แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 880

ถ. ที่ว่าลมหายใจยาวกับลมหายใจสั้น ในวิสุทธิมรรคท่านก็บอกไว้ สัตว์ใหญ่ สัตว์ยาว มีลมหายใจยาว สัตว์เล็ก สัตว์สั้น มีลมหายใจสั้น เช่น ช้าง งู มีลมหายใจยาว สุนัข กระต่าย มีลมหายใจสั้น ส่วนมนุษย์จะถือว่าลมหายใจยาว หรือลมหายใจสั้นอยู่ที่การกระทบ คือ ลมหายใจกระทบที่โพรงจมูกนาน ถือว่าลมหายใจยาว ถ้ากระทบไม่นาน ถือว่าลมหายใจสั้น ขอถามว่า ที่ว่านานนั้น สักกี่วินาทีจึงจะเรียกว่านาน และกี่วินาทีเรียกว่าสั้น

สุ. ไม่มีแสดงไว้ที่ไหนสักแห่งเดียวในเรื่องกำหนดด้วยเวลาที่เป็นนาที หรือวินาที เพราะว่าเป็นขณะที่กำลังรู้สึกในสภาพที่กระทบ ไม่ใช่ขณะที่ดูนาฬิกา หรือเวลาที่นับอย่างอื่น

ถ. เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นลมหายใจยาวหรือลมหายใจสั้น

สุ. เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด สติกำลังระลึกที่สภาพของลมที่กำลังกระทบ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึกที่นั่นจริงๆ ย่อมรู้ว่าขณะนั้นกระทบนานหรือกระทบสั้น ยาวมากหรือน้อย เพราะว่าสติกำลังระลึกตรงลักษณะที่กำลังกระทบ

ขณะนี้ลมหายใจจะยาวจะสั้นแค่ไหนก็ไม่ปรากฏ เพราะสติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของลมที่กำลังกระทบ หรือว่าการกระทบของลมนั้นแผ่วเบามาก ไม่ปรากฏ ไม่เหมือนกับลมอื่นที่กำลังกระทบที่กาย เพราะรูปลมหายใจเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน และขณะที่เป็นกุศล ลมหายใจก็ละเอียดกว่าขณะที่เป็นอกุศล และยิ่งละเอียดขึ้นตามขั้นความสงบของกุศลจิต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้ลักษณะของลมหายใจ แม้ว่าจะกำลังหายใจอยู่

ถ้าสติไม่ได้ระลึกที่ลมหายใจจะไม่ทราบจริงๆ ว่า ขณะนั้นหายใจยาวหรือ สั้นแค่ไหน แต่เรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนาอย่าคิดเรื่องอื่น คือ อย่าคิดว่า ต้องนับ หรือว่าต้องให้จิตตั้งมั่นคง เพราะนั่นไม่ใช่ลักษณะของความสงบ เป็นแต่เพียงลักษณะของสมาธิ

การอบรมเจริญสมถภาวนานั้นเป็นกุศล เพราะสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนา จุดประสงค์ต้องทราบว่า ขณะนั้นสงบหรือไม่สงบ ไม่ใช่อารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหมดที่กล่าวไว้ในหนังสือ และการท่องก็ดี หรือว่าลมหายใจก็ดี ขณะใดที่รู้ ก็ไม่ได้หมายความว่าขณะนั้นสงบ แต่ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ความต่างกันของขณะที่เป็นกุศลจิตและอกุศลจิต

ถ. ที่ท่านให้ท่องนั้น จุดประสงค์ต้องการให้จิตอยู่กับลมหายใจ ในขณะใดที่จิตอยู่กับลมหายใจ ขณะนั้นจิตต้องเป็นกุศลแล้ว ใช่ไหม

สุ. ไม่แน่นอน ถ้าหัดโยคะ มีความต้องการให้ร่างกายแข็งแรง หายใจเข้ายาวๆ ลึกๆ และใช้วิธีบริหารด้วยการออกกำลัง ซึ่งการหายใจประกอบกับโยคะ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ. ถ้าไม่มีสัมปชัญญะ ผมคิดว่าเป็นอกุศล

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจขณะที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ไม่ใช่ว่าขณะใดที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์แล้ว จะต้องเป็นกุศลทุกครั้ง

ถ. แต่ต่างกัน เพราะผู้ที่ฝึกโยคะ เขาไม่ได้มีเจตนาที่จะเจริญภาวนา

สุ. มีเจตนาที่จะให้รู้ที่ลมหายใจ ให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิที่ลมหายใจด้วย มีการฝึกหัดเรื่องของการทำสมาธิที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์หลายแบบ ทั้งหมดจะเป็นอานาปานสติ หรือว่าไม่ใช่

