แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1857

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๓๒


เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบว่า ก่อนที่จะถามถึงหนทาง ก็ควรจะรู้ว่า ทำไมมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะอะไรปิดบังไว้ อะไรหุ้มห่อไว้ โลกจึงไม่ปรากฏ อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลก และอะไร เป็นภัยใหญ่ของโลก

คำถามของท่านอชิตพราหมณ์ได้เคยกล่าวถึงแล้ว แต่ก็ขอกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า การที่จะเข้าใจธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นโดยตลอด พระผู้มีพระภาคเมื่ออชิตพราหมณ์ถามถึงหนทางปฏิบัติ พระองค์ทรงแสดงธรรมทั้งหลายในชีวิตประจำวันเพื่อให้เข้าใจ ไม่ใช่เรื่องอื่น แต่เป็นเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กิเลสกาม วัตถุกาม ลักษณะของจิตและเจตสิก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อีกอย่างหนึ่ง พึงเป็นผู้ฉลาดในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค ผล นิพพาน พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงแม้ด้วยอาการอย่างนี้

ท่านผู้ฟังหรือท่านที่จะปฏิบัติจะต้องพิจารณาว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในขันธ์ หรือเปล่า เข้าใจเรื่องขันธ์ในขณะนี้ไหม เพราะว่าขันธ์ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ขณะที่ กำลังเห็น มีรูปขันธ์ มีเวทนาขันธ์ มีสัญญาขันธ์ มีสังขารขันธ์ มีวิญญาณขันธ์ ครบทั้ง ๕ แต่ที่ครบทั้ง ๕ นี้ ถ้าเป็นการฟัง หรือการอ่าน การศึกษา ก็จะอยู่ ในหนังสือทั้งหมด ไม่ใช่อยู่ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ยังไม่ใช่ผู้ฉลาด แต่ถ้าเป็นผู้ฉลาดในขันธ์จริงๆ ก็จะรู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นนี้เองเป็นขันธ์ และมีขันธ์ครบทั้ง ๕ ขันธ์ด้วย ถ้าโดยประการอย่างนี้เป็นผู้ฉลาดในขันธ์ และการเป็นผู้ฉลาด ในขันธ์ก็ยังไม่พอ ต้องเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ในอายตนะ ในปฏิจจสมุปบาท ในสติปัฏฐาน ในสัมมัปปธาน ในอิทธิบาท ในอินทรีย์ ในพละ ในโพชฌงค์ ในมรรค ในผล ในนิพพาน คือ พึงเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง

ไม่ใช่ให้ทำอะไรโดยไม่รู้เลย แต่ต้องเป็นผู้ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ โดยละเอียดในสภาพธรรมทั้งหลาย เพื่อเมื่อความเข้าใจนั้นมีความมั่นคง ก็จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ว่า ในขณะนี้เองมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ฉลาด โดยพิจารณาและรู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ไม่มีที่ว่าให้ทำอะไรโดยไม่รู้ แต่ทรงแสดงธรรมตั้งแต่คำถามแรก ซึ่งไม่ใช่เรื่องหนทางปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องอะไรหุ้มห่อโลกไว้ โลกจึงไม่ปรากฏให้รู้ ตามความเป็นจริง ซึ่งทุกคนจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจและอยากจะปฏิบัติ และถามว่าจะปฏิบัติอย่างไร นั่นผิด

มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง ท่านเริ่มสนใจพระธรรม ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะ ชาวต่างประเทศ ชาวไทยซึ่งเคยชินกับภาษาธรรมมาตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดที่จะเข้าใจจริงๆ ส่วนมากอาจจะเข้าใจผิดได้ เมื่อได้สนทนาถึงอกุศลต่างๆ ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ และมีอกุศลมากมายเหลือเกิน อย่างละเอียดตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งหลับตา ขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทต่างๆ

