แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85


พระปัจฉิมโอวาทใน ฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

โอวาทครั้งสุดท้ายสำหรับพุทธบริษัทยังคงเป็นการเจริญสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกลักษณะของสังขารทั้งหลายที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดทั้งสิ้นที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นเครื่องระลึกสำหรับให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายนั้นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

ข้อความใน มหาสติปัฏฐานสูตร เรื่องอุทเทสวารกถา ซึ่งเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ คือ อานาปานบรรพ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจเข้า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่าเราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักสั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าใจสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า

ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง

พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง

พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง

พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักแต่ว่าความรู้ เพียงสักแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฎฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

จบอานาปานบรรพ

นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก สำหรับอานาปานบรรพคงจะมีพยัญชนะที่ทำให้ยังข้องใจหรือสงสัยอยู่ แต่ข้อสำคัญคือ มหาสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่า ในบรรพนี้จะมีคำว่า เราหายใจเข้า เราหายใจออก เป็นเครื่องระลึกเพื่อให้รู้ชัด คือเห็นกายในกายซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจพยัญชนะด้วย

สำหรับอานาปานสตินั้น ควรจะได้ทราบว่า เจริญอย่างไร เพราะถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดแล้วคงจะสับสน เพราะมีทั้งในเรื่องของสมถภาวนาและในมหาสติปัฏฐาน

ก่อนอื่น ขณะนี้ลมหายใจมีไหม มี ปรากฏไหม บางทีก็ปรากฏ บางทีก็ไม่ปรากฏ คำตอบก็ไม่แน่นอนว่า สำหรับที่ปรากฏนั้นปรากฏเมื่อไร

ที่ถูกแล้ว ลมหายใจถึงแม้ว่ามีอยู่จริง แต่เป็นสภาพที่ละเอียดประณีต เพราะเหตุว่าจิตของบุคคลใดๆ ก็ตามที่ไม่เคยเจริญความสงบ ที่จะให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ ถึงแม้ว่าในขณะนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียดคู้ ประกอบกิจการงานต่างๆ นั้น จะมีลมหายใจก็ตาม แต่จิตของบุคคลย่อมคล้อยไปสู่อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง เป็นปกติ

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเจริญความสงบให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ ตื่นขึ้นมา ลืมตาเห็น เสียงกระทบปรากฏ กลิ่นกระทบปรากฏ รสกระทบปรากฏ กายกำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็งปรากฏ ในขณะนี้มีใครบ้างที่กำลังรู้ลักษณะของลมหายใจ และลมหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของกาย ตราบใดที่ยังมีชีวิต มีกายอยู่ ก็จะต้องมีลมหายใจ เกิดแล้วก็ดับไปตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งของกายจริงๆ

ปกติธรรมดาจิตย่อมคล้อยไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติ ถ้าจะให้จิตตั้งมั่นสงบอยู่ที่ลมหายใจ จะต้องไปสู่สถานที่สงัด จึงต้องไปสู่ป่าบ้าง สู่โคนไม้บ้าง สู่เรือนว่างบ้าง เพราะเหตุว่าต้องอาศัยความสงัดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาเรื่องของมหาสติปัฏฐาน จะต้องทราบด้วยว่า ในหมวดของอานาปานสติที่จะให้สติระลึกที่ลมหายใจนั้นจะต้องไปสู่สถานที่เช่นไร

ถ. ในเรื่องของอานาปานบรรพ ดูเหมือนจะพาดพิงไปทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งมหาสติปัฏฐานด้วย ทั้งสมาธิด้วย

สุ. สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะรู้ความจริง เจริญปัญญา จะต้องเจริญสติ ไม่ว่าจะเคยเจริญสมาธิ เคยน้อมใจไปในการที่จะให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ แม้ในขณะนั้นสติก็จะต้องตามระลึกรู้จึงจะเกิดปัญญา เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

ในขณะที่บิณฑบาต ฉันภัตตาหาร นั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว พูด นิ่ง คิด ประกอบกิจการงาน หรือแม้ในขณะที่ไปสู่ป่า ก็ต้องมีสติด้วย เจริญสติด้วย เป็นปกติทีเดียว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเจริญสติปัฏฐานที่นั่น เป็นผู้ที่ปกติเจริญสติ มิฉะนั้นแล้วเวลาที่จิตสงบ สติระลึกรู้ไม่ได้

ผู้ใดจะกล่าวว่า ไปเจริญสมาธิเสียก่อนเป็นปฐมฌาน แล้วก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปได้ด้วยความต้องการ หรือด้วยอัตตา แต่ที่จะเป็นไปได้ เพราะเหตุว่าเคยเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจิตสงบก่อนจะถึงปฐมฌาน สติก็ระลึกได้ หรือแม้ว่าเวลาที่ปฐมฌานเกิดแล้ว สติก็ตามระลึกได้ เพราะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าสติสามารถที่จะแทรกตามระลึกรู้ลักษณะของธรรมทั้งปวงได้

