แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1338

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๗


ท่านที่สังเกต จะสังเกตได้ว่า ความรู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า หรือว่าความซบเซา ความซึมเซา อาจจะเป็นหลังจากที่รับประทานอาหารแล้ว บางท่านอาจจะรับประทานมากไป เพราะฉะนั้น ข้อความใน มโนรถปูรณี มีว่า

การมัวเมาในภัต เป็นไฉน

ความสลบไปเพราะภัตของผู้บริโภคภัตแล้ว ความลำบากเพราะภัต ความ เร่าร้อนเพราะภัต ความทุพพลภาพตามกาล นี้ท่านเรียกว่า ความมัวเมาในภัต

อาหารบางชนิดรับประทานแล้วเป็นอย่างไร ถึงกับสลบได้ไหม ตามความเป็นจริง มีไหมที่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ก่อนจะบริโภคอาหารก็มีความลำบาก กล่าวได้ว่า ยากเย็นจริงๆ กว่าที่จะได้บริโภคอาหารแต่ละครั้ง ต้องเป็นไปด้วยความลำบาก ในขณะที่ลำบากนั้น ย่อมเร่าร้อนด้วยความที่จะต้องกระทำหลายสิ่งหลายประการ นอกจากนั้น ความทุพลภาพตามกาล เมื่อบริโภคแล้วก็อาจจะถึงอึดอัด หรือที่ท่านใช้คำว่าหนักท้อง มีโรคหลายชนิดที่เกิดจากการบริโภคอาหาร แน่นบ้าง จุกบ้าง เป็นต้น

ข้อสำคัญ คือ สภาพธรรมทุกอย่างที่ทรงแสดงเพื่อพิสูจน์ว่า สภาพธรรม นั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งตราบใดที่สติยังไม่ระลึกจนทั่ว ก็ยังมีความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตนอยู่

แต่การที่สติเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและศึกษาจะรู้ได้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม แต่ต้องศึกษาในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ด้วยการสังเกต ด้วยการพิจารณา

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ควรจะสังเกตมากมายหลายอย่าง เพื่อจะเป็น ผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม และไม่เข้าใจผิดในลักษณะของสภาพธรรมด้วย เพราะเหตุว่าแม้ชีวิตประจำวันจะมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้ฟังเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่ถ้าขาดการสังเกตอาจจะไม่รู้ว่า ที่ได้ยินนั้นเกิดเพราะจิตประเภทใด มีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน และเป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ให้รู้ความจริงได้หรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ถ้าเพียงเป็นผู้ที่สังเกตเพิ่มขึ้น จะทำให้เป็น ผู้ที่ละเอียดขึ้น และพิจารณาธรรมได้ละเอียดด้วย

ใน อัฏฐสาลินี มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องโทษของถีนมิทธะว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์กางกั้นความดีขึ้นทับจิต บั่นทอนปัญญา ๕ ประการเหล่านี้ ๕ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คือ กามฉันทะ เป็นนิวรณ์กางกั้นความดีขึ้นทับจิต บั่นทอนปัญญา ๑ ...

และข้อความต่อไป ซึ่งหมายความถึง พยาปาทะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ที่เป็นนิวรณธรรม

ถีนมิทธะ เป็นนิวรณ์กางกั้นความดีขึ้นทับจิต บั่นทอนปัญญา ๑ ดังนี้ ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถีนมิทธนิวรณ์ทำให้มืดมน ไม่ทำให้เป็นจักษุ ดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งการทำลาย ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

คนที่กำลังง่วงจะเข้าใจดีว่า ในขณะที่ถีนมิทธะเกิด ทำให้มืดมน บางครั้งถึงกับทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง บางครั้งเปิดวิทยุฟัง แต่ดึกเกินไปและก็ง่วง ในขณะนั้นได้ยินเสียงอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้เลยว่าเรื่องอะไร จนกระทั่งรายการธรรมจบ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ถีนมิทธะเกิด ในขณะนั้น เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งการทำลาย ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

