แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1520

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๙


สำหรับกุศลที่เป็นติเหตุกะ ให้ผลเป็นติเหตุกะด้วย ให้ผลเป็นทุเหตุกะด้วย และให้ผลเป็นอเหตุกะด้วย ถ้าพูดอย่างนี้ สำหรับผู้ที่ศึกษาเรื่องจิตทราบว่า มีจิตที่ประกอบด้วยเหตุและมีจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ จิตที่ประกอบเหตุเดียวเรียกว่า เอกเหตุ หรือเอกเหตุกะ จิตที่ประกอบด้วย ๒ เหตุก็เป็นทวิเหตุกะ จิตที่ประกอบด้วย ๓ เหตุก็เป็นติเหตุกะ

เพราะฉะนั้น กรรมที่ทำด้วยติเหตุกจิต ประกอบด้วย ๓ เหตุ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ย่อมให้ผลมาก คือ ให้ผลเป็นติเหตุกะด้วย เป็นทวิเหตุกะด้วย และเป็นอเหตุกะด้วย

นี่เป็นเรื่องของกรรมนิยาม สำหรับกรรมที่กระทำด้วยจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นทวิเหตุกะ คือ ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ เวลาให้ผลก็ให้ผลเป็นทวิเหตุกะและอเหตุกะ แต่ไม่สามารถให้ผลเป็นติเหตุกะได้ นี่ตามเหตุตามผล

สำหรับ ธรรมนิยาม คือ ในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงปฏิสนธิ ในกาลที่ พระผู้มีพระภาคทรงออกจากพระครรภ์พระมารดา ในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมจักร ในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงปลงพระชนมายุ และในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพาน หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว

นี่เป็นธรรมนิยามที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับ จิตนิยาม คือ การเกิดดับสืบต่อทำกิจการงานแต่ละวาระของจิต ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามจิตนิยามนั้น

การรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ ยังมีข้ออุปมาต่อไป คือ ข้อเปรียบเทียบด้วย ใยแมงมุม มีข้อความว่า

แมงมุมริมทางตัวหนึ่ง ขึงใยไว้ ๕ ทิศ ทำเป็นข่ายแล้วนอนอยู่ตรงกลาง เมื่อใยที่ขึงไว้ในทิศแรกถูกตัวสัตว์เล็กๆ บ้าง ตั๊กแตนบ้าง แมลงวันบ้างกระทบเข้า แมงมุมจะไหวตัวออกจากที่ที่นอนอยู่แล้วไปตามสายใย ดูดเอาเยื่อศีรษะของสัตว์นั้น แล้วกลับไปนอนที่เดิมอีกทีเดียว แมงมุมทำอย่างนั้นแหละ แม้ในเวลาที่สัตว์ไปกระทบเข้าในทิศที่สองเป็นต้น

ทุกคนเปรียบเหมือนแมงมุมขึงใย แต่ความจริงคือจิตที่เกิดขึ้นทำกิจแต่ละกิจ คือ

ปสาทรูป ๕ เปรียบเหมือนสายใยที่ขึงไว้ใน ๕ ทิศ ภวังคจิตเปรียบเหมือน แมงมุมที่นอนอยู่ตรงกลาง กาลที่อารมณ์กระทบปสาท เปรียบเหมือนกาลที่สัตว์ ตัวเล็กๆ เป็นต้นมากระทบสายใย กาลที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น เปรียบเหมือนกาลที่แมงมุมนอนอยู่ตรงกลางไหวตัว กาลที่วิถีจิตดำเนินต่อไป เปรียบเหมือนกาลที่แมงมุมไปตามสายใย กาลที่ชวนะแล่นไปในอารมณ์ เปรียบเหมือนกาลที่แมงมุมเจาะศีรษะดูดเยื่อ และภวังคจิตเกิดต่อ เปรียบเหมือนขณะที่แมงมุมกลับมานอนตรงกลางอีก

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้อเปรียบเทียบนี้แสดงเนื้อความอะไร

