แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 925

ผู้ฟัง ก็น่าเห็นใจท่านเจ้าของจดหมาย คือ บุคคลที่มีความเห็นเหมือนกับเจ้าของจดหมายฉบับนี้ มี ไม่ใช่เฉพาะแค่นี้ เท่าที่ผมพบมามีอีกมากมาย บางทีเป็นอาจารย์ใหญ่ๆ เป็นพระภิกษุมีพรรษามากๆ ก็ยังมีความเห็นเหมือนกันกับเจ้าของจดหมายฉบับนี้ คือ เห็นว่าพระอภิธรรมนี้ ขึ้นต้นด้วยพระอนุรุทธาจารย์ ไม่ใช่ พระพุทธพจน์ เขาอ้างอังคุตตรนิกายบ้าง อ้างพระสูตรนี้ พระสูตรนั้น แต่ไม่ทราบว่าท่านเคยหยิบพระไตรปิฎกมาอ่านบ้างหรือเปล่า

พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม มีพระวินัยกี่เล่ม มีพระสูตรกี่เล่ม มีพระอภิธรรมกี่เล่ม ท่านเหล่านั้นไม่เคยจับเลย ผมคิดเอาเอง เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า พระอภิธรรมเป็นอรรถกถา ไม่ใช่เป็นพระพุทธพจน์ แต่พระอภิธรรมที่เป็นพุทธพจน์ก็มี พระอภิธรรมที่เป็นอรรถกถาก็มี แต่ว่าท่านไม่เคยจับ ไม่เคยอ่าน ไม่เคยรู้เรื่อง และก็มาปฏิเสธว่า พระอภิธรรมไม่ใช่พระพุทธพจน์ บุคคลแบบนี้มีมาก

และที่ว่าให้ยอมฟังบุคคลอื่น ยอมละบุคคลที่นับถือ เจ้าของจดหมายนี้พูดให้คนอื่นละทิฏฐิ และให้รู้ว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า แต่เจ้าของจดหมายไม่ได้รู้จักตัวเองตามข้อความในจดหมายว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า และละสำนักได้แล้วจะดีเองเหมือนอย่างที่แนะนำให้คนอื่น เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เจ้าของจดหมายฉบับนี้ไม่รู้จักตัวเอง

สุ. โดยมากจดหมายที่ได้รับมักจะอ้างข้อความในพระไตรปิฎก เช่น ท่านกล่าวถึงข้อความตอนหนึ่งที่ว่า

ซึ่งผมพิจารณาแล้ว ทำให้คิดถึงชาดกเรื่องภิงสกะในพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง ชาดกเรื่องนี้กล่าวถึงดาบสผู้มีความขยะแขยงและเกลียดกลัวเป็นที่สุด หากจะได้รับเกียรติในการกล่าวอภิธรรม

ที่จริงแล้วไม่มีข้อความอย่างนี้ในพระไตรปิฎก และเป็นความบังเอิญซึ่งดิฉันได้คัดข้อความจากพระไตรปิฎก ใน ขุททกนิกาย ปกิณณกนิบาตชาดก ภิสชาดก ไม่ใช่ภิงสกะตามที่ท่านกล่าว เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ข้อความต่างกันมาก ไม่ได้มีข้อความอย่างที่ท่านเจ้าของจดหมายคัดมาเลย

การที่ดิฉันคัดข้อความ เรื่องภิสชาดก ก็เพื่อจะตอบจดหมายของท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่งที่ถามว่า ทำไมดิฉันจึงไม่บวช คิดว่าถ้าไม่มีเรื่องอื่นก็จะขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านนี้ แต่ว่าบังเอิญได้รับจดหมายฉบับที่ได้อ่านไปเมื่อครู่นี้จากมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งมีข้อความที่ท่านอ้างถึงชาดกเรื่องนี้ด้วย แต่ท่านใช้คำว่า ชาดกเรื่อง ภิงสกะ ซึ่งข้อความใน ขุททกนิกาย ปกิณณกนิบาตชาดก เป็น ภิสชาดก ข้อที่ ๑๙๒๑ ข้อที่ ๑๙๔๑ และข้อความไม่ได้เป็นไปตามที่ท่านอ้างมา

ชาดกเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงชีวิตที่ต่างกันระหว่างบรรพชิตกับฆราวาส ชีวิตของบรรพชิต เป็นการสละวงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ ต่างกับชีวิตของคฤหัสถ์ ทรัพย์ของบรรพชิต คือ ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา ในขณะที่ทรัพย์ของคฤหัสถ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เวลาที่คฤหัสถ์จะดูว่าใครมีทรัพย์สมบัติมาก ก็ดูที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่นั่นไม่ใช่สมบัติของบรรพชิต ถ้าสมบัติของบรรพชิต ต้องเป็นศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา

เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ พระองค์ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีอย่างมากเพื่อที่จะได้อบรมเจริญบารมีครบทั้ง ๑๐ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม และในพระชาติที่เป็นดาบสในภิสชาดก พระองค์ก็ได้ทรงแสดงโทษของการที่บรรพชิตทั้งหลายจะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตของบรรพชิต

ขอกล่าวถึงภิสชาดก ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเล่าชาดกนี้ ณ พระวิหารเชตวัน อันเนื่องมาจากภิกษุรูปหนึ่งไม่สันโดษ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าภิสชาดก มีข้อความว่า

ณ กาลครั้งหนึ่ง พราหมณ์เศรษฐีผู้หนึ่ง มีเงิน ๘๐ โกฏิ มีบุตรชาย ๗ คน บุตรสาวคนหนึ่ง บุตรชายคนโตชื่อ มหากาญจนะ คนรองชื่อ อุปกาญจนะ และบุตรสาวชื่อ กาญจนเทวี มหากาญจนะศึกษาศิลปวิทยาที่ตักศิลา ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็กลับบ้าน มารดาบิดาของท่านอยากจะให้ท่านแต่งงาน แต่ท่านไม่ประสงค์ที่จะแต่งงาน ท่านใคร่ที่จะให้น้องชายของท่านแต่งงานแทน แต่น้องชายทั้ง ๖ ก็ไม่ประสงค์จะแต่งงานเช่นเดียวกัน และแม้น้องสาวของท่านก็ไม่ประสงค์จะแต่งงานเหมือนกัน เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีวิตแล้ว มหากาญจนะก็ได้แจกจ่ายทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่ผู้ที่ยากไร้ขัดสน แล้วก็ได้พาน้องทั้ง ๗ ไปสู่ป่าหิมพานต์ ซึ่งก็มีสหาย ผู้หนึ่ง สาวใช้คนหนึ่ง และทาสคนหนึ่งติดตามไปด้วย

ท่านสร้างบรรณศาลา คือ ศาลาที่มุงด้วยใบไม้ เป็นที่พักอาศัย และบริโภคผลไม้และรากไม้เป็นอาหาร ตอนแรกๆ ทุกคนต่างก็ไปเก็บผลไม้มาบริโภค แต่ภายหลังก็ตกลงกันให้มหากาญจนะ และน้องสาว และหญิงรับใช้อยู่ที่ศาลา ไม่ต้องออกไปหาผลไม้ ให้คนอื่นๆ ผลัดกันออกไปหาผลไม้ ซึ่งเมื่อได้มาแล้วก็แบ่งออกเป็นส่วนๆ ซึ่งทุกคนต่างก็ถือเอาส่วนแบ่งของตนกลับไปสู่บรรณศาลาของตนเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม

ด้วยเดชแห่งศีลของท่านเหล่านั้น เป็นเหตุให้ที่ประทับของท้าวสักกะหวั่นไหว ซึ่งท้าวสักกะก็ใคร่ที่จะทดลองศีลพรตของท่านเหล่านั้น ท้าวสักกะจึงได้บันดาลให้ส่วนแบ่งของมหากาญจนะหายไปถึง ๓ วัน เมื่อมหากาญจนะสอบถามน้องชายว่า เอาส่วนแบ่งของท่านไปหรือเปล่า น้องชายของท่านก็ตอบว่า ส่วนแบ่งของท่านนั้นแยกออกเก็บไว้ต่างหาก แล้วน้องทุกคนของท่านต่างก็กล่าวสัจจปฏิญาณว่า ถ้าแม้นตนลักขโมยแม้เพียงก้านบัวสักก้านหนึ่ง ก็ขอให้ถูกสาปแช่งต่างๆ

ข้อความใน พระไตรปิฎก ภิสชาดก ข้อ ๑๙๒๑ – ข้อ ๑๙๔๑ ท่านผู้ฟังจะได้ฟังว่า คำซึ่งดาบสถือว่าเป็นคำสาปแช่ง กลับเป็นพรของคฤหัสถ์ทั้งหลาย นี่คือการแสดงถึงชีวิตและจุดประสงค์ที่ต่างกันของเพศบรรพชิตกับเพศฆราวาส ซึ่งน้องคนที่ ๑ ได้กล่าวสัจจปฏิญาณ เป็นคำสาปแช่งว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้ม้า วัว เงิน ทอง และภรรยาที่น่าชอบใจ จงพร้อมพรั่งด้วยบุตรและภรรยามากมายเถิด

