แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229


ผู้ที่จะพ้นจากอบาย ทุคติ วินิบาต นรกได้นั้น คือ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ท่านยังเจริญสติปัฏฐาน ยังไม่สมควรแก่เหตุที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมยังมีโอกาสที่จะไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก และไม่ใช่เรื่องที่ไม่น่าจะเกรงกลัว แต่เป็นเรื่องที่ควรกลัวจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าท่านเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกแล้ว ไม่มีโอกาสจะเจริญกุศลเช่นสติปัฏฐานเลย

คำอธิบายความหมายของอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ใน มโนรถปูรณี เล่ม ๒ซึ่งเป็นอรรถกถาของ อังคุตตรนิกาย มีว่า

อบาย ได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปตวิสัย คือ เปรตและอสุรกาย จริงอยู่ทั้งหมดนี้เรียกว่า อบายเพราะไม่มีความเจริญ

เรียกว่า ทุคติ เพราะเป็นทางแห่งทุกข์

เรียกว่า วินิบาต เพราะพลาดจากความพอกพูนขึ้นแห่งความสุข

ภพนี้เป็นมนุษย์ ไม่ใช่อบายภูมิ ไม่ใช่ทุคติ ไม่ใช่วินิบาต ไม่ใช่นรก แต่ถ้าเป็นอบายภูมิ ไม่มีความเจริญของกุศลธรรม ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่มีในภูมินั้น และเป็นทุคติเพราะว่าเป็นทางแห่งความทุกข์ เป็นวินิบาตเพราะพลาดจากความพอกพูนขึ้นแห่งความสุข

ถ้าในสุคติภูมิ เช่น มนุษย์ และสวรรค์ จะมีการพอกพูนของความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามที่ท่านผู้ฟังก็ได้ประสบอยู่ แต่ถ้าเป็นภูมิต่ำ เช่น อบายภูมิ ทุคติ วินิบาต นรก จะไม่เป็นอย่างนี้เลย

ภูมินรกที่ทุกท่านทราบว่าเป็นภูมิของการทรมาน เป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าผู้ ใดจุติจากโลกนี้ไปเกิดในนรก ถึงแม้ว่าผู้อื่นจะกระทำบุญอุทิศส่วนกุศล ก็ไม่สามารถช่วยให้ท่านพ้นจากการรับผลของกรรมในนรกได้

เป็นเรื่องซึ่งไม่ไกล แต่ไม่ทราบว่าเมื่อไรที่จะไปสู่ภูมิไหน เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าถ้าท่านผู้ฟังมีความเห็นถูก ก็จะเป็นหนทางที่นำท่านไปสู่สุคติ ไม่ใช่อบาย ไม่ใช่ทุคติ ไม่ใช่วินิบาต ไม่ใช่นรก

ข้อ ๑๘๘ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะว่าเป็นเครื่องที่จะทำให้ท่านผู้ฟังเจริญสติปัฏฐาน มีวิริยะ มีฉันทะ มีสัทธา ไม่ทอดทิ้งการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งท่านผู้ฟังก็สามารถที่จะระลึกตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมได้ และเพิ่มความรู้ละเอียดขึ้นในสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าสติระลึก ท่านจะรู้จักสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงละเอียดขึ้นจริงๆ

มีท่านผู้ฟังซึ่งแต่ก่อนนี้ท่านไม่เคยทราบเลยว่า อกุศลธรรมที่ท่านสะสมมานั้นมีอะไรบ้าง ท่านกล่าวว่าท่านไม่มีริษยา เพราะว่าความริษยาของท่านคงจะไม่รุนแรงถึงกับปรากฏให้เกิดเป็นสภาพความเดือดร้อนของจิต แต่ว่าเมื่อท่านเจริญสติปัฏฐานแล้ว ท่านกล่าวว่าท่านมี ไม่ใช่ไม่มี ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตรงตามความเป็นจริง ไม่เท็จ และไม่หลอกลวงด้วย เพราะว่าเวลาที่ลักษณะของริษยาเกิดขึ้น คือ ความไม่พอใจในสมบัติ จะเป็นลาภสักการะ จะเป็นวรรณะ จะเป็นคำอนุโมทนาของบุคคลที่มีต่อบุคคลที่ท่านไม่พอใจ ก็สามารถจะสำรวจตรวจรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นถูกต้องว่า ริษยานั้นมีสมบัติของผู้ที่ท่านไม่พอใจ ผู้ซึ่งไม่เป็นที่รักของท่านเป็นสมุฏฐาน และรู้จริงๆ ว่า ถ้าเปลี่ยนความไม่พอใจบุคคลนั้นเป็นความเมตตา ริษยาจะไม่เกิดขึ้น แต่ว่าลักษณะของริษยาที่เกิดกับบุคคลบางคนนั้นก็เพียงเล็กน้อย อาจจะชั่วแวบ ชั่วครู่ และเล็กน้อยที่สติเมื่อระลึกแล้วริษยานั้นก็คลายไป หรือหมดไป เพราะสติสามารถที่จะระลึกและก็รู้ว่า สิ่งใดเป็นสภาพธรรมที่ควรเจริญ หรือสิ่งใดเป็นสภาพธรรมที่ควรละ ถ้ามีมุทิตา มีเมตตา ย่อมยินดีในสมบัติของบุคคลอื่นเวลาที่บุคคลอื่นได้รับ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขที่น่าพอใจ ท่านก็ชื่นชมอนุโมทนาได้ แต่ขณะใดที่ไม่อนุโมทนา ไม่ชื่นชม ไม่ยินดี นั่นเป็นลักษณะของริษยา เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะรู้จักสภาพธรรมละเอียดยิ่งขึ้น