ถ. ตามตำราในวิสุทธิมรรคมีไม่กี่แบบ ถ้าผู้นั้นเข้าใจข้อปฏิบัติ ก็ต้องเป็นสมถภาวนา

สุ. ถ้าเข้าใจ หมายความว่ารู้ความต่างกันของจิตที่เป็นกุศลกับจิตที่เป็นอกุศล นี่คือความต่างกันที่จะชื่อว่าสงบ ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ความต่างกัน ก็ไม่สามารถที่จะเจริญความสงบที่ไม่มีอกุศลธรรมในขณะนั้นได้

ถ. ถ้าไม่มีปัญญาที่จะเห็นว่า กุศลจิตและอกุศลจิตต่างกันอย่างไร ก็ลำบากอยู่ เช่น ขณะที่พระท่านสวดมนต์ ตั้งนโม ๓ จบ จบแรกขึ้นพร้อมกัน จบที่ ๒ ก็ขึ้นพร้อมกัน จบที่ ๓ ไม่พร้อมกันแล้ว เพราะว่ามีบางรูปไม่แน่ใจว่าสวดไปแล้วกี่จบ เพราะฉะนั้น ก็รีรอให้รูปอื่นขึ้นก่อนและค่อยสวดตาม ถามว่า รูปที่ลืม ไม่รู้ว่าสวดไปแล้วกี่จบ จิตท่านเป็นกุศลหรืออกุศล

สุ. จิตของท่านก็ดับไปแล้ว จะให้สติสัมปชัญญะของคนอื่นไปรู้จิตของท่านในขณะนั้นก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ท่านผู้ฟังเพิ่งจะสวดกันเมื่อครู่นี้เอง และเดี๋ยวก็จะสวดอีกครั้งหนึ่ง ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์จิตใจของท่านได้ว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ. พิสูจน์ไม่ได้ ไม่เห็น

สุ. ของคนอื่นยิ่งพิสูจน์ไม่ได้ ในเมื่อของตัวท่านเองยังพิสูจน์ไม่ได้ จะพิสูจน์ของคนอื่นได้อย่างไร

ถ. พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า ผู้ที่กำลังสวดมนต์นั้นจิตจะต้องเป็นกุศล

สุ. จะต้องหรือ

ถ. ใช่

สุ. แน่ใจหรือ

ถ. ก็แสดงไว้อย่างนั้น

สุ. มิได้ อย่าลืมว่า กัมมัฏฐานทั้งหมด อารมณ์ทั้งหมดเป็นเพียงอารมณ์ แต่ว่าจิตที่กำลังรู้อารมณ์นั้นเป็นอะไร

อย่างท่านผู้ฟังกล่าวว่า ถ้าจะเจริญอานาปานสติ ให้นับ ถ้าเป็นพระอรหันต์นับ จิตนั้นเป็นอะไร นับ ๑ จิตนั้นเป็นมหากิริยาจิต นับ ๒ จิตนั้นก็เป็นมหากิริยาจิต ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์อารมณ์เดียวกัน คือ นับ ๑ นับ ๒ แต่จิตที่กำลังรู้ ๑ หรือ ๒ ของพระอรหันต์นั้นเป็นมหากิริยาจิต ไม่มีแม้แต่เชื้อของอกุศลที่จะเกิดเป็นโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะต่างๆ แต่คนอื่นอารมณ์เดียวกัน คือ นับ ๑ นับ ๒ รู้คำว่า ๑ รู้คำว่า ๒ แต่จิตเป็นอะไร อารมณ์เหมือนกัน จะกล่าวได้ไหมว่าอารมณ์ของคนอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้น เป็นมหากิริยาจิต แม้ว่าอารมณ์เดียวกัน คือ กำลังรู้ หรือได้ยิน หรือได้ฟังคำว่า ๑ คำว่า ๒

เพราะฉะนั้น อารมณ์ทั้งหมดเป็นเพียงอารมณ์ แต่จิตที่กำลังรู้อารมณ์นั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หรือว่าปราศจากอกุศลโดยสิ้นเชิง เช่น จิตของพระอรหันต์ ท่านมีการเห็น ท่านมีการได้ยิน ท่านมีการคิด ท่านคิดคำว่า ๑ ก็ได้ ๒ ก็ได้ คิดเรื่องอะไรก็ได้ แต่จิตทั้งหมดที่คิดเป็นมหากิริยาจิต ในขณะที่ปุถุชนคิดเรื่องเดียวกัน เรื่องไม่มีความต่างกันเลย แต่จิตที่กำลังรู้เรื่องนั้นต่างกันแสนไกล

