แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108


อีกประการหนึ่งเพราะอิริยาบถปิดบังไว้ เมื่อพิจารณาความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแล้ว และสันตติขาดไป อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง

เมื่อมนสิการถึงความบีบคั้นเนืองๆ และเพิกอิริยาบถเสียได้ ทุกขลักษณะก็ปรากฏตามความเป็นจริง

ขันธ์ ๕ นั่นเองเป็นตัวทุกข์ เพราะมีพระบาลีว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ อาการบีบคั้นเนืองๆ นั่นเองเป็นทุกขลักษณะ คือ การเกิดดับ

ขันธ์ ๕ นั่นเองเป็นอนัตตา เพราะพระบาลีว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เพราะเหตุไร

เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ อาการที่ไม่เป็นไปในอำนาจนั่นเอง เป็นอนัตตลักษณะ

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร หรือว่าสติปัฏฐานสูตรในนิกายต่างๆ แล้วก็ตาม ก็ยังทรงอนุเคราะห์ด้วยการตรัสถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่สติจะต้องระลึกรู้ชัด เพื่ออนุเคราะห์ให้ทราบว่า เวลาที่สติระลึกแล้ว ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างไร

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม พระภิกษุชื่นชมในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เพราะทราบว่าการเจริญปัญญานั้นจะต้องเจริญอย่างนั้นจริงๆ จึงจะละการเห็นผิด การยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ แต่ผู้ฟังสมัยนี้ถ้าได้ฟังเรื่องของมหาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับอายตนะทั้งภายในภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ชื่นชมไหม ถ้าคนในสมัยนี้คิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นมากเกินไป ก็ไม่ชื่นชมในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

มีข้อความเล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านผู้ฟังยังสงสัยในการเจริญสติปัฏฐาน อย่างพยัญชนะที่ว่ามหาบุรุษ เคยได้รับคำถามจากท่านผู้ฟังว่า คำว่ามหาบุรุษนั้นหมายความถึงผู้ใด เพราะบางท่านก็ไม่กล้าระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ เพราะลมหายใจเป็นส่วนของกายที่ละเอียดมาก เป็นวิสัยของมหาบุรุษ แต่ถ้านามรูปใดปรากฏกับท่านผู้ใดก็ไม่หวั่นไหวที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ไปขวนขวายที่จะรู้สิ่งที่เป็นวิสัยของท่านผู้อื่น แต่ไม่ปรากฏกับท่าน

สำหรับท่านที่เข้าใจว่ามหาบุรุษหมายเฉพาะพระผู้มีพระภาค ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มหาปุริสสูตร สาวัตถีนิทาน มีข้อความว่า

ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่ามหาบุรุษ มหาบุรุษดังนี้ บุคคลทั้งหลายเป็นมหาบุรุษได้ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร เราเรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่เรียกว่ามหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น

ดูกร สารีบุตร ก็บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

ข้อความต่อไป พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น

ดูกร สารีบุตร บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้แล เราเรียกว่ามหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่เรียกว่ามหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น

อีกนัยหนึ่ง ที่ทำให้เข้าใจว่าหมายเฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้น

อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต (วัสสการสูตร) ข้อ ๓๕ มีข้อความว่า

ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลว่า พวกตนย่อมบัญญัติผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นมหาบุรุษ ผู้มีปัญญาใหญ่ ธรรม ๔ ประการ คือ

รู้อรรถความหมายของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ๑ เป็นผู้มีสติระลึกสิ่งที่ได้กระทำ คำที่พูดแล้วแม้นานได้ ๑ เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในกรณียกิจอันเป็นของคฤหัสถ์ ๑ มีปัญญาพิจารณาจัดทำกรณียกิจนั้นได้ ๑

นี่เป็นมหาอำมาตย์ มหาบุรุษของมหาอำมาตย์จึงเป็นในลักษณะนั้น

วัสสการพราหมณ์กราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์พึงอนุโมทนา ขอท่านพระโคดมทรง อนุโมทนาแก่ข้าพระองค์ แต่ถ้าข้าพระองค์พึงคัดค้าน ขอท่านพระโคดมทรงคัดค้านแก่ข้าพระองค์ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พระองค์ไม่ทรงอนุโมทนาแก่พราหมณ์เลย พระองค์ไม่ทรงคัดค้านเลย พระองค์ย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นมหาบุรุษ ผู้มีปัญญาใหญ่ ธรรม ๔ ประการ คือ

บุคคลในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสุขแก่ชนหมู่มาก ยังประชุมชนมากให้ตั้งอยู่ในธรรมที่ควรรู้ เป็นอริยะ ได้แก่ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม ๑

บุคคลนั้นย่อมจำนงเพื่อตรึกเรื่องใด ย่อมตรึกเรื่องนั้นได้ ย่อมไม่จำนงเพื่อตรึกเรื่องใด ย่อมไม่ตรึกเรื่องนั้นได้ ย่อมจำนงเพื่อดำริเหตุที่พึงดำริใด ย่อมดำริเหตุที่พึงดำรินั้นได้ ย่อมไม่จำนงเพื่อดำริเหตุที่พึงดำริใด ย่อมไม่ดำริเหตุที่พึงดำรินั้น เป็นผู้ถึงความชำนาญแห่งใจ ในคลองแห่งวิตกทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ ๑

