สงสัยเรื่องคุณธรรมของเทวดา

 
aod
วันที่  4 ก.พ. 2552
หมายเลข  11112
อ่าน  3,280

คุณธรรมของเทวดาที่ว่า หิริ โอตัปปะ ดูกันตรงไหนครับ ก่อนเป็นเทวดาหรือเป็นเทวดาแล้ว แล้วกรณีก่อนจะตายจิตไม่เศร้าหมอง (นึกถึงบุญกุศล) ไปเกิดเป็นเทวดา ตรงกับคุณธรรมหรือไม่ หรือว่า เทวดาที่เป็นมิจฉาทิจฐิ หรือว่าเทวบุตรมาร จะมีคุณธรรมนี้หรือไม่ ด้วยความรู้น้อย ท่านผู้รู้กรุณาให้ความกระจ่าง

ขอบคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 4 ก.พ. 2552

ข้อความในอรรถกถาท่านอธิบาย เทวดา หรือ เทพ ทั้ง ๓ ประเภทและ ความหมายของเทวธรรมมี ๓ นัยคือ เป็นเหตุแห่งกุศลสัมปทา ๑เป็นเหตุแห่งการเกิดในเทวโลก ๑ และเป็นเหตุแห่งความหมดจด ๑โปรดอ่านข้อความบางตอนจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา ดังนี้

[เล่มที่ 55] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 202

๖. เทวธรรมชาดก

ว่าด้วยธรรมของเทวดา

[๖] สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและ โอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันขาว ท่านเรียกกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก. จบเทวธรรมชาดกที่ ๖

ข้อความบางตอนจากอรรถกถา

บทว่า สุกฺกธมฺมสมาหิตา ความว่า กุศลธรรมที่ควรกระทำมีหิริโอตตัปปะนี้แหละเป็นต้น ไป ชื่อว่า สุกกธรรม ธรรมขาว เมื่อว่าโดยนัยที่รวมถือเอาทั้งหมด สุกกธรรมนั้น ก็คือธรรมอันเป็นโลกิยะและโลกุตระอันเป็นไปในภูมิ ๔ ที่ประกอบแล้ว ประกอบพร้อมแล้วด้วยหิริและโอตตัปปะทั้งสองนั้น

บทว่า สนฺโต สปฺปุริสา โลเก ความว่า ชื่อว่าผู้สงบระงับ เพราะกายกรรมเป็นต้นสงบระงับแล้ว ชื่อว่า เป็นสัปบุรุษ เพราะเป็นบุรุษผู้งดงามด้วยความกตัญญูกตเวที. ก็ในบทว่า โลเก นี้ โลกมีหลายโลก คือ สังขารโลก สัตวโลกโอกาสโลก ขันธโลก อายตนโลก และธาตุโลก. ในโลกเหล่านั้น สังขารโลก ท่านกล่าวไว้ในประโยคนี้ว่า โลกหนึ่ง คือ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ฯลฯโลก ๑๘ คือธาตุ ๑๘. โลกมีขันธโลกเป็นต้นรวมอยู่ใน สังขารโลกนั่นแหละ.ส่วนสัตวโลกท่านกล่าวไว้ในประโยคมีอาทิว่า โลกนี้ โลกหน้า เทวโลกมนุษยโลก

จริงอยู่ในสัตว์โลก เท่านั้น มีสัปบุรุษเห็นปานนี้ สัปบุรุษเหล่านั้นท่านกล่าวว่า มีเทวธรรม. บทว่าเทว ในบทว่า เทวธมฺมา นั้น เทพมี ๓ ประเภท คือ สมมติเทพ.อุปบัติเทพ ๑ และวิสุทธิเทพ ๑ บรรดาเทพเหล่านั้น พระราชาและพระ-ราชกุมารเป็นต้น ชื่อว่าสมมติเทพ เพราะชาวโลกสมมติว่าเป็นเทพ จำเดิมแต่ครั้งพระมหาสมมติราช. เทวดาผู้อุปบัติในเทวโลก ชื่อว่า อุปบัติเทพ.พระขีณาสพ ชื่อว่า วิสุทธิเทพ ธรรมของเทพเหล่านี้ ชื่อว่า เทวธรรม.

บทว่า วุจฺจเร แปลว่า ย่อมกล่าว จริงอยู่ กุศลธรรมทั้งหลายมีหิริโอตตัปปะเป็นมูล ชื่อว่า เป็นธรรมของเทพทั้ง ๓ ประเภทเหล่านี้ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุแห่งกุศลสัมปทา แห่งการเกิดในเทวโลกและแห่งความหมดจดเพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเทวธรรม แม้บุคคลผู้ประกอบด้วยเทวธรรมเหล่านั้น ก็เป็นผู้มีเทวธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงธรรมเหล่านั้น ด้วยเทศนาอันเป็นบุคคลอธิษฐานจึงตรัสว่า สัปบุรุษผู้สงบระงับเรียกว่า ผู้มีเทวธรรมในโลก...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 ก.พ. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 6 ก.พ. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