แต่การที่จะดับกิเลส ต้องเริ่มจากการอบรมเจริญปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่เลือก อย่าคิดว่าไม่อยากมีถีนมิทธะ เพราะเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับไม่อยากจะมีโลภะ ไม่อยากจะมีโทสะ ไม่อยากจะมีโมหะ อกุศลทั้งหลาย ไม่อยากจะมีทั้งนั้น แต่ไม่มีไม่ได้ เพราะสะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น เพียงแต่เป็นผู้ที่รู้หนทางถูกว่า ถ้าเป็นผู้ที่ฟัง พระธรรมแล้ว เพียงแต่เริ่มสังเกตเท่านั้นก็จะเห็นได้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐานที่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น จนประจักษ์แจ้งสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้จริงๆ

สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๒ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง ถ้าถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกไม่เกิดร่วมด้วย เพราะไม่จำเป็นที่ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกจะเกิดกับ โลภมูลจิตดวงที่ ๒ ซึ่งเป็นสสังขาริกเสมอไป แต่ถ้าขณะใดที่ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกจะเกิด จะไม่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ แต่จะเกิดกับโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก

น่าสงสัยไหมว่า โลภมูลจิตดวงที่ ๒ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง มีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างไร เพราะเป็นโสมนัส และประกอบด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดด้วย แต่แม้กระนั้นถีนมิทธเจตสิกก็ยังเกิดได้ เพราะผู้ที่มีความเห็นผิด ตราบใดที่ยังยึดถือในความเห็นผิดนั้นอยู่ ความเห็นผิดย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าในเวลาไหน กำลังง่วง จะไม่ให้มีความเห็นผิดได้ไหม สำหรับคนที่สะสมความเห็นผิดมา และยึดถือในความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิดนั้น

บางคนเข้าใจว่า ที่โงก เป็นวิปัสสนาญาณ

เป็น โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ที่มีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย แสดงให้เห็นว่า กำลังง่วง ความเห็นผิดย่อมเกิดได้ เพราะว่ากำลังโงกอยู่ ก็เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งความจริงถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ต้องโงกหรือเปล่า

ขณะนี้เอง ปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ผิดปกติ จึงจะเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะว่าเป็นปัญญาที่ศึกษาลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งมีกำลัง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล หรือแม้ถีนมิทธะที่กำลังเกิดอยู่ สติปัฏฐานก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือว่ากำลังประกอบกิจการงาน หรือที่ไหนก็ได้ เพราะทันทีที่สติระลึก ซึ่งทุกท่านในขณะนี้พิสูจน์ได้ อาจจะมีปัจจัยที่เมื่อฟังแล้วสติระลึก ตรวจสอบได้ว่า ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏหรือเปล่า ถ้ายัง ก็หมายความว่า ต้องอบรมเจริญไปจนกว่าปัญญาจะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ

การเป็นผู้ที่สังเกตละเอียดขึ้น การพิจารณาให้เข้าใจในเหตุผลจริงๆ และความเป็นผู้ตรง จะทำให้ไม่หลอกตัวเอง ไม่หลอกคนอื่น และไม่ถูกคนอื่นหลอกด้วย เพราะเป็นผู้ที่สามารถจะรู้ว่า คำพูดที่ได้ยินเกิดจากจิตประเภทใด ซึ่งในวันหนึ่งๆ มีมาก ทุกคนได้ยินได้ฟังเรื่องต่างๆ แต่ขาดการสังเกตแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นผู้ที่ไม่ละเอียด เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมจะต้องพิจารณาจริงๆ และละเอียดขึ้น

ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ แสดงเหตุเกิดแห่งทิฏฐิ ทุกคนไม่อยากจะมีความเห็นผิด แต่ไม่รู้ตัวว่า ถ้าขาดความละเอียดและความเป็นผู้สังเกต จะเป็นปัจจัยทำให้โน้มเอียงไปสู่ความเห็นผิดทีละเล็ก ทีละน้อยได้ เพราะเหตุเกิดแห่งทิฏฐิที่แสดงไว้ใน อัฏฐสาลินี มีว่า

