แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46


วันรุ่งขึ้นจากวันเข้าพรรษา โยมบิดาก็ได้ไปที่วิหาร แล้วก็ถามว่า เสนาสนะที่สร้างไว้นั้น ได้แก่ใคร และเมื่อทราบว่า ได้แก่ภิกษุอาคันตุกะ โยมบิดาของท่านก็ได้ไปหาภิกษุ แต่จำบุตรไม่ได้ เมื่อไหว้แล้วก็เรียนให้ทราบว่า ภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในเสนาสนะที่ตนได้สร้างไว้นั้น มีวัตรที่พึงจะปฏิบัติ คือ พึงรับภัตตาหารที่เรือนของตนแห่งเดียวตลอดไตรมาส นั่นเป็นประการหนึ่ง และเมื่อปวารณาแล้ว เวลาจะไปต้องบอกลา เป็นอีกประการหนึ่ง

ภิกษุผู้บุตรก็รับโดยดุษณีภาพ อุบาสกผู้บิดาก็กลับไปที่บ้าน แล้วก็บอกอุบาสิกาผู้มารดาให้ทราบว่า มีพระภิกษุอาคันตุกะมาอยู่ที่เสนาสนะที่ได้สร้างไว้ และก็นิมนต์ให้ท่านรับภัตตาหารตลอดไตรมาส อุบาสิกาก็จัดขาทนียะ โภชนียะอันประณีตไว้ พอถึงเวลาฉัน ภิกษุนั้นก็ไปฉันบิณฑบาตที่เรือนโยมมารดาบิดาของท่านตลอดทั้ง ๓ เดือน แต่ว่าไม่มีใครจำท่านได้เลยสักคนเดียว เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็บอกลา พวกญาติก็ขอร้องให้ไปในวันรุ่งขึ้น และในวันรุ่งขึ้นนั้นก็ได้ถวายภัตตาหาร เติมน้ำมันให้เต็มกระบอก ถวายน้ำอ้อยก้อนหนึ่ง ผ้าสาฎกยาว ๙ ศอกอีกผืนหนึ่ง แล้วภิกษุนั้นก็อนุโมทนา แล้วก็มุ่งหน้ากลับไปยังโรหณวิหาร

ฝ่ายอุปัชฌายะผู้เป็นลุงของท่านก็เดินทางกลับ สวนทางกัน พบกันในที่ๆ เคยพบกันนั่นเอง พระอุปัชฌายะผู้เป็นลุงก็ถามข่าว ภิกษุหนุ่มรูปนั้นก็เล่าเรื่องใหัฟังทุกประการ แล้วก็เอาน้ำมันทาเท้าพระเถระ เอาน้ำอ้อยปรุงเป็นน้ำดื่มถวาย แล้วก็ได้ถวายผ้าสาฎกผืนนั้นแก่พระเถระด้วย เมื่อไหว้แล้ว ก็เรียนพระเถระว่า โรหณชนบทเท่านั้นที่เป็นที่สบายสำหรับท่าน แล้วท่านก็ลาไปสู่โรหณวิหาร

พระเถระก็กลับไปสู่โกรันทกวิหาร และในวันรุ่งขึ้นนั้น ก็ได้เข้าไปในหมู่บ้าน โกรันทกคาม โยมมารดาภิกษุหนุ่ม ซึ่งเป็นน้องสาวของพระเถระ ก็คอยเฝ้าดูที่หนทางว่า พระเถระจะพาภิกษุซึ่งเป็นบุตรมาเมื่อไร เวลาที่เห็นพระเถระมารูปเดียว โยมมารดาก็คิดว่า ภิกษุผู้เป็นบุตรนั้นคงจะมรณะแล้ว ก็ร้องไห้คร่ำครวญแทบเท้าพระเถระ พระเถระก็นึกรู้ในใจว่า ภิกษุหนุ่มนั้นคงจะมาที่เรือนของโยมมารดาบิดา โดยที่ไม่ให้ใครรู้จัก เพราะความมักน้อยของท่าน แล้วก็จากไป

พระเถระก็ปลอบอุบาสิกา แล้วก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง แล้วก็เอาผ้าสาฎกผืนนั้นให้อุบาสิกาดู เมื่ออุบาสิกาทราบความจริงเช่นนั้น เกิดความเลื่อมใส หันไปทางทิศที่ภิกษุผู้บุตรเดินทางไป นมัสการพลางกล่าวสรรเสริญว่า

