แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1553

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๙


. ที่ว่าโลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ปิดบังไว้ คำว่าโลกในที่นี้ หมายถึงรูปธรรมและนามธรรมหรืออย่างไร

สุ. สภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป

. ไม่ใช่โลก คือ หมู่สัตว์

สุ. ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป โลกก็ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นโลกประเภทไหน

. คำว่า โลก ในที่นี้หมายถึงทางปรมัตถ์ ไม่ได้หมายถึงสมมติบัญญัติ

สุ. ถึงจะเป็นสมมติบัญญัติก็พ้นจากปรมัตถธรรมไม่ได้ อย่างโลกนี้ก็เป็นรูป มีอะไรบ้างในโลก มีพืชผักชนิดไหน มีสิ่งใดๆ ในโลกนี้ เพชรนิลจินดา ภูเขา ทะเล ท้องฟ้า เมฆ มหาสมุทร พวกนี้เป็นรูปทั้งนั้น และที่โลกจะปรากฏก็ต้องมีสภาพรู้ ใช่ไหม

. ผมคิดว่า อย่างความตระหนี่ ถ้ามีมากๆ แล้วทำให้คนที่เคยมีเพื่อน ก็กลับไม่มีเพื่อน เพื่อนก็หายๆ ไป พูดง่ายๆ ว่า ทำตัวให้เป็นคนลึกลับ ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง แต่ที่อาจารย์บรรยายหมายความว่า ไม่ได้พิจารณาถึงเรื่องสมมติบัญญัติ ตัวอย่างเช่น เรานั่งรถประจำทาง เห็นผู้หญิงแก่ หรือคนท้องขึ้นมา แต่เราก็นั่งเฉยๆ หรือทำเป็นหลับเสีย แสดงว่าเรามีความตระหนี่ในที่นั่ง ไม่อยากจะเสียสละให้เขา ลักษณะอย่างนี้แสดงว่า เราขาดการพิจารณาในเวทนาที่เราได้รับ ที่เป็นสุข ไม่เผื่อแผ่ให้คนอื่น ถ้าพิจารณาในลักษณะนี้ก็เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ไม่ได้พูดถึง พิจารณาในเรื่องว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ความตระหนี่ปิดบังโลกไม่ให้ปรากฏ ผมเข้าใจว่า คงหมายถึงทั้งนัยที่เป็นสมมติบัญญัติ และนัยที่เป็นปรมัตถ์ด้วย ทั้ง ๒ นัย ใช่ไหม

สุ. ต้องพิจารณาสภาพธรรมในขณะนั้นว่า ความตระหนี่คืออะไร และปิดบังอย่างไร แทนที่จะพิจารณาภายนอก อย่างการขาดเพื่อนฝูงว่าเป็นความตระหนี่ ใช่ไหม แต่ว่าไม่ได้รู้เรื่องโลก เพราะฉะนั้น ความตระหนี่อย่างนั้นจะปิดบังโลกไหม โลกในที่นี้ปรากฏทางตา จะเป็นเพื่อนฝูงมิตรสหาย หรือจะเป็นอะไรก็ตามแต่

. ถ้าอย่างนั้นก็หมายความถึงสภาวธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นๆ

สุ. เพราะว่าลึกลงไปในขณะที่ความตระหนี่เกิดนี้ จะต้องรู้ว่า ยังมีความยึดมั่นในตัวตนอย่างมาก

. ในขณะที่โลกทางตาปรากฏ และมีสภาพรู้ทางตา เฉพาะสภาพรู้ รูปารมณ์ทางตา ในขณะที่ยังไม่ได้เกิดความคิดนึก มีเวทนา สัญญา สังขาร เกิด ร่วมด้วยหรือเปล่า

สุ. เวลาที่นามธรรมเกิด ได้แก่ จิตและเจตสิก เป็นนามขันธ์ ๔ ต้องเกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้ เพราะว่าจิตและเจตสิก ได้แก่ นามขันธ์ ๔ คือ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ เป็นสังขารขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ ในเมื่อจิตต้องเกิดร่วมกับเจตสิก และเจตสิกต้องเกิดร่วมกับจิต ฉะนั้นนามขันธ์ทั้ง ๔ นี้ ไม่แยกกันเลย

