ปกิณณกธรรม ตอนที่ 125


ตอนที่ ๑๒๕

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๕


ท่านอาจารย์ การที่ปัญญาจะรู้ชัดตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ก็ต้องอาศัยสติที่ระลึก แล้วแยกลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนเสียก่อน แล้วถึงจะรู้ความละเอียดของสภาพธรรม ซึ่งแม้เป็นนามธรรมก็ต่างกัน จนกว่าจะรู้จริงๆ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเรื่องของความอยาก ซึ่งเราคิดว่าง่าย แต่ความจริงแล้วไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตประจำวันซึ่งปะปน อยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็แทบจะไม่รู้แล้วว่า เป็นโลภะ เป็นอกุศล แล้วยิ่งเป็นกุศลแล้วอยาก ก็ยิ่งไม่อยากจะรู้เลยว่าเป็นอกุศล ใช่ไหม เพราะเหตุว่าเคยเข้าใจว่าเป็นกุศลอย่างมากๆ แล้วก็จะมากลับมีความละเอียดว่า แม้แต่ขณะนั้นก็ยังเป็นอกุศล หรือข้อความที่ว่าเป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะเหตุว่าถ้าขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถึงแม้จะเจริญกุศลถึงขั้นอรูปฌาน เมื่อไม่ใช่เป็นทางออกจากสังสารวัฏ ก็เป็นมิจฉาปฏิปทา

ผู้ฟัง อย่างนี้เราแค่พิจารณาว่า สิ่งที่เห็นทางตาเป็นเพียงสภาพรู้ การได้ยินทางหู เป็นเพียงสภาพรู้อย่างนี้ ก็เป็นการเริ่มต้นในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม คือ อย่าใช้ชื่อง่ายๆ ว่าเห็นเป็นนาม แล้วก็ได้ยินเป็นนาม แล้วก็คิดนึกเป็นนาม อันนี้ง่ายไป หมายความว่าที่จะใช้คำว่านาม ไม่ใช่เราจะต้องไปนึกถึงคำนี้ แต่ให้เข้าใจลักษณะของธาตุ หรือสภาพที่มีจริงๆ ที่กำลังรู้ คือ เห็น หรือที่กำลังรู้ คือ ได้ยิน หรือที่กำลังรู้ คือ คิดนึก เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งทุกคนมีแน่ๆ จะไม่เรียกว่าจิต จะไม่เรียกว่าใจ จะไม่เรียกว่านามธรรม จะไม่แบ่งแยกเป็นนามขันธ์ ๔ หรืออะไรก็ได้ แต่ขณะนี้ตัวจริงของสภาพธรรมกำลังเห็น ตัวจริงของสภาพธรรมคือกำลังได้ยิน

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเข้าใจในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เพื่อที่จะได้เห็นว่าธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นรู้ เพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ จึงจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

ผู้ฟัง แต่สภาพรู้ที่พอเห็น เราบอกตัวเองว่าเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง อย่างนี้เรานึกคิดเอาเองใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ใช่

ผู้ฟัง อันนี้ถูกไหม

ท่านอาจารย์ ไม่มีถูกไม่มีผิด หมายความว่าเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ปัญญาต้องค่อยๆ อบรม ตั้งแต่ก่อนนี้ไม่เคยคิดอย่างนี้ ใช่ไหม แล้วก็ยังมีสติที่ระลึกได้เป็นคำ แต่ว่ายังไม่เข้าถึงลักษณะแท้ๆ เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นชื่อที่นึกเป็นคำขึ้นมา ในขณะนั้นไม่ได้พิจารณารู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่า ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจในอาการรู้ ขณะนั้นไม่ได้นึกถึงชื่อ

ผู้ฟัง ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ

ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ต้องอบรม เพราะเหตุว่าจะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ไปนาน หรือว่าชาติก่อนก็เคยได้ยินแล้วก็ได้ หรือ ๒,๐๐๐ กว่าปีก็อาจเคยได้ยินมาแล้ว และยังจะได้ยินต่อไปอีก ทุกคนก็กำลังเห็นอีก เกิดแสนโกฏิกัปป์มาแล้วก็เห็นแล้ว อีกแสนโกฏิกัปป์ก็เห็นอีก

