สังโยชน์ภายในและภายนอก

 
JANYAPINPARD
วันที่  1 พ.ค. 2552
หมายเลข  12182
อ่าน  1,971

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 375

ปากจักรวาลก็ตาม ต่างได้ฟังเสียงพร้อมกันเลยทีเดียว. ครั้นอธิฐานแล้ว พระเถระจึงเริ่มแสดงบุคคลผู้มีสังโยชน์ภายใน. บรรดาบทเหล่านั้น

บทว่า อชฺฌตฺตํ ได้แก่ กามภพ.

บทว่า พหิทฺธา ได้แก่ รูปภพและอรูปภพ. จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายมีเวลาอยู่ในกามภพน้อย เป็นส่วนที่ ๔ ของกัปเท่านั้น เวลา ๓ ส่วนนอกนี้ กามภพว่างเปล่า. สัตว์ทั้งหลายมีเวลาอยู่ในรูปภพมากก็จริง ถึงอย่างนั้นเพราะสัตว์เหล่านั้นมีจุติและปฏิสนธิในกามภพมาก ในรูปภพและอรูปภพน้อย และภพใดมีจุติและปฏิสนธิมาก ภพนั้นย่อมมีอาลัยบ้าง ปรารถนาบ้าง รำพึงรำพันบ้างมาก ภพใดมีจุติและปฏิสนธิน้อย ภพนั้นก็มีอาลัยปรารถนาหรือรำพึงรำพันน้อย ฉะนั้น กามภพจึงชื่อว่า ภายใน รูปภพและอรูปภพจึงชื่อว่า ภายนอก แล. ฉันทราคะในกามภพกล่าวคือภายในชื่อว่า สังโยชน์ภายใน. ฉันทราคะในรูปภพและอรูปภพกล่าวคือภายนอกชื่อว่า สังโยชน์ภายนอก. อีกอย่างหนึ่ง สังโยชน์ ๕ ที่เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ชื่อว่า สังโยชน์ภายใน. สังโยชน์ ๕ ที่เป็นไปในส่วนเบื้องบน ชื่อว่าสังโยชน์ภายนอก.ในข้อนั้นมีเนื้อความของคำดังต่อไปนี้ :- กามธาตุ ท่านเรียกว่า เบื้องต่ำ เหล่าสัตว์ย่อมเกี่ยวข้องเรื่องต่ำๆ นั้น เพราะให้สำเร็จการเกิดในกามธาตุนั้น ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ. รูปธาตุและอรูปธาตุ ท่านเรียกว่า เบื้องบน เหล่าสัตว์ย่อมเกี่ยวข้องในเบื้องบนนั้น เพราะให้สำเร็จการเกิดในรูปธาตุและอรูป-ธาตุนั้น ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นไปในส่วนเบื้องบน. บุคคลผู้ประกอบด้วยสังโยชน์ภายในมีประเภทดังกล่าวแล้ว ชื่อว่าสังโยชน์ภายใน บุคคลผู้ประกอบด้วยสังโยชน์ภายนอก ชื่อว่าผู้มีสังโยชน์ภายนอก ด้วยประการ ฉะนี้. ทั้งสองนี้จะเป็นชื่อของโลกิยชนส่วนมากที่ยังอาศัยวัฏฏะอยู่ ก็หามิได้. แต่ทั้งสองนี้เป็นชื่อของพระอริยสาวกชั้นโสดาบัน สกทาคามีและอนาคามีเหล่านั้นที่กำหนดเป็น ๒ พวก. เหมือนอย่างว่า ป่าตะเคียนและป่าสาละเป็นต้น ย่อมไม่ได้ชื่อว่าเสา ว่าขื่อ ว่าเต้า ย่อมได้ชื่อว่าป่าตะเคียน ป่าสาละเท่านั้น แต่เมื่อใดคนใช้ขวานคมตัดต้นไม้จากป่านั้นแล้วถากโกลนรูป เป็นเสาเป็นต้น ย่อมได้ชื่อว่าเสา ว่าขื่อ ว่าเต้าเมื่อนั้น ฉันใด ปุถุชนผู้มีกิเลสหนายังกำหนดตัดภพไม่ได้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังไม่ได้ชื่อนั้น พระโสดาบันเป็นต้นเท่านั้นที่กำหนดตัดภพได้ทำกิเลสให้เบาบางดำรงอยู่จึงจะได้. อนึ่ง เพื่อให้เนื้อความนี้แจ่มแจ้ง พึงทราบอุปมาคอกลูกวัวดังต่อไปนี้.

