แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74


แต่ถ้าท่านเจริญสติเป็นปกติ สามารถละอกุศล หรือกายวาจาที่ไม่ดีไม่งามไม่เหมาะไม่ควรได้ มีสติที่ระลึกได้แม้ในขณะนั้นทีเดียว และจะสังเกตได้ว่า ถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญสติ เวลาที่เกิดโลภะ โทสะ แล้วเว้น วิรัติในขณะนั้น และก็รู้ด้วยว่าลักษณะนั้นเป็นนามหรือเป็นรูป

ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีที่ทำมานาน ท่านก็ทราบว่า สิ่งนี้เกิดเพราะมีปัจจัย คือ การสะสมมานานมากจึงทำให้กายวาจาเป็นอย่างนั้น ใครสะสมกายวาจามาในลักษณะใด ก็ทำให้บุคคลนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเจริญสติ สติสามารถเกิดขึ้นแม้ในขณะนั้น

เพื่อประกอบความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ทสพล วรรคที่ ๓

ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระภูมิชะออกจากที่เร้น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร แล้วสนทนากันเรื่องกรรมตามความคิดเห็นของสมณพราหมณ์ต่างๆ ท่านพระอานนท์ได้ยินการสนทนาระหว่างท่านพระสารีบุตรกับท่านพระภูมิชะ ท่านพระอานนท์ก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถ้อยคำสนทนาของท่านพระสารีบุตรกับท่านพระภูมิชะเท่าที่มีมาแล้วทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตามที่ท่านพระสารีบุตรพยากรณ์นั้น ชื่อว่าพยากรณ์โดยชอบ แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมกับท่านพระอานนท์ว่า

บุคคลรู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งกายสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในให้เกิดขึ้นบ้าง บุคคลไม่รู้สึกตัว ก็ย่อมปรุงแต่งกายสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง

บุคคลรู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง บุคคลไม่รู้สึกตัว ก็ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง

บุคคลรู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง บุคคลไม่รู้สึกตัวก็ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง

ดูกร อานนท์ อวิชชาแทรกอยู่แล้วในธรรมเหล่านี้

ดูกร อานนท์ ก็เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ กายซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี วาจาซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี ใจซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี

นี่แสดงถึงบุคคลที่รู้สึกตัวกับบุคคลที่ไม่รู้สึกตัว ปกติเป็นบุคคลไหนมาก บุคคลไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาพยัญชนะว่า บุคคลไม่รู้สึกตัวย่อมปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง จริงหรือไม่จริง

บุคคลผู้ไม่รู้สึกตัว ที่เคยหลงลืมสติเป็นเวลานานมาก มีกายสังขารไหม มีการกระทำทางกายไหม มีวจีสังขาร คำพูดต่างๆ ที่ทำให้เกิดสุขเกิดทุกข์บ้างไหม มีใจที่ตรึกไปคิดไปทำให้เป็นสุขเป็นทุกข์เกิดขึ้นบ้างไหม นี่เป็นบุคคลผู้ไม่รู้สึกตัว

ส่วนบุคคลที่รู้สึกตัว ในพยัญชนะนี้กล่าวว่า

บุคคลรู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง

ไม่ผิดปกติเลย พูดได้ คิดได้ ทำได้โดยเป็นผู้รู้สึกตัว ขณะพูด ผู้เจริญสติที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลต้องมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้นว่า เป็นเพียงลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏตามเหตุปัจจัยเท่านั้น

ขอตอบปัญหาข้อที่ ๒ ของผู้ต้องขังเรือนจำกลางราชบุรีที่ถามว่า มีอาจารย์ที่ไหนบ้างที่จะกรุณาแนะนำให้ผมได้บ้าง

ตอบ ขอให้ท่านพิจารณาความต้องการของท่านว่า ต้องการอาจารย์เพื่อปฏิบัติตามคำของอาจารย์ หรือเพื่อช่วยให้เข้าใจธรรมของพระผู้มีพระภาคชัดเจนถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแต่งตั้งให้บุคคลใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะฉะนั้น ผู้ใดกล่าวธรรมของพระผู้มีพระภาค ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาค ชื่อว่าฟังครูบาอาจารย์ หรือฟังธรรม คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การไปหาครูบาอาจารย์ก็เพื่อให้เข้าใจธรรมของพระผู้มีพระภาคถูกต้อง

ถ. ดิฉันมีข้อสงสัยว่า การศึกษาพระไตรปิฎกซึ่งเป็นตัวหนังสือ เทียบกับมาศึกษาในอารมณ์ ในขันธ์ ๕ ของเรา ในตัวเรานี้ อาจารย์บอกให้เจริญสติ สิ่งไหนจะมีประโยชน์กว่ากัน

