แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1737

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๐


วิวาทัฏฐานัง ได้แก่ เหตุแห่งความวิวาทกัน โดยการถือเอาธุระ (หน้าที่การงาน) เสมอกัน ชื่อว่าการแข่งดี

มีอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าใครจะทำกิจธุระอะไรขอให้พิจารณาดูว่า มีอกุศลวิตกเกิดแทรกอย่างไรบ้างหรือเปล่า แม้แต่เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ

การไม่สละธุระอันตนถือเอาแล้ว ชื่อว่าการไม่ลดละ

นี่คือการที่จะต้องแข่งต่อไปเรื่อยๆ

บางคนมีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่น่าจะเดือดร้อน แต่เป็นผู้ที่สะสมการแข่งขันมา อาจจะไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตของคนนั้นก็มีแต่การเปรียบเทียบ และการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างผู้ใกล้ชิด หรือว่าผู้ห่างไกล แสดงให้เห็นว่า ขณะใดเกิดจิตที่คิดเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นลักษณะเหมือนกับการแข่งขันที่ไม่มีวันหยุด ก็เพราะว่า ไม่สละธุระอันตนถือเอาแล้ว ชื่อว่าการไม่ลดละ

ลักษณะของอกุศลอีกประการหนึ่ง ซึ่งทุกคนก็จะพิจารณาว่ามีบ้างไหม คือ

มายา ความเจ้าเล่ห์ เป็นราวกะว่าการเล่นกล (จักขุโมหนมายา) เพราะการปกปิดไว้ซึ่งโทษอันตนรู้อยู่ สัตว์ทั้งหลายทำบาปแล้วก็ยังล่วงละเมิด คือ ทำบาปอีก เพราะความเป็นผู้ปกปิดไว้ด้วยสภาวะใด สภาวะนั้นชื่อว่า ความเป็นเจ้าเล่ห์

ชื่อว่าลวง เพราะย่อมลวงโดยให้เห็นเป็นไปโดยประการอื่น ด้วยการกระทำทางกายและวาจา

ถ้าเป็นผู้ละเอียด เป็นผู้ที่ศึกษาธรรม และพิจารณาตนเองจริงๆ จะเห็นว่า แม้ในการศึกษาพระธรรม มีบ้างไหมที่จะเป็นผู้มีมายา แม้ในเรื่องการเข้าใจพระธรรมผิดก็ลวงให้เห็นว่าเป็นถูกได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีมายา เพราะการปกปิดไว้ซึ่งโทษอันตนรู้อยู่

สัตว์ทั้งหลายทำบาปแล้วก็ยังล่วงละเมิด คือ ทำบาปอีก เพราะความเป็นผู้ปกปิดไว้ด้วยสภาวะใด สภาวะนั้นชื่อว่า ความเป็นเจ้าเล่ห์

นี่อาจจะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดในชาติหนึ่งชาติใดก็ได้ ชาตินี้อาจจะไม่ได้กระทำ แต่ถ้าเป็นการสะสมความยึดติด ความสำคัญตนไว้มาก ถึงแม้จะได้ศึกษา พระธรรมบ้างแล้ว แต่การสะสมความยึดมั่นในตัวตน ในลาภ ในยศ ในสักการะ ก็อาจจะทำให้วันหนึ่งวันใดเป็นอย่างนี้ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ไม่ประมาท และ เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลจริงๆ ว่า ถ้าวันนี้ยังไม่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย วันต่อๆ ไปอกุศลก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น

สำหรับบางคนอาจจะมีอกุศลวิตกต่อไปอีก คือ กลบเกลื่อน

ชื่อว่ากลบเกลื่อน เพราะยังบาปทั้งหลายให้เกิดสับสนกันไป

วิธีที่จะกลบเกลื่อนก็ต้องทำอย่างนี้ คือ ทำให้สับสนกันหมด จับไม่ได้ว่าตรงไหนเป็นอย่างไร

ชื่อว่าการปกปิด เพราะย่อมปกปิดบาปด้วยกายกรรม วจีกรรม ราวกับคูถ อันบุคคลปกปิดไว้ด้วยหญ้าและใบไม้ทั้งหลาย ... บุคคลประกอบด้วยลักษณะนี้ใด ย่อมเป็นราวกะถ่านเพลิงอันปิดไว้ด้วยขี้เถ้า ย่อมเป็นราวกะตอไม้อันน้ำปกปิดไว้ ย่อมเป็นราวกะว่าศัสตราอันบุคคลพันไว้ด้วยเศษผ้า