เรื่องมีว่า ชาวบ้านทำคอกลูกวัว ตอกหลักข้างในหลายหลัก ใช้เชือกผูกลูกวัวแล้วเข้าไปผูกไว้ที่หลักเหล่านั้น เมื่อเชือกไม่พอ จึงจับที่หูทั้งสองให้ลูกวัวทั้งหลายเข้าคอก พื้นที่ภายนอกไม่เพียงพอ จึงตอกหลักไว้ข้างนอกหลายหลัก แล้วทำ (ผูก) อย่างนั้นเหมือนกัน ที่คอกนั้นลูกวัวที่ผูกไว้ข้างในบางตัวนอนข้างนอก บางตัวที่ผูกไว้ข้างนอกนอนข้างใน บางตัวที่ผูกไว้ข้างในนอนข้างใน บางตัวที่ผูกไว้ข้างนอกก็นอนข้างนอกนั่นเอง บางตัวไม่ได้ผูกไว้ ก็เที่ยวอยู่ข้างในนั่นเอง บางตัวไม่ได้ผูกไว้ เที่ยวออกข้างนอกก็มี. บรรดาลูกวัวเหล่านั้น ลูกวัวที่ผูกไว้ ข้างในนอนข้างนอก เชือกที่ผูกยาว. เพราะลูกวัวตัวนั้นถูกความร้อนเป็นต้นเบียดเบียน จึงออกไปนอนรวมกับลูกวัวทั้งหลายข้างนอก. แม้ในลูกวัวที่ผูกไว้ข้างนอกเข้าไปนอนข้างใน ก็นัยนี้เหมือนกัน. ส่วนลูกวัว


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 1 พ.ค. 2552

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 377

ตัวใดผูกไว้ข้างใน นอนข้างในนั่นเอง เชือกที่ผูกลูกวัวตัวนั้นสั้น. แม้ในลูกวัวที่ผูกไว้ข้างนอก นอนข้างนอก ก็นัยนี้แหละ. ลูกวัวทั้งสองพวกนั้นคงวนเวียนหลักอยู่ในคอกนั้นเองตลอดวัน. แต่ลูกวัวตัวใดไม่ได้ผูกไว้ข้างใน ย่อมเที่ยวอยู่ในกลุ่มลูกวัวทั้งหลายในคอกนั้นเอง. ลูกวัวตัวที่นอนนี้ ถูดึงหูปล่อยเข้าไปในกลุ่มลูกวัวทั้งหลาย ก็ไม่ไปที่อื่น คงเดินอยู่ในกลุ่มนั้นเอง. ลูกวัวที่ไม่ได้ผูกไว้ข้างนอกก็ตาม ที่เที่ยวอยู่ในคอกนั้นเองก็ตาม ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. ในอุปมานั้น พึงทราบว่า ภพ ๓ เหมือนคอกลูกวัว. อวิชชาเหมือนหลักในคอกลูกวัว. สังโยชน์ ๑๐ เหมือนเชือกผูกลูกวัวที่หลัก เหล่าสัตว์ที่เกิดในภพ ๓ เหมือนลูกวัว. พระโสดาบันและพระสกทาคามีในรูปภพและอรูปภพ เหมือนลูกวัวที่ผูกไว้ข้างใน นอนข้างนอก. พระ-อริยบุคคลเหล่านั้นอยู่ในรูปภพและอรูปภพนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น สังโยชน์ก็ยังเข้าไปพัวพันท่านเหล่านั้นไว้ในกามาวจรภพ. แม้ปุถุชนในรูปภพและอรูปภพ ก็สงเคราะห์เข้าในกามาวจรภพนั้นเหมือนกัน เพราะอรรถว่ายังละสังโยชน์อะไรไม่ได้. จริงอยู่ แม้ปุถุชนนั้นอยู่ในรูปภพและอรูปนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น สังโยชน์ก็ยังเข้าไปพัวพันเขาไว้ในกามาวจรภพเหมือนกัน.

