แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 994

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นวันไหน ขณะไหน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ถ้าจิตขณะนั้นไม่สงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ที่มีรูปเป็นอารมณ์ ก็ย่อมจะต้องเป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ให้ทราบได้ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นจิตขั้นกาม ระดับของกามที่มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งยากที่จะละ ต้องรู้ตัวเองตามความเป็นจริง อย่าคิดว่าจะละง่ายๆ บางท่านอาจจะคิดว่า ไม่น่าจะยากที่จะละความพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ในรสที่ปรากฏทางทางลิ้น ในเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่กระทบสัมผัสกาย แต่ให้ทราบว่า ที่ท่านเกิดมา เป็นเพราะกามาวจรจิตทำให้ปฏิสนธิในกามาวจรภูมิ ยังไม่พ้นไปจากกาม และพ้นยากด้วย ซึ่งถ้าไม่ใช่การดับกิเลสด้วยการบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล จะไม่สามารถที่จะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้

ถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิตซึ่งเป็นรูปฌาน ไม่ว่าจะเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน และเกิดในพรหมโลก ก็อย่าคิดว่าจะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ เป็นสมุจเฉท เพราะเมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

เพราะฉะนั้น เรื่องของกิเลสเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง จึงจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท

ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า

สำหรับภูมิของกามาวจรธรรม เบื้องต่ำตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นมา เบื้องบนตั้งแต่เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีลงมา

นี่เป็นภูมิของกามทั้งหมด

สำหรับวัตถุกาม มีความหมายกว้างกว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะไม่ว่าจะเป็นในภูมิใดทั้งสิ้น ย่อมเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ถ้าจะเกิดในรูปพรหมภูมิ แต่ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามี รูปพรหมภูมินั้นก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของบุคคลนั้น หรือว่าบางท่านอาจจะเกิดในอรูปพรหมภูมิ แต่ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น อรูปพรหมภูมินั้นก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ซึ่งความยินดีพอใจนี้ ยินดีพอใจในทุกอย่างนอกจากนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมอย่างเดียวเท่านั้นที่ดับโลภะหรือความยินดีพอใจได้ แต่ถ้าไม่ใช่นิพพาน สภาพธรรมอื่นทั้งหมดไม่ใช่สภาพธรรมที่ดับกิเลส

สำหรับความหมายประการที่ ๒ คือ

จิตนี้ย่อมท่องเที่ยวไปในกาม กล่าวคือ กามาวจรภูมิ ๑๑ เพราะเหตุนั้น จิตนี้จึงชื่อว่า กามาพจร (ภาษาไทย ว. กับ พ. ใช้แทนกันได้)

ความหมายที่ ๑ คือ เป็นจิตขั้นกาม ไม่พ้นไปจากกาม

ความหมายที่ ๒ คือ นอกจากเป็นจิตขั้นกามแล้ว ยังเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ และสวรรค์อีก ๖ ชั้น ๖ ภูมิ

ความหมายที่ ๓

ชื่อว่า กามาวจรจิต เพราะเหตุว่าย่อมท่องเที่ยวไปด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์ คือ กาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมท่องเที่ยวไปในจิตนั้น ด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์ แม้เพราะเหตุนั้น จิตนั้นชื่อว่า กามาวจร

ถ้าจะให้เข้าใจง่าย คือ จิตใดก็ตามที่มีกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็นกามาวจรจิต

พระอรหันต์มีกามาวจรจิตไหม มี อย่าคิดว่าเป็นพระอรหันต์แล้วจะหมดกามาวจรจิต เพราะกามาวจรจิตหมายถึงจิตที่มีกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ พระอรหันต์เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปารมณ์เป็นกาม เพราะฉะนั้น จิตเห็นเป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก หรือจิตใดๆ ก็ตามที่มีกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็นกามาวจรจิต

ความหมายที่ ๔

อีกอย่างหนึ่ง จิตย่อมยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกาม กล่าวคือ กามภพ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ เหตุนั้นจิตนั้นจึงชื่อว่า กามาวจร

ที่ทุกท่านอยู่ในโลกนี้ เพราะกามาวจรจิตทำให้ปฏิสนธิในมนุษย์ภูมิ ซึ่งเป็น กามภูมิ

ถ้าท่านเคยเจริญฌานในอดีต และจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ถึงขั้นรูปฌาน หรืออรูปฌาน จะไม่เกิดในโลกนี้ แต่จะเกิดในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ แต่ที่ท่านเกิดในโลกนี้ เป็นผลของกามาวจรกุศล เป็นผลของทาน หรือเป็นผลของศีล หรือเป็นผลของความสงบของจิต หรือว่าเป็นผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งยังไม่พ้นไปจากกาม เพราะฉะนั้น จึงทำให้ปฏิสนธิในกามภูมิ

