เมื่อเป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด...ทำไมทรงแสดงเป็น ๔?

 
พุทธรักษา
วันที่  4 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10605
อ่าน  2,824

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านผู้ฟัง ที่คุณโยมได้บรรยายธรรมมาในวันนี้ถ้าว่าตามสติปัฏฐาน ๔ แล้วจะตั้งอยู่ในบรรพไหน

ท่านอาจารย์ สติเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตทั้งหมด แต่ว่าขณะเป็นสติปัฏฐาน หมายถึงว่า สติระลึกรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมทางใดทางหนึ่งใน ๖ ทาง เพราะทางที่จะรู้อารมณ์ หรือ อารมณ์จะปรากฏได้ ไม่เกิน ๖ ทาง ฉะนั้น สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด สติปัฏฐานระลึกได้เพราะว่าก่อนนั้นที่สติปัฏฐานไม่เกิด และไม่รู้ความจริง ว่าเป็นสภาพธรรม ก็ยึดถือว่าเป็นเราฉะนั้นที่รู้ได้ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมะ เมื่อสติเกิดระลึกรู้เพื่อที่จะเข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะของธรรมนั้นๆ ว่าเป็น รูปธรรม หรือ นามธรรม

ท่านผู้ฟัง การที่เราได้ศึกษาตามคัมภีร์ ก็จะพบว่าหลักการ หรือการใส่ใจในสติปัฏฐานนั้น มีข้อแตกต่างกัน อย่างเช่นว่า อานาปานสติ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพก็จะมีความแตกต่างกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็หลากหลายมาก ยังสงสัยว่าที่คุณโยมบรรยายนี้ เราควรจะไปค้นคว้าต่อในบรรพไหนดี

ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เป็นเรื่องของปรมัตถธรรม ที่หลากหลาย โดยนัยยะต่างๆ แต่พอพูดถึงหมวดสติปัฏฐาน หมายถึง เมื่อสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิและมรรคมีองค์อื่น ซึ่งปกติมีองค์ ๕ข้อความทั้งหมดที่มีในสติปัฏฐานต้องเป็นปรมัตถธรรมแต่ก่อนนั้นไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นก็ เป็นเรานั่ง เรายืน เราเดิน เป็นเราหายใจหรือส่วนของกายที่เน่าเปื่อยเป็นซากศพ ก็ยังคิดว่าเป็นร่างกายเพราะฉะนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดก็คือบรรพ ซึ่งระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เคยยึดถือว่าเป็นกายจึงเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่จริง ก็เป็น ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งหมด เจ้าค่ะ

ท่านผู้ฟัง แล้วความแตกต่างของ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานและ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อเราประมวลลงในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้วทำไมทรงแสดงกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา

ท่านอาจารย์ ทรงแสดงตามการยึดถือเจ้าค่ะ เพราะว่า ขณะใดที่ยึดถือรูปที่กายว่าเป็นเรา จริงหรือเปล่าเจ้าคะ ก่อนสติจะเกิด ยึดถือรูปที่กายว่าเป็นเราฉะนั้น ขณะที่ยึดถือรูปที่กาย แล้วสติเกิด ระลึกรู้ที่กาย ที่ยึดถือนั้นก็เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ท่านผู้ฟัง ถ้าเราใส่ใจใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐานจะถือว่าเราเจริญ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยไหม

ท่านอาจารย์ คือ สภาพของรูปที่รู้ได้ทางกาย ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือว่าธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ตาม ก็คือ เย็น ร้อนอ่อน แข็ง ตึง ไหว ถูกไหมเจ้าคะสภาพของรูปใดๆ ก็ตาม เรายังไม่พูดถึงชื่อ ว่าเป็น อนุปัสสนา บรรพไหนพูดถึงสภาพธรรมที่รู้ได้ทางกายไม่ว่าจะ ใช้คำว่า กายายุปัสสนาสติปัฏฐานหรือใช้คำว่า รูปขันธ์ ในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ตามแต่จะใช้คำว่า อายตนะ คือ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว คือโผฏฐัพพะอายตนะ ก็แล้วแต่เราจะไม่พูดถึงชื่อ แต่จะพูดถึงสภาพธรรม ว่าขณะใดที่มีการระลึกที่กาย ที่กายประสาท ขณะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว เรียกว่า เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยนัยยะ ที่เมื่อยึดถือที่กาย ก็ระลึกที่กาย สภาพธรรมที่กายก็ปรากฏ