พระอนาคามีในกามาวจรภพ เหมือนลูกวัวที่ผูกไว้ข้างนอกนอนข้างใน. ด้วยว่า พระอนาคามีนั้น อยู่ในกามาวจรภพก็จริง ถึงอย่างนั้น สังโยชน์ก็ยังเข้าไปพัวพันท่านไว้ในรูปภพและอรูปภพเหมือนกัน. พระโสดาบันและพระสกทาคามีในกามาวจรภพ เหมือนลูกวัวที่ผูกไว้ข้างใน นอนข้างใน. ด้วยว่า ท่านเหล่านั้นอยู่ในกามาวจรภพเองบ้างสังโยชน์เข้าไปพัวพันท่านไว้ในกามาวจรภพบ้าง พระอนาคามีในรูปภพ และอรูปภพ เหมือนลูกวัวที่ผูกไว้ข้างนอก นอนข้างนอก ด้วยว่า ท่านอยู่ในรูปภพและอรูปภพนั้นเองบ้าง สังโยชน์เข้าไปพัวพันท่านไว้ในรูปภพและอรูปภพบ้าง. พระขีณาสพในกามาวจรภพ เหมือนลูกวัวที่ไม่ได้ผูกไว้ข้างใน ท่องเที่ยวอยู่ข้างใน. พระขีณาสพในรูปภพและอรูปภพเหมือนลูกวัวที่ไม่ได้ผูกไว้ข้างนอก เที่ยวอยู่ข้างนอก. ก็บรรดาสังโยชน์ทั้งหลาย สังโยชน์ ๓ เหล่านี้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพต-ปรามาส ไม่ห้ามบุคคลผู้กำลังไปไม่ได้ ผู้ไปแล้วก็นำกลับมาไม่ได้. แต่สังโยชน์ ๒ เหล่านี้ คือ กามฉันทะ ยาบาท อันบุคคลไม่ข่มไว้ด้วยสมาบัติ หรือไม่ถอนออกด้วยมรรค ย่อมไม่อาจเพื่อให้เกิดในรูปภพและอรูปภพได้. บุรุษวางถุงรัตนะ ๒ ถุงไว้ข้างตัว แบ่งรัตนะ ๗ ประการให้แก่บริษัทที่มาหาเต็มคนละ ๒ มือ ครั้นให้รัตนะถุงแรกอย่างนี้แล้ว แม้ถุงที่ ๒ ก็ให้อย่างนั้นเหมือนกัน แม้ฉันใด พระสารีบุตรเถระก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตั้งบท ๒ บทเหล่านี้ว่า อชฺฌตฺตสํโยชนญฺจ อาวุโส ปุคฺคลํเทเสสฺสามิ พหิทฺธาสํโยชนญฺจ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าจักแสดงบุคคลผู้มีสังโยชน์ภายใน และบุคคลผู้มีสังโยชน์ภายนอก ดังนี้ เป็นหัวข้อไว้ก่อน บัดนี้ เพื่อจะแสดงรายละเอียดแก่บริษัท ๘ เหล่า จึงเริ่มกถาอย่างพิสดารนี้ว่า กตโม จาวุโส ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีสังโยชน์ภายในเป็นอย่างไร ดังนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