังธรรมะ ได้มีการไตร่ตรอง พิจารณา ด้วยปัญญาว่า สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ทุกอย่าง อย่างที่มันเป็นจริง จิตเราก็เช่นกัน ตามดูจิต ให้รู้สภาพจิต จะสังเกตได้ว่าก่อนได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง มีความอยากไป ปฏิบัติธรรม ความอยาก (โลภเจตสิกที่เกิดกับจิต) ที่กำลังจะนำไปผิดทางก็เกิดขึ้น แทรกได้ เพราะยังไม่ได้ดับความอยาก แต่ก็เพราะการสะสมบุญไว้ได้เหตุปัจจัย ทำ ให้เกิดจิตได้ฟังธรรมที่ถูกต้อง (วิบากจิตทางหูเป็นสภาพรู้เสียง) และสะสมความ เห็นถูกมาก่อน (สัมมาทิฏฐิหรือปัญญาเจตสิก) นั้นเอง เป็นธรรมะแต่ละอย่างที่อาศัย การปรุงแต่ที่ถูก ไม่ใช่การปรุงแต่ที่ผิด (มิจฉาทิฏฐิหรือทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับจิต) ที่เชื่อ โดยไม่มีเหตุผลอย่างมั่นคง เหมือนกับผู้ที่คิดว่าการปฏิบัติธรรม ไม่ต้องอาศัยการฟัง พระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปฏิบัติธรรมได้ ที่ได้กล่าวชื่อของสภาพ ธรรมด้วยภาษาบาลีบ้าง ก็เพราะอาจจะแยกความเข้าใจเดิมที่เรานำเอาภาษาบาลีมาใช้ ผิด เช่น คิดว่า สติปัญญาเป็นตัวเรา พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติภาษาให้เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เพราะไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรหรือ ปฏิบัติอะไรได้ แต่เมื่อเราเข้าใจก็ใช้ภาษาอะไรก็ได้ เช่นสภาพรู้ใช้คำบาลีว่า (จิตฺตํ) สภาพกลัวใช้คำบาลีว่า (โทษะ) เป็นต้น จะใช้ภาษาอะไร ถ้าเข้าใจ ก็รู้ว่าเป็นเพียง ธรรมะ แต่เมื่อฟังธรรมสังขารขันธ์ (จิตและเจตสิก) ก็ปรุงแต่งตัวธรรมะของแต่ละธรรมะ ตามการสะสมของจิต เพราะจิตย่อมสั่งสมสันดานของตนตามไว้ในจิต ไม่ใช่ในเรา ตามกิจหน้าที่ของแต่ละธรรมะ

นิ. คล้ายกับเราฝึกสติ และสมาธิ

ป. ที่จริงทรงแสดงว่า มีแต่สภาพธรรมที่ไม่ไช่เรา เป็นสติที่ระลึกได้ (สติเจตสิก) ซึ่งเกิดกับสมาธิ (เอกัคตาเจตสิก) ให้ปัญญาไตร่ตรองธรรมะที่ได้ยินฟังมา อย่างถูกต้องตามสัจจะธรรม ธรรมะที่เกิดเหล่านี้เป็นกุศลธรรมที่ไม่ใช่ตัวเราทำขึ้น แต่ เป็นสภาวะธรรมที่เข้าใจพระธรรมขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับของการศึกษาพระธรรมซึ่งเห็น ได้ว่าจะเข้าใจธรรมะได้โดยลำดับ ตามแต่การได้ยินได้ฟัง การสะสมความเห็นถูกไว้ และจะเข้าใจได้ก็ต้องโดยลำดับขั้น เพราะบางทีก็หลงลืมสติ หมายถึง สติเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะเป็นธรรมที่เกิดตามเหตุปัจจัย สะสมแล้วก็ดับไปตามเหตุปัจจัย เมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดระลึกได้อีก เป็นไปในการไตร่ตรองสภาพธรรมะ และสะสมไปในจิตอีก แล้วก็ดับไป ความเข้าใจไม่ได้หายไปไหน แต่สะสมไว้ในจิตดวง ต่อไป เมื่อได้ศึกษาพระไตรปิฏก ฟังพระอภิธรรมจากท่าน อ.สุจินต์ สนทนาธรรมตาม กาลกับกัลยาณมิตรต่อไปอีก ภายหลังก็จะทราบความเป็นอนัตตาของธรรมแต่ละอย่าง มากขึ้นว่า ไม่มีตัวตนมีแต่ธรรม จนจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ สภาพธรรมที่ตัวเรามากขึ้น ที่ไม่ใช่ขั้นไตร่ตรองและคิดนึก จนแยกได้ว่าสติขั้นคิด พิจารณา ต่างจากกำลังระลึกรู้ที่สภาวะลักษณะที่เป็นธรรมะ ที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน คือรู้ว่าขณะใดมีสติต่างจากขณะใดหลงลืมสติ (สติปัฏฐาน)