. หมายความว่า จักขุวิญญาณก็มีครบอยู่แล้ว

สุ. นามขันธ์ ๔ แยกกันไม่ได้เลย

. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่ระลึกรู้สภาพธรรมทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ที่ว่า เห็นเฉพาะรูปารมณ์จริงๆ นั้น ไม่ทราบว่าขณะนั้นเห็นบัญญัติแล้วหรือยัง

สุ. เห็นด้วยปัญญา เพราะในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงเป็นรูปชนิดหนึ่ง นี่คือความจริงซึ่งสติจะต้องระลึกบ่อยๆ และปัญญาจะต้องน้อมพิจารณาจนกระทั่งประจักษ์สภาพที่เป็นอนัตตาของรูปารมณ์ที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีลักษณะกระทบกับจักขุปสาทและปรากฏได้ ซึ่งแม้ว่าลักษณะของสภาพธรรมนี้มีจริง แต่ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาทก็ไม่ปรากฏ เมื่อกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ ลักษณะของรูปารมณ์ที่ปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ส่วนการคิดนึกและความทรงจำในเรื่องรูปร่างสัณฐานนั้น ไม่ใช่เรื่องของจักขุทวารวิถีจิต

. หมายความว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ได้เกิดความคิดนึกร่วมด้วย ใช่ไหม

สุ. จักขุวิญญาณ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เมื่อจักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ สันตีรณจิตเกิดต่อ โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ ชวนจิต ๗ ขณะ เกิดต่อ ถ้ารูปยังไม่ดับ ตทาลัมพนะก็เกิดต่ออีก ๒ ขณะ เป็นรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ ยังไม่มีการคิดการนึกถึงรูปร่างสัณฐานของรูปารมณ์ที่ปรากฏ

. หมายความว่า ขณะที่เราคิดนึกนั้นต่อจากการเห็น ขณะที่เห็นเป็น ...

สุ. ขณะที่เห็นเป็นคน ในขณะนั้นไม่ใช่จักขุทวารวิถี แต่เป็นมโนทวารวิถี ซึ่งเกิดสลับกับจักขุทวารวิถี จึงเป็นการยากที่จะถอนความเห็นในสิ่งต่างๆ ทางตาที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นสิ่งต่างๆ และให้รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียง สภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏ เมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

. ที่เรียนถามนี้ เพราะมีคำบรรยายของอาจารย์อยู่ในเทปธรรมม้วนหนึ่ง ที่ยกตัวอย่างว่า ในขณะที่เรากระทบสิ่งที่แข็งในที่มืด ไม่เห็นอะไร และแข็งที่ปรากฏ ในขณะที่มีสติระลึกรู้ทางกายจริงๆ นั้น จะมีเพียงสภาพแข็งที่กระทบเท่านั้น จึงคิดว่า ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ ทั้ง ๕ ทางนี้จะไม่มีความคิดนึกเกิด ร่วมด้วยเลย เข้าใจว่าอย่างนั้น

สุ. ก็มีสภาพธรรมปรากฏแต่ละอย่าง แต่ละลักษณะ อย่างทางตาที่กำลังปรากฏนี้ไม่แข็ง ทางกายแข็ง แต่ก็ไม่สว่าง ไม่ได้ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ทางหูก็เป็นเสียงซึ่งไม่ใช่สีสันต่างๆ และไม่ใช่แข็ง ปรมัตถธรรมแต่ละอย่างปรากฏได้แต่ละทาง

. หมายความว่า ถ้าเป็นสัตว์บุคคล ต้องเป็นธัมมารมณ์แล้ว

สุ. ทางมโนทวารวิถี ซึ่งเกิดสลับกับทางปัญจทวารวิถี เพราะว่าทางตา ในขณะนี้ก็ยังเห็น ยังมีรูปารมณ์ แต่เมื่อไม่พิจารณาก็ยึดถือทางมโนทวารว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ที่แท้แล้วก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