ไม่ใช่ใครอื่น แต่ทุกคนมีโอกาสเป็นอย่างนี้ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล

ผู้ฟัง ผมมีความคิดส่วนตัว ไม่ได้ลบหลู่สถานที่ หรือลบหลู่อาจารย์ คือ ผมเคยถามคนอื่นๆ ว่า เคยเห็นมรรคผลนิพพานไหม ปรากฏว่าคนที่ผมถาม ไม่มีใครเคยเห็น เมื่อไม่มี ผมจึงมีความคิดว่า คนที่อยากได้นิพพาน ก็เหมือนคนที่ต้องการหิมะ จะไปหาหิมะ ต้องไปเมืองที่มีหิมะ ถ้ามาหาในเมืองที่ไม่มีหิมะ หาให้ตายก็ไม่มีวันพบ ผมคิดว่า จริงๆ แล้วนิพพานอยู่ประเทศอินเดีย ย้ายไปอยู่โน่น ไปหานิพพานที่อินเดีย เข้าใจว่าคงเจอ เพราะเมืองไทยไม่ใช่สถานที่ที่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ ผมไม่ได้มีอกุศลจิต นี่เป็นความคิด ต้องหาตรงจุดที่มี ตรงไหนก็ได้ในโลกนี้ ถ้าไปหาจุดที่ไม่มี อย่างมาเมืองไทยก็ไม่มีวันพบ

สุ. ข้อความนี้มีในพระไตรปิฎกหรือเปล่า

ผู้ฟัง เป็นความคิดของผม

สุ. แสดงให้เห็นถึงวิตกซึ่งสามารถจะคิดอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่ได้เทียบเคียงในเหตุในผลเลย ไม่ทราบท่านผู้ฟังท่านอื่นมีความคิดเห็นประการใดบ้าง

ผู้ฟัง พระนิพพานไม่ได้อยู่เป็นที่ ไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่ในประเทศไหน ทวีปใด ขึ้นอยู่กับการอบรมเจริญปัญญา พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้แล้วว่า ตราบใดที่การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ยังมีอยู่ พระนิพพานก็มีได้ และไม่ได้แอบซ่อนอยู่ในตู้พระไตรปิฎกหรือ ที่ไหน ผมมีความเห็นอย่างนี้

สุ. ท่านที่กล่าวเมื่อกี้ไม่ได้คำนึงถึงข้อปฏิบัติเลยว่า การรู้แจ้งลักษณะของนิพพานนั้นจะต้องอบรมเจริญปัญญาอย่างไร เพราะว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล สภาพธรรมที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ต้องเป็น โลกุตตรปัญญา ถ้าไม่รู้แม้แต่เพียงว่าปัญญารู้อะไร ก็ไม่สามารถมีปัจจัยให้ โลกุตตรปัญญาเกิดได้

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นไปตามลำดับอย่างละเอียดว่า ปัญญารู้อะไร ที่เป็นโลกียปัญญารู้อะไรก่อนที่จะถึงโลกุตตรปัญญา ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ ไม่ต้องไปคำนึงถึงประเทศไหนทั้งสิ้น ถ้าท่านผู้นี้จะไปประเทศอินเดีย ก็ไปถามได้เหมือนกับที่ถามคนในประเทศไทยเหมือนกัน ซึ่งคำตอบก็คืออย่างเดียวกัน เพราะไม่ใช่เรื่องของสถานที่ แต่ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา

. ขอให้อาจารย์ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับวิตกเจตสิกที่เกิดกับอเหตุกจิต

สุ. วิตกเจตสิกเกิดกับอเหตุกจิต ๘ ดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ เพราะว่าวิตกเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก

. เว้นทวิปัญจวิญญาณเท่านั้น นอกนั้นเกิดได้หมด แต่ที่เกิดกับ อเหตุกปฏิสนธิไม่เป็นมรรคปัจจัย และไม่เป็นฌานปัจจัยด้วยใช่ไหม