ลักษณะสภาพที่เห็นก็ยังคงเป็นเห็นซึ่งขึ้นอยู่กับอวิชชา หรือวิชชา ถ้าเป็นอวิชชา ก็ฟังไปก็ไม่เข้าใจในตอนแรกๆ แต่ว่าเมื่อเริ่มเข้าใจขั้นพิจารณาก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้มีการรู้ โดยใช้คำว่าค่อยๆ รู้ขึ้น ที่เรียกว่า “สติปัฏฐาน“ หมายความว่า ค่อยๆ รู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ โดยไม่ต้องไปทำอะไรเลย เมื่อระลึกได้ก็ ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม นั่นคือสติปัฏฐาน แต่โดยมากจะไปติดชื่อ แล้วเอาจำนวนมาว่า สติปัฏฐานมี ๔

เพราะฉะนั้น ก็จะเริ่มจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างไร เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างไร จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างไร ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างไร แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของการคิดเรื่องชื่อ แต่ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏก็ค่อยๆ รู้ขึ้น

ผู้ฟัง มิจฉาปฏิปทาจัดเป็นกุศลหรืออกุศล ผู้ที่เจริญกุศลขั้นอรูปฌาน ก็ยังถือว่าเป็นมิจฉาปฏิปทา แล้วก็มีท่านผู้ฟังคนหนึ่งถามว่า ขณะนั้นเจตสิกเป็นอะไร ก็เป็นกุศล ก็เลยสับสนว่า มิจฉาปฏิปทาเป็นกุศลหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ เป็นกุศลที่ทำให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ยังไม่ออกจากสังสารวัฏ เพราะฉะนั้น ก็ยังเป็นมิจฉาปฏิปทา ที่จะเป็นสัมมาปฏิปทาก็คือกุศลที่ทำให้ออกจากสังสารวัฏ

คุณมธุรสอาจจะเคยได้อรูปฌานมาแล้วในแสนโกฏิกัปป์ ก็ยังต้องกับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ยังมีการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังไม่รู้ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ยังไม่ออกจากสังสารวัฏก็ยังเป็นสัมมาปฏิปทา ไม่ได้

ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงว่าเรื่อง บุญญาภิสังขาร ยังค้างอยู่

ท่านอาจารย์ ทุกเรื่องของธรรม ไม่ค่อยอยากจะให้ผ่านไปโดยรวดเร็วนัก แต่ว่าอยากจะให้ท่านผู้ฟังค่อยๆ สะสมความรู้ ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นยาก แต่ว่าค่อยๆ ฟังไป แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

เมื่อทราบแล้วว่า สังขารในปฏิจจสมุปบาทแสดงไว้ ๓ อย่าง คือ ปุญญาภิสังขาร๑ อปุญญาภิสังขาร๑ อเนญชาภิสังขาร๑ ไม่ว่าจะศึกษาธรรมเรื่องอะไรก็ตามจะต้องรู้ว่า ได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไร นั่นจึงจะเป็นความเข้าใจที่ถูก ไม่ใช่ว่าไม่มีสภาวะ พูดกันไปเลื่อนๆ ลอยๆ พอรู้ว่าปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ก็ไปเข้าใจโดยชื่อ แต่จะต้องเข้าใจด้วยว่า สำหรับสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั้น ซึ่งเป็นการปรุงแต่งอย่างยิ่งที่ใช้คำว่า อภิสังขาร ทั้งๆ ที่เจตสิก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ เป็นเจตสิกซึ่งปรุงแต่งจิต แต่ที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งก็ควรที่จะพิจารณาว่า เจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นลักษณะที่จงใจ ตั้งใจ แล้วก็กระตุ้นสหชาตธรรม คือ เจตสิก และจิตที่เกิดร่วมกัน ให้กระทำกิจการงานสำเร็จกิจตามกิจของตน ของตน นั่นคือลักษณะ และกิจของเจตนาเจตสิก ซึ่งยากที่จะเห็นได้ เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตสาธารณเจตสิก คำว่า “สัพพะจิตสาธารณะ” หมายความว่า เจตสิกซึ่งสาธารณะเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกดวง

เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกขณะมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตขณะหนึ่งๆ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท หรือ ๗ ดวง แต่ว่ามีใครรู้บ้างขณะที่กำลังเห็น ว่าเจตสิกตั้ง ๗ ดวงเกิดดับที่จักขุปสาท ทันทีที่จิตเกิดที่จักขุปสาท เห็นที่จักขุปสาท แล้วก็ดับที่จักขุปสาท เจตสิก ๗ ดวงนั้นก็เกิดดับร่วมกับจิต ซึ่งรวมทั้งเจตนาเจตสิกด้วย