เมื่อท่านผู้นั้นได้ทราบว่า มีอกุศลมากอย่างนั้นแล้ว เพื่อที่จะให้ผู้นั้นคิด เพราะต้องเป็นปัญญาของผู้ฟังเอง ดิฉันก็ถามว่า เมื่อรู้ว่ามีอกุศลมากอย่างนี้แล้ว อยากจะละอกุศลอะไร ผู้นั้นก็ตอบทันที ซึ่งคงจะเหมือนกับท่านผู้ฟังท่านอื่น ไม่ว่าจะชาติไหน ภาษาไหน ท่านผู้นั้นตอบว่า อยากจะละโทสะ

ไม่เห็นโทษของอวิชชา แต่เห็นโทษของโทสะ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่เห็นโทษ เพียงแต่ไม่ชอบลักษณะของโทสะ เพราะว่าโทสะได้แก่ความกังวล ได้แก่ ความหงุดหงิด ได้แก่ความไม่สบายใจ ได้แก่ความห่วงใย ได้แก่ความกลัว อารมณ์ทั้งหลายที่ไม่น่าพอใจที่ทำให้จิตใจไม่สบายเป็นโทสะ เพราะฉะนั้น ทุกคนจะตอบว่า อยากจะละโทสะ แต่ไม่เข้าใจเลยว่า เพราะเหตุใดจึงมีโทสะ ถ้ารู้เหตุคือเพราะว่า มีสภาพธรรมปรากฏและไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น กิเลสทั้งหมดจะค่อยๆ ละคลายได้ก็เมื่ออบรมเจริญปัญญารู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อไรดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล กิเลสอื่นๆ จึงจะค่อยๆ ละคลายได้ เพราะผู้ที่จะไม่มีโทสะ ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล และผู้ที่จะไม่มีโลภะและโมหะเลย ก็ต้องเป็นพระอรหันต์

จะเห็นได้ว่า ถ้าขาดการฟังพระธรรมและการพิจารณาโดยถูกต้อง ทุกคนเพียงปรารถนาที่จะสบายโดยไม่มีโทสะ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว จะต้องอบรมเจริญปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก่อน ถ้ายังไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว แม้โทสะที่เกิดและก็มีความคิดแยบคายที่จะพิจารณา และขณะนั้นโทสะก็เบาบางไป แต่โทสะก็เกิดอีก และจะต้องเกิดอีกต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลเมื่อไร เมื่อนั้นโทสะจึงจะเกิดไม่ได้

แสดงให้เห็นว่า ต้องฟังพระธรรม และต้องเข้าใจ และต้องเป็นผู้ที่ละเอียด มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจผิด เพราะถ้ามีคนบอกว่า ถ้าไม่อยากมีโทสะก็ให้ทำอย่างนั้นๆ ผู้นั้นก็ทำอย่างนั้นๆ และคิดว่าขณะนั้นดีที่ไม่มีโทสะ แต่โทสะก็ต้องเกิดอีกแน่นอน ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีบุคคล

เพราะฉะนั้น ปัญญาเกิดในขณะใด ขณะนั้นอกุศลจึงเกิดไม่ได้

มีข้อสงสัยไหมในเรื่องที่จะทำ หรือเรื่องเป็นตัวตนที่จะทำ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท นอกจากจะระลึกได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แม้สติที่เกิดก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

ถ. ที่ท่านอชิตมาณพถามว่า โลกนี้อะไรปิดบังไว้ หมายถึงอัตตสัญญา ใช่ไหม

สุ. อวิชชา ความไม่รู้ มูลเหตุของอกุศลทั้งหมด คือ ความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นจะต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีความไม่รู้ ถ้าไม่ฟังพระธรรม และถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดระลึก ขณะนั้นก็มีความเข้าใจขั้นปริยัติ แต่ขั้นที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่จะดับกิเลส เกิดไม่ได้ถ้าสติปัฏฐาน ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้เข้าใจแล้ว

