แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 870

ที่ในอาหารบางอย่างจะเห็นว่าเป็นของเหลว แต่เวลาที่กระทบจริงๆ ไม่ใช่ลักษณะอาการของธาตุน้ำ ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่เอิบอาบเกาะกุมรูปที่เกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่รูปกระทบกับกาย จะปรากฏเพียงลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เป็นอาการของธาตุดิน เย็นหรือร้อน เป็นอาการของธาตุไฟ ไหวหรือเคร่งตึง เป็นอาการของธาตุลม แต่ลักษณะของสภาวะรูปอีกอย่างหนึ่งซึ่งเอิบอาบซึมซาบ เกาะกุมรูปที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น จะไม่ปรากฏเมื่อกระทบกาย

แต่โดยนัยของการเจริญสมถภาวนา เพื่อที่จะให้เห็นความเป็นปฏิกูลของธาตุ ซึ่งประชุมรวมกันที่กาย แม้ว่ารูปที่ประชุมรวมกันที่กายมี ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ความเป็นปฏิกูลของธาตุไฟกับธาตุลมนั้นไม่ปรากฏ แต่อาการของธาตุดินและธาตุน้ำปรากฏ เพราะฉะนั้น ส่วนที่เป็นอาการของธาตุดิน เช่น ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นส่วนที่แข้นแข็ง ประชุมควบคุมรวมกัน มีลักษณะ มีสัณฐานที่ปฏิกูล ที่สามารถจะเห็นความเป็นปฏิกูลได้

ส่วนของธาตุน้ำ มีมาก ปรากฏโดยอาการที่ไหล ซึ่งแท้ที่จริงเวลาที่กระทบ ต้องเป็นธาตุดินหรือธาตุไฟ ไม่ใช่ธาตุน้ำ มีเพียง ๑๒ อาการ และลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมจริงๆ ของอาโปธาตุจะไม่ปรากฏเวลาที่กระทบกับกาย เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความหมายของอาการของธาตุน้ำโดยนัยของสมถะว่า ต่างกับสภาวะ ปรมัตถธรรมที่เป็นอาโปธาตุโดยนัยของสติปัฏฐาน

ดื่มน้ำ โดยสมมติ เพราะเห็นความไหล เกาะกุม เอิบอาบ แต่นั่นไม่ใช่ธาตุน้ำ เพราะว่าธาตุน้ำจริงๆ เป็นสุขุมรูป ซึ่งอยู่ภายในรูปที่กระทบสัมผัสทางกาย

ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ในกลาปหนึ่งๆ แยกออกจากกันไม่ได้เลย แต่ธาตุดินก็เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำก็เป็นธาตุน้ำ ธาตุไฟก็เป็นธาตุไฟ ธาตุลมก็เป็นธาตุลม อาศัยกันเกิดขึ้น เป็นสหชาตะ หมายความว่าเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ที่ใดที่มีธาตุดิน ที่นั้นมีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ใดมีธาตุไฟ ที่นั้นมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ที่ใดมีธาตุน้ำ ที่นั้นมีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ใดมีธาตุลม ที่นั้นมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ แยกจากกันไม่ได้เลย แม้แต่ในกลุ่มของรูป คือ กลาปที่เล็กที่สุดที่เป็นอณู หรือปรมาณู ก็จะปราศจากรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ๔ รูปนี้ไม่ได้ ซึ่งความจริงยังมี อุปาทายรูปอีก คือ รูปที่อาศัย ๔ รูปนี้เกิดอีก ๔ รูป รวมทั้งหมดเป็น ๘ รูปอย่างน้อยที่สุด ไม่มีใครสามารถไปแยกว่า ให้มีแต่ธาตุดิน ไม่ให้มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกัน

ถ. ลักษณะของธาตุน้ำปรากฏที่ไหน

สุ. ทางใจ เป็นสุขุมรูป สุขุมรูปทั้งหมดปรากฏได้เฉพาะทางใจ

ถ. ปรากฏอย่างไร

สุ. เวลาปรากฏ ก็ปรากฏตรงลักษณะ ซึ่งเป็นสภาพที่เกาะกุมซึมซาบ เอิบอาบ อยากรู้ไหม ไม่ต้องอยาก เพราะรูปที่กำลังปรากฏควรจะรู้ก่อน ถ้าอยากจะรู้ ก็ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่กำลังปรากฏ สติควรจะระลึกพิจารณารู้ชัดในลักษณะสภาพของสิ่งนั้น โดยไม่ต้องคิดถึงสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ

