ทำอย่างไร...ไม่เดือดร้อนในภายหลัง

 
พุทธรักษา
วันที่  8 มี.ค. 2552
หมายเลข  11536
อ่าน  1,991

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องเป็นสุขบ้างเป็น ทุกข์บ้าง สุดแต่กรรมที่ได้กระทำแล้ว ในอดีต อนันตชาติ และแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ขอเรียนถามว่า ควรทำอย่างไร ในปัจจุบันจึงจะเป็นสุข และไม่เดือดร้อนใจ ในภายหลัง ใครๆ ก็ทราบว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะฉะนั้น เมื่อต้องการ ความสุข และความไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง ก็ควรทำความดี คือ กุศลอันเป็นบุญ และ ละเว้นจากความชั่ว คือ อกุศล อันเป็นบาป เพื่อให้ได้ คำตอบ ที่ชัดเจน ยิ่งขึ้น จึงขอนำคำสอน ของพระผู้มีพระภาค สมัยที่เป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็น "พระเจ้าชนสันธะ" ซึ่งตรัสสอนประชาชนของพระองค์ ถึงเหตุที่จะทำให้จิตเดือดร้อนในภายหลัง อันได้แก่ เหตุ ๑๐ ประการ คือ

ในชนสันธชาดก ทวาทสนิบาตชาดก ข้อ ๑๖๔๙ - ๑๖๖๐

พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงเรื่องอดีตชาติของพระองค์ครั้งยังบำเพ็ญบารมีอยู่ ว่า ในกาลสมัยที่ พระเจ้าพรหมทัต ทรงครองกรุงพาราณสีนั้น พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ชนสันธะ จบการศึกษามาจากตักศิลา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอุปราช เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อ ทรงมี พระนามว่า พระเจ้าชนสันธะ ทรงฝักใฝ่ในการให้ทาน จึงโปรดให้สร้างโรงทานขึ้น ๖ แห่ง คือ ที่ประตูพระนคร ทั้ง ๔ ทิศ และที่ท่ามกลางพระนคร และหน้าประตูราชวัง และพระองค์ ทรงบริจาคทาน ด้วยทรัพย์ ๖ แสน ทุกวัน. ทรงชักชวนให้ประชาชน ฟังธรรม ... รักษาศีล ๕ และศีล ๘ พระเจ้าชนสันธะ ทรงดำรงอยู่ ในทศพิธราชธรรม ตลอดมา

วันหนึ่ง เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ โปรดให้ประชุม ประชาชน ที่หน้าพระลานหลวง แล้วทรงแสดงธรรม แก่ประชาชนว่า.เหตุ ที่จะทำให้จิตเดือดร้อน มีอยู่ ๑๐ ประการบุคคล ไม่ได้กระทำกิจที่ควรกระทำไว้เสียก่อนย่อมเดือดร้อน ในภายหลัง.เหตุ ที่ทำให้จิตเดือดร้อน ๑๐ ประการ คือ

๑. บุคคลเมื่อยามหนุ่ม ไม่พยายามแสวงหาทรัพย์ไว้ ครั้นแก่ชราลง หาทรัพย์ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนใจ ในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้. เป็นการเตือนสติ สำหรับผู้ที่ยังมีกำลังแข็งแรงอยู่ ว่า อย่าได้ประมาท ควรขยันทำงาน เมื่อยังมีกำลังเพื่อหาทรัพย์สิน และ เก็บสะสมไว้ใช้ ในยามแก่.

๒. ศิลปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้ศึกษาไว้ ในกาลก่อน บุคคลนั้น ย่อมเดือดร้อนใจ ในภายหลัง ว่า เราไม่ได้สะสมศิลปะ ไว้ก่อน ผู้ไม่มีศิลปะ ย่อมหาเลี้ยงชีพยาก คนที่ไม่ขยันศึกษาเล่าเรียนวิชา หาความรู้ไว้ ในวัยเยาว์ เมื่อโตขึ้น ก็ไม่ทราบว่า จะทำมาหากินอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าหากมีวิชาความรู้ติดตัว ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ก็ไม่อดตาย ถ้าหากขยัน และใช้วิชาความรู้ที่มีนั้น ให้เป็นประโยชน์

๓. ผู้ใด เป็นคนโกง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนใจ ในภายหลังว่า เราเป็นคนโกง ส่อเสียด กินสินบน ดุร้าย หยาบคายในกาลก่อน คนโกงนั้น นอกจากจะถูกสาปแช่ง จากผู้คนทั่วไปแล้ว ตนเองก็ยังเดือดร้อนใจในการกระทำความชั่วของตนเอง

๔. ผู้ใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ผู้นั้น ย่อมเดือดร้อนใจ ในภายหลังว่า เราเป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้า เป็นผู้ทุศีล ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติ และ ความเมตตา เอ็นดูสัตว์ ในกาลก่อน. คำว่า เดือดร้อนในภายหลังนี้ มิได้หมายเอาเฉพาะ เดือดร้อนในชาตินี้ หลังจากทำความชั่วแล้วเท่านั้น แต่ความหมายถึง ... เดือดร้อน ในชาติต่อๆ ไปอีกด้วย เพราะว่า ผู้ประพฤติชั่ว ย่อมมีทุคติ เป็นอันหวังได้

