แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1163

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๕


สำหรับการศึกษาเรื่องของอินทรีย์ หรือว่าเรื่องของธรรมทั้งหลาย อย่าลืมจุดประสงค์ว่า เพื่อเกื้อกูลต่อการอบรมเจริญปัญญาที่จะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จนสามารถดับกิเลสได้ เพื่อให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เพราะฉะนั้น แม้เรื่องของอินทริยปัจจัยเพียงปัจจัยเดียวก็สามารถแสดงถึง ธรรมซึ่งเกื้อกูลแก่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยตลอด คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะถ้าไม่มีอินทริยรูป คือ จักขุนทรีย์ ตา โสตินทรีย์ หู ฆานินทรีย์ จมูก ชิวหินทรีย์ ลิ้น กายินทรีย์ กาย ซึ่งหมายถึงกายปสาท และมนินทรีย์ โลกจะปรากฏไหม ก็ไม่มีเลย ถ้าเช่นนั้น จะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมอะไรได้

เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งสภาพของธรรมจะปราศจากความเข้าใจเรื่องของอินทรีย์โดยถ่องแท้ไม่ได้เลย และไม่ใช่เพียงแต่รู้ว่าอินทรีย์มี ๒๒ เป็นอินทริยปัจจัย ๒๐ แต่ต้องรู้ลักษณะจริงๆ ของอินทริยะแต่ละอย่าง ที่จะเกื้อกูลต่อการที่จะให้รู้แจ้ง สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจด้วย

ขอกล่าวถึงอินทริยะที่เป็นรูปก่อนว่า สำหรับอินทริยะ ๒๒ นั้น เป็นรูป ๗ ซึ่งท่านผู้ฟังควรที่จะได้พิจารณาว่า ทำไมมหาภูตรูปไม่เป็นอินทริยะ เป็นมหาภูตรูป เป็นรูปใหญ่ เท่ากับว่าเป็นประธานของรูป เพราะถ้าปราศจากมหาภูตรูป รูปอื่นๆ จะมีไม่ได้เลย จักขุปสาทก็มีไม่ได้ โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ก็มีไม่ได้ แต่เพราะเหตุใดมหาภูตรูปจึงไม่เป็นอินทริยะ ไม่เป็นใหญ่

เคยลองคิดบ้างไหม เป็นมหาภูตรูป แต่ไม่เป็นอินทรีย์ ไม่เป็นใหญ่

เพราะเหตุว่ามหาภูตรูปนี้มีอยู่ทั่วไป ทั้งภายในและภายนอก ที่กายก็มี มหาภูตรูป แต่จะรู้ลักษณะของมหาภูตรูปได้ไหมถ้าไม่มีกายปสาทซึ่งเป็นอินทริยะ เพราะฉะนั้น สภาพของรูปที่เป็นใหญ่จริงๆ ไม่ใช่มหาภูตรูป แต่เป็นอินทริยรูปซึ่งเป็นทวารหรือว่าเป็นทางที่จะทำให้รูปอื่นๆ ปรากฏได้ เช่น ทางตามีสีสันวัณณะปรากฏ ซึ่งเพียงแต่ไม่มีจักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ รูปทั้งหมดไม่ปรากฏเลย ที่ท่านผู้ฟังเห็นเป็นจิตรกรรมสวยๆ งามๆ ต่างๆ เป็นพระพุทธรูปทองคำบ้าง เป็นพระพุทธรูปที่มีค่า ต่างๆ บ้าง ลองคิดถึงผู้ที่ไม่มีจักขุปสาท คือ ไม่มีจักขุนทรีย์ ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาสำหรับบุคคลที่มีจักขุปสาทนั้นเป็นอย่างไร แต่ว่าสามารถจะกระทบสัมผัส ถ้ามีกายปสาทก็กระทบสัมผัสมหาภูตรูปได้ แต่ไม่สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางตาซึ่งเป็นรูปารมณ์ หรือเป็นวัณณะ เป็นสีสันต่างๆ ได้

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า ตัวของมหาภูตรูปเองก็ดี หรือรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น เหล่านั้นทั้งหมด จะไม่สามารถปรากฏได้ถ้าขาดปสาทรูปซึ่งเป็นอินทริยะ