เป็นผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยากซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑

กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ๑

เมื่อได้ฟังโดยตรงจากพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ วัสสการพราหมณ์ก็ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว พระโคดมผู้เจริญตรัสคำนี้ดีแล้ว ข้าพระองค์จะจำไว้ซึ่งพระโคดมผู้เจริญว่า ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แท้จริง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ท่านกล่าววาจารับสมอ้างแน่แท้แล และเราจักพยากรณ์แก่ท่าน แท้จริงเราเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อสุขแก่ชนหมู่มาก ยังประชุมชนหมู่มากให้ตั้งอยู่ในญายธรรมอันประเสริฐ คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม

บุคคลใดรู้แจ้งหนทางอันจะปลดเปลื้องสัตว์ทั้งปวงเสียจากบ่วงแห่งมัจจุ ประกาศญายธรรมอันเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ อนึ่งชนเป็นอันมากย่อมเลื่อมใสเพราะเห็นหรือสดับบุคคลใด เราเรียกบุคคลนั้นซึ่งเป็นผู้ฉลาดต่อธรรมอันเป็นทางและมิใช่ทาง ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ เป็นผู้รู้แล้ว มีสรีระในภพเป็นที่สุดว่า เป็นมหาบุรุษ

ไม่จำกัดว่าเฉพาะพระผู้มีพระภาค ถ้าเป็นพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นมหาบุรุษยิ่ง ก็ใช้คำว่า พระมหาบุรุษ หมายความถึงเฉพาะพระผู้มีพระภาค เพราะทรงเป็นมหาบุรุษยิ่งกว่ามหาบุรุษ

. คำว่า รูป หมายความว่าเสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป รสก็เป็นรูป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อะไรก็เป็นรูป ก็มีแต่รูปกับนาม ถ้าพูดรวมว่า สภาวธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรนอกจากรูปกับนามแล้ว จะรวมลงเป็นรูปเดียวนามเดียวได้ไหม คือลักษณะของรูปที่เกิดนี้ อย่างลักษณะของรูปยืน ก็รู้ลักษณะว่ารูปยืน รูปนั่ง ก็รู้ลักษณะว่ารูปนั่ง

สุ. ในขณะที่กำลังยืนเดี๋ยวนี้มีลักษณะของรูปอะไร ต้องมีลักษณะ มีมหาภูตรูป ๔ มหาภูตรูป ได้แก่ ธาตุดิน มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ธาตุน้ำ มีลักษณะที่ไหลหรือเกาะกุม ธาตุไฟ มีลักษณะที่เย็นหรือร้อน ธาตุลม มีลักษณะที่ไหวหรือเคร่งตึง นี่เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน และก็ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย ๓ รูป รู้ลักษณะของรูปโดยนัยของอิริยาบถบรรพ ก็จะมีเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึง หรือไหวบ้าง

ตามปกติ การระลึกรู้ลักษณะของรูปต้องมีลักษณะของรูปให้ระลึกได้ ที่อิริยาบถ คือ นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ก็ตาม ก็จะต้องมีลักษณะของรูปปรากฏให้สติระลึก ถ้าแตกย่อยกระจัดกระจายรูปออกไปเป็นส่วนเล็กๆ แต่ละรูป ลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ที่ตึงไหว ที่ไหลเกาะกุม ก็ยังคงมีในรูปนั้นๆ แต่ละอณู แต่จะกล่าวไม่ได้เลยว่า รูปที่แตกย่อยออกละเอียดแล้วนั้นนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน จะไม่มีรูปนั่งเล็กๆ จะไม่มีรูปนอนเล็กๆ จะไม่มีรูปยืนเล็กๆ จะไม่มีรูปเดินเล็กๆ เลย

วิสุทธิมัคค ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทส มีข้อความว่า

อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการแยกธาตุต่างๆ และเพราะ ฆนะปิดบังไว้

เมื่อพิจารณาความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแล้ว และสันตติขาดไป อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง

เมื่อมนสิการถึงความบีบคั้นเนืองๆ และเพิกอิริยาบถเสียได้ ทุกขลักษณะก็ปรากฏตามความเป็นจริง

เมื่อพรากธาตุต่างๆ ออกจากกัน และพรากฆนะได้ อนัตตลักษณะก็ปรากฏตามความเป็นจริง

ไม่ใช่เพียงแต่ข้อความในวิสุทธิมรรคเท่านั้นที่กล่าวถึงการเพิกอิริยาบถ ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ นันทโกวาทสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นพระมหาปาชาบดีโคตมีพร้อมด้วยภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงโอวาทสั่งสอนพวกภิกษุณี จงรับสั่งแสดงธรรมแก่พวกภิกษุณีเถิด