การฟังพระธรรม ก็ทำให้เข้าใจว่าแม้แต่เจตนาเจตสิกก็เป็นสภาพที่ไม่ใช้ว่าเราจะเห็นได้ แม้ว่ามีความจงใจ ความตั้งใจในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่าโดยชาติ ซึ่งเป็นวิบากซึ่งเป็นผล ได้แก่ จักขุวิญญาณ จิตเห็น จิตได้ยิน เหล่านี้ แม้ว่าเจตนาเจตสิกจะเกิดด้วย ก็ไม่ปรากฏ เมื่อไม่ปรากฏจะไปรู้ว่า ขณะนั้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้

ที่จะปรากฏพอที่จะรู้ได้ก็คือ ความจงใจหรือความตั้งใจที่เป็นกุศลบ้าง ที่เป็นอกุศลบ้าง ที่เราใช้คำว่า มีเจตนาหรือเปล่า ตั้งใจหรือเปล่า จงใจหรือเปล่า นั่นก็แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมที่เป็นกุศลเจตนา หรืออกุศลเจตนา เมื่อถึงระดับขั้นนั้นแล้วก็สามารถที่จะปรากฏ เวลาที่เกิดความชอบใจพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ขณะนั้นก็ต้องมีเจตนาเจตสิก ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่ามีอย่างอ่อน อย่างเวลาที่เอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำ ขณะนั้นก็ต้องมีเจตนาเกิดกับจิต ทำให้มีอาการเคลื่อนไหวไปกระทำกิจการงานต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ไม่ขาดเจตนา แต่ขณะใดที่เป็นอกุศลเจตนามีกำลังที่จะทำให้เกิดทุจริตกรรม เป็นอกุศลกรรมซึ่งจะทำให้เกิดผล คือ วิบาก ถ้าตราบใดที่ยังมีอกุศลเจตนา และกุศลเจตนา ไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็ตาม ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก ซึ่งเป็นผล ซึ่งทำให้สังสารวัฏไม่สิ้นสุด เพราะเหตุว่าโดยปฏิจจสมุปบาท ทุกคนก็คงจะคุ้นหู เริ่มตั้งแต่ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขาร คือ เจตนาเจตสิก ที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นปัจจัยแก่วิญญาณ คือ ปฏิสนธิ

ทุกท่านที่นี่ต้องเกิด เป็นของธรรมดา ใครกลัวตายคิดว่าจะไม่เกิดอีกนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อยังมีกรรมอยู่ ก็ยังต้องมีการเกิด แต่ว่ากรรมก็มีมากที่ว่า แล้วแต่ว่ากรรมหนึ่งกรรมใด กรรมเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในภพชาติต่อไป เหมือนกับในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา เจตนาที่เป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผล ถ้ากรรมนั้นยังไม่ได้ให้ผลหมดสิ้น เพราะฉะนั้น ก็ยังเป็นปัจจัยที่จะให้ผลในชาตินี้ หรือแม้จะทำให้ทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ ปฏิสนธิจิตเกิดจากกรรม ชาติหนึ่งชาติใดหรือกรรมชาติก่อนที่ได้ทำแล้ว ก็เป็นได้

นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นอภิสังขารของเจตนา ซึ่งทำให้เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล คือ วิบากทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต

ขอให้ทุกท่านพิจารณากรรมของท่านด้วย คือ แทนที่จะมานั่งถามกันว่าทำไมถึงต้องเป็นเรา ต่อไปนี้ก็คงจะมีคำตอบที่ชัดเจนกว่านั้นว่า เพราะต้องเป็นเรา ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นคนอื่นไม่ว่าสิ่งใดๆ ก็ตามที่จะเกิดกันท่านในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ลาภ เสื่อมลาภ หรือแม้แต่จะพิจารณาแต่ละชีวิตที่เกิดมา ทั้งรูปร่างหน้าตา เป็นมนุษย์ก็มีตาคล้ายๆ กัน แต่ก็ยังต่างกันมากตามกรรมที่ได้กระทำ ถ้าเป็นพวกสัตว์เดรัจฉาน ก็จะเห็นได้ถึงความวิจิตรของกรรมที่ทำให้สัตว์น้ำ สัตว์บกก็ต่างกันไป