ขอกล่าวถึงพยัญชนะเป็นลำดับไป ที่ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี

พยัญชนะที่ว่าป่า ที่ว่าโคนไม้ ที่ว่าเรือนว่าง ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา ได้แสดงความหมายของคำว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีข้อความว่า

คำว่า อรัญฺญํ หมายความว่า สถานที่ทุกแห่งนอกเสาเขื่อนไป สถานที่นั้นเป็นป่า

อภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ คือ เป็นการจำแนกฌาน ซึ่งเป็นสุตันตภาชนีย์ มีข้อความว่า

ป่า ได้แก่ บริเวณนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้น

นอกเสาเขื่อนที่นี้ ก็คือ นอกเขตบ้าน นอกอาคารนั่นเอง ถ้าไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่อาคาร ก็เป็นป่า

อรรถกถา พระวินัย อานาปานสติสมาธิกถา มีข้อความกล่าวถึงการเจริญ อานาปานสติสมาธิว่า

บรรดาป่าทั้งหลาย อันมีลักษณะที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้ว่า ชื่อว่าป่า ได้แก่ สถานที่ออกไปภายนอกเสาเขื่อน ทั้งหมดนี้จัดเป็นป่า ดังนี้

และว่า เสนาสนะ ชั่วระยะ ๕๐๐ ธนู คือ ๕๐๐ ธนูห่างจากบ้านเป็นอย่างต่ำ ชื่อว่าเสนาสนะป่า ดังนี้

อานาปานสติสมาธิกถา ที่มีกล่าวไว้ใน สมันตภาสาทิกา ที่เป็นอรรถกถาพระวินัย มีว่า

บทว่า ไปสู่ป่าก็ดี มีพยัญชนะอธิบายว่า คือ ไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัด สำหรับอานาปานสติสมาธิ

อภิธรรมปิฎก ฌานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ ได้อธิบายความหมายของคำว่าสงัด

บทว่า สงัด มีอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

คำว่าเกลื่อนกล่นในที่นี้ คือ วุ่นวายนั่นเอง ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเลย ที่เขาคิชกูฎพระผู้มีพระภาคก็มิได้ประทับเพียงพระองค์เดียว ถึงแม้เป็นที่สงบ เป็นที่สงัด ก็มีพระภิกษุที่อยู่ในบริเวณเขาบริเวณป่านั้นด้วย เพราะฉะนั้น คำว่า สงัดจึงต้องมีคำอธิบายว่า แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ใกล้ แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่น คือ ไม่วุ่นวายด้วยเหล่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

เพื่อให้พยัญชนะสมบูรณ์ขึ้น ข้อความต่อไปมีว่า

แม้หากเสนาสนะใดจะอยู่ในที่ไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหล่า คฤหัสถ์ บรรพชิต ด้วยเหตุนั้นเสนาสนะนั้นชื่อว่า สงัด

เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า สงัด ไม่ใช่อยู่ที่ใกล้ หรือไกล แต่อยู่ที่ไม่วุ่นวาย เพราะเหตุว่าไกลก็วุ่นวายได้ ที่เขาคิชกูฏวุ่นวายก็ได้ ที่พระวิหารเชตวัน ถ้ามีภิกษุที่ไม่สำรวมกายวาจาเป็นอาคันตุกะมา ก็วุ่นวายได้ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ที่สงัดสำหรับอานาปานสติสมาธิ

สำหรับ บทว่า เสนาสนะ ได้แก่ เสนาสนะ คือ เตียงบ้าง ตั่งบ้าง ที่นอนบ้าง หมอนบ้าง วิหารบ้าง เพิงบ้าง ปราสาทบ้าง ป้อมบ้าง โรงบ้าง

เสนาสนะ คือ ที่เร้นลับ ถ้ำบ้าง โคนไม้บ้าง พุ่มไม้บ้าง หรือภิกษุยับยั้งอยู่ในที่ใด ที่นั้นทั้งหมดชื่อว่า เสนาสนะ

นอกจากป่า ซึ่งได้แก่บริเวณนอกเสาเขื่อนทั้งหมดนั้น ก็ยังมีเสนาสนะ คือ รุกขมูล ได้แก่โคนไม้ อพฺพต ได้แก่ภูเขา กันทร ได้แก่ซอกเขา คิริคูหา ได้แก่ถ้ำในเขา สุสาน ได้แก่ป่าช้า อัพโพกาส ได้แก่ที่แจ้ง ตลาลปุญชะ ได้แก่ลอมฟาง