พระผู้มีพระภาคคงจะทรงทำภิกษุ ผู้เช่นดังบุตรของเราให้เป็นกายสักขี คือให้เป็นพยาน ตรัสรถวินีตปฏิปทา นาลกปฏิปทา ตุวัฏฏกปฏิปทา และมหาอริยวังสะปฏิปทา อันแสดงความสันโดษด้วยปัจจัย ๔ และความยินดีในภาวนา น่าสรรเสริญ แม้ฉันภัตตาหารอยู่ในเรือนของมารดาผู้บังเกิดเกล้าแท้ๆ ถึง ๓ เดือน ก็ไม่เคยกล่าวเลยว่า ฉันเป็นบุตรของท่าน ท่านเป็นมารดา พระคุณเจ้าเป็นอัจฉริยบุคคล เพราะเหตุว่าแม้มารดาบิดาของท่านก็ยังหาได้เป็นปลิโพธแก่ภิกษุเห็นปานนี้ไม่ จะกล่าวใยถึงตระกูลอุปัฏฐากอื่น

นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่กังวลในตระกูล เป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ แม้มารดาทราบก็อนุโมทนา สรรเสริญในจิตที่ไม่ข้องเกี่ยวในตระกูล ของบุคคลนั้นได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่ท่านเอง ก็ควรที่จะได้ทราบถึงความกังวลใจของท่านว่ามากน้อยแค่ไหน เป็นไปในเรื่องอะไรบ้าง ดีไหม มีความกังวลมากๆ ยึดถือไว้มากๆ ไม่ว่าในอาวาสที่อยู่อาศัย หรือในบุคคล ในตระกูล ยิ่งศึกษาธรรม กุศลยิ่งเจริญ แล้วละอกุศลให้ลดน้อยลง ถ้าจะส่งเสริมให้มีความติด ผูกพันในบุคคลต่างๆ มากๆ ไม่ว่าจะเป็นในตระกูลที่เกี่ยวข้องเป็นอุปัฏฐาก อย่างนั้นจะถูกไหม ดีหรือไม่ดี ไม่ดี ไม่ถูก เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ใครปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นการขัดเกลาของแต่ละบุคคล แต่ให้ทราบว่า ควรละอกุศลธรรม

ปลิโพธ ๑๐ ประการนั้น ประการที่ ๑ ถึงประการที่ ๙ เป็นเครื่องกังวลที่ขัดขวางการเจริญสมาธิ แต่ไม่ขัดขวางการเจริญวิปัสสนา เมื่อความกังวลเกิดขึ้น ผู้เจริญสติพิจารณารู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นได้ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ละความยึดถือสภาพของจิตนั้นว่าเป็นตัวตนได้ ไม่เป็นเครื่องขัดขวางเลย เพราะเหตุว่าเป็นของจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ผู้ที่เจริญสมถภาวนานั้นจะต้องปลีกตัวให้พ้นจากเครื่องกังวลใหญ่ๆ ๙ ประการนี้

บางท่านที่เคยคิดว่าปลิโพธ เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา ก็จะได้ทราบว่า ปลิโพธมีอะไรบ้าง และขัดขวางหรือไม่ เพราะเหตุว่าทุกคนยังมีความกังวล เมื่อมีและกำลังเจริญสติ เพื่อรู้สภาพลักษณะของธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