อกุศลเจตสิกทั้งหมด มี ๑๔ ประเภท แต่อกุศลธรรมที่เป็นเครื่องเนิ่นช้าในการ ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้แก่ อกุศลเจตสิก ๓ คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า แม้แต่การศึกษาพระธรรม ถ้ายังคงเป็นผู้ที่สนุกสนาน รื่นเริง หรือคิดว่าเมื่อเกิดมาในโลกก็ควรจะมีแต่ความสุข นี่ก็เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า เพราะว่าความสุขที่มีอยู่ในโลกนี้ก็เป็นเพียงความสุขสั้นๆ และถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม แต่ไม่เป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาตนเอง ก็อาจจะไม่รู้ว่า การฟังพระธรรมมีตัณหาแอบแฝงอยู่ซึ่งจะทำให้เป็นเครื่องเนิ่นช้าหรือเปล่า เช่น การอยากได้ ผลเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงภาวนา ๔ อย่าง ซึ่งมีจิรกาลภาวนา ได้แก่ การที่จะต้องบำเพ็ญอบรมเจริญตลอดกาลนาน ไม่ใช่เพียงชาติเดียว หรือ ๒ ชาติ ๓ ชาติ

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดไม่เข้าใจจิรกาลภาวนา หวังจะเป็นพระโสดาบันในชาตินี้ หรือจะให้วิปัสสนาญาณเกิดในชาตินี้ด้วยความหวัง ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เครื่องเนิ่นช้า ซึ่งจะทำให้ห่างไกลจากการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม เพราะ ถ้าไปทำอย่างอื่น คิดว่าเป็นหนทางลัดที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับได้ ก็จะยิ่งไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง

จะเห็นได้ว่า ตัณหา แม้ในการต้องการผลอย่างรวดเร็วก็เป็นเครื่องทำให้เนิ่นช้า แทนที่จะเป็นเครื่องทำให้เร็ว เพราะบางคนรอไม่ได้ ต้องผสมหลายๆ อย่าง คือ ทั้งอย่างนี้ด้วย ทั้งอย่างนั้นด้วย โดยที่ไม่รู้ว่า ถ้าผสมสิ่งผิดจะทำให้ยิ่งเนิ่นช้าไปอีก และบางท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาละเอียดว่า ในการศึกษาธรรมมีตัณหาแอบแฝงไหม เพราะว่าบางคนอาจจะพอใจที่เป็นผู้รู้ธรรม หรือเป็นผู้ที่เก่ง แทนที่จะรู้เพื่อขัดเกลา เพราะฉะนั้น ยิ่งรู้ ย่อมยิ่งขัดเกลา ยิ่งละ จึงจะเป็นจุดประสงค์ที่ถูกต้อง

การศึกษาธรรม ไม่ทำให้เป็นเครื่องเนิ่นช้า แต่ถ้ารู้แล้วหวังที่จะเก่ง ขณะนั้นเป็นเครื่องเนิ่นช้า

สำหรับตัณหาที่เป็นเครื่องเนิ่นช้านั้น มีเวทนาเป็นแดนเกิด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียดถึงเหตุของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ตัณหาทั้งหมด ความอยาก ความปรารถนาทั้งหมด มีเวทนา ความรู้สึก เป็นแดนเกิด เพราะว่า ทุกคนต้องการสุข สบาย เช่น คำสรรเสริญ ยกย่องสักการะเมื่อไหร่ ทำให้จิตใจรู้สึกแช่มชื่น ฟู เบิกบาน สบายใจเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่ต้องการความรู้สึกที่ แช่มชื่น ปลาบปลื้มใจ สบายใจ ขณะนั้นให้ทราบได้ว่า มีตัณหาเกิดขึ้น เพราะว่าเวทนา ความรู้สึกที่สบาย เป็นสุข เป็นแดนเกิดของตัณหา

ทุกท่านไม่ปฏิเสธแน่ อยากได้อะไร เพื่ออะไร ก็เพื่อความรู้สึกเป็นสุขทั้งหมด ไม่ว่าจะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ ให้เข้าใจในขันธ์ ในธาตุ ในอายตนะ ก็จะเป็นปัจจัยทำให้เป็นผู้ฉลาด และเป็นผู้ที่อบรมเจริญ สัมมามรรค ไม่ใช่มิจฉามรรค