คฤหัสถ์ปรารถนาไหม อธิษฐานหรือเปล่า ตามที่เป็นคำสาปแช่งของฤๅษีว่า ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ท่านผู้นั้นจงได้ม้า วัว เงิน ทอง และภรรยาที่ น่าชอบใจ ใจจริงๆ ของใครรู้สึกอย่างนี้บ้าง อยากถูกสาปไหม นี่แสดงให้เห็นจิตที่ต่างกันเหลือเกินของบรรพชิตกับคฤหัสถ์

น้องคนที่ ๒ กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้ทัดทรงระเบียบดอกไม้ ลูบไล้กระแจะจันทน์แคว้นกาสี จงเป็นผู้มากไปด้วยบุตร จงกระทำความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลายเถิด

ให้สบายมีความสุขยิ่งกว่านั้นอีก คือ ให้ได้ทัดทรงระเบียบดอกไม้ ลูบไล้กระแจะจันทน์แคว้นกาสี จงเป็นผู้มากไปด้วยบุตร และจงกระทำความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลายเถิด เห็นโทษของกามจริงๆ เห็นความน่ากลัวของการติดในข่ายของกามซึ่งยากที่จะสลัดให้หลุดออกได้ ไม่ว่าจะเป็นความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ถ้ามีมากๆ ก็ติดอย่างมากๆ และยิ่งได้มากเท่าไรก็ยิ่งไม่พอ

ถ้าคฤหัสถ์จะขอพร อย่าขอพรอย่างนี้ เพราะนั่นเป็นคำสาปแช่งของฤๅษี

น้องคนที่ ๓ กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็นคฤหัสถ์มีธัญชาติมากมาย สมบูรณ์ด้วยเครื่องกสิกรรม มียศ จงได้บุตรทั้งหลาย มั่งมีทรัพย์ ได้กามคุณทุกอย่าง จงอยู่ครองเรือนอย่างไม่เห็นความเสื่อมเลย

น้องคนที่ ๔ กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์บรมราชาธิราช มีกำลัง มียศศักดิ์ จงครอบครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตเถิด

ใครอยากจะเป็นอย่างนี้บ้างไหม อย่าลืม ถ้านึกอยากขึ้นมาครั้งใด ให้เห็นโทษ ให้เห็นภัย ให้เห็นอันตราย ให้รู้ว่าเป็นคำสาปแช่งสำหรับดาบส

น้องคนที่ ๕ กล่าวคำสาปแช่งว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็นพราหมณ์มัวประกอบในทางทำนายฤกษ์ยาม อย่าได้คลายความยินดีในตำแหน่ง ท่านผู้เป็นเจ้าแคว้นผู้มียศ จงบูชาผู้นั้นไว้เถิด

เห็นโทษ เห็นภัยของการที่จะเป็นพราหมณ์ที่ทำนายฤกษ์ยาม และยินดีในตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่เป็นใหญ่ในแคว้นผู้มียศบูชา

บางทีบางท่านอาจจะละโภคสมบัติของคฤหัสถ์ บวชเป็นบรรพชิต ใจนี้พรากออกได้จากการมีทรัพย์สมบัติอย่างฆราวาส แต่ที่ยังต้องการอยู่ คือ ลาภ หรือยศ หรือสักการะ หรือสรรเสริญ เพราะฉะนั้น โลภะซึ่งยังไม่พรากออกไปจากจิตใจ ย่อมทำให้สามารถสละสิ่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถที่จะสละอีกสิ่งหนึ่ง ดังนั้น บางท่านอาจจะต้องการสักการะมากกว่าสมบัติของคฤหัสถ์ และต้องการเป็นที่ยกย่องบูชาของ เจ้าแคว้นผู้มียศ

น้องคนที่ ๖ กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอชาวโลกทั้งมวลจงสำคัญผู้นั้นว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเวทมนต์ทั้งปวง ผู้เรืองตบะ ชาวชนบททั้งหลายทราบดีแล้ว จงบูชาผู้นั้นเถิด