สุ. ในอนุโลมติกปัฏฐานปัญหาวาระ ข้อ ๕๙๓ มีข้อความกว้างๆ ว่า ในปฏิสนธิขณะ องค์ฌานที่เป็นวิบากเป็นปัจจัยแก่สัมปยุตตขันธ์ คือ เจตสิกที่เกิด ร่วมด้วย และกฏัตตารูป คือ กัมมชรูป โดยฌานปัจจัย

ข้อ ๖๐๐ เป็นเรื่องมรรคปัจจัย ก็มีข้อความกว้างๆ ข้อความเดียวกับ ฌานปัจจัย คือ ในปฏิสนธิขณะ องค์มรรคที่เป็นวิบากเป็นปัจจัยแก่สัมปยุตตขันธ์ คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และกฏัตตารูป คือ กัมมชรูป โดยมรรคปัจจัย

เมื่อพิจารณาเฉพาะอนุโลมติกปัฏฐานปัญหาวาระข้อ ๕๙๓ และข้อ ๖๐๐ จะทำให้เข้าใจว่า ในปฏิสนธิขณะ องค์ฌานและองค์มรรคในปฏิสนธิจิตทั้งหมด เป็นฌานปัจจัยและมรรคปัจจัย คือ ถ้าศึกษาโดยไม่พิจารณาทุกข้อ เฉพาะใน ข้อ ๕๙๓ และข้อ ๖๐๐ จะมีข้อความที่กว้าง แต่ควรจะพิจารณาใน อนุโลมติกปัฏฐานปฏิจจวาระ ข้อ ๑๐๐ และข้อ ๑๐๑ และในสังสัฏฐวาระ ข้อ ๔๐๖ และข้อ ๔๐๗ ประกอบด้วย

ข้อ ๑๐๑ และข้อ ๔๐๗ มีข้อความว่า

วิตกเจตสิกที่เกิดกับอเหตุกจิตไม่เป็นมรรคปัจจัย

และมีข้อความเพิ่มเติมว่า

ในปฏิสนธิขณะ วิตกเจตสิกที่เกิดกับอเหตุกปฏิสนธิจิตไม่เป็นมรรคปัจจัย

ส่วนในฌานปัจจัยนั้นไม่ได้แสดงว่า ในปฏิสนธิขณะ วิตกเจตสิกที่เกิดกับ อเหตุกปฏิสนธิไม่เป็นฌานปัจจัย

สำหรับบางท่านที่ยังไม่ได้สนใจในเรื่องของปัจจัย ก็คงจะฟังผ่านๆ ไป แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาและวินิจฉัยเพื่อความถูกต้อง

. วิตกเจตสิกในอเหตุกะไม่เป็นมรรคปัจจัย เหตุผลคือเป็นวิบาก หรือเพราะไม่มีเหตุร่วม

สุ. เหตุผล คือ ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะถ้าเป็นวิบากที่มี เหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็นมรรคปัจจัย

นี่เป็นสิ่งซึ่งทุกคนจะคิดพิจารณาไปทีละเล็กทีละน้อยโดยรอบคอบ แต่ แม้กระนั้นก็ต้องสอบทานให้สอดคล้องกับพระบาลี คือ พระไตรปิฎก เพราะว่ามีทาง ที่จะคิดเป็นทางอื่นได้ เช่น ในเมื่อจิตที่เป็นวิบากย่อมเสมอกันหมด เพราะว่าไม่ใช่จิต ที่เป็นชาติกุศลหรือเป็นอกุศล วิบากจิตทำกิจเพียงเกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ตทาลัมพนะ นอกจากนั้นก็มีวิบากจิตที่เกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และมีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เหล่านี้ ซึ่งโดยชาติแล้วก็เป็นสิ่งที่ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้น ในเมื่อกรรมที่เป็นปัจจัยสุกงอมพร้อมที่จะให้วิบากประเภทใดเกิดขึ้นขณะใด วิบากประเภทนั้นก็เกิดขึ้นขณะนั้น เพราะฉะนั้น โดยชาติของวิบาก จะไม่มีความสำคัญเท่ากับกุศลและอกุศล