ความคิดนึกในวันหนึ่งๆ มากมายมหาศาล เพราะว่าเมื่อเห็นแล้วก็เป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เมื่อได้ยินแล้วก็เป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เมื่อได้กลิ่นก็เป็นเรื่องราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ลิ้มรสก็เป็นเรื่อง อาหารต่างๆ กระทบสัมผัสก็เป็นเรื่องวัตถุต่างๆ แสดงว่า โลกของเรื่องราวหรือความคิดนึกนี้มาก จนกระทั่งปิดบังลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏชั่วขณะ เล็กน้อย สั้นมาก ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ทางตาต้องกำลังเกิดดับในขณะนี้ เช่นเดียวกับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ศีรษะ หรือ อวิชชานี่ ใหญ่มาก ใช่ไหม และวิธีที่จะรู้ว่าใหญ่แค่ไหน ก็คือ ทางตา เห็นแล้วรู้ไหม ถ้ายังไม่รู้ ก็รู้ได้ว่าศีรษะนี้ใหญ่แค่ไหน

ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน

สำหรับลักษณะของโลภะ เป็นความตั้งใจไว้ หรือว่า ธรรมชาติเพียงดังว่าป่า ยากไหมที่จะทำลาย เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด คือ กิเลสนานาชนิด

ธรรมชาติเพียงดังว่าหมู่ไม้ในป่า ความสนิทสนม ความมีเยื่อใย

ถ้าไม่ค่อยสนิทสนมก็ตัดง่าย ใช่ไหม ถ้ายิ่งสนิทสนมก็ยิ่งตัดยาก เพราะฉะนั้น โลภะเป็นความสนิทสนมทุกๆ ชาติ จะละโลภะนี่ต้องยากมากทีเดียว

ความมีเยื่อใย ความพัวพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง ความเป็นผู้หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวัง ในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวัง ในชีวิต ความกระซิบ ความกระซิบทั่ว ความกระซิบยิ่ง กิริยาที่กระซิบ ความเป็น ผู้กระซิบ

เวลากระซิบเบาๆ คนอื่นยังได้ยินใช่ไหม แต่เวลาโลภะกระซิบ ไม่มีใครได้ยิน แต่กระซิบอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น รู้ได้เลยว่า ขณะไหนนึกคิดขึ้นมาด้วยโลภะ ขณะนั้นก็กระซิบไป เป็นเรื่องต่างๆ

ความที่ตัณหาหวั่นไหว

จริงไหม กลัวไปเสียทุกอย่าง ถ้าหมดตัณหาก็หมดเรื่องที่จะกลัว แม้แต่ชีวิต หรือภัยของชีวิต แต่เพราะยังมีตัณหาอยู่ ยังมีความพอใจยึดมั่นอยู่ เพราะฉะนั้น ความที่ตัณหาหวั่นไหว กลัวว่าจะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสุข เสื่อมสรรเสริญ

ความโลภไม่สม่ำเสมอ ความใคร่ กิริยาที่ใคร่ ความปรารถนา ความทะเยอทะยาน ความประสงค์

นี่เป็นลักษณะต่างๆ ของตัณหา

ต่อไปเป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของทุกข์ อาการต่างๆ ของทุกข์ มีตัณหาเป็นแดนเกิด ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้ว เช่น ข้อความที่ว่า

ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ทุกข์ในนรก ทุกข์ในกำเนิดดิรัจฉาน ทุกข์ในปิตติวิสัย ทุกข์ในมนุษย์ ทุกข์มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีการตั้งอยู่ ในครรภ์เป็นมูล ทุกข์มีความออกจากครรภ์เป็นมูล ทุกข์เนื่องแต่สัตว์ผู้เกิด ทุกข์ เนื่องแต่ผู้อื่นแห่งสัตว์ผู้เกิด ทุกข์เกิดแต่ความเพียรของตน ทุกข์เกิดแต่ความเพียรของผู้อื่น ทุกข์ในทุกข์ สงสารทุกข์ วิปริณามทุกข์ โรคตา โรคหู ... อาพาธเกิดเพราะเปลี่ยนอิริยาบถไม่สม่ำเสมอกัน อาพาธเกิดเพราะความเพียร อาพาธเกิดเพราะ ผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ... ความตายของมารดาก็เป็นทุกข์ ความตายของบิดาก็เป็นทุกข์ ความตายของพี่น้องชายก็เป็นทุกข์ ความตายของพี่น้องหญิงก็เป็นทุกข์ ความตายของบุตรก็เป็นทุกข์ ความตายของธิดาก็เป็นทุกข์ ความพินาศของญาติก็เป็นทุกข์ ความพินาศของโภคทรัพย์ก็เป็นทุกข์ ความพินาศเพราะโรคก็เป็นทุกข์ ความพินาศแห่งศีลก็เป็นทุกข์ ความพินาศแห่งทิฏฐิ (คือ ความเห็นผิด) ก็เป็นทุกข์ ...

เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ เรากล่าวว่า ตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลก ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

ท่านอชิตะทูลถามว่า

กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง

เป็นความจริง ใช่ไหม ในเมื่อเข้าใจแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็น ทางหู ได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส อกุศลก็เกิด

อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงทรงตรัสบอกธรรมเป็น เครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันอะไรย่อมปิดกั้นได้

ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งเรื่องทุกข์ ก็ต้องทรงรู้แจ้งหนทางที่จะดับทุกข์ด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น ปัญญาเป็นเครื่องปิดกั้น

ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของความเป็นผู้มีสติ ได้แก่เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าในวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่มีอะไรที่จะกั้น กระแสของอกุศลซึ่งไหลไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

คำว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ ความว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ คือ พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติถอยกลับ พึงมีสติแลดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติทรง ผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร พึงมีสติเที่ยวไป พึงมีสติอยู่ (คือ เป็นไป) เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ

จนกว่าจะถึงความเป็นผู้มีสติอย่างนี้ ซึ่งจะต้องอบรมไปเรื่อยๆ จากชีวิตประจำวัน

แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงประโยชน์ของสติ แต่ถ้าผู้ใดไม่อบรม ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้สติเกิด แต่จะมีปัจจัยให้ความหลงลืมสติเกิด และมีปัจจัยทำให้เป็นผู้ที่ขาดสติ ซึ่งมีตัวอย่างของการหลงลืมสติและขาดสติของพระภิกษุแม้ในครั้งที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อุปักกิเลสสูตร ข้อ ๔๓๙ ข้อความโดยย่อมีว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารโฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี สมัยนั้นแล พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกัน เสียดสีกันและกันด้วยฝีปากอยู่

ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ กราบทูลให้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ และทูลขอให้พระผู้มีพระภาคได้โปรดอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ

ต่อนั้นได้เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรมทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนืองๆ แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้

ใครห้ามก็ไม่ฟัง แม้ว่าผู้นั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรง พระมหากรุณา ทรงเตือน ทรงโอวาท ก็ไม่อาจยับยั้งอกุศลธรรมในขณะนั้นได้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นแม้ในวาระที่ ๒ และแม้ในวาระที่ ๓ ภิกษุรูปนั้นก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเหมือนเดิม

ท่านผู้ฟังอาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ ใช่ไหม กำลังโกรธ ใครบอกว่าอย่าโกรธเลย ก็ห้ามไม่ฟัง นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ว่ากาลสมัยไหม ไม่ว่าใครทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็น่าจะเห็นโทษว่า ถ้าเกิดในอนาคต ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค กำลังมีความโกรธ และตรัสให้ละความโกรธ และจะยังกราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันเช่นนี้ ไหม

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งสบง ทรงบาตรจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครโกสัมพีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลา พระกระยาหารแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะ กำลังประทับยืนอยู่นั่นแหละ ได้ตรัสพระคาถาแสดงโทษของการมาดร้ายกัน … (ซึ่งเป็นข้อความที่ยาว)

แล้วเสด็จเข้าไปบ้านพาลกโลณการ ซึ่งขณะนั้นท่านพระภคุอยู่ที่นั่น พระองค์ทรงสนทนากับท่านพระภคุ ทรงชักชวนให้อาจหาญร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วย ธรรม แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปประทับนั่งยังป่าปาจีนวงส์ ซึ่งขณะนั้น ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละอยู่ด้วยกัน ด้วยความเมตตา ต่อกันทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทั้งในที่แจ้ง และในที่ลับ เข้ากันได้ดังนมสดและน้ำ

เมื่อตรัสเตือนแล้วไม่ฟัง ก็ควรทรงแสดงธรรมกับผู้ที่ฟังจะเป็นประโยชน์กว่า จึงได้เสด็จไปถึงที่อยู่ของท่านพระภคุ และที่อยู่ของท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ

เปิด  164
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565