นิ. ครูบางท่านพาไปทางตรง ครูบางท่านพาไปทางอ้อม

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 209

๙. มหาสติปัฏฐานสูตร กถาว่าด้วยอุทเทสวาร

[๒๗๓] ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ในหมู่ชนชาวกุรุ นิคมของหมู่ชนชาวกุรุ ชื่อกัมมาสทัมมะ ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนี้. ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ทูลรับพระพุทธพจน์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระพุทธ ภาษิตนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่ออัสดงค์ดับไปแห่งทุกข์และโทมนัสเพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง

ทางนี้คือสติปัฏฐาน (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ) ๔ อย่าง. สติปัฏฐาน ๔ อย่างเป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัส (ความยินดียินร้าย) ในโลกเสียให้พินาศ

เธอย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสตินำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ เธอย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มี สัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มี สัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ.

จบกถาว่าด้วยอุทเทสวาร

ป. หนทางอื่นๆ ไม่ใช่ทางเอก เพราะฉะนั้นไม่มีทางอ้อมหรือทางลัด ส่วนทางอ้อมหรือทางลัด คือ ตรงกันข้ามกับการตรัสรู้อริยสัจจะธรรม ซึ่งเป็นหนทางผิด

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
wvisuth
วันที่ 31 พ.ค. 2549

ขออนุโมทนากับ คุณ prapas.p ที่ให้เราได้ พิจารณาอย่างละเอียดลึกซึ้งลงไปอีก ถึอว่าเป็นธรรมทานอันสูงสุดยอด

ขออำนาจคุณพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยดลบันดาลให้พวกเรา ได้มีความสว่างทางปัญญาในการศึกษา และ ประจักษ์ ถึงขั้นไตรลักษณ์และธรรมอันสูงสุด.

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
wvisuth
วันที่ 31 พ.ค. 2549

ที่นี่ใม่มี วัด ไม่มีพระให้บิณฑบาตร.... แต่ดัวยบุญกุศลที่คงสะสมมีมาแต่ปางก่อน

จึงได้มีโอกาสฟังพระธรรมจาก ท่าน อ.สุจินต์ และกัลยาณธรรม ทำให้รู้จักปัญญาที่เห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ เป็น ปัญญาเจตสิก) ในการพิจารณาสภาวธรรมที่ถูกตัองขึ้น ที่ปรากฎตามความเป็นจริง ต้องร่วมกับสติเจตสิกมากๆ เลย

ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงแด่ทุกท่านในบ้านธรรมะนี้

ช่วยแนะนำว่า ทำอย่างไร จึงตรวจสอบตนเองว่าเข้าใจสภาพธรรมะที่ปราฎอย่างถูกต้องแล้ว ในการไม่มีตัวตน บุคคล สัตว์ และ สิ่งของ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
prapas.p
วันที่ 4 มิ.ย. 2549

การที่ปัญญาจะเจริญได้ (ปัญญาในการตรวจสอบ) ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมมากจริงๆ มากแค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การสะสมความเข้าใจใน พระธรรม ชึ่งแต่ละท่านก็สะสมความเข้าใจมากน้อยต่างกันออกไป เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ต้องรอบคอบ คือ ความตรงต่อตัวเอง หมายถึงตรงต่อสภาพธรรมนั้นเอง (คือการตรวจ สอบ) ฟังจนความรู้จากหยาบ จนเป็นความรู้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย การฟังพระธรรมบางทีก็ไม่เข้าใจ เมื่อมีความไม่เข้าใจก็รู้ตรงว่าไม่เข้าใจ เพราะสะสม ความเข้าใจไว้เท่านี้ มีปัญญาเท่าใดก็เข้าใจแค่นั้น ไม่สามารถเข้าใจได้เกินปัญญาได้ก็อาศัยการฟังเพิ่มขึ้นจนสภาพของปัญญาทำกิจ คือ เข้าใจมากขึ้น