ขณะที่เป็นอกุศลที่กำลังรู้คำว่า ๑ คำว่า ๒ ด้วยความต้องการ ด้วยความยินดี ด้วยความพอใจ แต่ดูเหมือนไม่ปรากฏว่าเป็นความต้องการ เป็นความยินดี เป็นความพอใจ เพราะเพียงรู้คำว่า ๑ กับคำว่า ๒ แต่ว่าเมื่อเป็นจิตของปุถุชนซึ่งเต็มและหนาแน่นด้วยอกุศล เมื่อขณะนั้นไม่ใช่กุศล ก็ต้องเป็นอกุศล แต่สำหรับพระอรหันต์ ไม่ว่าจะเป็น ๑ – ๒ – ๓ – ๔ – ๕ – ๖ – ๗ – ๘ – ๙ – ๑๐ ก็ไม่มีทางที่จะรู้จิตนั้นด้วยอกุศลจิตหรือกุศลจิต

นี่เป็นความต่างกัน เพราะฉะนั้น การที่จะเปลี่ยนสภาพจากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเคยรู้ ๑, ๒, ๓ ด้วยอกุศลจิต มาเป็นจิตที่รู้คำว่า ๑, ๒, ๓ ด้วยมหากิริยาจิต จะต้องมีปัญญาอย่างมากที่จะต้องอบรมขึ้น ฉันใด ลมหายใจ ก็ฉันนั้น

ใครก็ตามที่กำลังต้องการที่จะบริหารร่างกาย ฝึกหัดด้วยการรู้ลม นับลม ด้วยจิตอะไร พระอรหันต์มีการรู้ลมด้วยมหากิริยาจิต ลมก็ยังคงเป็นลมที่ปรากฏที่ ช่องจมูก ไม่เปลี่ยนสภาพ แต่จิตที่รู้ลมต่างกันมาก ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ การที่จะรู้ ๑, ๒, ๓ หรือลักษณะของลมด้วยกุศลจิตซึ่งต่างกับอกุศลจิต จะมีได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีปัญญาที่จะรู้ความต่างกันเลย

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญภาวนาทั้งหมด คือ ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามขั้นของปัญญา ถ้าเป็นการอบรมเจริญความสงบ แต่ไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบที่เป็นกุศล ก็เจริญไม่ได้

ได้ฟังข้อความตอนหนึ่ง มีท่านผู้หนึ่งกล่าวว่า ที่สำนักแห่งหนึ่งมีหลายท่านที่ไปอบรมเจริญกัมมัฏฐาน และท่านที่ไปนั้นก็มีลูกหลานตามไปด้วย ปรากฏว่ามีเด็กคนหนึ่งอายุ ๕ ขวบ สามารถนั่งได้ แต่สมถภาวนาไม่ใช่การสามารถนั่ง แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่รู้ความสงบของจิตที่กำลังรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ไม่ใช่ว่าใคร นั่งได้ ก็บอกว่าคนนั้นสามารถนั่งได้

เรื่องนั่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องของปัญญาที่จะรู้ลักษณะความสงบของจิตที่ต่างกับอกุศลจิตเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญ จึงเป็นสมถภาวนาได้ แต่ถ้าไม่รู้เลยเพียงแต่นั่งได้และคนอื่นบอกว่า คนนี้กำลังเจริญสมถภาวนา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฉันใด เรื่องการนับก็เช่นเดียวกัน เรื่องอารมณ์ทั้งหลายของสมถกัมมัฏฐาน ก็โดยนัยเดียวกัน

ถ. การนั่งนี่ไม่ใช่นั่งธรรมดา คือ การนั่งทำสมาธินั่งแล้วจะไม่กระดุกกระดิก แม้กระทั่งยุงกัดก็ไม่ไล่ ไม่เกา เขาเรียกนั่งสมาธิ มีหลายสำนักที่ถือว่าผู้ที่นั่งได้นาน คนนั้นเก่ง