แต่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่กาย แต่มีลักษณะที่เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว ขณะนั้นไม่ต่างจากรูปที่กายเลย คือ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหวนั้นเอง แต่เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อระลึกรู้ลักษณะธรรมตรงอื่น ซึ่งไม่ใช่ตรงกาย


สนทนาธรรมที่วัดบ้านปิง อ.เมือง จ. เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 4 ธ.ค. 2551

แต่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่กาย...แต่มีลักษณะที่เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว ขณะนั้นไม่ต่างจากรูปที่กายเลย คือ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหวนั้นเอง แต่เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อระลึกรู้ลักษณะธรรมตรงอื่น ซึ่งไม่ใช่ตรงกาย

จากข้อความข้างต้น ขอเรียนถามดังนี้ค่ะ

แต่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่กาย แต่มีลักษณะที่เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว สิ่งอื่นในที่นี้ ท่านอาจารย์หมายถึงอะไรคะ

แต่เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อระลึกรู้ลักษณะธรรมตรงอื่น ซึ่งไม่ใช่ตรงกาย.
ลักษณะธรรมตรงอื่น คือตรงไหนคะ

ขอความกรุณาอธิบายเพิ่มเติมด้วยนะคะ ยังไม่เข้าใจตรงส่วนนี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 4 ธ.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 5 ธ.ค. 2551

แต่ สิ่งอื่นที่ไม่ใช่กาย แต่มีลักษณะที่เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว สิ่งอื่นในที่นี้ ท่านอาจารย์หมายถึงอะไรคะ

รูปอื่นที่นอกเหนือจากกายมีมั้ยค่ะ หรือว่าในรูปปรมัตถ์ 28 มีแต่กายอย่างเดียว

แต่เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อระลึกรู้ลักษณะธรรมตรงอื่น ซึ่งไม่ใช่ตรงกาย
ลักษณะธรรมตรงอื่น คือตรงไหนคะ

สภาพธรรมอื่นที่นอกเหนือไปจากกาย เวทนา จิต เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานค่ะ

ป.ล. ไม่ทราบว่าได้ตอบตรงคำถามรึเปล่า ขอเชิญท่านอื่นร่วมสนทนาค่ะ (-_-"

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 5 ธ.ค. 2551

ขอขอบพระคุณที่กรุณาค่ะ แต่อาจจะเป็นเรื่องของภาษาที่ใช้สื่อความหมาย แต่เมื่อยังไม่ชัดเจน เพราะมีข้อความนี้กำกับค่ะ

ท่านอาจารย์ คือ สภาพของรูปที่รู้ได้ทางกาย ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือว่าธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ตาม ก็คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ถูกไหมเจ้าคะ
(ขอตอบว่าถูก ค่ะ.)
และต่อด้วย แต่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่กาย แต่มีลักษณะที่เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว ขณะนั้นไม่ต่างจากรูปที่กายเลย คือ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว นั้นเอง

แต่เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อระลึกรู้ลักษณะธรรมตรงอื่น ซึ่งไม่ใช่ตรงกาย (อันนี้...ยังไม่แจ่มแจ้ง เลยบอกไม่ถูก และงงค่ะ เพราะเข้าใจว่าเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว (น่าจะมี สี เสียง กลิ่น รส ด้วย) และลักษณะทั้งหมดนี้ (๗ รูป) จากการศึกษา ทราบว่ารู้ได้ทางกายเท่านั้น จึงไม่เข้าใจข้อความที่กำกับตอนท้ายว่า

"แต่เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อระลึกรู้ลักษณะธรรมตรงอื่น ซึ่งไม่ใช่ตรงกาย."
ซึ่งก็กลับไปข้อสรุปข้างต้นที่ว่า เพราะฉะนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดก็คือบรรพ ซึ่งระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เคยยึดถือว่าเป็นกายจึงเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่จริง ก็เป็น ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งหมด เจ้าค่ะ

อาจเป็นเส้นผมบังภูเขา สำหรับข้าพเจ้า ตามประสาคนที่เพิ่งเริ่มต้นน่ะค่ะเลยต้องขอความกรุณา ช่วยวิเคราะห์ให้เข้าใจสักหน่อย ได้ไหมค่ะ กรุณาช่วยแนะนำหน่อยนะคะ ส่วนข้าพเจ้าจะเข้าใจได้แค่ไหนก็แค่นั้นละค่ะ ไม่เป็นไร