สำหรับความรู้สึก ทุกคนต้องมี เพราะว่าเกิดกับจิตทุกดวง และทุกคนก็รู้ว่า เวลาเห็นจะมีความรู้สึกเป็นสุขที่เกิดจากเห็นสิ่งที่ดีๆ น่าพอใจ เวลาได้ยินก็จะมีความรู้สึกเป็นสุขเกิดขึ้นจากเสียงที่เพราะ ที่น่าฟัง แต่คิดดู การเกิดดับสืบต่อของแม้ความรู้สึกในชาติหนึ่งๆ ไม่ได้ห่างไกลกันเลย และเป็นอย่างนี้มานานแสนนานแล้ว เช่น การเห็นในชาตินี้ ขอให้พิจารณาจริงๆ ถ้าจะคิดถึงตั้งแต่เมื่อวานนี้จนกระทั่ง ไปถึงเกิด หรือต่อจากวันนี้จนกระทั่งถึงตาย และเมื่อตายแล้ว จุติจิตเกิดดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อทันที หรือการเห็นในชาตินี้หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิดจนกระทั่งคลอดแล้วก็มีการเห็น ก็ไม่ห่างไกลจากชาติก่อนเลย

แสดงให้เห็นว่า การเห็นในชาตินี้ ขณะนี้ จะสืบต่อกับการเห็นชาติหน้า โดยไม่ห่างไกล บางคนอาจจะเสียดายชีวิต เสียดายความสุขในโลกนี้ จากการเห็น สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ แต่ไม่ต้องเสียดายเลย เพราะว่าทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ ไม่นานก็เห็นอีก จะต้องเสียดายอะไรไหม ทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ หลังจากนั้นไม่นานก็เห็นอีกแล้ว และนี่คือชาตินี้ เพราะฉะนั้น ชาติก่อนแต่ละชาติๆ ที่ใช้คำว่า สังสารวัฏฏ์ นั้น ไม่มีการหยุดเลยของการสืบต่อของการเห็น การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

ทุกคนมีการเห็นมากมายนับไม่ถ้วนในอดีต ในสังสารวัฏฏ์ และสืบต่อมาอย่างใกล้ๆ ทุกๆ ชาติ ไม่มีการทิ้งช่วงว่างที่จะต้องเสียดายชีวิตเลย เพราะว่าไม่ห่างไกลกัน ชาติก่อนก็ไม่ห่างไกลจากชาตินี้ และชาติก่อนกว่าชาตินั้นก็ไม่ได้ห่างไกลกว่าชาติก่อน สืบไปเรื่อยๆ จะเห็นว่า ไม่มีการห่างเลย การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก มีสืบต่อกันมาทุกชาติๆ ไม่เว้นเลย

เพราะฉะนั้น ความต้องการความสุขในแต่ละชาติสั้นมาก ชาติก่อนก็ต้องการความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และหมดไปแล้ว ความสำคัญของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของชาติก่อน ซึ่งชาติก่อนนี้อยากได้มาก ปรารถนามาก ก็ดับหมดแล้ว เมื่อถึงความต้องการความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ของชาตินี้ ไม่นานก็จะหมด และจะเกิดเวทนา ความรู้สึก สืบต่อจากการเห็น การได้ยิน มีความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของชาติหน้าต่อไปอีก และจะจบได้อย่างไร ยังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเห็นอีก ได้ยินอีก สืบต่อจากชาตินี้นี่เอง

ถ. สำหรับตัวผมเอง ไม่ค่อยเสียดายเรื่องที่จะได้เห็น ได้ยินอะไรในโลกนี้เท่าไร ถ้าตายไปตอนนี้ เสียดายธรรมที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ยังเข้าใจน้อยเหลือเกิน ตายไปแล้วจะต้องไปเริ่มต้นใหม่ หรือจะติดต่อไปได้อย่างไร