ถ. ขอให้อธิบายว่าขั้นปฏิบัตินั่นยังไงถึงจะถูก จะตรง

สุ. ให้ทราบว่า ทุกๆ ขณะเป็นของจริง มี ๖ ทาง ทางตากำลังเห็นในขณะนี้ก็จริง ทางหูกำลังได้ยินในขณะนี้ก็จริง ถ้ากลิ่นปรากฏขณะใดก็เป็นของจริงที่กำลังปรากฏ รสกำลังปรากฏขณะใดก็ให้รู้ว่าเป็นของจริงที่กำลังปรากฏ กายกำลังกระทบสัมผัสอะไร ก็เป็นของจริงที่กำลังปรากฏ คิดนึกเรื่องอะไรต่างๆ สุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ ก็เป็นของจริงที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น สติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏได้ทุกอย่าง โดยไม่เลือก ไม่เจาะจง เป็นมหาสติปัฏฐานหนึ่งมหาสติปัฏฐานใดในมหาสติปัฏฐาน ๔ ทั้งนั้น ไม่ใช่ไปบังคับหรือเจาะจง แต่สติจะระลึกรู้บ่อยขึ้น ปัญญาก็พิจารณามากขึ้นจนกว่าจะชัดเจน และไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่ว่าสติจะระลึกรู้ทางไหนมากกว่ากัน ก็เป็นอนัตตา แต่ว่าเมื่อรู้แล้ว ก็ทำให้รู้ว่า ยังไม่รู้นามอะไร รูปอะไร ก็พิจารณาอีกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อละความไม่รู้

ถ. รู้นามรูป เพื่อจุดประสงค์อะไร

สุ. เพื่อละความไม่รู้นามรูป

ถ. เมื่อรู้นามรูปแล้ว จะไปสิ้นสุดลงอย่างไร

สุ. ความรู้จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น ที่ว่าสิ้นสุดนี้หมายความถึงอะไร หมาย ความว่าความรู้สิ้นสุด หรือนามรูปสิ้นสุด

ถ. การรู้นามรูปนี้ก็เพื่อให้สิ้นทุกข์ แต่ยังไม่ทราบว่า การรู้นามรูปนั้น จะเกี่ยวข้องกับการสิ้นทุกข์ได้อย่างไร

สุ. ก่อนที่จะสิ้นทุกข์ ก็ต้องทราบเหตุของทุกข์เสียก่อนว่าคืออะไร ถ้าไม่ทราบเหตุของทุกข์ จะไปเพียรดับทุกข์ได้อย่างไร ผู้ที่สิ้นทุกข์ สิ้นทุกข์เป็นลำดับขั้น ไม่ใช่ว่าจะสิ้นทุกข์ทีเดียวได้หมด ที่ว่าสิ้นทุกข์เป็นลำดับขั้นนั้นก็เพราะเหตุว่า สิ้นกิเลสเป็นลำดับขั้น เวลานี้ทราบหรือยังว่ามีทุกข์อะไรบ้าง มากหรือน้อย เกิดขึ้นเพราะอะไร หรือว่าไม่มีทุกข์ เพราะเหตุว่า เรื่องทุกข์นี้ความจริงก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่ทราบ มีใครบ้างที่ไม่มีทุกข์ อาจจะเข้าใจว่าไม่มีได้ แต่ความจริง ถึงจะคิดว่าไม่มีทุกข์ ทุกข์ก็มี เพราะเหตุว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทุกข์ คือ ความไม่เที่ยง มีอยู่ทุกๆ ขณะ ไม่มีใครพ้นไปได้เลย เมื่อเกิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมประเภทใด ก็เป็นทุกข์ทั้งสิ้น ในความหมายที่ว่า เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การเกิดขึ้นและดับไป ความไม่เที่ยง นั่นแหละเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ทุกคนมีทุกข์ติดตัวอยู่แล้วตั้งแต่เกิดทุกๆ ขณะทีเดียว มีความไม่เที่ยงของนามและรูป ของสังขารธรรมทั้งหลาย จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ก็เป็นผู้ที่มีทุกข์ เพราะเหตุว่ามีการเกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้ที่จะละทุกข์ได้ ก็จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่รู้ความจริงรู้แจ้ง แล้วละความไม่รู้เป็นลำดับขั้น ทุกข์ก็จะหมดไปเป็นลำดับขั้นด้วย

ถ. ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น ควรจะเจริญอย่างไร ถึงจะมีสติรู้ลักษณะของนามและรูปติดต่อกันไปเรื่อยๆ

