แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1119

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕


สำหรับหมวดที่ ๒ ของอกุศล คือ อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล

เป็นไปได้ไหม เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและละเอียดซับซ้อนจริงๆ กว้างขวางมาก สำหรับปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะว่าเป็นปัจจัยได้โดยกว้างขวางจริงๆ แม้แต่อกุศลก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้

ท่านที่กลัวความยากลำบาก กลัวว่าถ้าไม่ให้ทานจะเป็นคนยากจนขัดสน เพราะถ้าไม่มีกุศลกรรมเป็นปัจจัย กุศลวิบากทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ เมื่อรู้อย่างนี้ เพราะต้องการผล คือ กุศลวิบาก จึงกระทำกุศลมีทานกุศล เป็นต้น มีไหมแบบนี้

จะเห็นได้ว่า อกุศล คือ โลภะนั่นเอง ความต้องการมนุษย์สมบัติ หรือสวรรค์สมบัติ เป็นปัจจัยให้กระทำกุศล เพราะฉะนั้น อกุศลก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล

บางท่านเป็นผู้ที่มีความสำคัญตนในฐานะหรือว่าในชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงทำทานกุศล ไม่ใช่เพื่ออะไร เพื่อตนเอง เพราะความสำคัญตน หรือเพราะเกียรติยศชื่อเสียง นั่นก็อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล

หรือบางครั้งความไม่รู้หรือความเห็นผิดก็เป็นปัจจัยให้ทำกุศลได้เหมือนกัน ที่มีการตื่นเต้นเกี่ยวกับข่าวที่ว่า ผู้ที่เกิดปีมะโรงจะต้องตายถ้าไม่ให้ทาน ปรากฏว่าผู้ที่เกิดปีมะโรงก็ให้ทานกันเป็นการใหญ่ เพราะกลัวว่าถ้าไม่ให้ทานจะต้องตาย นี่ก็เป็นเพราะความไม่รู้ หรือความเห็นผิด ความเข้าใจผิด อกุศลจึงเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล

หรือบางคนอาจจะทำอกุศลกรรมและนึกถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้ว เห็นว่า เป็นโทษ เพราะฉะนั้น จึงขวนขวายที่จะทำกุศลชดเชยกับอกุศลที่ได้กระทำแล้วก็มี แม้ในครั้งอดีต พระเจ้าอโศกมหาราช หรือพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งได้กระทำอกุศลไว้มาก เมื่อระลึกได้ก็ทำกุศล เพราะฉะนั้น อกุศลก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้

สำหรับหมวดต่อไปของอกุศล คือ อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ ก็โดยนัยเดียวกันกับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตะ เพราะว่าเวลาที่อกุศลเกิดขึ้น มีความปรารถนา มีความอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม นั่งเฉยๆ จะได้ไหม ก็ไม่ได้ ก็จะต้องมีการขวนขวายประกอบกิจการงานต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความโลภ มีความต้องการ มีความปรารถนาวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นก็จะต้องมีการขวนขวาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วแต่ว่าจะเป็นอัพยากตะ คือ วิบากจิตประเภทใด อาจจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากก็ได้

เป็นชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

ถ. ที่ว่าอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล สมัยนี้หมอดูต่างๆ มีมาก ผู้ที่ไปหาหมอดู ส่วนใหญ่มีความทุกข์ อาจจะมีการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเคราะห์ร้ายต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทำสังฆทาน ทำบุญทำกุศลต่างๆ รักษาศีลก็มี การกระทำอย่างนี้ผมคิดว่า ไม่มีกำลังอะไรเพราะเชื่อหมอ จะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยหรือเปล่า