และที่ตัวของแต่ละท่านมีรูปถึงคนละ ๒๗ รูป ก็ควรที่จะได้ทราบว่า รูปใดเป็นอินทรีย์ ต้องรู้ในความเป็นอินทรีย์ของรูปนั้น มิฉะนั้นแล้วปัญญาไม่เจริญ ไม่สามารถเห็นสภาพความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย ทั้งนามธรรมและรูปธรรมได้

แต่ถ้าพูดถึงอินทรีย์เฉยๆ โดยไม่เจริญสติปัฏฐาน จะไม่มีความหมายเลย จะไม่เข้าถึงลักษณะสภาพความเป็นอินทรีย์ของตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย เพราะว่าไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางทวารต่างๆ เหล่านั้น

เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ศึกษาถึงรูปที่เป็นอินทรีย์ตั้งแต่เกิดว่า มีรูปอะไรบ้างที่เป็นอินทริยะในขณะที่เกิดขึ้น

สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ในครรภ์ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเกิดพร้อมกับเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของ กรรมหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นเป็นปัจจัยให้รูป คือ กัมมชรูปเกิด ๓ กลุ่ม ที่ภาษาบาลีใช้ คำว่า กลาป หรือกลาปะ

ผู้ที่เกิดในครรภ์จะมีทหยทสกะ คือ กลุ่มของรูปที่มีรูปจำนวน ๑๐ รูป ซึ่งประกอบด้วยหทยรูป ๑ กลุ่ม กายทสกะ คือ กลุ่มของรูปที่มีรูปจำนวน ๑๐ รูป ซึ่งประกอบด้วยกายปสาท ๑ กลุ่ม และภาวทสกะ คือ กลุ่มของรูปที่มีรูปจำนวน ๑๐ รูป ซึ่งประกอบด้วยอิตถีภาวะหรือปุริสภาวะ ๑ กลาป หรือ ๑ กลุ่ม ตั้งแต่ในปฏิสนธิขณะ

ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต อินทกสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนภูเขาอินทกูฏ ซึ่งอินทกยักษ์ครอบครอง เขตกรุงราชคฤห์ ฯ

ครั้งนั้นแล อินทกยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลด้วยคาถาว่า

ถ้าท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า รูปหาใช่ชีพไม่ สัตว์นี้จะประสบร่างกายนี้ได้อย่างไรหนอ กระดูกและก้อนเนื้อจะมาแต่ไหน สัตว์นี้จะติดอยู่ในครรภ์ได้อย่างไร

หมายความว่า รูปนี้มีหรือเกิดได้อย่างไร ร่างกายมาจากไหน น่าคิดใช่ไหม ทุกท่านมีแล้ว แต่ไม่ทราบว่าได้มาจากไหน หรือว่าเกิดมีขึ้นได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม ต่อจากนั้นมีผม ขน และเล็บ (เป็นต้น) เกิดขึ้น มารดาของสัตว์ในครรภ์บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดาก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้นในครรภ์นั้น ฯ

ท่านผู้ฟังหายสงสัยแล้วใช่ไหมว่า รูปซึ่งทุกท่านมีมาจากไหน เกิดมาได้อย่างไร เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ คือ มีสภาพเหมือนน้ำล้างเนื้อ จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ คือ เริ่มเจริญขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งเป็นชิ้นเล็กๆ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ เจริญขึ้นจนกระทั่งเป็นก้อน จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม เป็นปัญจสาขา คือ ศีรษะ แขน และขา ต่อจากนั้นมีผม ขน และเล็บ เป็นต้น เกิดขึ้น มารดาของสัตว์ในครรภ์บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดาก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้นในครรภ์นั้น

ถอยลงไปก่อนที่จะเป็นตัวท่านในขณะนี้ ก็คือ ๓ กลาป ซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิในครรภ์ ซึ่งรูปนี้เป็นกลละก่อน

สำหรับสัตว์ที่เกิดอยู่ในครรภ์นั้น ชื่อว่าคัพพเสยยกะ

ซึ่งในอรรถกถาอธิบายว่า

เพราะอรรถว่า นอนอยู่ในครรภ์ คือ ในท้องของมารดา

นอกจากนั้นยังมีความหมายว่า

คัพพเสยยกเหล่านั้นนั่นแล ชื่อว่าสัตว์ เพราะเป็นผู้ข้องอยู่ในอารมณ์ มีรูป เป็นต้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า คัพพเสยยกสัตว์