สุ. ต้องการสติมากอย่างนั้นเชียวหรือ ไม่อยากหลงลืมสติเลยแต่ต้องทราบความจริงว่า ผู้ที่ไม่หลงลืมสติเลย มีสติในขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส คิดนึกตลอดเวลาต้องเป็นพระอรหันต์ ถ้าได้ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะเห็นว่า สำหรับปุถุชนที่หลงลืมสตินั้น เวลาที่เห็นเกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง ในขณะใดที่กุศลเกิด เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในภาวนา จิตในขณะนั้นไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ ไม่เป็นโมหะ ผู้ไม่หลงลืมสติเลยนั้น เป็นพระอรหันต์ ซึ่งได้เคยเจริญสติมาแล้วตั้งแต่เป็นปุถุชน เจริญสติปัญญาเพิ่มขึ้นรู้ลักษณะของนามและรูปตามลำดับขั้น จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์เมื่อใด เมื่อนั้นเวลาเห็นก็มีสติ เวลาได้ยินก็มีสติ เวลาได้กลิ่นก็มีสติ รู้รสก็มีสติ คิดนึก สัมผัส ถูกต้องก็มีสติตลอดเวลาได้

เพราะฉะนั้น เราต้องการอะไร ต้องการผลอย่างไร เมื่อทราบแล้วว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พระอรหันต์เท่านั้นที่มีสติติดต่อกันตลอดเวลา สำหรับปุถุชนแม้แต่จะเพียงวันเดียว ชั่วโมงเดียวก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าการที่จะสมบูรณ์ด้วยสติอย่างนั้น ต้องเริ่มมาจากการเจริญสติทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเป็นพระอริยะแล้วยังเจริญอีก ปัญญาสมบูรณ์เพิ่มขึ้น แล้วเมื่อปัญญาสมบูรณ์มากขึ้น ดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ไม่มีเชื้อของกิเลสใดๆ เลย เมื่อเห็นจึงมีสติได้ เมื่อได้ยินจึงมีสติได้ ตลอดติดต่อกันอย่างนั้นได้ เพราะเหตุว่าไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจเหตุผลด้วย อย่าไปพากเพียรทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ข้อความจากพระไตรปิฎกเรื่องกุลปลิโพธ เพื่อที่จะให้ได้เทียบเคียง ได้พิจารณา ว่า ตามที่เคยเข้าใจว่า จะต้องละปลิโพธทั้งหมดก่อน แล้วถึงจะเจริญวิปัสสนาได้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าถ้ายังมีกิเลส กิเลสนั่นเองเป็นปลิโพธ สำหรับกุลปลิโพธนั้น ก็ได้แก่ความเกี่ยวข้องกังวลด้วยบุคคลในตระกูล

สำหรับฆราวาสก็ต้องมีกุลปลิโพธแน่นอน เมื่อบุคคลนั้นยังมีกิเลสอยู่ ไม่ว่าจะอยู่บ้านครองเรือน หรือว่าจะไปอยู่ในที่ใด หรือถึงแม้จะละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แต่เมื่อยังมีกิเลส ก็ยังมีปลิโพธได้ในลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งความกังวลที่มีต่อบุคคลในตระกูลนั้น ก็เป็นความรู้สึกผูกพัน เป็นต้นว่า ถ้าบุคคลในตระกูลเหล่านั้นเป็นสุขก็เป็นสุขด้วย ถ้าบุคคลในตระกูลเหล่านั้นเป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์ด้วย ในฐานะที่อุปการะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะเหตุว่าในครั้งกระโน้นก็มีทั้งภิกษุ มีทั้งภิกษุณี มีอุบาสก อุบาสิกา ซึ่งก็อุปัฏฐากเกื้อกูลแก่ชีวิตของบรรพชิต แม้ภิกษุ ภิกษุณีท่านก็อุปการะเกื้อกูลกันทั้งในทางธรรมด้วย

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค กกจูปมสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน

สำหรับท่านที่อ่านพระสูตรนี้แล้วก็เกิดอนุสสติ ระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งอดีต ท่านก็อาจระลึกถึงพระวิหารเชตวัน ซึ่งเป็นอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นอุบาสกสาวกที่เลิศในการถวายทาน แล้วก็เป็นพระอริยบุคคลด้วย ซึ่งท่านอาจจะได้เดินเข้าและเดินออก ณ พระวิหารเชตวันนั้น แม้ในครั้งนี้ก็อาจจะระลึกถึงว่า ในขณะที่ท่านกำลังก้าวเดินอยู่ในพระวิหารเชตวันนั้น ในครั้งหนึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ให้กรรมกรเอาเงินมาปูลาดเต็มสถานที่นั้น เพื่อซื้อจากเจ้าของเดิม คือ เจ้าเชต และสำหรับในเรื่องกกจูปมสูตรมีว่า