สุ. มีประโยชน์ทั้ง ๒ ประการ เพราะถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลย จะมีผู้ใดเจริญสติได้บ้าง มีผู้ใดจะพิจารณารูปนาม ขันธ์ ๕ ได้บ้าง ก็ไม่มี แต่ที่พิจารณารูปนามขันธ์ ๕ ก็เพราะอาศัยการฟังธรรมจากพระไตรปิฎกนั่นเอง และไม่ควรเพียงแค่ฟังแต่ไม่เจริญสติปัฏฐาน

ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไว้ก็เพื่ออุปการะให้ผู้ศึกษาประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะได้ประโยชน์มาก คือ ผู้ที่ศึกษาแล้วประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาเท่านั้น

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อัปปมาทวรรคที่ ๑๐ ตถาคตสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์เหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘

คนที่ประมาทในการเจริญสติ วันหนึ่งๆ ชีวิตก็ผ่านไปด้วยความเพลิดเพลินทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลงยึดถือเป็นไปกับการเป็นตัวตน แต่ผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยย่อมระลึกได้ สติอาจจะเกิดทีละเล็กทีละน้อยในตอนต้น แต่ยังดีกว่าที่สติไม่เคยเกิดเลย ไม่เคยพิจารณาลักษณะของนามและรูปเลย

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาทย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล

ถ้าเวลานี้สติไม่เกิด ประมาท หรือไม่ประมาท กำลังนั่งกันอยู่ในขณะนี้ ประมาท ถ้าสติไม่เกิด

พยัญชนะทั้งหมด คือ วิเวกก็ดี วิราคะก็ดี นิโรธก็ดี น้อมไปในการสละก็ดี มีอรรถอย่างเดียวกัน

คนในโลกนี้มีอัธยาศัยต่างๆ กัน บางคนก็จะชอบสังคม ชอบอยู่กับเพื่อนฝูงมากหน้าหลายตา แต่บางคนไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับใครเลย นั่นเป็นคนที่ต้องการละกิเลสหรือยัง

เพราะฉะนั้น ความหมายของวิเวก เป็นวิราคะ เป็นนิโรธ เป็นสภาพที่น้อมไปในการสละ อย่าเข้าใจเอาเองว่า จะปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังเป็นวิเวก แต่ไม่เคยคิดสละกิเลสเลย อย่างนั้นไม่ใช่วิเวก และถ้าจะดูในพระสูตรอื่นต่อไป เช่น ใน ตถาคตสูตรที่ ๒ ข้อความโดยนัยเดียวกัน แต่พยัญชนะเปลี่ยนเพื่อกันความเข้าใจผิด เช่น มีข้อความว่า

ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ และมรรคองค์อื่นๆ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด

นี่คือความหมายของการสละ การละ เพื่อวิราคะ นิโรธนั่นเอง แต่ว่าพยัญชนะเปลี่ยน เพื่อให้เข้าใจว่า ที่เป็นวิเวกก็ดี ที่เป็นวิราคะก็ดี ที่เป็นสภาพที่เป็นการน้อมไปในการสละนั้น ก็คือละราคะเป็นที่สุด ละโทสะเป็นที่สุด ละโมหะเป็นที่สุด

คำว่า เป็นที่สุด ในที่นี้คือเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีก ไม่ใช่เพียงระงับ หรือบังคับไม่ให้โลภะเกิด อย่างเวลาที่โลภะเกิด มรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่พยายามไปบังคับไม่ให้เกิด แต่ผู้เจริญสติปัฏฐานเจริญมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง นี่จึงจะเป็นการกำจัดราคะเป็นที่สุด คือ เป็นสมุจเฉทจริงๆ ไม่เกิดอีกเป็นลำดับขั้น คือ ตั้งแต่ขั้นที่ดับความเห็นผิด สักกายทิฏฐิที่ยึดถือโลภะนั้นว่าเป็นตัวตน ที่ยึดถือโทสะว่าเป็นตัวตน ที่ยึดถือโมหะว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ไปพยายามบังคับไม่ให้โลภะเกิด แต่มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นพร้อมกับสัมมาสติระลึกรู้ว่า สภาพที่กำลังปรากฏลักษณะของโลภะนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน

ด้วยวิธีอย่างนี้จึงสามารถกำจัดราคะเป็นที่สุดได้ สามารถกำจัดโทสะเป็นที่สุดได้ สามารถกำจัดโมหะเป็นที่สุดได้ คือ เป็นสมุจเฉท ไม่ให้เกิดอีกเลยได้

ตถาคตสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ และมรรคองค์อื่นๆ อันหยั่งลงสู่อมตะ

อมตะเป็นอีกชื่อหนึ่งของนิพพาน คือ สภาพที่ไม่ตาย เมื่อเป็นสภาพที่ไม่ตาย ก็ต้องเป็นสภาพที่ไม่เกิด จึงจะไม่ตายได้

ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ และมรรคองค์อื่นๆ หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

ตถาคตสูตรที่ ๔ ก็มีข้อความโดยนัยเดียวกัน แต่เปลี่ยนพยัญชนะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ มีข้อความว่า

ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ และมรรคองค์อื่นๆ ต่อไป อันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน

แทนที่จะใช้คำว่าวิเวก วิราคะ นิโรธ หรือว่าน้อมไปในการสละ ก็ใช้พยัญชนะชัดเจนตรงทีเดียวว่า อันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน

ถ้าไม่พิจารณาอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าการปลีกกายเป็นวิเวก แต่การปลีกกายยังไม่ใช่วิเวก เพราะวิเวกมี ๒ อย่าง กายวิเวก กับ จิตวิเวก

ผู้ที่เห็นว่า การคลุกคลีด้วยหมู่คณะเจริญสติปัฏฐานยากปัญญาเกิดยาก ไม่สามารถประพฤติเป็นไปได้ จึงสละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นกายวิเวก และต้องเจริญสติปัฏฐานเพื่อจิตวิเวกด้วย นั่นสำหรับบรรพชิต แต่การเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะบรรพชิตเท่านั้น ฆราวาสก็เจริญมรรคมีองค์ ๘ ได้ เพราะแต่ละคนเป็นนามเป็นรูปที่สะสมเหตุปัจจัยมาไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ต้องเอาอย่างกัน อย่างบางท่านก็ข้องใจในเรื่องของการเจริญอานาปานสติว่า ท่านให้พิจารณาลมหายใจเข้าออก ยาวสั้นก็ให้รู้ หรือว่าปีติเกิดก็ให้รู้

การเจริญสติปัฏฐานนั้นสำหรับทุกบุคคล ในครั้งพุทธกาล ไม่ว่าผู้นั้นจะเจริญอานาปานสติบรรลุฌานจิตตั้งแต่ปฐมฌานไปถึงปัญจมฌาน แต่ถ้าในขณะที่จิตของบุคคลที่เจริญอานาปานสติ ฌานจิตเกิด หรือถ้ายังไม่เกิด หรือเพียงปีติปรากฏ ผู้นั้นสามารถระลึกรู้ลักษณะของนาม หรือรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็เป็นสติปัฏฐาน หมายความว่า สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามใดๆ รูปใดๆ ได้ทั้งสิ้น เพราะว่าการเจริญสติที่ละการหลงยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้นั้น จะต้องรู้จักนามรูปที่เกิดกับตน ซึ่งแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันเลย ใครสะสมมาในเรื่องอะไร มากน้อยอย่างไร สติปัญญาของผู้นั้นจะต้องรู้ และละคลายการที่เคยยึดถือนามรูปที่เกิดกับตน ไม่ใช่ที่เกิดกับบุคคลอื่น

เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบรรพชิต ซึ่งมีกายวิเวก ขณะนี้เย็นบ้างไหม เป็นลักษณะหนึ่งแล้ว หรือคิดบ้างไหม เป็นอีกลักษณะหนึ่งแล้ว ไม่เหมือนกันเลย เวลาที่เย็น สติเกิดขึ้นรู้ตรงที่เย็น รู้ที่ไหน ขณะนั้นสิ่งนั้นก็เป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้งของสติ ลักษณะนั้นปรากฏ ความจริงแต่ละรูปแต่ละนามมีลักษณะของตนชัดเจน แต่ปัญญายังไม่แยกชัด เพราะความเป็นตัวตนคอยคิดจะทำ คอยคิดจะจดจ้อง คอยคิดจะอยากรู้อยากดู แต่ไม่ใช่รู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ประจักษ์ชัดจริงๆ ว่า เป็นแต่ละลักษณะ

ผู้ที่เห็นคุณของสติ คือ ผู้ที่เจริญสติ พอสติเริ่มเกิด เริ่มระลึกรู้ เริ่มพิจารณาลักษณะของนามและรูป ก็จะเห็นว่า ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ไม่เคยรู้ที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งถ้ารู้บ่อยๆ เนืองๆ ความรู้นั้นก็ชัดขึ้นมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเห็นคุณของสติ เห็นคุณของธรรม เห็นคุณของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็คือผู้ที่เจริญสตินั่นเอง

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ภิกขุณีสูตร มีข้อความว่า

ที่เมืองสาวัตถี ครั้งนั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปยังสำนักของภิกษุณีแห่งหนึ่ง แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้งนั้นภิกษุณีมากรูปเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ไหว้ท่านพระอานนท์ แล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วจึงพูดขึ้นว่า

ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ภิกษุณีมากรูปในธรรมวินัยนี้ มีจิตตั้งมั่นดีแล้วใน สติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน

ท่านพระอานนท์ตอบว่า

น้องหญิง ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีจิตตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน

ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ ยังภิกษุณีเหล่านั้นให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ครั้นแล้วท่านพระอานนท์ก็เที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ในเวลาปัจฉาภัตร กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลการสนทนากับภิกษุณีในตอนเช้าให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน

สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ แก่ท่านพระอานนท์


หมายเลข  5510
ปรับปรุง  15 ส.ค. 2565