อสัทธัมมสวนัง การฟังแต่อสัทธรรม

อกัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

อริยานัง อทัสสนกามตาทีนิ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น

อโยนิโสมนสิการ การไม่พิจารณาโดยแยบคาย

ถ้าได้พิจารณาแต่ละข้อจริงๆ จะเป็นการเกื้อกูลต่อการให้ไม่โน้มเอียงไปสู่การเป็นผู้เห็นผิด เพราะวันนี้อาจจะไม่เห็นผิด แต่ต่อไปข้างหน้าถ้าเป็นผู้ที่ไม่ละเอียด จะเห็นผิดได้ไหม ถ้าฟังแต่อสัทธรรม ก็ย่อมเป็นได้ แม้แต่พระสัทธรรมก็ยังต้องฟังโดยความละเอียดรอบคอบที่จะต้องพิจารณาว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นเป็นความจริงที่สามารถจะพิสูจน์ได้หรือเปล่า นี่คือโยนิโสมนสิการ

บางทีทุกท่านได้ยินคำว่า โยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย ก็ถามถึงวิธีทำทันทีว่า ทำอย่างไรพิจารณาโดยแยบคาย ต้องการที่จะทำ คือ ต้องการที่จะโยนิโสมนสิการ แต่ตามความจริง ชีวิตประจำวันนี่เอง พิจารณาได้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ ว่าเป็นผู้ที่โยนิโสมนสิการหรือเปล่า คือ เป็นผู้ที่ทำความเห็นให้ตรง

ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า

ไม่พิจารณาโดยแยบคาย อโยนิโสมนสิการ ได้แก่ เป็นผู้ที่ถือมงคลตื่นข่าว

และชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าไม่สังเกตจะไม่ทราบเลยว่า โน้มเอียงไปหรือเปล่า

ข้อความใน มังคลัตถทีปนี อธิบายว่า

บางคนถือว่า เห็นโคแดงเป็นต้นเป็นทิฏฐมงคล บางคนถือว่า ได้ยินเสียงหรือคำต้อนรับอวยชัยให้พรเป็นต้นเป็นสุตมงคล บางคนก็ถือว่า เมื่อได้สัมผัส เช่น นุ่งผ้าขาว หรือโพกผ้าขาว หรือว่าลูบไล้ด้วยดินสอพองโดยถูกต้องตามวิธีเป็นต้น หรือได้กลิ่นดอกบัวเป็นต้น หรือได้ลิ้มรสอาหารบางรสเป็นต้น เหล่านี้เป็นมุตมงคล

ถ้าถืออย่างนั้น เป็นอโยนิโสมนสิการ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างต้องพิจารณาโดยละเอียด แม้แต่การนุ่งห่มผ้าขาว หรือโพกผ้าขาว เป็นมงคลหรือเปล่า ถ้าถือว่าเป็นมงคล เป็นอโยนิโสมนสิการ คือ ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า มงคลจริงๆ คืออะไร

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ อย่าเป็นผู้ที่ขาดการสังเกต ขาดการพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าจะไม่เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด เพราะโน้มเอียงไปที่จะไม่พิจารณาในเหตุในผล ซึ่งการที่จะเป็นผู้ตรงต่อพระธรรมวินัย ตรงต่อความเห็นถูก ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและสังเกตจริงๆ

คำอธิบายเหตุเกิดแห่งทิฏฐิมีว่า

จริงอยู่ ความเห็นผิดนั้นพึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยการฟังอันเว้นจากการเข้าไปพิจารณาเห็นอย่างรอบคอบ ก้าวล่วงความเป็นกลางเสีย มุ่งที่จะนับถือเป็นอย่างมากซึ่งอสัทธรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยวาทะ คือ ทิฏฐิเหล่านี้

เรื่องที่ได้ยินได้ฟังบางเรื่องไม่น่าเชื่อเลย แต่ยังมีคนเชื่อได้ แสดงว่าอะไร จริงอยู่ ความเห็นผิดนั้นพึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยการฟัง อันเว้นจากการเข้าไปพิจารณาเห็นอย่างรอบคอบ ก้าวล่วงความเป็นกลางเสีย มุ่งที่จะนับถือเป็นอย่างมาก ซึ่งอสัทธรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยวาทะ คือ ทิฏฐิเหล่านี้