สุ. นั่งเก่งใช่ไหม ได้สนทนากับนายแพทย์ท่านหนึ่ง ท่านเห็นว่า บุตรหลานของท่านควรที่จะไปวัด รับฟังธรรมสมควรแก่วัย หรือว่าไปปฏิบัติธรรมสมควรแก่วัยเท่าที่จะรับได้ ก็มีสำนักที่สอนบุตรหลานของท่านให้นั่งสมาธิ ท่านดูแล้วรู้สึกว่า บุตรหลานของท่านจะนั่งสมาธิได้นาน ก็ชมเชย แต่ลูกหลานของท่านกลับบอกว่า ไม่รู้หรอกหรือว่าขณะนั้นวุ่นที่สุด ใจไม่ได้สงบเลยสักนิดเดียว แต่อาการภายนอกคือ นิ่งเฉย

เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตใจไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะรู้ และการอบรมเจริญกุศลนี้เป็นเรื่องที่ตรง ไม่ใช่เป็นเรื่องหลอกลวง เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสักการะ หรือเพื่ออย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้อริยสัจตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่ตรง อุชุปฏิปันโน ไม่หลอกตัวเอง ทั้งๆ ที่เป็นอกุศลก็เสียดายเหลือเกิน อยากที่จะให้เป็นกุศล แต่จะเป็นได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ขณะนั้นจิตสงบ หรือไม่สงบ และจิตที่ไม่สงบต่างกับจิตที่สงบอย่างไร

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้อ่านเรื่องของสมถกัมมัฏฐาน หรือว่าจะได้อ่านวิธีปฏิบัติสมถภาวนาอย่างไรๆ ก็ตาม อย่าลืมว่า สมถะหมายถึงสงบ เพราะขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ข้อปฏิบัติจะให้ทำอย่างไรก็ตาม แต่จะต้องเริ่มจากการรู้ความต่างกันของจิตที่สงบและไม่สงบเป็นขั้นต้น จึงจะมีอุบายหรือวิธีที่จะให้สงบยิ่งขึ้นได้ โดยนัยของการเจริญสมถภาวนา

ถ. ที่เด็กคนนั้นเขาบอกว่า ภายในสงบที่ไหน ภายในวุ่นที่สุด นี่ก็เป็นกุศลแล้ว คือ คนที่ไม่ได้นั่ง ชีวิตประจำวัน ตื่นขึ้นมาทำกิจการงาน ทำโน่นทำนี่ จิตก็คิดนึกวุ่นวายไปหมด แต่ไม่ได้รู้ว่ายุ่งยาก แต่ขณะที่นั่งแล้วจิตคิดนึก ไม่ได้อยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้ กลายเป็นฟุ้งซ่านบ้าง กลายเป็นคิดนึกบ้าง ซึ่งเขาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นความฟุ้งซ่าน เป็นการคิดนึกไปในอารมณ์ต่างๆ จิตไม่ได้อยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็เป็นกุศลแล้วนี่ที่รู้ ต่างกับตอนที่ไม่ได้นั่ง

สุ. ไม่ต่างกัน เวลาที่ยังไม่นั่งแล้วฟุ้งซ่าน ทุกคนก็รู้ว่า ฟุ้งซ่าน

ถ. ไม่รู้

สุ. รู้ จึงไปนั่ง ที่ไปนั่งเพราะรู้ว่าไม่สงบ จึงจะไปนั่งให้สงบ ใช่ไหม ก็รู้เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่รู้

ถ. ไม่แน่

สุ. รู้ ไม่อย่างนั้นไม่มีการไปนั่ง

ถ. บางคนไปนั่งเพราะต้องการเห็นนรกเห็นสวรรค์ก็มี ไม่ใช่ว่าไม่สงบจึงไปนั่ง

สุ. แต่เขาก็ต้องรู้ว่า ถ้าเขาไม่สงบ เขาก็จะไม่เห็น ไม่ใช่ยืนๆ อยู่อย่างนี้ ก็เห็น หรือกำลังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เห็น

ถ. นี่ซิ บางคนเจตนาต่างกัน

สุ. เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ และต้องพิจารณาหลายด้าน รอบด้าน จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

ถ. พูดถึงเรื่องการเจริญสมถะ อกุศลทำให้จิตสงบได้ไหม

สุ. ไม่ได้ อาจจะเข้าใจผิดว่าสงบ แต่ความจริงไม่สงบ เพราะเป็นอกุศล

ถ. ฌานที่ไม่ได้ประกอบด้วยกุศลมีไหม

สุ. อกุศลฌานมี

ถ. อกุศลฌาน จิตสงบไหม

สุ. ไม่สงบ ฌาน แปลว่า เผา ถ้าเป็นกุศลจึงเผาอกุศล แต่ถ้าเป็นอกุศล ก็เผาให้ร้อน เผาให้โทษ เผาทำลาย

เปิด  165
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565