สุ. เมื่อวานนี้มีความเข้าใจธรรมมากไหม ก็มีบ้างพอสมควรจากการฟัง ถ้ามีโอกาสฟังขณะไหนก็เป็นกุศล และก็เข้าใจขึ้นในขณะนั้น เมื่อวานนี้ยังเป็นอย่างนี้ ถ้าจะจุติเดี๋ยวนี้ ชาติหน้า ถ้าเกิดเป็นเทพก็เห็นทันทีเลย สืบต่อทันที

ถ. ถ้าเป็นเทพก็รู้สึกว่าดี เพราะว่าท่านระลึกได้ แต่ถ้าไปเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก ธรรมที่สะสมไว้รู้สึกว่าจะถูกทับถมไป ไม่ทราบว่าเมื่อไรจะติดต่อกันได้อีก

สุ. เคยเป็นสัตว์มาก่อนหรือเปล่า

ถ. ก็คงจะเคย

สุ. เคยอยู่ในนรกมาก่อนหรือเปล่า

ถ. คงเคยมา

สุ. เคยเป็นเปรตมาแล้วหรือยัง

ถ. คงเคยทั้งนั้น

สุ. สังสารวัฏฏ์ก็ต้องหมุนเวียนไป เพราะฉะนั้น กุศลก็เป็นส่วนของ การสะสมที่เป็นบารมีที่จะทำให้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมอีก และได้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น

ถ. ที่เราเข้าใจน้อยในชาตินี้ คงเป็นเพราะแต่ก่อนเราสะสมไว้น้อยหรือเปล่า

สุ. ชาตินี้พิสูจน์ให้ทราบว่า ชาติก่อนๆ มีการได้ฟังพระธรรม มีการได้ยินพระธรรมมากน้อยแค่ไหน

ถ. ผมสังเกตดูตัวเอง ฟังธรรมไม่ค่อยจะเข้าใจได้ทันที จะต้องคิดทบทวน หรือต้องฟังหลายๆ ครั้งจึงจะเข้าใจ แสดงว่าชาติก่อนคงอบรมศึกษาไว้น้อย ถ้าตายไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน โอกาสธรรมที่จะต่อเนื่องก็คงจะห่างไกลไปอีก แต่คงจะ ไม่ถูกต้องที่คิดอย่างนี้

สุ. จิรกาลภาวนา ต้องทราบความจริงว่า ทุกคนไม่สามารถเร่งรัดที่จะให้ปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้รวดเร็ว

ถ. จิรกาลภาวนา หมายถึงการเจริญภาวนาที่ต้องใช้เวลานาน

สุ. แน่นอน แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระสาวก ก็ต้องเป็นไปตามกำหนดการของการสะสม ถ้าไม่ถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องเป็นผู้อดทนที่จะต้องเข้าใจ สะสมความเข้าใจถูกความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม และรู้ตาม ความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทุกอย่างมีแดนเกิด เช่น ตัณหา ความต้อง เกิดขึ้นในขณะใดให้ทราบว่า มีเวทนาเป็นแดนเกิด

และเวทนาก็สั้นมาก ชั่วขณะเดียวที่เห็น ชั่วขณะเดียวที่ได้ยิน ซึ่งชาติหนึ่งๆ เวทนาก็เกิดไปอย่างนี้ และก็อยากจะมีแต่ความสุขไปอย่างนี้ และก็สืบต่อมาไม่รู้ว่าเนิ่นนานสักเท่าไหร่โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อายุเพียงแค่ ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี แต่นานกว่านั้นอีก ตามสังสารวัฏฏ์ที่เห็นมา ได้ยินมา ไม่รู้ว่าเท่าไหร่

ถ้าเป็นการสะสมฝ่ายอวิชชา ความไม่รู้ที่จะปิดบังโลก ไม่เห็นโลกตามความเป็นจริง ก็ยิ่งมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการอบรมสะสมปัญญา ก็ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าโลกจะปรากฏตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมใดที่เป็นโลก สภาพธรรมนั้นแตกดับจึงเป็นโลก เพราะว่าเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งวันหนึ่งก็จะ ประจักษ์ได้ แต่ต้องเป็นจิรกาลภาวนา

เปิด  215
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565