ลมหายใจปรากฏที่ช่องจมูก ใช่ไหม อยากจะรู้ฆานปสาท หรือกลิ่นไหม เพราะว่าถ้ากลิ่นจะปรากฏ ก็ปรากฏที่นั่น ที่ฆานปสาท เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เลือกว่า พอสิ่งนี้ปรากฏ ก็อยากจะไปรู้สิ่งโน้นซึ่งไม่ปรากฏ แล้วแต่อะไรปรากฏ ถ้าลมหายใจไม่ปรากฏที่ช่องจมูก ก็ไม่ต้องอยากรู้ลักษณะของลมหายใจ ซึ่งปรากฏโดยอาการของธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม แต่ไม่ใช่ธาตุน้ำ สิ่งที่ปรากฏทางกายตามความเป็นจริง จะไม่ใช่ลักษณะอาการของธาตุน้ำ

อาการต่อไปของธาตุน้ำ อาการที่ ๒๒ คือ

คำว่า เสมฺหํ คือ เสลด เสลดนั้น โดยสี มีสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ที่เยื่อของอุทร คือ กระเพาะอาหาร ในเวลาที่กลืนกินกับน้ำและข้าวเป็นต้น ซึ่งครั้นเมื่อน้ำและข้าวเป็นต้นตกไปอยู่ เสลดแยกช่องออก แล้วก็ปิด เหมือนจอกแหนในน้ำ ครั้นเมื่อไม้หรือกระเบื้องตกไป ก็แยกช่อง แล้วกลับปิดตามเดิม ฉันนั้นนั่นแหละ

อนึ่ง ครั้นเมื่อเสลดมีน้อย อุทรย่อมเป็นของน่ารังเกียจอย่างยิ่ง ย่อมเป็นกลิ่นของซากศพ ราวกะหัวฝีที่แตกแล้ว หรือราวกะฟองไข่เน่า เพราะกลิ่นที่ฟุ้งขึ้นไปจากอุทรนั้น เรอก็ดี ปากก็ดี เป็นกลิ่นเหม็นเช่นกับศพเน่า ก็บุรุษนั้นย่อมถึงซึ่งคำอันบุคคลพึงขับไล่ว่า ไป เจ้าส่งกลิ่นเหม็น ก็เมื่อเสลดเจริญมากขึ้นแล้ว ปกปิดกลิ่นซากศพภายในแห่งเยื่อของอุทร ราวกะแผ่นกระดานปิดวัจจกุฎี โดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นเสลด แต่วิสภาคปริจเฉท ก็เช่นกับเกสานั่นแหละ

จะเกิดมาจากไหน จะเป็นอย่างไร ก็ไม่ปรากฏ แต่มาปรากฏเฉพาะในเวลาที่มองเห็น ก็เป็นสภาพที่เป็นปฏิกูล น่ารังเกียจสภาพหนึ่ง

อาการที่ ๒๓ คือ

คำว่า ปุพฺโพ ได้แก่ น้ำเหลือง หรือน้ำหนอง ว่าโดยสี มีสีเหมือนขั้วใบไม้เหลือง แต่ในสรีระของผู้ตายมีสีดังแผ่นข้าวตังบูด คือ มีสีเหมือนน้ำข้าวบูดๆ ข้นๆ

ปฏิกูลไหม เวลานั้นเห็นชัด แต่เวลานี้ยังไม่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่เห็นว่า เป็นปฏิกูลอย่างนั้น

โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ โดยทิศ เกิดแล้วในทิศทั้ง ๒ แต่โดยโอกาส ชื่อว่า โอกาสของน้ำเหลืองตั้งอยู่กับที่เป็นนิจ ย่อมไม่มี ครั้นเมื่อส่วนแห่งสรีระอันตอไม้ หนาม เครื่องประหาร และเปลวไฟ เป็นต้น กระทบแล้ว โลหิตห้อขึ้น หรือว่าต่อมหัวฝี เป็นต้น เกิดขึ้นในที่ใดๆ น้ำเหลืองก็พึงก่อตัวตั้งขึ้นในที่นั้นๆ โดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นน้ำเหลือง นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำเหลืองนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

น้ำเหลืองไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา นอกจากเวลาที่เป็นแผล หรือว่ามีการกระทบกับหนาม เครื่องประหาร หรือว่าเปลวไฟ เป็นต้น

อาการต่อไป อาการที่ ๒๔

คำว่า โลหิตํ คือ เลือด อธิบายว่า โลหิต มี ๒ อย่าง คือ โลหิตที่ขังอยู่ และโลหิตที่ไหลวนเวียน บรรดาโลหิตเหล่านั้น โลหิตที่ขังอยู่ ว่าโดยสี มีสีดังน้ำครั่งข้นที่แก่ไฟ โลหิตที่ไหลวนเวียน มีสีดังน้ำครั่งใส โดยสัณฐาน แม้ทั้ง ๒ มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ โดยทิศ โลหิตที่ขังอยู่เกิดในทิศเบื้องบน โลหิตนอกนี้เกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส โลหิตที่ไหลวนเวียน เว้นที่นอกจากเนื้อของเกสา โลมา นขา ทันตา และหนังที่แข็งและแห้ง ตั้งแผ่ไปสู่สรีระที่มีใจครอง ตามข่าย คือ เส้นเลือด โลหิตที่ขังอยู่ตั้งอยู่เต็มส่วนเบื้องล่างแห่งที่ของตับ ค่อยๆ ไหลไปเบื้องบน ซึมไต หัวใจ ตับและปอด ยังไต หัวใจ ตับ และปอดให้ชุ่มอยู่ ก็ครั้นเมื่อโลหิตที่ขังอยู่ไม่ยังไตและหทัยเป็นต้นให้ชุ่มอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้กระหาย ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นโลหิต นี้เป็นสภาคปริจเฉทของโลหิตนั้น แต่โดยวิสภาคปริจเฉท ก็เช่นกับเกสานั่นแหละ