คำว่า ภูมิ มี ๒ ความหมาย หมายความถึงจิต ซึ่งเป็นภูมิของเจตสิกธรรม หรือภูมิของสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย คือ เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมกันอย่างหนึ่ง และหมายความถึงโอกาส คือ สถานที่เกิด อีกความหมายหนึ่ง ซึ่งโลกมนุษย์ก็เป็นภูมิหนึ่ง และกามาวจรจิตซึ่งกำลังเป็นไปอยู่ในโลกมนุษย์นี้ ก็เป็นความหมายของภูมิด้วย เพราะเป็นระดับขั้นของจิตซึ่งเป็นไปในกาม

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า นิพพานไม่ใช่วัตถุกาม แต่ทุกคนปรารถนาในนิพพานกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ตามความเห็นของผม น่าจะจัดอยู่ในวัตถุกาม

สุ. ปรารถนาอะไร ที่บอกว่าปรารถนานิพพาน

ถ. ปรารถนานิพพาน คือ ปรารถนาที่จะเห็นนิพพาน ปรารถนาจะให้เข้าถึงนิพพาน

สุ. ปรารถนาชื่อ หรือปรารถนาอะไร

ถ. ปรารถนา อยากจะรู้ อยากจะเห็นภาวะของนิพพาน

สุ. ทราบหรือยังว่า นิพพานมีภาวะอย่างไร จึงปรารถนา เพราะว่าบางคนพอได้ยินชื่อนิพพานก็ปรารถนา ไม่ทราบเลยสักนิดเดียวว่า ลักษณะของนิพพานนั้น คืออย่างไร แต่ปรารถนาแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าปรารถนาชื่อนิพพาน นั่นเป็นโลภะ

ถ. นิพพานเป็นปัจจัยแก่โลภะหรือเปล่า

สุ. ไม่เป็น

ถ. ไม่เป็น แต่คนส่วนมากก็อยากจะได้นิพพานกันทั้งนั้น

สุ. โลภมูลจิตจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ไม่ได้ โลภมูลจิตมีความติด พอใจในรูป ไม่ใช่ในนิพพาน มีความติด พอใจในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ใช่ในนิพพาน แต่นิพพานเป็นสภาพธรรมเพียงอย่างเดียวที่สามารถดับกิเลสได้ ถ้า สภาพธรรมใดมีการเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นเป็นวัถตุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ

พอลืมตาขึ้นเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ พอได้ยินเสียง ทราบไหมว่า มีความยินดี มีความพอใจ มีความต้องการ มีความติดในเสียง อยากได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น จะชื่อว่า ต้องการนิพพานหรือ

ถ. ความยินดีพอใจ อาจารย์ก็บรรยายแต่ความยินดีพอใจอย่างเดียว และสภาพที่จิตเกิดขึ้นมาเป็นกุศลที่สละความยินดีพอใจ จะมีความหมายว่าอย่างไร

สุ. สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏ สภาพธรรมนั้นเป็นที่ตั้งของความพอใจ

ถ. สภาพธรรมนี้ คือ สภาพที่ละ ที่ปล่อยวาง

สุ. ยังไม่ถึง ท่านผู้ฟังอย่าเพิ่งใจร้อน อย่าเพิ่งปล่อยวางอะไร แต่จะต้องรู้ลักษณะสภาพของจิตใจของท่านโดยแท้จริง ตามความเป็นจริง ตามลำดับขั้น เพราะทุกท่านมีจิตจริง แต่ว่ารู้จิตใจของท่านจริงๆ หรือเปล่า เข้าใจจิตใจหรือความล้ำลึกของจิตใจของท่านเองจริงๆ หรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ก่อน มิฉะนั้นไม่มีทางที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน

ก่อนอื่นบางท่านอาจจะไม่เคยคิดเลยว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังติดยังข้องอยู่ในโลกนี้ ในวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏในโลกนี้ บางท่านจะรู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย ไม่ต้องการอะไร ทำให้เข้าใจว่า ตัวเองหมดความยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ แล้ว แต่ว่าจะต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงโดยละเอียดว่า ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏ ให้รู้ จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็ตาม เป็นที่ตั้งของความต้องการ เป็นที่ตั้งของความยินดี เป็นที่ตั้งของความพอใจ อาจจะโดยไม่รู้ตัวเลย มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นประจำ สำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท เวลาที่ลืมตาขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ยินดีพอใจที่จะเห็นสิ่งนั้นเป็นคน หรือว่าพอใจ มีฉันทะที่จะรู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