ซึ่งในที่สุดพระผู้มีพระภาคก็ได้มีพระดำรัสให้ท่านพระนันทกะแสดงธรรมกับภิกษุณี ข้อความที่ท่านพระนันทกะแสดงกับภิกษุณีทั้งหลายนั้น เป็นเรื่องของจักษุไม่เที่ยง โสตไม่เที่ยง ฆานไม่เที่ยง ชิวหาไม่เที่ยง กายไม่เที่ยง มโนไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง เป็นต้น คือ ทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก

ข้อความที่พระท่านนันทกะแสดงธรรมซึ่งเป็นคำอุปมา มีว่า

ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาด ฆ่าโคแล้วใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือแล่คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า โคตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้ เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง

ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคที่กล่าวนั้น ชื่อว่ากล่าวชอบหรือหนอแล

ภิกษุณีกล่าวตอบว่า

หามิได้ เจ้าข้า

ท่านพระนันทกะถามว่า

นั่นเพราะเหตุไร

ภิกษุณีตอบว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาดโน้น ฆ่าโคแล้ว ใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือ แล่คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แม้เขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า โคตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง ก็จริง ถึงกระนั้น โคนั้นก็แยกกันแล้วจากหนังผืนนั้น

ท่านพระนันทกะกล่าวต่อไปว่า

ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย เราเปรียบอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความชัด เนื้อความในอุปมานั้น มีดังต่อไปนี้

ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย ข้อว่าส่วนเนื้อข้างในนั้น เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ ส่วนหนังข้างนอกนั้น เป็นชื่อของอายตนะภายนอก ๖ เนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่างนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ มีดแล่โคอันคมนั้น เป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ ซึ่งใช้เถือ แล่ คว้านกิเลสในระหว่าง สังโยชน์ในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่างได้

อันนี้เหมือนกับการเพิกอิริยาบถไหม มีโค ๑ ตัว แต่ยังไม่ได้กระจัดกระจายส่วนต่างๆ ของโคนั้นออกเลย เพราะยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่ประชุมรวมกัน แต่เมื่อใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามของรูป แล้วก็แยกส่วนต่างๆ ที่เป็นภายใน ได้แก่ อายตนะภายใน ส่วนหนังโคที่หุ้มไว้ภายนอก ก็ได้แก่อายตนะภายนอก สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์

ทุกท่านที่ยังไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย ติดกันหมดทั้งอายตนะภายในอายตนะภายนอก แยกได้ไหม ขณะที่กำลังเห็นมีอายตนะภายใน มีอายตนะภายนอก ขณะที่กำลังได้ยิน ได้ยินเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่รู้ทางหู เป็นโสตายตนะ ส่วนเสียงก็เป็นสัททายตนะ เป็นอารมณ์ภายนอก ไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเห็นกับสีทางตา ก็ไม่สามารถแยกอายตนะภายในกับภายนอกได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของได้ยินว่า ต่างกับเสียงที่ปรากฏทางหู ก็ไม่สามารถแยกอายตนะภายในกับภายนอกได้

เพราะฉะนั้น ก็ติดกันแน่นหมด ตลอดทุกขณะเรื่อยมา ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ขณะนั้นเป็นโคตัวหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วก็มีส่วนต่างๆ ซึ่งปัญญาต้องแยกส่วนต่างๆ นั้น รู้ชัดตั้งแต่ส่วนที่เป็นหนังที่ปกคลุมไว้ภายนอก กับส่วนเนื้อต่างๆ ที่เป็นภายใน ถ้าปัญญาไม่รู้ชัดอย่างนี้ ก็ปรากฏเป็นโค ๑ ตัว

นี่พูดถึงโค แต่ตัวของท่านเองเหมือนกันไหม มีทั้งอายตนะภายใน มีทั้งอายตนะภายนอก แล้วก็รู้สึกว่านั่งอยู่ กระจัดกระจายออกแล้วก็เป็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม เมื่อเป็นรูปแต่ละรูป เป็นนามแต่ละนาม คนก็ไม่มี ในนามรูปปริจเฉทญาณ จะปรากฏลักษณะของนามทีละนาม ลักษณะของรูปทีละรูป แต่ไม่มีอิริยาบถในนามรูปปริจเฉทญาณ

ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ แล้วจะรู้ชัดได้ ถ้าท่านเข้าใจถูกต้องในสติปัฏฐาน อยู่ในโลกอื่นก็สามารถระลึกลักษณะของนามของรูปที่เกิดปรากฏในโลกนั้น ในภูมินั้นได้ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้าเกิดในอบายภูมิก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ หรือว่า ในอรูปพรหมภูมิก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ นอกจากเป็นพระโสดาบันบุคคลในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เสียก่อน

ถ้าในโลกมนุษย์ พิจารณารู้ลักษณะของนามรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในภูมิอื่น ในโลกอื่น ก็สามารถเจริญสติปัฏฐานต่อได้


หมายเลข  5694
ปรับปรุง  24 ต.ค. 2565