ในวันหนึ่งๆ แม้ทุกท่านจะไม่คุยกันถึงเรื่องทิฏฐิเลย วันนี้มีใครคุยกันเรื่องทิฏฐิบ้างตั้งแต่เช้ามา ก็ไม่มี คุยเรื่องคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง เหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้บ้าง แต่แม้อย่างนั้น ไม่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากผู้ใกล้ชิดบ้าง มิตรสหายบ้าง วงศาคณาญาติบ้าง เป็นผู้ตรงแม้ในการฟังเรื่องอย่างนั้นๆ หรือเปล่า เป็นผู้ที่สังเกตวาจาของผู้กล่าวหรือเปล่าว่า เกิดจากจิตประเภทใด ซึ่งผู้ฟังสามารถรู้ได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้พูดเท่านั้นที่รู้ แต่ผู้ฟังก็ยังสามารถที่จะรู้ได้ว่า วาจาอย่างนี้เกิดจากอกุศลจิตประเภทใด เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าเริ่มสังเกตแม้ในเรื่องที่ไม่ใช่เกี่ยวกับทิฏฐิหรือความเห็นผิด ก็ยังจะเห็นได้ว่า เกื้อกูลต่อการเป็นผู้ที่ทำความเห็นให้ตรง ต้องเป็นผู้ที่สะสมความตรงไปทุกชาติ เพราะทุกคนยังมีกุศลและยังมีอกุศล ไม่ใช่มีแต่อกุศลอย่างเดียว หรือมีกุศลอย่างเดียว ไม่ว่าใครทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น แต่ละคนย่อมมีเวลาที่อกุศลจิตจะเกิด และก็กล่าววาจาที่เป็นอกุศล แต่รู้สึกตัวได้ไหม และในขณะเดียวกัน อย่าลืม ผู้ฟังที่สังเกต ย่อมสามารถที่จะรู้ได้ เพราะถ้าไม่เป็นผู้ตรง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่ได้ทรงแสดงลักษณะของ อกุศลธรรมไว้โดยละเอียดทุกประการ แม้แต่ผู้ที่มีอกุศลเองก็ย่อมไม่รู้จักตัวเองว่า อกุศลลึกและมีเล่ห์กลแค่ไหน

ขอกล่าวถึงประโยชน์ของการเป็นผู้ละเอียดและเป็นผู้ที่สังเกต จากตัวอย่างของพระผู้มีพระภาคใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๑

มีคำถามว่า

ก็พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงธรรม ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายก่อน เพราะเหตุใด

เท่านี้เอง แสดงถึงความเป็นผู้ละเอียด ในพระไตรปิฎกไม่ว่าจะเป็นในสูตรไหนก็ตาม พระผู้มีพระภาคจะตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่ท่านผู้ฟังอาจจะข้ามไป ไม่พิจารณาเลยว่าเพราะเหตุใด ทำไมพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงธรรมตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายก่อน แต่ความเป็นผู้ละเอียด ความเป็นผู้สังเกต จึงมีคำถามนี้ที่ถามว่า

ก็พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงธรรม ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายก่อน เพราะเหตุใด เมื่อไม่ตรัสเรียก ไม่ทรงแสดงธรรมนั่นเทียว มิใช่หรือ

ตอบว่า เพื่อให้เกิดสติ

การที่จะฟังพระธรรม ต้องเป็นผู้ที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่จะพิจารณาเหตุผลที่ได้ฟังจึงจะได้ประโยชน์จริงๆ ประโยชน์ของพระธรรม คือ เข้าใจและประพฤติปฏิบัติตามด้วย อย่าเพียงแต่ศึกษามากๆ จนจบ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งนั่นไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลาย เพื่อให้เกิดสติ

จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคิดถึงสิ่งอื่นอยู่ เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง พิจารณาธรรมอยู่บ้าง ใส่ใจกัมมัฏฐานอยู่บ้าง นั่งแล้ว เมื่อพระองค์ไม่ตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นแล้วแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลายไม่อาจเพื่อจะกำหนดว่า เทศนานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วด้วยการเกิดขึ้นแห่งเนื้อความเช่นไร ดังนี้ พึงเรียนเอาอย่างไม่ดี หรือไม่พึงเรียนเอา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกก่อน แล้วทรงแสดงธรรมในภายหลัง ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็ทูลรับคำเรียกของ พระผู้มีพระภาค แสดงว่าเป็นผู้มีหน้าเฉพาะ ฟังแล้ว

นี่เป็นเหตุที่จะต้องพิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เห็นประโยชน์แม้แต่ที่ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายก่อนที่จะทรงแสดงธรรม

เปิด  172
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565