ลืมตาขึ้นมา มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีความยินดีพอใจที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางตา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ หรือว่ามีฉันทะที่จะรู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะที่กระทบตาเท่านั้น

เห็นความติดทันทีในสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือยัง

ไม่ใช่แต่เฉพาะตัวเอง เป็นคนที่เกิดมามีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ คนอื่นอีก ทั้งนั้นที่ปรากฏทางตา นั่นเป็นความพอใจแล้วที่จะเห็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

เพราะฉะนั้น จะพ้นไปจากความยินดีพอใจในสิ่งใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏให้จิตรู้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้หรือยัง ละหรือยัง หน่ายหรือยัง ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่าคิดว่า จะสามารถดับความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ มิฉะนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงสภาพธรรม ทุกประเภทโดยละเอียด เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่ภูมิ คือ ระดับขั้นของจิตขั้นต่างๆ ตามความเป็นจริง

ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๒๘๑ มีข้อความที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมที่รัตนปราสาท ที่บุพพารามของมหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นเรื่องของสังโยชน์ คือ ธรรมที่ประกอบ คือ ผูกพันบุคคลผู้มีกิเลสไว้ในวัฏฏะ ต้องเป็นบุคคลผู้มีกิเลสด้วย ซึ่งข้อความมีว่า

จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ในภพนั้น เป็นของมีมาก

การที่จะพิจารณาธรรม ควรที่จะได้พิจารณาโดยละเอียด โดยลึกซึ้ง และโดยเทียบกับสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏ เช่น ข้อความที่ว่า จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ในภพนั้น เป็นของมีมาก

จริงไหม ท่านผู้ฟังยังไม่ได้อยากไปเกิดในรูปพรหมภูมิ หรืออรูปพรหมภูมิ แต่ยังอยากจะเกิดในภูมิที่มีรูปดีๆ มีเสียงดีๆ มีกลิ่นดีๆ มีรสดีๆ มีโผฏฐัพพะดีๆ คือ ในมนุษย์ หรือว่าในสวรรค์ จริงหรือไม่จริง

นี่คือเรื่องของตัวท่านตามความเป็นจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ก่อนๆ นี้ก็ไม่พ้นไปจากกามภูมิ อาจจะเคยเกิดในสวรรค์ และในมนุษย์ แต่ก็วนเวียนอยู่ในภูมิที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานนี้ บางชาติอาจจะอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิที่มีรูปเป็นอารมณ์ อาจจะเป็นรูปฌานที่ ๑ คือ ปฐมฌาน หรือรูปฌานที่ ๒ คือ ทุติยฌาน หรือรูปฌานที่ ๓ คือ ตติยฌาน รูปฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌาน โดยจตุกกนัย หรือรูปฌานที่ ๕ โดยปัญจกนัย และเกิดในรูปพรหมภูมิตามลำดับ แต่ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก มาเห็นอีก สิ่งที่ปรากฏทางตา และก็พอใจที่จะให้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ ด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ในชาตินี้เป็นเครื่องบ่งถึงอดีตว่า ท่านเกิดในภพใดภูมิใดมาก และกรรมในปัจจุบันชาติยังแสดงให้เห็นว่า ท่านจะเกิดต่อไปในภูมิใดมาก ในเมื่อยังเป็นกุศลที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ในภพนั้น เป็นของมีมาก จะเบื่อ หรือไม่เบื่อ ก็ต้องเกิดในภูมิที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมที่ประณีตมากน้อยแค่ไหน ก็ย่อมเกิดไปตามกามภูมินั้นๆ

ข้อความต่อไปมีว่า

จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีน้อย ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ในภพนั้น ก็มีน้อย

อาจจะเคยเกิดในรูปพรหมภูมิ เป็นพระพรหมในพรหมภูมิมาแล้ว หรือว่าอาจจะเคยเกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ แต่ว่าน้อย ไม่มากเท่ากับการเกิดในกามภูมิ เพราะฉะนั้น ผล คือ ยังคงกระทำกรรมต่างๆ ที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งย่อมจะเกิดในกามภูมิมากกว่าในภูมิอื่นๆ

เปิด  179
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566