สุ. เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุนั้นกุศลจึงเกิด

ถ. ก็ไม่มีกำลังอะไร

สุ. จะมีกำลังหรือไม่มีก็ตาม แต่เมื่อเกิดแล้ว แสดงว่ามีกำลังพอจึงเกิด ส่วนกำลังจะมากจะน้อยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุดก็มีกำลังพอที่จะเกิดจึงเกิด เมื่อเกิดแล้วแสดงว่ามีปัจจัยที่มีกำลังจึงทำให้เกิด แม้แต่วิบากกรรมต่างๆ คือ ผลของกรรมในชาตินี้ จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่ได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถึงแม้ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกรรมอะไร แต่กรรมนั้นต้องเป็น อุปนิสสยปัจจัย เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย จึงสามารถเป็นปัจจัยทำให้วิบากประเภทนั้นๆ เกิดได้ เพราะว่ากรรมมีมากมาย แต่กรรมใดซึ่งสามารถทำให้วิบากเกิดได้ กรรมนั้นเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย จึงทำให้วิบากนั้นเกิด

ผู้ฟัง เพื่อความชัดเจน ปกตูปนิสสยปัจจัยเป็นปัจจัยทั้งกุศลและอกุศล อย่างที่อาจารย์ว่า แสงสว่างเป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้เราเห็น

สุ. สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังด้วยอำนาจสภาวะของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องด้วยอารัมมณูปนิสสยปัจจัย และอนันตรูปนิสสยปัจจัย ชื่อว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย แสดงถึงความกว้างขวางของปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะว่าธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังกล้าด้วยอำนาจสภาวะของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องด้วยอารัมมณูปนิสสยปัจจัยและอนันตรูปนิสสยปัจจัยแล้ว เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย

ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรืออัพยากตธรรม ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่ทำให้กุศล หรืออกุศล หรืออัพยากตะเกิดขึ้น และในวันหนึ่งๆ ก็มีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง อัพยากตะ คือ วิบากจิตและกิริยาจิตเกิดบ้าง เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นถึง ปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งทำให้กุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากจิตบ้าง กิริยาจิตบ้าง เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ

วันหนึ่งๆ มีจิตซึ่งเป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง วิบากจิตบ้าง กิริยาจิตบ้าง วิบากจิตเป็นผลของกุศลและอกุศลซึ่งได้กระทำแล้ว อาจจะเป็นกุศลในชาตินี้เอง หรือในชาติก่อน หรือในอดีตอนันตชาติมาแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กำลังเห็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นการรับผลของกรรมหนึ่ง หรือว่าขณะที่ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม แต่เพราะกรรม มีมาก ขณะใดซึ่งกรรมใดให้ผลทางตาทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นเหล่านี้ แสดงว่ากรรมนั้นเป็นกรรมที่มีกำลัง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย จึงสามารถทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นได้ นี่ตอนหนึ่ง แต่กรรมนั้นเองจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้ กุศลจิตเกิดได้ไหม ได้

เมื่อครู่นี้กล่าวถึงกุศลกรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อัพยากตจิตเกิด คือ ให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้กระทบสัมผัสทางกาย แต่ไม่เพียงให้วิบากเกิด แม้กุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ เพราะว่าการสะสมสืบต่อที่ได้กระทำมาแล้วด้วยดี เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปกติ เป็นอุปนิสัยโดยปกติที่จะทำให้กุศลจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นอีก

เพราะฉะนั้น อกุศลก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดอีกได้เช่นกัน หรือว่าเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดได้ หรือยิ่งกว่านั้นเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้กุศลจิตเกิดก็ได้ นี่เป็นความกว้างขวางของปกตูปนิสสยปัจจัย แสดงให้เห็นว่า นามธรรมขณะหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้น ย่อมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะให้นามธรรมข้างหน้าเกิดขึ้นต่อๆ ไปอีก ตามประเภทของนามธรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นๆ

ชาตินี้ท่านผู้ฟังทำกุศลประเภทนี้ไว้ ชาติหน้าท่านผู้ฟังก็จะกระทำกุศลประเภทนี้อีก เพราะว่ากุศลประเภทที่ท่านทำในชาตินี้เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้กุศลประเภทนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของการศึกษา การอบรมเจริญปัญญา