ถ้าจะพิจารณาว่า เมื่อเป็นชาติวิบากด้วยกัน และทำกิจปฏิสนธิด้วย ถ้าสเหตุกวิบาก วิตกเจตสิกเป็นมรรคปัจจัยได้ วิตกเจตสิกในอเหตุกปฏิสนธิที่เป็น ชาติวิบากด้วยเช่นกันก็น่าจะเป็นมรรคปัจจัยได้ด้วย แต่แม้กระนั้นก็ต้องไม่วินิจฉัยด้วยตนเองในความควรไม่ควร เพราะว่าไม่ใช่วิสัยของผู้ที่สามารถพยากรณ์ธรรมได้ แต่ต้องเทียบเคียงให้สอดคล้องต้องกันกับพระบาลี คือ พระไตรปิฎก

นี่เป็นเรื่องความละเอียดของธรรม ข้อที่ควรระลึกในการศึกษาพระธรรมก็คือ เพื่อการปฏิบัติตามพระธรรมในชีวิตประจำวัน หรือท่านผู้ฟังจะมีความคิดอื่นนอกจากนี้

จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร

เพื่อชีวิตประจำวันจะได้ละคลายอกุศล และเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ซึ่งการที่กุศลทั้งหลายจะถึงพร้อมได้ ก็ด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานและฟังพระธรรม จนเห็นโทษของอกุศลและเห็นประโยชน์ของกุศลธรรมยิ่งขึ้น มิฉะนั้นกุศลก็เจริญไม่ได้

เพราะฉะนั้น ต้องฟังเรื่องของอกุศลต่อไป เพื่อให้เห็นโทษของอกุศลต่อไปอีก เพราะเพียงแต่รู้ว่า ทุกๆ วันมีอกุศล ถึงรู้แล้วเมื่อวันก่อน อาทิตย์ก่อน อกุศลจิต ก็ยังคงเกิดอีกเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน จะเห็นได้ว่า แม้จะรู้เรื่องของอกุศลที่คิดว่า ได้ฟังมากแล้ว ก็ยังไม่พอ จนกว่ากุศลวิตกจะเกิดขึ้นมากกว่าอกุศลวิตก ซึ่งทุกท่าน ก็พอที่จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงได้ว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว กุศลวิตกเกิดมากกว่าอกุศลวิตกหรือเปล่า หรือว่ากุศลวิตกเกิดเพิ่มขึ้นแต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มากกว่าอกุศลวิตกในวันหนึ่งๆ

นี่เป็นเหตุที่จะต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้คิดว่า จะฟังเรื่องของอกุศลอีกมากๆ ในชีวิตประจำวันดี หรือจะฟังเรื่องของกุศลซึ่งยังไม่ได้เกิดบ่อยๆ หรือยังไม่ได้เกิดในชีวิตประจำวัน เช่น วิปัสสนาญาณต่างๆ หรือว่า ความสงบของจิตขั้นต่างๆ

เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงความละเอียดของอกุศล เพื่อจะได้พิจารณาเห็นอกุศลซึ่งบางอย่างเห็นยาก และอาจจะไม่เข้าใจว่าเป็นอกุศล เพราะว่าเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น

สาเถยยะ ความโอ้อวด

การไม่กล่าวโดยชอบ เพราะแสดงคุณอันตนไม่มีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้โอ้อวด

โดยมากความที่รักตน ยึดมั่นในตัวตน จะทำให้มีกายวาจาและการคิดนึก ตรึกไปในเรื่องของตัวตนทั้งนั้น แม้แต่ในเรื่องของอกุศลทั้งหลายที่ละเอียด และบางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะว่าเป็นเพียงการโอ้อวด แต่แม้กระนั้นก็แสดงให้เห็นถึงอกุศลที่ทำให้ไม่กล่าวโดยชอบ เพราะแสดงคุณอันตนไม่มีอยู่ จึงชื่อว่าโอ้อวด

นอกจากนั้น อาจจะพิจารณาตนเองว่า เป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าอาการแห่งความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือ

กิริยาที่ไม่เชื่อฟัง การไม่ถือเอาโดยไม่ไว้ใจ ไม่เข้าไปใกล้ ชื่อว่ากิริยาที่ ไม่ปลงใจเชื่อ ความไม่เลื่อมใสยิ่ง เพราะอรรถว่า ความไม่ยินดี