คราวนี้ก็รู้จักตัวท่านเองเพิ่มขึ้นอีก เป็นผู้ที่นอนอยู่ในครรภ์จึงเป็นคัพพเสยยกะ และ เพราะเป็นผู้ที่ข้องอยู่ในอารมณ์ มีรูป เป็นต้น คือ ทั้งยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงเกิดในครรภ์ ไม่ใช่เกิดเป็นโอปปาติกะเหมือนอย่างพรหมบุคคลซึ่งเกิดผุดขึ้นทันที มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ครบ แต่นี่ต้องอาศัยการเกิด และค่อยๆ เจริญขึ้น จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเป็นเปสิ จากเปสิเป็นฆนะ และจากฆนะเป็นปัญจสาขา

ซึ่งใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ ขันธวิภังคนิทเทส แสดงปกิณณกะในขันธ์ ๕ มีข้อความว่า

พึงทราบขันธ์ ๕ โดยความปรากฏ

คือ รูปขันธ์ที่จะปรากฏ จะต้องปรากฏตามลำดับของการเจริญขึ้นสำหรับสัตว์ที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า ที่เป็นกลละนั้น มีกลาปหรือกลุ่มของรูปจำนวน ๑๐ รูป กลุ่มละ ๑๐ รูปๆ นั้น จะเล็กน้อยสักแค่ไหน

ใน สัมโมหวิโนทนี มีข้อความว่า

ก็สำหรับคัพพเสยยกสัตว์ ย่อมมีขันธ์ ๕ ปรากฏพร้อมกัน

คือ ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นนามขันธ์ ๔ และมีรูปเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับคัพพเสยยกสัตว์ ย่อมมีขันธ์ ๕ ปรากฏพร้อมกัน

ไม่หลัง ไม่ก่อนกัน ในปฏิสนธิขณะ ท่านกล่าวไว้ว่า สันตติแห่งรูปที่เรียกว่า กลละ อันปรากฏในขณะนั้นเป็นของนิดหน่อย พอที่แมลงวันตัวน้อยจะพึงดื่มได้ด้วยความพยายามเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ท่านผู้ฟังเห็นแมลงวัน แต่ไม่เห็นว่าแมลงวันกินจำนวนเท่าไรขณะเกาะที่อาหารครั้งหนึ่งๆ ใช่ไหม แสดงให้เห็นว่า กลละนี้เล็กแค่ไหนที่ว่า กลละ อันปรากฏในขณะนั้นเป็นของนิดหน่อย พอที่แมลงวันตัวน้อยจะพึงดื่มได้ด้วยความพยายามครั้งเดียวเท่านั้น คือ ไม่มากมายเหลือพอที่จะดื่มได้หลายๆ ครั้งเลย

แล้วกล่าวอีกว่า นี่ยังมากไป ก็เพียงหยาดที่ไหลออกตั้งอยู่ตรงปลายของเข็มละเอียดที่เขาจุ่มลงในน้ำมันแล้วยกขึ้น

แสดงให้เห็นว่าเล็กแค่ไหนไปเรื่อยๆ

แม้หยาดนั้นท่านก็ปฏิเสธแล้วกล่าวต่อไปว่า เมื่อเขาจับผมเส้นหนึ่งยกขึ้นจากน้ำมัน เป็นเพียงหยาดที่ไหลออกตั้งอยู่ตรงปลายของผมเส้นนั้น

แม้หยาดนั้นท่านก็ปฏิเสธแล้วกล่าวต่อไปว่า เมื่อผ่าผมของมนุษย์ในชนบทนี้เป็น ๘ ส่วน ผมของชาวอุตตรกุรุทวีปจะมีประมาณเท่าส่วนเดียวของผมที่ผ่านั้น เป็นเพียงหยาดที่ตั้งอยู่ตรงปลายผมมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปนั้นอันยกขึ้นจากน้ำมันงาใส

แม้หยาดนั้นท่านก็ปฏิเสธแล้วกล่าวต่อไปว่า นี่ยังมากไป ธรรมดาขนแกะมีกำเนิดในหิมวันตประเทศ (คือ แถบภูเขาหิมาลัย ได้แก่สัตว์จำพวกจามรี) เป็นของละเอียด เป็นเพียงหยาดที่ไหลออกตั้งอยู่ตรงปลายอันหนึ่งของขนแกะนั้น อันเขาจุ่มลงในน้ำมันงาใสแล้วยกขึ้น