สำหรับหมวดต่อไปของปกตูปนิสสยปัจจัย คือ อัพยากตธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม ได้แก่ วิบากจิต กิริยาจิต เมื่อไม่ใช่กุศลและอกุศลจึงเป็นอัพยากตะ และรูป ๒๘ อุตุ โภชนะ เสนาสนะ เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญาณได้ หรือว่าเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต และอกุศลจิตได้ เพราะฉะนั้น อัพยากตะเป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะได้ อัพยากตะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้ อัพยากตะเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้

แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่กว้างขวาง เพราะว่ารวมถึงอุตุ ความเย็น ความร้อน โภชนะ อาหารที่บริโภค เสนาสนะ ที่อยู่ เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตได้ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตได้ และเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตจิตได้

ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร มีข้อความที่แสดงว่า ด้วยเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตรกับ ชาวกุรุ

ข้อความมีว่า

มีคำถามว่า เหตุไรพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงพระสูตรนี้

แก้ว่า เพราะพวกชาวกุรุสามารถจะรับฟังซึ่งเทศนาอันลึกได้ คือ พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่อยู่ในแคว้นกุรุ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัจจัย คือ อุตุ เป็นต้น เป็นผู้มีร่างกายชุ่มชื่น มีจิตใจชุ่มชื่นอยู่เป็นนิจ ด้วยแว่นแคว้นนั้นมีปัจจัย คือ อุตุเป็นที่สบาย พวกนั้นเป็นผู้มีกำลังปัญญา อันความชุ่มชื่นแห่งจิตใจและร่างกาย ทำนุบำรุงไว้แล้ว เป็นผู้สามารถจะรับการแสดงธรรมอันลึกซึ้งได้

ท่านผู้ฟังจะเห็นความสำคัญของอุตุ อากาศที่สบาย ทำให้ร่างกายและจิตใจ ชุ่มชื่น ถึงแม้ว่าเป็นผู้ที่มีกำลังปัญญา แต่ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง ปัญญาสามารถที่จะร่าเริง อาจหาญ ลึกซึ้ง เข้มแข็ง กว้างขวาง ได้ไหม ยามป่วยไข้ ก็ไม่ได้

ถึงแม้ว่าชาวกุรุเป็นผู้มีกำลังปัญญาที่ได้สะสมมามากแล้วก็จริง แต่ พวกนั้นเป็นผู้มีกำลังปัญญา อันความชุ่มชื่นแห่งจิตใจและร่างกายทำนุบำรุงไว้แล้ว เป็นผู้สามารถจะรับการแสดงธรรมอันลึกซึ้งได้ เพราะว่า แว่นแคว้นนั้นมีปัจจัย คือ อุตุเป็นที่สบาย

อากาศสบายๆ กับอากาศร้อนๆ อากาศหนาวๆ ที่ผิดปกติ จิตใจของท่าน จะรู้สึกอย่างไร จะมาศึกษาด้วยความสะดวกสบาย คล่องแคล่ว ร่าเริง หรือว่าด้วยความร้อนไปบ้าง หนาวไปบ้าง โดยเฉพาะถ้ามีผลกับร่างกายที่จะทำให้ถึงกับป่วยไข้อย่างรุนแรง ขณะนั้นกำลังปัญญาก็ไม่พอที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ถ้าท่านผู้ฟังอยู่ในสภาพที่ป่วยไข้อย่างกะทันหัน เป็นลมอย่างปัจจุบันทันด่วน มีความปั่นป่วนในร่างกายเพราะอุตุ ขณะนั้นจะรู้ได้ว่า ปัญญาไม่อาจหาญ ร่าเริง แจ่มแจ้งได้ นอกจากผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไม่ว่าในขณะไหนทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นในขณะที่กำลังอบรมเจริญปัญญาจะเห็นได้ว่า เรื่องของอุตุ คือ อากาศ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าร่างกายนี้ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ แม้ในขณะนี้เอง มีภัยอย่างใหญ่ คือ สามารถแตกย่อยยับลงได้ในวินาทีหนึ่งวินาทีใดก็ได้ นี่เป็นภัยทางร่างกาย เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องระวังที่สุด กระทบนิดเดียวมีแผล หรือว่ามีภัยซึ่งอาจจะถึงแก่ชีวิตเมื่อไรก็ได้ และร่างกายที่เห็นอยู่นี้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ยั่งยืนเพราะว่าเมื่อวานก็ยังมีอยู่ วันก่อนก็ยังมีอยู่ แต่ความจริงแล้ว ในนาทีหนึ่ง นาทีใด อาจจะย่อยยับแตกสลายกระจัดกระจายไปเมื่อไรก็ได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของอุตุเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้เกิดอกุศลจิตก็ได้ กุศลจิตก็ได้ หรืออัพยากตธรรมก็ได้ ถ้าอากาศสบาย จิตเป็นอย่างไร ชอบไหม เย็นดี สบายดี เป็นโลภมูลจิต ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล

หรือถ้าเห็นว่า ไม่ว่าจะหนาวหรือจะร้อน ก็ควรที่จะอบรมเจริญปัญญา ไม่จำเป็นต้องรอให้อากาศสบายๆ ก่อนจึงจะอบรมเจริญปัญญา ในขณะนั้นถึงแม้จะหนาว หรือจะร้อน ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้

สำหรับอาหาร ก็โดยนัยเดียวกัน เพราะถ้าอาหารเป็นที่สะดวกสบาย จิตใจเข้มแข็ง ร่าเริง ไม่กระสับกระส่าย ไม่กระวนกระวาย ก็ไม่มีอุปสรรคในการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น แต่ถ้าเป็นผู้ซึ่งได้รับโทษเพราะอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ ก็คงจะต้องเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม คือ ทุกขกายวิญญาณ เป็นเรื่องที่จะต้องเยียวยารักษา เป็นเรื่องของความเดือดร้อน เป็นเรื่องของความกระวนกระวายกายและใจ แสดงว่า อาหารก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยของกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรืออัพยากตจิตได้

กายวิญญาณซึ่งเคยเกิดในอดีตเป็นอัพยากตะ เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญาณในปัจจุบัน ได้ไหม โดยปกตูปนิสสยปัจจัยแล้วได้ทั้งนั้น ย่อมได้

ถ้าเคยอยู่ในที่ใดที่รู้สึกสบาย เช่น ในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ เป็นปัจจัยให้เกิดสุขกายวิญญาณ ก็จะอยู่ในที่นั้นอีก ให้เกิดสุขกายวิญญาณอีก เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยได้

ไม่ว่าจะเป็นความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ย่อมทำให้เกิดการแสวงหาให้ได้เห็นสิ่งนั้นอีก เพราะฉะนั้น อัพยากตธรรมก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรมอีก เคยชอบเสียงอย่างไร ขวนขวายที่จะให้ได้ยินเสียงนั้นอีก เพราะฉะนั้น อัพยากตธรรมทางหูที่เคยเกิดแล้วก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรมทางหูอีก

ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ละท่านชอบสิ่งใด เห็นสิ่งใด ก็จะเห็นสิ่งนั้นอีก ถ้าไม่มีในวันนั้น ก็ไปขวนขวายหามาจนกระทั่งมีสิ่งนั้นอีก ที่จะเห็นอีก ที่จะได้ยินอีก ที่จะได้กลิ่นอีก ที่จะลิ้มรสอีก ที่จะกระทบสัมผัสอีก แสดงว่าไม่พ้นจากปกตูปนิสสยปัจจัย ในวันหนึ่งๆ ถ้าพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตุ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเสนาสนะ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรมก็ได้ กุศลธรรมก็ได้ อกุศลธรรมก็ได้

ถ. คำจำกัดความที่ว่า ธรรมที่เป็นที่อาศัยอันมีกำลังแรงกล้าที่ได้ทำมาด้วยดี คำว่า ด้วยดี หมายถึงกุศลเท่านั้นใช่ไหม

สุ. หมายถึงทุกอย่างที่ทำมาแล้วมาก ด้วยดี คือ สามารถมีกำลังที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดอีกได้

เปิด  156
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566