นั่นก็เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทำแล้ว ที่ทำให้ชีวิตรูปร่างหน้าตา ความคิดความอ่านต่างกันไปฉันใด ชาตินี้ทุกท่านก็กำลังทำกรรมที่จะทำให้ชาติหน้าจะมีรูปร่างอย่างไร จะเป็นสัตว์ประเภทไหน หรือว่าจะเป็นเทพ เป็นพรหม อย่างไร ก็ไม่สามรถที่จะรู้ได้จนกว่าจะถึงชาติหน้า แต่ว่าในชาตินี้ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครมีอำนาจบังคับบัญชากระแสชีวิตในวันหนึ่งๆ ได้ ที่จะเกิดขึ้นเป็นไปทุกขณะ แม้แต่กำลังเห็นขณะนี้ ก็เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็เป็นผลของกรรมทั้งสิ้น แล้วหลังจากนั้นเป็นสิ่งที่น่าคิด คือ เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศล นี่ก็เป็นการปรุงแต่งภพหน้าชาติหน้า ซึ่งเมื่อถ้าท่านผู้ฟังฟังวิทยุเมื่อสัก ๒ - ๓ วันก่อน ก็คงจะได้ยินเรื่องของประโยชน์ของการพิจารณาแม้รูปของชาติก่อน ซึ่งแต่ละท่านจำไม่ได้เลยว่า ชาติก่อนรูปร่างหน้าตาของท่านเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่เที่ยง ถึงแม้ว่าจะเป็นรูปที่สวยงามเลอเลิศ หรือว่ารูปที่พิกลพิการ หรือว่าจะเป็นสัตว์ในนรก เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็หมด

ถึงแม้ชาตินี้ก็เช่นเดียวกัน นี่คือหนทางที่จะไม่ทำให้หลงติดมั่นในรูปซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามกรรม เพราะว่าจริงๆ แล้วถึงแม้ว่าเรามีตำรับตำรามากมายสักเท่าไรก็ตาม แต่จิตก็ยังคงเป็นสภาพที่ลึกลับ ทั้งๆ ที่อยู่ที่ตัว แล้วก็ฟังแล้วก็อยากจะรู้เสียจริงๆ ว่าจิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่มีรูปร่างลักษณะอะไรทั้งสิ้น แล้วก็ตำราต่างๆ ก็มีคำยาก คำใหญ่ คำที่ไม่ชินหู ทำให้ยากต่อการที่จะเข้าใจได้จริงๆ ว่า จิตมีลักษณะอย่างไร แม้ว่าจะกล่าวว่า จำแนกจิตโดยเป็นชาติ ๔ ได้แก่ กุศล อกุศล วิบาก กิริยาก็ตาม แต่ว่าถ้าจะทำความเข้าใจ หรือพยายามที่จะเข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ประมวลแล้ว ก็เพื่อที่จะให้ทุกคนได้มีโอกาสเห็นว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่เพียงจิต เจตสิก รูป นิพพานยังไม่ต้องกล่าวถึง เพราะเหตุว่าขณะใดที่โลกุตตรจิตไม่เกิด ขณะนั้นก็ไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้

ในขณะนี้เองที่มีจิต แล้วก็กล่าวถึงเรื่องชาติ ก็ต้องรู้จุดประสงค์ว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องชาติของจิต จะกล่าวว่าจิตเท่านั้นไม่พอหรือ ซึ่งความจริงไม่พอ ทุกคนมีจิต แต่ถ้าไม่รู้ความละเอียดของจิต ละการยึดถือจิตว่าเป็นตัวตนไม่ได้

แม้ว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกทีละเล็กทีละน้อย ในเรื่องลักษณะของจิต หรือในเรื่องประเภทของจิต แต่ก็ให้ทราบจุดประสงค์ว่า เพื่อให้เห็นความไม่ใช่เรา หรือว่าไม่ใช่ตัวตน

สำหรับเรื่องชาติ ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่เกิด เมื่อเกิดแล้วเป็นอะไร คำว่า ชา-ติ ภาษาไทยก็ใช้หลายคำ ทั้งชาตะ ทั้งชาติ หมายความว่าเมื่อสภาพนั้นเกิดขึ้นแล้ว เป็นอะไร นี่คือจุดประสงค์เพื่อที่จะเพิ่มความเข้าใจของเราให้เข้าใจชัดขึ้นว่า ไม่ใช่ตัวตน จะเห็นได้ว่าวันหนึ่งๆ ถ้าไม่อาศัยพระธรรมจะไม่ทราบเลย จิตเป็นกุศลก็ไม่รู้ จิตเป็นอกุศลก็ไม่รู้ จิตเป็นวิบากก็ไม่รู้ จิตเป็นกิริยาก็ไม่รู้

เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วเป็นอะไร จิตเกิดขึ้นเป็นอะไร จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลประเภทหนึ่ง จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศลอีกประเภทหนึ่ง จิตเกิดขึ้นเป็นวิบากคือไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลแต่ว่าเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น เมื่อกุศลมีเป็นเหตุ ทำให้เกิดกุศลวิบากซึ่งเป็นจิตประเภทหนึ่ง อกุศลมีเป็นเหตุ ที่ทำให้เกิดอกุศลวิบากเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง นี่ก็เริ่มที่จะเข้าใจชีวิตในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่าผู้ใดก็ตามที่เริ่มเข้าใจเรื่องกรรมซึ่งเป็นเหตุ และเรื่องวิบากซึ่งเป็นผล ก็จะทำให้สังเกตชีวิตของตัวเองได้ว่า สิ่งที่กำลังทำในขณะนี้เห็นเหตุที่จะให้เกิดผลประเภทใดข้างหน้า ก็จะทำให้มีสติระลึกได้ ที่จะละเว้นอกุศล

ผู้ฟัง คำว่า “วิบาก” ตั้งแต่ปฏิสนธิ วิบากกำหนดไว้แล้วว่า ไม่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราพบ นี้คือวิบาก ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ย่อๆ ใช่ คือขณะที่เห็น ยังไม่ใช่ขณะที่รู้สึกชอบหรือชัง

ผู้ฟัง ขณะที่เห็นขณะนี้ก็คือวิบากที่เราเคยทำมา แต่ว่าเราไม่รู้ว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำมาไม่สามารถที่จะพบได้ ทีนี้วิบากที่เราจะเกิดขึ้นต่อๆ ไปอีก เราสามารถที่จะ คล้ายๆ ทำให้วิบากมันดี คือ บางอย่าง เช่นเราไปรู้ว่า พรุ่งนี้เราจะตาย เราจะแก้วิบากที่มันจะตายพรุ่งนี้ได้ไหม ถ้าเกิดเราทำกุศลที่หนักๆ เพื่อแก้วิบาก สมมติว่ามีลางสังหรณ์ หรือว่ามีบางสิ่งบางอย่างทำให้รู้ว่า พรุ่งนี้คงจะเกิดอุบัติเหตุ หรือจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งเราก็เลยไปบวชดีกว่า หรือทำนองว่าทำกุศลที่หนักๆ ไว้ ก็อาจจะแก้ได้ ในกรณีนี้สามารถจะเป็นไปได้ไหม

ท่านอาจารย์ กรรมที่ได้ทำสำเร็จแล้ว ทำสำเร็จแล้วก่อนจะตายนาน ที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นไม่ใช่ไปทำตอนที่จะตาย เพราะฉะนั้น จะแก้ตอนไหน เวลาไหน

ผู้ฟัง ในอนาคตเราไม่รู้ว่าวิบากอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง ทีนี้เราต้องการได้วิบากทีดีๆ ตลอดเวลา

ท่านอาจารย์ เราก็ต้องทำกุศลมากๆ

ผู้ฟัง แล้วก็ต้องทำกุศลตลอด เพื่อให้วิบาก คือมีอาจารย์บางท่านสมมติว่า ภูเขาลูกใหญ่ลูกหนึ่งเป็นลูกอกุศล อีกลูกหนึ่งเป็นกุศล ติดตามเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราพลาดหรือเรามีคล้ายๆ ทำอกุศล ภูเขาลุกอกุศลก็จะตามทับเราทันที ในทำนองนี้จะ ใช้ได้ไหม หมายถึงว่า..

ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยที่จะทำให้เรา เกิดกุศลมากๆ หรือเปล่า

ผู้ฟัง ทำนองนั้น

ท่านอาจารย์ อะไรก็ตามที่จะทำให้เราเกิดสติแล้วก็เป็นกุศลมากๆ ก็จะทำให้เกิดกุศลวิบาก ตามควรแก่เหตุ

ผู้ฟัง เป็นทำนองว่าหน้าที่ของกรรม กรรมหนักก็ต้องมาก่อน

ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ เพราะฉะนั้น กุศลที่ควรจะเจริญที่สุด คือ การเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะไม่ทราบว่าเกิดมาแล้วเท่าไหร่ แล้วจะเกิดต่อไปนานเท่าไหร่ ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้ารู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว การเกิดก็จะเหลืออีกเพียง ๗ ชาติ เสียดายไหม น้อยไป ๗ ชาติ จะไม่ได้เห็น จะไม่ได้ยินอะไร

ผู้ฟัง ทดสอบว่าสติปัฏฐานที่อาจารย์ว่า ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เป็นอนัตตา ทีนี้เป็นอนัตตาแล้ว ก็เป็นวิบากอย่างหนึ่งใช่ไหม หมายถึงว่า เราบังคับไม่ได้ ไม่สามารถที่จะกำหนด เช่น เวลานี้เราจะกำหนดว่า ขณะที่ศอกเราสัมผัสเก้าอี้ที่แข็ง เพราะเรามัวแต่จะนึกคิด หมายความว่า สมมติบัญญัติในคำพูด เราก็ไม่รู้ ไม่มีสติปัฏฐานในการกำหนด ทีนี้การกำหนดก็ถือเป็นวิบากอย่างหนึ่งของคนที่สั่งสมมาด้วยความชำนาญ ขณะพูดก็สามารถที่จะปฏิบัติได้ คือ สามารถที่จะปฏิบัติสติปัฏฐาน

ท่านอาจารย์ ที่สติเกิดไม่ใช่วิบาก เป็นการสะสมของกุศล และอกุศล

ผู้ฟัง สะสมต่อไป

ท่านอาจารย์ วิบากเฉพาะชั่วขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้น

ผู้ฟัง ทีนี้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เราจะมีศิลปะหรือว่าความถนัดแตกต่างกันเป็นช่วงๆ ที่อาจารย์ว่า เป็นวาสนา วาสนาของคนเราก็ต้องมีหลายๆ อย่าง เช่น ถนัดชกมวย ถนัดกีฬาหลายประเภทก็มี แต่อาจจะถนัดทางอาชีพของเรา ที่เรียกว่าพรสวรรค์ หรือว่าถ้าเป็นนักกีฬาก็เด่นไปอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นวาสนาที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาตินับไม่ถ้วน หมายถึงว่าสะสมมาหลายๆ อย่าง แล้วก็เป็นวาสนาหลายๆ อย่างได้ไหม

ท่านอาจารย์ ขณะที่นั่งอยู่อย่างนี้ แต่ละคนไม่เหมือนกันตามวาสนาที่สะสมมา

ผู้ฟัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราสัมผัสอยู่ตลอดเวลา สามารถเจริญสติปัฏฐานได้ตลอด ถ้ามีสติ ถ้าเกิดนึกขึ้นได้ ไม่ใช่นึกคิด หมายถึงว่า ขณะที่เรานั่งรถเมล์กลับบ้าน ก็จะมีลม เราก็ระลึกถึงว่า ความเย็นได้มาสัมผัสกับกายปสาท ถือว่าเป็นสติปัฏฐานไหม

ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจ แม้แต่สั้นๆ ที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เท่านี้ จะครอบคลุมหมด แล้วก็เป็นสติปัฏฐานได้ตลอด เช่น ขณะนี้กำลังเห็น เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ได้ฟังอย่างนี้ มานาน หลายครั้ง ซ้ำ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรม อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ ปัญญาสามารถจะรู้ได้ แต่ปัญญาที่จะรู้ได้ต้องเพราะสติเกิดระลึกได้ในขณะนี้ว่า กำลังเห็นเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ขณะใดที่มีความเพียร คือ สัมมาวายามะ มีสัมมาสติ คือ การระลึกได้ ซึ่งนั่นเป็นตัวหนังสือ แต่ในขณะที่เดี๋ยวนี้กำลังเห็น ค่อยๆ เข้าใจ หรือว่าเริ่มจะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ นี่คือสติปัฏฐาน ไม่ต้องเรียกชื่อ พระผู้มีพระภาคทรงใช้ชื่อสติปัฏฐาน เพื่อให้รู้ว่า ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะวันหนึ่งๆ เห็น แต่ไม่เคยเข้าใจเลย ไม่เคยรู้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หรือเสียงที่กำลังได้ยิน ชั่วขณะหนึ่ง ขณะเดียวในสังสารวัฏ จะไม่กลับมาอีกเลย


หมายเลข  6597
ปรับปรุง  24 มี.ค. 2567


วีดีโอแนะนำ