ก็กลละนี้นั้นเป็นของใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว บริสุทธิ์ เสมอด้วยน้ำมันงาใส สมจริงแม้ดังคำที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ว่า

หยาดน้ำมันงาใสดังเนยใส ไม่ขุ่นมัว ฉันใด รูปมีส่วนเปรียบด้วยสีเหมือน ฉันนั้น ท่านกล่าวว่า กลละ ดังนี้

จากนั้นค่อยๆ เจริญเติบโต ซึ่งข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๖ มีว่า

บทว่า ตโต ปรํ คือ ต่อจากปฏิสนธิ

บทว่า ปวตฺติกาเล ความว่า เพียงในสัปดาห์ที่ ๗ หรือตามมติของ พระฎีกาจารย์ในสัปดาห์ที่ ๑๑

บทว่า กมฺเมน ความว่า ตามลำดับอย่างนี้ คือ ล่วงไปได้ ๗ วันนับแต่วันที่จักขุทสกะปรากฏ โสตทสกะก็ปรากฏ ล่วงไปได้ ๗ วันนับแต่วันที่โสตทสกะปรากฏ ฆานทสกะก็ปรากฏ ล่วงไปได้ ๗ วันนับแต่วันที่ฆานทสกะปรากฏ ชิวหาทสกะ ก็ปรากฏขึ้น

นี่เป็นชีวิตตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ที่จะรู้ว่ามาจากไหน รูปร่างกายนี้มาได้อย่างไร และเจริญเติบโตขึ้นได้อย่างไร

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาตัณหาสังขยสูตร ณ พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องของท่านผู้ฟังแต่ละท่าน ทุกคนจริงๆ

ข้อความมีว่า

ข้อ ๔๕๒ - ข้อ ๔๕๓

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ ความเกิดแห่งทารกก็มี

การเกิดไม่ใช่ว่าไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไรเลย แม้แต่การจะเกิดยังต้องมีปัจจัย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า

ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และทารกที่จะมาเกิดยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารกก็ยังไม่มีก่อน

หมายความว่า ถ้ามารดายังไม่ถึงวัยที่สมควร ย่อมไม่เป็นปัจจัยให้ทารกเกิดได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดมารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย มารดามีระดูด้วย ทารกที่จะมาเกิดก็ปรากฏด้วย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้ ความเกิดแห่งทารกจึงมี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มารดาย่อมรักษาทารกนั้นด้วยท้องเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง เมื่อล่วงไปเก้าเดือนหรือสิบเดือน มารดาก็คลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นซึ่งเกิดแล้วด้วยโลหิตของตนด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมกำหนัดในรูปที่รัก ย่อมขัดเคืองในรูปที่ชัง … ฯลฯ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้ เมื่อมีตัณหาแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน เมื่อมีอุปาทานแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดภพ เมื่อมีภพแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เมื่อมีชาติแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส

ไม่ใช่ครั้งเดียว หนเดียว แต่ว่าวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์อย่างนี้เรื่อยๆ

ข้อความต่อไปมีว่า

ตราบจนกระทั่งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติ ทรงแสดงธรรมให้อบรมเจริญอินทริยสังวร และอินทรีย์ ๕

ในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านไปก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมา จนกว่าจะถึงโอกาสสมัยที่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมให้เจริญ อินทริยะ ๕ คือ อินทริยสังวร

ซึ่งข้อความต่อไปกล่าวถึงผู้ที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยฌานต่างๆ ว่าบุคคลผู้นั้นย่อมจะสละอาคารบ้านเรือน ต่อจากนั้นเจริญความสงบจนกระทั่งบรรลุฌานขั้นต่างๆ และได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมพร้อมทั้งญาณพิเศษต่างๆ ด้วย

เพราะฉะนั้น เป็นชีวิตของทุกคน จากกำเนิด คือ พร้อมกับปฏิสนธิในครรภ์ มีรูปเกิดเท่าไร เจริญเติบโตขึ้น มีการเล่นแบบกุมาร จนกระทั่งเจริญเติบโตขึ้น มีความยินดียินร้ายในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏ ตราบจนกระทั่งได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และเจริญอินทริยะ ๕

เพราะฉะนั้น ควรจะได้พิจารณาเรื่องของอินทริยะ ๕ ซึ่งจะเกื้อกูลต่อการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเข้าใจเรื่องของอินทริยะ ๕ จริงๆ

เปิด  172
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566