แสดงเนื้อความว่า เมื่ออารมณ์กระทบปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดที่ทหยวัตถุ เกิดขึ้นก่อนทวิปัญจวิญญาณซึ่งมีปสาทเป็นวัตถุที่เกิด

แสดงให้เห็นที่เกิดของจิตในขณะที่มีการรู้อารมณ์แต่ละวาระ ปฏิสนธิจิตเกิดที่หทยวัตถุ ซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดขึ้น หทยวัตถุก็มีอายุ ๑๗ ขณะของจิตและดับไป แต่กรรมก็เป็นปัจจัยทำให้หทยวัตถุเกิดอีก เป็นที่เกิดของจิตและดับไป และ ก็เกิด และเป็นที่เกิดของจิตสืบต่อมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเกิดที่ทหยวัตถุ ภวังคจิตเกิดที่หทยวัตถุ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดที่ทหยวัตถุ แต่จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาทรูป โสตวิญญาณเกิดที่โสตปสาทรูป ฆานวิญญาณเกิดที่ฆานปสาทรูป ชิวหาวิญญาณเกิดที่ชิวหาปสาทรูป กายวิญญาณเกิดที่กายปสาทรูป

อุปมาเรื่องแมงมุม มุ่งที่จะแสดงเนื้อความว่า เมื่ออารมณ์กระทบปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดที่หทยวัตถุเกิดก่อนทวิปัญจวิญญาณซึ่งเกิดที่ปสาททั้ง ๕

ถ. การรับผลของกรรม ทั้งกุศลวิบากก็ดี อกุศลวิบากก็ดี รับเฉพาะทางปัญจทวารเท่านั้น ใช่ไหม

สุ. ถ้าจะกล่าวถึงวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรม ควรที่จะได้ทราบว่า วิบากจิตอะไรเกิดทางทวารไหน มิฉะนั้นจะสับสนเรื่องการรับผลของกรรม

สำหรับทางมโนทวาร มีวิถีจิต ๓ วิถี คือ มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีแรก ไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยาจิต วิถีที่ ๒ คือ ชวนวิถี เป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับพระอรหันต์ก็เป็นกิริยา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่วิบาก ถ้าอารมณ์นั้นเป็นวิภูตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ชัดเจน จะมีตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดต่อจากชวนวิถี

จะเห็นได้ว่า ทางมโนทวารวิถี เวลาที่คิดถึงอารมณ์ต่างๆ และคิดถึงด้วย โลภมูลจิตบ้าง หรือโทสมูลจิตบ้าง หรือกุศลจิตบ้าง ไม่ใช่การรับอารมณ์ที่เป็นวิบาก ไม่ใช่วิบากจิต นอกจากตทาลัมพนจิต ๒ ขณะซึ่งเกิดต่อจากชวนะเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น วิบากจิตทางมโนทวารวิถี เฉพาะในขณะที่เป็นตทาลัมพนจิตเท่านั้น

สำหรับทางปัญจทวารวิถี ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่วิบาก แต่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เป็นวิบาก ตทาลัมพนะก็เป็นวิบาก

ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจวิบากต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางปัญจทวาร รู้สึกว่าความเดือดร้อน จะไม่ค่อยมี เพราะว่าวิบากที่เรียกว่าการรับผลของกรรม เล็กน้อยมาก ชั่วขณะ นิดเดียว ถ้าเข้าใจหรือรู้กิจพวกนี้แล้ว ความวุ่นวายยุ่งยากจะไม่มี ที่เราวุ่นวายยุ่งยาก คงไม่ใช่เรื่องของวิบาก แต่เป็นเรื่องจิตที่คิดนึก

สุ. ในขณะที่รู้ความจริงว่า การเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี เป็นวิบาก และรู้สึกสบายใจขึ้น ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่เข้าใจเรื่องของกรรมและผลของกรรม

เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีการเห็นวาระหนึ่ง วิบากจิตเพียงแค่จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเท่านั้น แต่หลังจากนั้น ถ้าอกุศลจิตเกิด เดือดร้อน เพราะไม่รู้ว่าเป็นวิบาก ไม่รู้ว่าเป็นผลของกรรม ใช่ไหม แต่ถ้ามหากุศลจิตเกิด ทำชวนกิจต่อจากโวฏฐัพพนะ ในขณะนั้นเป็นญาณจริยา ซึ่งจะกล่าวถึงในคราวต่อไป แสดงให้เห็นว่า ในวาระหนึ่งของการรู้อารมณ์แต่ละครั้ง วิญญาณต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำกิจ จะต่างกันโดยประเภท

ถ. การรู้ขณะของจิตแต่ละขณะต่างๆ ตามที่อาจารย์บรรยาย ในการ เจริญวิปัสสนา เรามีโอกาสที่จะรู้ได้หรือเปล่า

สุ. รู้อะไร

ถ. รู้จิตต่างๆ สมมติว่าทางตา ที่เปรียบเทียบเหมือนอย่างแมงมุมขึงข่าย ๕ ทิศ

สุ. แต่ไม่ได้ช้าอย่างแมงมุม ตัวอย่างนี้ช้ามาก ความจริงนั้น เร็วที่สุด

ถ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ที่ท่านได้บรรลุมรรคผล ท่านรู้อย่างนั้นหรือเปล่า

สุ. ขณะนี้การเกิดดับของจิตเร็วที่สุด จนดูเหมือนว่าเห็นและได้ยินพร้อมกัน นี่ก็อย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเร็วแค่ไหน เพราะฉะนั้น เวลาที่โสตทวารวิถีที่ได้ยิน ดับไปแล้ว ภวังคจิตคั่นหลายขณะ มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ และภวังคจิตคั่นอีก หลายขณะกว่าจะรู้ว่าเสียงนั้นหมายความว่าอย่างไร ทั้งๆ ที่กำลังเห็น ห่างกันมาก และแต่ละวิถีจิตในวาระๆ หนึ่งก็มีจิตเกิดคั่นมาก ก็ยังไม่รู้เลยว่า โสตทวารวิถีกับ มโนทวารวิถีที่มีเสียงเป็นอารมณ์นั้นต่างกันอย่างไร ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น จะรู้อะไรสำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสภาพรู้ โดยไม่เจาะจงว่าจะเป็น ปัญจทวารวิถี หรือมโนทวารวิถีซึ่งรู้อารมณ์เดียวกัน

ถ. คือ ไม่จำเป็นต้องรู้หมดทุกอย่าง

สุ. รู้ไม่ได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีการเจาะจง เพราะฉะนั้น จะไปปิดกั้นว่าไม่ให้เห็น หลับตา ไม่ให้ได้ยินเสียง ไม่ให้ได้กลิ่น ไม่ให้ลิ้มรส จะรู้แต่ทางมโนทวารทวารเดียว ก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าสภาพธรรม เป็นอย่างไร ปัญญาที่จะเจริญขึ้นก็จะค่อยๆ ศึกษา เพิ่มความสังเกต พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เพิ่มขึ้น แต่ด้วยประการใดๆ ก็ตาม จะต้องรู้ชัดในความต่างกันของปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี

ถ. ที่ทรงแสดงไว้นี่เป็นจิตนิยาม พระพุทธเจ้าจะกี่พระองค์ก็ต้องแสดง จิตนิยามอย่างที่อาจารย์แสดงเมื่อกี้ทั้งนั้นเลย ใช่ไหม

สุ. สภาพความจริงเป็นอย่างไรเปลี่ยนไม่ได้ จะบอกว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นี้บอกว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่มี จักขุวิญญาณเกิดเลยทันที ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ถ. ถึงแม้จะมีผู้รู้น้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ พระพุทธเจ้าก็ยืนยันอย่างนี้

สุ. ถ้ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องเข้าใจเรื่องจิตนิยาม ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้