ข้อ ๑๘๙ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ เจตนา ๑ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นผิด ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเลวทราม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพืชเลว ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นผิดธรรมทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเลวทราม ฉันนั้นเหมือนกันแล

ใครที่ยังมีอกุศลธรรมเต็มๆ เป็นเมล็ดสะเดา หรือเมล็ดบวบขม เป็นความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรมที่มีโทษมาก ถ้าตราบใดความเห็นถูกยังไม่เกิดขึ้นละความเห็นผิดนั้น กายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดี ที่สะสมพอกพูนอยู่เรื่อยๆ ก็เหมือนกับเป็นเมล็ดสะเดา หรือเมล็ดบวบขม เมล็ดน้ำเต้าขมที่หมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพืชเลว

ข้อ ๑๙๐ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ วจีกรรมที่ สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นชอบธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเจริญ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อยก็ดี พันธุ์ข้าวสาลีก็ดี พันธุ์ผลจันทน์ก็ดี บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของหวาน น่ายินดี ของชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพืชพันธุ์ดี ฉันใด กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ ๑ เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นชอบธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเจริญ ฉันนั้นเหมือนกันแล

ท่านผู้ฟังเป็นเมล็ดสะเดา เมล็ดบวบขม เมล็ดน้ำเต้าขม หรือเป็นพันธุ์อ้อยพันธุ์ข้าวสาลี พันธุ์ผลจันทน์ เป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณาที่จะต้องให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ เพื่อให้พ้นจากความเห็นผิด เพราะว่าความเห็นผิดนี่ไม่ยากเลยสำหรับผู้ที่มีอวิชชาและตัณหา ย่อมมีความพอใจยินดีที่จะเห็นผิดไปต่างๆ นาๆ แต่การที่จะให้พ้นไปจากความเห็นผิดได้นั้น ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ การพิจารณาเหตุผลที่ถูกต้องสมควรจริงๆ จึงจะทำให้ท่านพ้นจากความเห็นผิดได้

ข้อ ๑๙๑

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใครคือ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากสัทธรรม แล้วให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ทำไมคนๆ เดียวถึงมีโทษมากมายอย่างนี้ได้ เพราะเหตุว่าย่อมชักชวนคนอื่นให้เห็นผิดตามไปด้วย เมื่อตนเองมีความเห็นวิปริตคลาดเคลื่อนไปจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง ยังจะชักชวนเผยแพร่ความคิดเห็นนั้นให้คนอื่นมีความเห็นอย่างนั้นได้ด้วย และความเห็นวิปริต ท่านผู้ฟังเคยระลึกถึงบ้างไหมว่า ความเห็นอย่างใดวิปริตไปจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง และความเห็นอย่างใดไม่วิปริตจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยเฉพาะในข้อปฏิบัติที่จะเจริญมรรค เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ข้อ ๑๙๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์หิตสุขแก่เทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย

บุคคลคนเดียวคือใคร คือ บุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากอสัทธรรมแล้วให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนบุคคลเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์หิตสุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ข้อความต่อไป ข้อ ๑๙๓

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลาย มีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง

การเจริญสติปัฏฐานเพื่อเรื่องเดียว คือ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่วิปริต เป็นสัทธรรม เป็นการเจริญสัทธรรม เป็นการออกจากอสัทธรรม

ข้อ ๑๙๔

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นบุคคลอื่นแม้คนเดียว ที่ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนกับโมฆะบุรุษชื่อว่า มัคคลินี้เลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลพึงทิ้งลอบไปที่ปากอ่าว เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม ความพินาศแก่ปลาเป็นอันมาก แม้ฉันใด โมฆะบุรุษชื่อว่ามัคคลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เป็นดังลอบสำหรับดักมนุษย์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อมเพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก

มัคคลิคนเดียวหรือเปล่า หรือว่าคนอื่นด้วยที่สอนผิด ปฏิบัติผิด เพราะว่าบุรุษหรือบุคคลผู้เห็นผิดอย่างมัคคลินั้น เปรียบเหมือนบุคคลที่ทิ้งลอบไปที่ปากอ่าว เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม ความพินาศแก่ปลาเป็นอันมากที่จะพลอยเห็นผิดตามไปด้วย

และทำไมพระผู้มีพระภาคจึงตรัสแต่เรื่องอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังที่จะพิจารณาแล้ว พิจารณาอีก เห็นโทษอย่างยิ่งจริงๆ ของมิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด ความเห็นวิปริต หรือข้อปฏิบัติที่ผิด เพราะว่าบุคคลในครั้งนั้นต่างก็แสดงข้อปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้าข้อปฏิบัติใดวิปริต คลาดเคลื่อน ก็ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

เพราะฉะนั้น แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ไม่ได้ทรงยุติการที่จะชี้โทษของ มิจฉาทิฏฐิ และการที่จะพรรณนาคุณของสัมมาทิฏฐิไว้เป็นอันมาก

ข้อ ๑๙๕

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว

๓ บุคคล คือ

๑. ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว

๒. ผู้ที่ถูกชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว

๓. ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น

เป็นไปได้ไหม ได้ ไม่ว่าในสมัยไหน แม้ในสมัยนั้นจนกระทั่งถึงในสมัยนี้

ข้อ ๑๙๖

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว

ข้อ ๑๙๗

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทายกพึงรู้จักประมาณในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ปฏิคาหกไม่จำต้องรู้จักประมาณ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว

ข้อ ๑๙๘

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิคาหกพึงรู้จักประมาณในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ทายกไม่จำต้องรู้จักประมาณ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว

ข้อ ๑๙๙

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว

เพียรเพราะคิดว่าเป็นธรรม แต่ว่าอยู่เป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าข้อปฏิบัติผิด ท่านที่ไปทำวิปัสสนาและปวดหัวเหลือเกิน ไม่สบายเลย เจ็บตรงนั้นตรงนี้มีไหม ถ้ามี ข้อปฏิบัตินั้นถูกหรือผิด เวลาที่ท่านไม่ทำวิปัสสนา ทำไมไม่เป็น แต่เวลาทำทีไรปวดหัวทุกที นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐาน สภาพธรรมที่เป็นกุศล มีแต่คุณไม่มีโทษเลย

ในทางตรงกันข้าม ขณะที่เป็นอกุศลเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะปรารถนาบ้าง เพราะประสบสิ่งที่ไม่น่าพอใจบ้าง แต่พอสติระลึกรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น เกิดปรากฏแล้วหมดไป และมีลักษณะของธรรมอื่นปรากฏให้รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นลักษณะของธรรมแต่ละชนิดตามปกติตามธรรมดาจะปวดศีรษะไหม ไม่เลย เป็นปกติ เป็นเรื่องเบา เพราะว่าเกิดปัญญารู้สภาพธรรมที่จะทำให้ละคลายความทุกข์ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดคิดว่า ท่านทำวิปัสสนา แต่ไม่สบายปวดศีรษะ หรือว่าเป็นทุกข์ใดๆ เกิดขึ้นเพราะการทำเช่นนั้น ให้ทราบว่า ข้อปฏิบัติของท่านไม่ถูกไม่ใช่เป็นการเจริญกุศล

ข้อ ๒๐๐

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว

ที่ว่า ผู้เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะโลภะ ทุกข์เพราะโทสะ ทุกข์เพราะโมหะ ทุกข์เพราะริษยา ทุกข์เพราะอกุศลธรรมนานาประการทีเดียว เพราะไม่เพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่จะทำให้เบา และคลายจากความทุกข์ได้ ไม่ว่าท่านผู้ใดกำลังประสบความทุกข์มากน้อยสักเท่าไร ถ้าสติจะระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ชั่วขณะที่ระลึก เบาคลายจากการหนักด้วยอกุศลธรรม แล้วแต่ว่าท่านจะระลึกได้มากน้อยเท่าไร มีความชินกับลักษณะของสภาพธรรมมากน้อยเท่าไร และมีปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงมากน้อยเท่าไร แต่ให้ทราบว่าหนทางเดียวจริงๆ ที่จะพ้นจากความทุกข์ได้ เพราะปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ข้อ ๒๐๑ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว

ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดแล้ว ใครเกียจคร้านไม่ทำตาม ไม่เป็นไร ไม่ต้องคิดว่าท่านกำลังขี้เกียจ ท่านกำลังหมดความเพียร ท่านไม่ไปขะมักเขม้นทำข้อปฏิบัติที่ผิด เพราะว่ายิ่งประพฤติปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ผิด ย่อมมีแต่โทษ ไม่ได้ทำให้ปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้


หมายเลข  5986
ปรับปรุง  29 พ.ค. 2566