๕. ผู้ใดคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อนใจ ในภายหลังว่า หญิง ที่ไม่มีใคร หวงแหน มีอยู่ เป็นอันมาก ไม่ควรเลย ที่เรา จะคบหาภรรยาผู้อื่น. ชายหญิงที่ไม่มีคนหวงแหน มีอยู่เป็นอันมาก เหตุใด ... จึงไม่คบหาชายหญิง เหล่านั้น

๖. คนตระหนี่ ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า เมื่อก่อน ข้าวและน้ำของเรา มีอยู่มากมายเรามิได้ให้ทานเลย

๗. ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนใจ ในภายหลัง ว่า เราสามารถที่จะเลี้ยงดู มารดา บิดา ผู้แก่ชราได้ ก็มิได้เลี้ยงดูท่าน คนเรา ถ้าไม่ประสบกับตัวเอง ก็ยากที่จะสำนึกตัวได้ หรือสำนึกได้ เมื่อสายไปเสียแล้ว ลองมองดูรอบๆ ตัว เราจะพบตัวอย่างชีวิตต่างๆ ที่สามารถเป็นบทเรียน ที่สอนเราได้ และเป็นเหตุให้เราประพฤติในทางที่ดีได้ ถ้าเพียงแต่ เราจะนำมาใคร่ครวญ และ พิจารณาให้ดี

๘. ผู้ที่ไม่ทำตามโอวาทบิดา ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง ว่า เราได้ดูหมิ่น บิดา ผู้เป็นอาจารย์ สั่งสอน ผู้นำรส ที่ต้องการทุกอย่าง มาเลี้ยงดู ธรรมดาของพ่อแม่นั้น ท่านกล่าวว่า เป็นบุพพาจารย์ของบุตร คือเป็นครูคนแรกของบุตร ได้อบรมสั่งสอนเลี้ยงดูมาด้วยความรัก หาอาหารที่มีรสต่างๆ ที่ลูกต้องการมาให้ และคงไม่มีพ่อแม่คนไหน ที่อยากเห็นลูกเป็นคนชั่ว อดอยาก มีแต่จะตักเตือน ให้เป็นคนดี เมื่อลูกไม่อยู่ในโอวาท ... พ่อแม่ ย่อมมีความทุกข์ใจ แต่ผู้ที่จะต้อง ทุกข์ใจยิ่งกว่า ในที่สุดแล้วนั้น คือตัวลูก ผู้ไม่อยู่ในโอวาทนั่นเอง

๙. ผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อมเดือดร้อนใจ ในภายหลังว่า เมื่อก่อน เราไม่ได้ไปมาหาสู่ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูตเลย. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ที่จะมีปัญญามากนั้น เพราะเคยคบหากับสมณพราหมณ์ ผู้มีปัญญามาก

๑๐. ผู้ใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลังว่า สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และ สัตบุรุษ อันเราไปมาหาสู่แล้ว ย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้ เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรม ไว้เลย


แต่ถึงกระนั้น หากยังต้องเกิดอยู่ ก็ยากเหลือเกินที่จะหลีกเลี่ยง ความเดือดร้อนทั้งปวงไปได้ ในเมื่อทุกคนล้วนเคยทำทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว มามากมาย และ นานแสนนาน จนนับชาติไม่ถ้วนเพราะฉะนั้น เหตุที่จะพ้นจากความเดือดร้อนใจได้ อย่างแท้จริงจึงต้องดำเนินตามหนทางอันเอก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้หนทางนั้น คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ การเจริญวิปัสสนาภาวนา คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานจนกว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ และ ไม่ต้องเกิดมาอีกเลย การไม่เกิดนั้นแหละเป็นการพ้นจากความเดือดร้อนใจ อย่างแท้จริง

ข้อความบางตอนจากหนังสือ "คุยกันวันพุธ" เล่มที่ ๑๙ "ฝั่งนี้ - ฝั่งโน้น" โดย คณะสหายธรรม

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pornpaon
วันที่ 8 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
saifon.p
วันที่ 8 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 8 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
aiatien
วันที่ 8 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 8 มี.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒- หน้าที่ 151

บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้ เสวยผลของกรรมใดอยู่ กรรมนั้นอันบุคคล กระทำแล้วไม่ดี เลย

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
hadezz
วันที่ 8 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
prachern.s
วันที่ 9 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
opanayigo
วันที่ 20 มี.ค. 2552

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Guest
วันที่ 25 ต.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ด้วยจิตอันเป็นกุศลเมื่อได้รับฟังธรรมเทศนาบทนี้เพื่อเป็นหนทางนำไปสู่การปฏิบัติฯ เพื่อความหลุดพ้นทุกข์ทั้งปวงในกาลต่อไป สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