ถ. และไม่มีผู้ใดแสดงได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

สุ. ถูกต้อง คิดดู ภวังคจิตเป็นผลของกรรม กรรมเดียวกับของปฏิสนธิ ยังไม่ได้รับผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งอาจจะเป็นผลของกรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิ หรือผลของกรรมอื่นก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเป็น กระแสภวังค์ ภวังค์เกิดดับๆ นับไม่ถ้วน เหมือนกับกระแสน้ำที่กำลังไหลใครจะนับได้ จะนับอณูของกระแสน้ำที่ไหลย่อมไม่ได้ฉันใด ก็ไม่มีทางที่จะนับกระแสของภวังคจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก

เพราะฉะนั้น การที่จะเปลี่ยนกระแสของภวังค์จากการรับผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นการรับผลของกรรมอื่น จะให้มีวิบากจิตเกิดแทรกคั่นต่อกันทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะต้องมีอารมณ์ที่กระทบปสาท และกิริยาจิตซึ่งเป็นวิถีแรก คืออาวัชชนจิตต้องเกิดก่อน ต่อจากนั้นผลของกรรมจึงเกิดได้ โดยวิบากจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์นั้นที่กระทบกับปสาทรูป

ผู้ฟัง ฟังเรื่องจิตนิยามแล้ว เหมือนกับท้อแท้ใจ ยากเหลือกำลัง แต่ฟังเรื่องธรรมนิยามแล้ว ทำให้ไม่ท้อแท้ เพราะพระพุทธเจ้าต้องมาตรัสรู้ มาแสดงธรรมอีก เป็นไปตามธรรมนิยาม ก็เลยไม่ต้องท้อ

สุ. ถ้าพูดถึงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงและกำลังปรากฏให้รู้ ไม่น่าท้อ ใช่ไหม ไม่ต้องไปแสวงหาเลย กำลังมีให้พิสูจน์ ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายให้เดือดร้อนด้วย เพียงแต่สติระลึกได้ตามที่ได้ยินได้ฟังว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้ เป็นอนัตตาอย่างนี้ๆ และค่อยๆ พิจารณาลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่กังวลว่าจะต้องไปรู้จิตประเภทไหน ขณะไหน เพียงแต่ให้รู้ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมก่อน

ได้กล่าวถึงการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ละวาระในชีวิตประจำวัน ซึ่งข้อความในอรรถกถาก็มีข้ออุปมาเปรียบเทียบหลายอุปมาตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว สำหรับในวันนี้ ขอกล่าวถึงอุปมาเปรียบเทียบอีกนัยหนึ่ง จากข้อความใน อัฏฐสาลินี ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้วครั้งหนึ่ง

ข้อความอุปมาเปรียบเทียบมีว่า

พระราชาองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนพระแท่นบรรทม

ท่านที่ได้ฟังก่อนๆ นี้ คงจะทราบว่า ขณะนั้นคือขณะไหน ขณะนั้นต้องไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นขณะที่ เป็นภวังคจิต

มหาดเล็กของพระองค์นั่งถวายนวดพระยุคลบาทอยู่ นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร ทหารยาม ๓ คนยืนเรียงลำดับอยู่ ที่นั้นมีคนบ้านนอกคนหนึ่ง ถือบรรณาการมาเคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียง มหาดเล็กผู้ถวายนวดพระยุคลบาทจึงให้สัญญาณ เขาจึงเปิดประตูดูด้วยสัญญาณนั้น ทหารยาม คนที่ ๑ รับเครื่องบรรณาการส่งให้คนที่ ๒ คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา พระราชาได้เสวย

ข้อเปรียบเทียบนั้นแสดงเนื้อความอะไร

แสดงเนื้อความว่า อารมณ์มีกิจคือหน้าที่เพียงกระทบปสาทเท่านั้น วิถีจิต อื่นๆ เพียงทำหน้าที่ของตนๆ ส่วนชวนวิถีเท่านั้น ย่อมเสวยรสอารมณ์โดยส่วนเดียว

ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณก็ดี สัมปฏิจฉันนะก็ดี สันตีรณะก็ดี โวฏฐัพพนะก็ดี ไม่ได้เสวยอารมณ์นั้น แต่พระราชา คือ ชวนวิถีเท่านั้น ย่อมเสวยรสอารมณ์โดย ส่วนเดียว