ขอบพระคุณมากค่ะ

โดยส่วนตัว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านอาจารย์พูดไม่ผิด แต่ผิดที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเองน่ะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ajarnkruo
วันที่ 5 ธ.ค. 2551

สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ที่กาย หมายถึง รูปอื่นๆ ที่นอกไปจากกาย ที่ปรากฏที่กายได้ คือ มีสภาพที่ เย็น/ร้อน อ่อน/แข็ง ตึง/ไหว (ลักษณะของธาตุไฟ/ดิน/ลม) เหมือนกับที่กายนี้ เพราะที่กายนี้ ก็เป็นกลุ่มของรูปมากมายหลายกลาป ที่ประกอบไปด้วยมหาภูตรูปและอุปทายรูป มีลักษณะของรูปนั้นๆ ปรากฏได้ตามควร แต่รูปอื่นๆ ที่ปรากฏที่กายนี้ ไม่ใช่กาย จึงมีคำว่า โผฏฐัพพยาตนะ คือเป็นรูปภายนอกที่เป็นปัจจัยให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้รูปนั้นเป็นอารมณ์ได้ เมื่อรูปนั้นกระทบกับกายปสาท ขณะที่รู้รูปนั้น เพราะรูปนั้นปรากฏ ไม่ได้หลงยึดถือที่กาย แต่หลงยึดถือรูปนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งๆ ที่สภาพที่ปรากฏก็มีแค่เพียง เย็น/ร้อน อ่อน/แข็ง ตึง/ไหว เท่านั้นเอง จึงไม่เป็นกายานุปัสส-นาสติปัฏฐาน แต่เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานครับ

สภาพธรรมตรงอื่น คือ รูปอื่นที่เป็นที่อาศัยให้ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่นอกไปจากกาย เพราะรูปที่กายนี้ ก็หลงยึดถือว่าเป็นกายของเรา รูปอื่นนอกกาย ก็หลงยึดถือว่าเป็นสิ่งอื่นๆ ไม่รู้จักรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงทั้งที่กาย และนอกกายครับ

คงตีความได้เพียงเท่านี้ครับ เพราะได้อ่านข้อความเท่าที่มีในกระทู้ถ้าผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยล่วงหน้าด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 5 ธ.ค. 2551

เมื่อประมวลจากความคิดเห็นของทุกท่านที่ได้แสดงมา และกลับไปอ่านทบทวนข้อความในกระทู้อีก อย่างละเอียดหลายรอบ ข้าพเจ้ามีความเข้าใจว่า ดังนี้

ท่านอาจารย์ กล่าวว่า สติปัฏฐานมี ๔ เพราะการยึดถือ คือ แล้วแต่จริตของคนที่สะสมมา และแล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพธรรมใดมีกำลังที่จะยึดถือ ร่างกาย ว่าเป็นเรา ยึดถือ ความรู้สึก คือเวทนา ๓ ว่าเป็นเรา หรือยึดถือ จิตต่างๆ เช่นจิตคิด ว่าเป็นเรา

ส่วนใหญ่คนเรา มักจะยึดถือกายว่าเป็นร่างกาย เป็นอวัยวะต่างๆ และยึดถือว่า เป็นเรานั่ง นอน และเป็นของเรา จึงทรงแสดง กายานุปัสสนาสติปัฏฐานคือฐานของสติ อันมีรูปที่ปรากฏทางกายปสาท เป็นอารมณ์ได้แก่ เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เท่านั้น (ซึ่งก็คือ ธาตุไฟ ธาตุดิน และธาตุลม) ไม่มี สี เสียง กลิ่น รส เพราะรูปทั้ง ๓ ไม่ปรากฏทางกายปสาทแต่ปรากฏทางจักขุปสาทฆานประสาท ชิวหาประสาท ตามลำดับ จุดประสงค์ เพื่อการละคลายสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นร่างกายตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า

ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า จริงๆ แล้ว พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เป็นเรื่องของปรมัตถธรรม ที่หลากหลาย โดยนัยยะต่างๆ

ข้อความทั้งหมดที่มีในสติปัฏฐานต้องเป็นปรมัตถธรรม แต่ก่อนนั้นไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นก็ เป็นเรานั่ง เรายืน เราเดิน เป็นเราหายใจ

เพราะฉะนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด ก็คือ บรรพ ซึ่งระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เคยยึดถือว่าเป็นกายจึงเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่จริง ก็เป็น ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งหมด เจ้าค่ะ

ถ้าเทียบเคียงจากหลักธรรมที่ว่า ทุกอย่าง เป็นธรรม ไม่ใช่เราและการยึดถือกาย เวทนา จิต ธรรม ว่าเป็นเรา ไม่ตรงหลักธรรมตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างเป็นเรา ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่เป็นของเราเมื่อความจริง คือ ไม่มีอะไรเลยนอกจากปรมัตถธรรมไม่ว่าจะเป็น กาย เวทนา หรือจิต ก็เป็นส่วนหนึ่งในปรมัตถธรรม ๔คำสรุปของท่านอาจารย์ที่ว่า ที่จริง ก็เป็น ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งหมด เจ้าค่ะ จึงเป็นจริงตามนั้น เพราะ (ที่ตั้งของสติ คือปรมัตถธรรม รูป จิต เจตสิก)

ส่วนข้อความสุดท้าย

แต่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่กาย แต่มีลักษณะที่เย็น- ร้อน อ่อน -แข็ง ตึง-ไหวขณะนั้นไม่ต่างจากรูปที่กายเลย คือ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหว นั้นเอง

ควรจะหมายถึง สิ่งอื่น ที่ไม่ใช่รูปที่ประชุมรวมกันที่มีใจครองแต่เป็นรูปอื่น เช่น ต้นไม้ ซากศพ เป็นต้น แต่เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อระลึกรู้ลักษณะธรรมตรงอื่น ซึ่งไม่ใช่ตรงกาย เป็นจริงอย่างที่ทรงแสดง คือ ถ้าไม่ปรากฏที่กายปสาทต้องปรากฏกับ เวทนา จิต หรือธรรมเพราะเป็นการแสดง โดยนัยยะต่างกัน

หากเข้าใจผิดไปประการใด ขอความกรุณาทักท้วงด้วยค่ะขอเชิญร่วมสนทนา เพื่อแลกเปลี่ยนความเข้าใจกันนะคะ

ขอขอบพระคุณ และ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Sam
วันที่ 7 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน และขออนุโมทนาคุณพุทธรักษาครับ ที่ได้กรุณายกคำบรรยายของท่านอาจารย์ ในหัวข้อที่ผมกำลังต้องการความกระจ่างอยู่พอดีดังนั้นจึงขอสนทนาด้วยอีกคนนะครับ

ผมเข้าใจว่าในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ นี้ อาจมองได้เป็นสองมุมมองครับ โดยมุมมองแรกเป็นการศึกษาจากปริยัติ (เพื่อการเข้าถึงปรมัตถธรรม) ซึ่งเป็นวิธีการที่เรามักคุ้นเคยจากการศึกษาทางโลก ส่วนอีกมุมมองหนึ่งเป็นการพิจารณาจากปรมัตถธรรมที่มีจริงมาสู่พระปริยัติที่ทรงบัญญัติไว้เพื่อสั่งสอนสาวกทั้งหลาย

ในมุมมองแรก เมื่อศึกษาชื่อกายานุปัสนาฯ เวทนานุปัสนาฯ จิตตานุปัสนาฯ และธรรมานุปัสนาแล้ว ผมเข้าใจว่า กายานุปัสนาฯ เวทนานุปัสนาฯ และจิตตานุปัสสนาฯ เป็นอนุปัสนาในหมวดของตนและต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมนุปัสนาฯ ด้วย ดังที่ท่านอาจารย์อธิบายว่า

"เพราะฉะนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดก็คือบรรพ ซึ่งระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เคยยึดถือว่าเป็นกายจึงเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่จริง ก็เป็น ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งหมด เจ้าค่ะ"

ส่วนเวทนานุปัสนาฯ และจิตตานุปัสนาฯ ก็อาจกล่าวว่าเป็นธรรมานุปัสนาฯได้โดยนัยเดียวกัน นอกจากนี้ก็ยังมีอนุปัสนาที่เป็นเฉพาะธรรมานุปัสนาฯ ด้วยครับ (เป็นธรรมานุปัสนาฯ แต่ไม่จัดเป็นกายานุปัสนฯ เวทนานุปัสนาฯ หรือจิตตานุปัสนาฯ)