นี่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งหมดของธรรมในขณะที่ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือ เป็นผู้ที่ไม่เชื่อฟัง ไม่ว่าพระธรรมจะกล่าวว่าอย่างไร จะแสดงอย่างไร ก็ไม่ถือเอา และยังไม่เข้าใกล้ คือ ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสยิ่ง ไม่ยินดีในพระธรรมนั้น และความไม่ต้องการจะพบพระอริยะ

ความเป็นผู้ไม่ต้องการไปสู่ที่ใกล้แห่งพระอริยะเหล่านั้น ชื่อว่าความไม่ต้องการจะสมาคมกับพระอริยะทั้งหลาย

ความเป็นผู้ไม่ต้องการเพื่อจะฟังพระสัทธรรมนั้น ความเป็นผู้ไม่ศึกษาพระธรรม ชื่อว่าความไม่ต้องการจะเรียน

ความเป็นผู้คัดค้านแข่งดี ชื่อว่าความไม่ต้องการจะทรงพระธรรมไว้

แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ อาจจะไม่ได้สังเกตว่า ความไม่ต้องการ จะเรียนก็เป็นอกุศลธรรม เพราะทำให้ไม่ศึกษาพระธรรม และไม่เกิดปัญญาที่จะพิจารณาสภาพธรรมได้ตามความเป็นจริง

นอกจากนั้น ถ้าเป็นผู้ที่แม้ศึกษาแต่ว่าเป็นผู้คัดค้านแข่งดี ก็ชื่อว่าไม่ต้องการ จะทรงพระธรรมไว้

เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณาว่า ถ้ามีความสำคัญตนที่ต้องเป็นผู้เก่ง ผู้ถูก ผู้เลิศกว่าคนอื่น ก็อาจจะทำให้พยายามเปลี่ยนแปลงหรือว่าแปลพระธรรม เป็นอย่างอื่นได้

กิเลสทั้งหลายในวันหนึ่งๆ นี่มากมาย ขอให้คิดถึงกิเลสอื่นต่อไป ซึ่งอาจจะ คิดว่าเล็กน้อยเหลือเกิน เช่น

ความดูถูก ได้แก่ การรู้ที่ทำให้ต่ำช้า

การที่จะดูถูกบุคคลหนึ่งบุคคลใด ย่อมหมายความว่าต้องได้ยินได้ฟังเรื่องราวของบุคคลนั้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นผู้ด้อยหรือเป็นผู้ต่ำ จึงทำให้เกิดอกุศลจิต ที่คิดดูถูกในความด้อย ในความต่ำของบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ขณะใดก็ตาม วันหนึ่งๆ ทุกคนคิดถึงคนอื่น แต่ขอให้พิจารณาจิตในขณะที่คิดถึง คนอื่นว่า แทรกด้วยความดูถูกในบุคคลนั้นแม้เพียงเล็กน้อยหรือไม่ แม้ในเรื่องความดี แม้ในเรื่องความประพฤติ แม้ในเรื่องการกระทำ หรือแม้แต่การที่อกุศลจิตของบุคคลนั้นจะมีมากจนกระทั่งทำให้เกิดทุจริตกรรม

ขณะที่คิดถึงบุคคลนั้น คิดด้วยความดูถูก หรือคิดด้วยเมตตา คิดด้วยความเห็นจริงในการสะสมของธรรมว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เมื่อ สภาพธรรมใดเกิดบ่อยก็สะสมจนกระทั่งปรากฏเป็นอุปนิสัย ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประกอบด้วยธรรมก็จะดูถูกในความต่ำหรือในอกุศลธรรมนั้นได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกถึงจิตของตนเอง และพิจารณาเรื่องของปรมัตถธรรม ก็จะทำให้เป็นผู้ที่มีเมตตาแทนที่จะแทรกด้วย ความดูถูก

ความดูหมิ่น ได้แก่ การเหยียดหยาม

ดูถูกก็มี และยังมีดูหมิ่นด้วย

ความเย้ยหยัน ชื่อว่าความดูแคลน

บางคนไม่เพียงแต่ดูถูกและดูหมิ่นในใจ แต่ยังถึงกับเย้ยหยัน คือ มีวาจา ที่ดูแคลนบุคคลอื่นด้วย

เปิด  167
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565