สมัยนั้น ท่านพระโมริยผัคคุณะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ คือถ้าภิกษุรูปใดกล่าวติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่าน ท่านก็โกรธขัดใจภิกษุรูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี

อนึ่ง ถ้าภิกษุรูปใดติเตียนท่านพระโมริยผัคคุณะต่อหน้าภิกษุณีรูปนั้น พวกภิกษุณีนั้นก็พากันโกรธ ขัดใจภิกษุรูปนั้น ถึงกระทำให้เป็นอธิกรณ์ก็มี

ท่านพระโมริยผัคคุณะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ ครั้งนั้นภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลให้ทรงทราบว่า ท่านพระโมริยผัคคุณะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณี

เป็นชีวิตธรรมดาหรือเปล่า หรือว่าบุคคลในครั้งกระโน้นไม่เหมือนบุคคลในครั้งนี้เลย ต่างกันมาก หรือว่าเหมือนกัน ถ้ายังมีกิเลส มีความผูกพัน มีความกังวล มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นวงศาคณาญาติ หรือว่าสหายธรรมก็ได้ ถ้ามีผู้อื่นติเตียนว่ากล่าวผู้ที่ท่านเกี่ยวข้องด้วย ท่านจะรู้สึกขัดใจไหม ซึ่งท่านจะพิจารณาเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่านพระโมริยผัคคุณะเองก็ยังมีกุลปลิโพธ และถึงแม้ภิกษุณีเหล่านั้นเองก็เหมือนกัน เวลาที่มีภิกษุรูปใดกล่าวติเตียนท่านพระโมริยผัคคุณะ ภิกษุณีเหล่านั้นก็โกรธและก็ขัดใจ ถ้าท่านอ่านในพระสูตรหลายๆ พระสูตร ก็จะพบเรื่องของกุลปลิโพธ แม้ในบรรดาภิกษุและภิกษุณี อย่างภิกษุณีบางรูปก็มีศรัทธามากในพระภิกษุบางรูป เช่นมีศรัทธามากในท่านพระอานนท์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านพระมหากัสสปะแสดงธรรมต่อหน้าท่านพระอานนท์ ภิกษุณีรูปนั้นก็โกรธขัดเคืองใจ ที่ท่านพระมหากัสสปะแสดงธรรมต่อหน้าท่านพระอานนท์

นี่ก็เป็นกิเลสของแต่ละคน ซึ่งมากบ้างน้อยบ้าง ทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้างเป็นของธรรมดา

เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ตรัสให้ภิกษุรูปหนึ่งไปบอกท่านพระโมริยผัคคุณะว่า พระศาสดาให้หา และเมื่อท่านพระโมริยผัคคุณะมาเฝ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามว่า ที่พระองค์ทรงทราบนั้นเป็นความจริงไหม ซึ่งท่านพระโมริยผัคคุณะก็กราบทูลรับว่าจริง

ท่านลองคิดดูว่า ถ้าเป็นท่าน ท่านจะกล่าวเตือนว่าอย่างไร จะแสดงสติปัฏฐานหรือจะว่าอย่างไร เพราะเหตุว่าธรรมนั้นมีมาก เรื่องสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ภิกษุเจริญเสมอเนืองๆ เป็นปกติ แต่สติก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดบังคับให้เกิดได้ ไม่ใช่ว่าทุกครั้งทุกโอกาส ไม่ต้องขัดเกลากิเลสอะไรเลย ให้สติเกิด พยายามจงใจพากเพียรที่จะให้สติเกิด แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นอนัตตา แม้สติ แต่ถ้าไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าธรรมใดอุปการะแก่สติ เจริญอกุศลอยู่เนืองนิจ มีความขัดเคืองใจหรือว่ามีปลิโพธ เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ โดยที่ไม่ขัดเกลากิเลสทุกๆ ทางแล้ว ย่อมยากที่จะให้สติเกิดขึ้น แต่ว่าถ้าผู้ใดเจริญกุศลทุกประการเป็นเนืองนิจแล้ว นอกจากจะเป็นการขัดเกลากิเลสให้น้อยลง ก็ยังเป็นการอุปการะแก่สติ ให้ระลึกถึงลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏนั้นด้วย


หมายเลข  5437
ปรับปรุง  3 ก.ค. 2565