ในขณะนี้ ทั้งๆ ที่มีจิตเห็น แต่ดับไปเร็วเหลือเกิน และสัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อ ดับไปอีกเร็วมากเพราะเพียงขณะเดียว สันตีรณะก็เกิดขึ้นขณะเดียว โวฏฐัพพนะ ก็เกิดขึ้นขณะเดียว เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏได้ ต้องเป็นชวนวิถี

เวลาที่เห็นแล้ว รู้สึกชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง หรือว่าเป็นกุศลบ้างจากเห็น จากได้ยิน จากได้กลิ่น จากลิ้มรส จากรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นชวนะ เพราะว่าเกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะ พอที่จะให้รู้ได้ว่าในขณะที่อารมณ์ปรากฏแต่ละครั้ง จิตในขณะนั้นเป็นอะไร หรือว่าเวทนา ความรู้สึก ที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ ในขณะนั้น รู้สึกดีใจ หรือเสียใจ หรือเฉยๆ

ข้ออุปมาเปรียบเทียบอีกเรื่องหนึ่ง เปรียบด้วยเรื่องเด็กชาวบ้าน

เด็กชาวบ้านหลายคนเล่นดินอยู่ที่ระหว่างถนน เผอิญเหรียญกหาปณะ ไปกระทบมือเด็กคนหนึ่ง เด็กคนนั้นพูดว่า อะไรนี่กระทบมือเรา ขณะนั้นเด็ก คนหนึ่งบอกว่า นั่นเป็นสีขาวนี่ อีกคนหนึ่งจับเสียแน่นพร้อมกับดิน อีกคนหนึ่ง พูดว่า นี่เป็นสี่เหลี่ยมหนา อีกคนหนึ่งพูดว่า นั่นคือเหรียญกหาปณะ ขณะนั้นเขานำเหรียญนั้นไปให้มารดา มารดาของเด็กนั้นก็เอาไปใช้ได้

ความเป็นไปของภวังคจิต เปรียบเหมือนกาลที่พวกเด็กๆ นั่งเล่นอยู่ที่ระหว่างถนน กาลที่อารมณ์กระทบปสาท เปรียบเหมือนเหรียญกหาปณะกระทบมือ กาลที่ปัญจทวาราวัชชนะรู้อารมณ์ที่กระทบ เปรียบเหมือนกาลที่พูดว่า อะไรนี่ กาลที่จักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ เปรียบเหมือนกาลที่เด็กพูดว่า นี่เป็นสีขาว กาลที่สัมปฏิจฉันนะทำสัมปฏิจฉันนกิจ เปรียบเหมือนกาลที่เด็กจับเสียแน่นพร้อมกับดิน กาลที่สันตีรณะทำสันตีรณกิจคือพิจารณาอารมณ์ เปรียบเหมือนกาลที่เด็ก พูดว่า นี่เป็นสี่เหลี่ยมหนา กาลที่มโนทวาราวัชชนะเกิดขึ้นทำโวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวารเป็นกาลที่ตัดสินอารมณ์แน่นอนในขณะนั้น เปรียบเหมือนกาลที่เด็กพูดว่า นั่นเหรียญกหาปณะ กาลที่ชวนะเกิดขึ้น เปรียบเหมือนกาลที่มารดาเอากหาปณะไปใช้

ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า

ข้อเปรียบเทียบนี้แสดงอะไร

แสดงว่า ปัญจทวาราวัชชนะ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ไม่เห็นเลย จักขุวิญญาณเท่านั้นทำกิจเห็นโดยส่วนเดียว

คือ แต่ละอุปมาจะแสดงว่า ในอุปมานั้นๆ มุ่งเปรียบเทียบเพื่อแสดงอะไร แต่นี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบ ไม่ใช่จริงๆ ซึ่งอรรถกถาจารย์ท่านพยายามยกตัวอย่างที่ทำให้พิจารณาเข้าใจในลักษณะสภาพของจิตแต่ละขณะได้

เปิด  269
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565