นี่ก็ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของดาบสเหล่านั้น เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่มุ่งเจริญ สมณธรรม และบุคคลที่อยู่ในที่นั้นด้วย ก็มีสหายผู้หนึ่งที่ติดตามท่านเหล่านั้นไป ทาสคนหนึ่ง ทาสีคนหนึ่ง น้องสาวของท่าน เทวดาผู้อารักษ์ป่า ช้างและลิงอยู่ในที่นั้นด้วย ซึ่งต่างก็ได้กล่าวคำสัจจปฏิญาณตามลำดับ

สหายของท่านที่ได้ติดตามไปด้วย ได้กล่าวปฏิญาณว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงครอบครองบ้านส่วยอันพระราชาประทานให้ เป็นบ้านที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการ ดุจท้าววาสวะพระราชทานให้ อย่าได้คลายความยินดีจนกระทั่งถึงความตายเถิด

ทาสของท่านกล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็นนายบ้าน บันเทิงอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้องในท่ามกลางสหาย อย่าได้รับความพินาศอย่างใดอย่างหนึ่งจากพระราชาเลย

น้องสาวของท่านกล่าวสัจจปฏิญาณว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้พระมหากษัตริย์ผู้เป็นเอกราช ทรงปราบปรามศัตรูได้ทั่วพื้นปฐพี ทรงสถาปนาให้หญิงนั้นเป็นยอดสตรีจำนวนพัน ขอหญิงนั้นจงเป็นมเหสีผู้ประเสริฐกว่านางสนมทั้งหลายเถิด

อาจจะเป็นจุดปรารถนาที่สูงสุดของผู้หญิง สตรีบางท่านที่คิดปรารถนาอย่างนี้ แต่สำหรับผู้ที่มีจิตมั่นคงปรารถนาที่จะดับกิเลส ซึ่งเป็นน้องสาวของดาบสนั้น กลับกล่าวสัจจปฏิญาณ เป็นคำสาปแช่ง

บางทีท่านผู้ฟังอาจจะสงสัย เพราะในอดีตก็มีพระมเหสีหลายท่านที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยะเจ้า แสดงให้เห็นว่า แต่ละชีวิตย่อมแตกต่างกันไปโดยละเอียดตามการสะสม และผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่จำกัดเฉพาะผู้ที่เป็นบรรพชิตเท่านั้น แม้คฤหัสถ์ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ว่าแล้วแต่ความตั้งใจ สัจจปฏิญาณของแต่ละท่านในแต่ละชาติ

ข้อความต่อไป ทาสีได้กล่าวสัจจปฏิญาณว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้หญิงนั้นจงเป็นทาสีไม่สะดุ้งสะเทือน กินของดีๆ ในท่ามกลางคนทั้งปวงที่มาประชุมกันอยู่ จงเที่ยวโอ้อวดลาภอยู่เถิด

นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก แต่ไม่มีข้อความตามที่ท่านผู้นี้เขียนมาว่า ดาบสผู้เป็นทาสีจึงสาบานว่า ถ้าดิฉันขโมยเหง้าบัวส่วนนั้นแล้ว ขอให้ตายไปเกิดเป็นภิกษุณี มีวาจาฉาดฉานในอภิธรรม ใครๆ รอหน้าไม่ติดเถิด

ไม่ทราบว่าท่านนำมาจากส่วนไหนในพระไตรปิฎก ซึ่งไม่มีเลย

ข้อความต่อไป เทวดาผู้อารักษ์ป่าซึ่งอยู่ในที่นั้น ได้กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้เป็น เจ้าอาวาสในวัดใหญ่ๆ จงเป็นผู้ประกอบนวกรรม (คือ การก่อสร้าง) ในเมืองกชังคละ จงกระทำหน้าต่างตลอดวันเถิด

ช้างกล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ช้างเชือกใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ช้างเชือกนั้นจงถูกคล้องด้วยบ่วงบาศตั้งร้อย จงถูกนำออกจากป่าอันน่ารื่นรมย์มายังราชธานี จงถูกทิ่มแทงด้วยปฏักและสับด้วยขอเถิด

ลิงกล่าวว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ลิงตัวใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ลิงตัวนั้นมีพวงดอกไม้สวมคอ ถูกเจาะหูด้วยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยไม้เรียว เมื่อฝึกหัดให้เล่นงู เข้าไปใกล้ปากงู ถูกมัดตระเวนเที่ยวไปตามตรอกเถิด

ลิงก็คงไม่คิดว่าสวย เวลาที่มีใครเจาะหู ใส่ต่างหู แต่งตัวให้สวยๆ แล้วพาไปตามที่ต่างๆ

เปิด  171
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566