ไม่ใช่แต่เฉพาะป่ากับโคนไม้ รวมทั้งที่อื่นด้วย แล้วก็ดง คือ เสนาสนะที่อยู่ที่ไกล เป็นชื่อของเสนาสนะ ราวป่า น่าหวาดกลัว น่าหวาดหวั่น ที่อยู่ปลายแดน ไม่อยู่ใกล้มนุษย์ เป็นชื่อของเสนาสนะที่หาความเจริญได้ยาก

ถ้าเป็นที่ห่างไกลอย่างนั้นแล้ว ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ดง

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะไปที่โคนไม้ หรือว่าภูเขา ซอกเขา ถ้ำในเขา สุสาน คือ ป่าช้า หรือที่แจ้ง ก็เป็นที่สงัด สมควรแก่สติจะตั้งมั่นที่ลมหายใจได้ ผู้นั้นเคยเจริญอบรมมาอย่างนั้น ก็ไปสู่ที่นั้น เพราะเหตุว่าถ้าเป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิแล้ว ไม่ใช่การระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างอื่นนอกจากการที่เคยอบรม เพราะฉะนั้น ก็ไปที่นั่น แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ สติต้องตามระลึกรู้ไปด้วยจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จึงจะอยู่ในมหาสติปัฏฐาน ในอานาปานบรรพ

พยัญชนะที่ว่า ไปสู่โคนไม้ก็ดี ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีข้อความว่า

คำว่า รุกฺขฺมูลํ ความว่า อาสนะของภิกษุซึ่งจัดไว้ที่โคนไม้นั้น คือ เตียง ตั่งฟูก เสื่อ ท่อนหนัง เครื่องลาดทำด้วยหญ้า เครื่องลาดทำด้วยใบไม้ หรือเครื่องลาดทำด้วยฟาง ภิกษุ เดิน ยืน นั่ง หรือนอนที่อาสนะนั้น

พยัญชนะที่ว่า ไปสู่เรือนว่างก็ดี ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีข้อความว่า

คำว่า สุญฺญํ ความว่า เป็นสถานที่ที่ไม่เกลื่อนกล่นด้วยใครๆ เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม

คำว่า อาคารํ คือ วิหาร โรงมีหลังคาครึ่งหนึ่ง ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ

สำหรับใน สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย

บทว่า ไปสู่เรือนว่างก็ดี คือ ไปสู่โอกาส หมายความถึงสถานที่อันสงัดว่างเปล่า

เรื่องของการเจริญอานาปานสติสมาธิเป็นเรื่องที่ต้องสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสตามสมควร สติจึงจะระลึกที่ลมหายใจได้นานจนกระทั่งเป็นสมาธิ นอกจากนั้น มีข้อความว่า

ภิกษุ แม้ไปสู่เสนาสนะ ๗ อย่างที่เหลือ เว้นป่า และโคนไม้เสีย จะกล่าวว่าไปสู่เรือนว่าง ดังนี้ก็ควร

ข้อความที่ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

มีพยัญชนะเพิ่มเติมที่ว่า นั่งคู้บัลลังก์ ซึ่งมีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงชี้แจงความมั่นคงแห่งกิริยานั่ง ความสะดวกแห่งความเป็นไปของลมหายใจออก และลมหายใจเข้า ถึงอิริยาบถอันสงบ เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน จึงตรัสว่า

นั่งคู้บัลลังก์ เมื่อนั่งอย่างนี้ หนัง เนื้อ และเอ็น ย่อมไม่โน้มเอียงไป เวทนาที่จะเกิดเพราะเนื้อ และเอ็นเหล่านั้นโน้มเอียงไปย่อมไม่เกิด เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดจิตย่อมมีอารมณ์เป็นอันเดียว สมาธิย่อมเพิ่มพูนเจริญได้

เวลานี้ทุกคนมีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น แล้วก็อาจจะโน้มเอียงไปทางหนึ่งทางใดที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิดได้ เพราะความโน้มเอียงไปของหนัง ของเนื้อ ของเอ็นนั่นเอง

บางคนเวลาที่นั่งไม่สะดวก ประเดี๋ยวก็เกิดทุกขเวทนา เมื่อยขัด ปวดไปหมดการที่จะให้จิตสงบเป็นเอกัคคตาตั้งมั่นที่ลมหายใจ ก็ย่อมจะไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงพยัญชนะว่า นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เพื่อที่ว่า เมื่อหนัง เนื้อ เอ็น ไม่โน้มเอียงไป ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นรบกวน จิตย่อมมีอารมณ์เป็นอันเดียว สมาธิย่อมเพิ่มพูน


หมายเลข  5547
ปรับปรุง  7 ก.ย. 2565