สำหรับมุมมองที่สองที่ผมคิดว่าท่านอาจารย์พยายามเตือนเราอยู่เสมอนั้น คือการพิจารณาสิ่งที่มีจริงประการต่างๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเป็นชื่อและคำอธิบายไว้ ซึ่งสิ่งทั้งปวงที่มีจริงคือธรรม (ปรมัตถธรรม) ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ว่าจะรู้นามหรือรูปใดก็ล้วนเป็นการระลึกรู้ธรรม (ธรรมานุปัสนาสติปัฏฐาน) ส่วนการที่ทรงแสดงเป็นบรรพต่างๆ ก็เป็นไปตามคำอธิบายของท่านอาจารย์

"ทรงแสดงตามการยึดถือเจ้าค่ะเพราะว่า ขณะใดที่ยึดถือรูปที่กายว่าเป็นเรา จริงหรือเปล่าเจ้าคะ ก่อนสติจะเกิด ยึดถือรูปที่กายว่าเป็นเราฉะนั้น ขณะที่ยึดถือรูปที่กาย แล้วสติเกิด ระลึกรู้ที่กาย ที่ยึดถือนั้นก็เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน"

โดยส่วนตัว เมื่อพิจารณาด้วยสองมุมมองตามที่กล่าวแล้ว (โดยทบทวนไปมา) ช่วยให้ศึกษาพระธรรมเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ

หากมีความเห็นส่วนหนึ่งส่วนใดคลาดเคลื่อนจากพระธรรม ขอความกรุณาสหายธรรมและท่านผู้รู้แก้ไขตักเตือนครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 9 ธ.ค. 2551

อ้างอิงความคิดเห็นที่ 6

แต่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่กาย แต่มีลักษณะที่เย็น- ร้อน อ่อน -แข็ง ตึง-ไหวขณะนั้นไม่ต่างจากรูปที่กายเลย คือ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหวนั้นเอง


ควรจะหมายถึง สิ่งอื่น ที่ไม่ใช่รูปที่ประชุมรวมกันที่มีใจครองแต่เป็นรูปอื่น เช่น ต้นไม้ ซากศพ เป็นต้น


เทวดา เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน สัตว์นรก ก็เป็นรูปที่มีใจครอง แล้วเรายึดถือว่า เป็นกายของเราหรือเปล่าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

ค่อยกระจ่างขึ้นหน่อย ขอบพระคุณค่ะ สำหรับคำแนะนำดีๆ จากทุกๆ ท่านค่ะ


ขออนุโมทนา พร้อมภาพ ใบโพธิ์ จากพระเชตวันมหาวิหารค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kulwilai
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

สติปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกธรรมที่เป็นที่ตั้งของสติ (อารมณ์ของสติปัฏฐาน) ไว้มี 4 หมวด ทรงแสดงตามการยึดถือ แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น กาย (รูปธรรม) เวทนา (นามธรรม) จิต (นามธรรม) และธรรม (รูปธรรมและนามธรรม) ก็เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพราะเป็นปรมัตธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ขณะที่ยึดถือรูปที่กาย แล้วสติเกิดระลึกรู้กายที่ยึดถือนั้น เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวลากระทบสัมผัสที่กาย ถ้าธาตุดินปรากฏมีลักษณะอ่อนหรือแข็งเป็นอารมณ์ของสติได้ฉันใด รูปภายนอก เช่น เก้าอี้ เวลาที่กระทบสัมผัส ถ้าธาตุดินปรากฏมีลักษณะอ่อน หรือ แข็ง เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้เช่นกัน แต่รูปภายนอกนี้ไม่เนื่องด้วยกายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา จัดอยู่ในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเห็นพระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงจำแนกสติปัฏฐานเป็น 4 หมวด ตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าสติของผู้ใดจะเกิดระลึกรู้ลักษณะธรรมใด ไม่พ้นจากกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีชื่อว่าเป็นหมวดใด

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ธ.ค. 2551

ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนา อาจารย์กุลวิไล

สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
suwit02
วันที่ 11 ธ.ค. 2551

มิตรดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น

อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ ประการ

ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑

ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ๑

ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ๑

ย่อมทำความเห็นให้ตรง ๑

จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 11 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pornpaon
วันที่ 25 ธ.ค. 2551

ได้อ่านก็ชื่นใจ

ได้อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมก็ยิ่งชื่นใจ

ขออนุโมทนาคุณพุทธรักษา

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ประสาน
วันที่ 18 ธ.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