ลักษณะของโมหะ (อวิชชา) ไม่เข้าใจธรรมะ ต่างจากลักษณะของปัญญา (วิชชา) เข้าใจธรรมะ ทุกอย่าง เป็นธรรม ฟังจนมั่นคงว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ ก็จะค่อยๆ คลายการยึดถือว่า เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือเรารู้เราเข้าใจ (ในขั้นการฟังได้) จนกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งตัวของ ธรรมะเอง สติปัฏฐานเป็นสังขารขันธ์ ก็จะเกิดขึ้นศึกษา พิจารณา สภาพธรรมทีละ ลักษณะ ตามแต่ที่ได้ยินฟังแล้วไตร่ตรองไว้ เพราะรูปธรรมและนามธรรมทะยอยกัน เกิดดับมากมายและรวดเร็ว เกินกว่าปัญญาที่เข้าใจได้ทันทีทั้งหมดทุกอย่างที่ปรากฏ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของปัญญานั้นเอง ไม่ใช่ความเป็นตัวเราจะรู้ให้ได้มาก ก็หมายถึงความ ไม่ตรงต่อตัวเองหรือ ไม่ตรงต่อสภาพธรรม เริ่มเกิดแทรก แล้วหากไม่รู้จักสภาพธรรม ที่อยากรู้ (โลภะ) ว่า เป็นอันตรายต่อสัมมาทิฏฐิ ก็จะสะสมจนมีกำลังเป็นโลภะมิจฉา ทิฏฐิ (สีลัพพตปรมาสะ) คือ ปฏิบัติผิดโดยคิดว่า โลภะ เป็นสติ เพราะมีลักษณะคล้าย กัน คือ คิดว่าต้องอยากจงใจตั้งใจจะรู้ให้ได้ สำคัญว่า นี้คือความระลึกได้บ่อย เพราะ ไม่รู้ลักษณะของสติ ว่าต่างจากไม่มีสติ หลงลืมสติ การรู้ลักษณะของสติปัฏฐาน ต่าง กับขณะหลงลืมสติ เป็นสิ่งสำคัญมาก มิฉะนั้นก็อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ จนกว่า เมื่อสติค่อยๆ เกิดได้ ถึงเล็กน้อยมาก หมายถึงนานๆ จึงเกิด ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ เป็นธรรมะไม่ใช่เรา แต่ต้องพิจารณาตรวจสอบให้รอบคอบว่า ใช่สติหรือหลงลืมสติ (โดยอาศัยพระธรรม และกัลยาณมิตร เป็นเครื่องตรวสอบ)

ขออนุโมทนาที่อาศัยการฟังพระธรรมวินัย จาก ท่าน อ.สุจินต์

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
Niranya
วันที่ 4 มิ.ย. 2549

ดิฉันขอขอบพระคุณ คุณ Shumpon.t, คุณ pandora, คุณ Sucheep, คุณ aurasa, คุณ prachern.s, คุณ prapas.p, และ คุณ wvisuth. ที่ให้ความกรุณาเป็นกัลยาณมิตร แก่ดิฉัน. ทุกๆ ท่านได้ช่วยกันให้แสงสว่าง และความเมตตาต่อดิฉันซึ่งอยู่ในที่ห่างไกล ที่นี่ดิฉันมีกัลยาณมิตรที่คุยธรรมะด้วยเพียงหนึ่งคน คือ ลูกสาว. ธรรมะในแนวทาง ของบ้านธรรมะ เป็นการศึกษาระดับสูงและศึกษาอย่างจริงจัง ยากที่จะหาเพื่อนคุยด้วย ที่นี่.

ดิฉันขออนุโมทนาแด่ทุกท่าน ขออวยพรให้ทุกท่าน ได้ถึงจุดหมายปลายทางโดย เร็วพลันค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