อาการต่อไป คือ อาการที่ ๒๕

คำว่า เสโท คือ เหงื่อ ได้แก่ อาโปธาตุที่ไหลออกไปจากขุมขน เป็นต้น

นี่เป็นอาการธรรมดาที่ปรากฏ ซึ่งทุกคนรู้จักดี

เสโทนั้น ว่าโดยสี มีสีดังน้ำมันงาใส โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส ชื่อว่า โอกาสของเสโทนั้นเป็นของตั้งอยู่ เนืองนิตย์ทุกเมื่อเหมือนโลหิตหามิได้

คือ ไม่ได้มีเหงื่อประจำตลอดเวลา

แต่เมื่อใดร่างกายย่อมร้อนด้วยไฟ แสงแดด และความเปลี่ยนของอุตุ เป็นต้น เมื่อนั้นเสโทย่อมไหลออกจากช่องเกสา โลมา ทั้งปวง

ที่ศีรษะก็เปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อเหมือนกัน เวลาที่ร้อนจัดๆ

ราวกะกำดอกบัวที่บุคคลดึงออกแล้วจากน้ำ มีรากเหง้าขาดไม่เสมอกัน น้ำก็จะไหลออกไป ฉันนั้น เพราะฉะนั้น แม้สัณฐานของเสโทนั้น ก็พึงทราบด้วยสามารถแห่งช่องขุมเกสา โลมา นั่นแหละ อนึ่ง อันพระโยคี ผู้กำหนดเสโทเป็นอารมณ์ พึงมนสิการเสโทด้วยสามารถแห่งการที่เสโทนั้นตั้งอยู่เต็มช่องขุมเกสา โลมา นั่นแหละ โดยปริจเฉท กำหนดส่วนที่เป็นเสโท นี้เป็นสภาคปริจเฉทของเสโทนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

อาการที่ ๒๖ อาการของธาตุน้ำ

คำว่า เมโท คือ มันข้น มันข้นนั้น ว่าโดยสี มีสีดังขมิ้นที่ผ่าแล้ว

เวลาไปซื้อเนื้อที่ตลาด จะเห็นมันส่วนต่างๆ ของสัตว์ ฉันใด ในร่างกายของเราเองก็มี ฉันนั้น และเป็นปฏิกูลด้วย

โดยสัณฐานของคนอ้วนก่อน มีสัณฐานดังผ้าทุกูลเก่า คือ ผ้าที่ทำด้วยเปลือกเนื้อไม้อย่างดี มีสีขมิ้นติดอยู่แล้วในระหว่างหนังกับเนื้อ ของคนผอมมีสัณฐานดัง ผ้าทุกูลเก่า มีสีขมิ้นที่เขาทำเป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้น ติดอยู่ โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ มันข้นนี้ แม้ถึงซึ่งการนับว่าเป็นน้ำมัน เพราะความที่เป็นของน่ารังเกียจอย่างยิ่ง ชนทั้งหลายย่อมไม่ถือเอาเพื่อต้องการให้เป็นน้ำมันทาศีรษะ (ไม่มีใครต้องการเอาไปใช้ประโยชน์ เพราะเป็นของปฏิกูล จะทาผม จะใส่ศีรษะก็ไม่ได้) และเพื่อเป็นน้ำมันทาจมูก (ก็ไม่มีใครสนใจที่จะใช้อย่างนั้นด้วย) โดยปริจเฉท เบื้องต่ำกำหนดด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง มีมันข้นอยู่ระหว่างกลางเนื้อกับหนัง เบื้องขวางกำหนดด้วยส่วนที่เป็นมันข้น นี้เป็นสภาคปริจเฉทของมันข้นนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท ก็เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

ต่อไปเป็นอาการที่ ๒๗

คำว่า อสฺสุ คือ น้ำตา ได้แก่ อาโปธาตุที่ไหลออกไปจากดวงตาทั้งหลาย น้ำตานั้น ว่าโดยสี มีสีดังน้ำมันงาใส โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ในเบ้าตาทั้งหลาย แต่น้ำตานั้นไม่ขังอยู่ใน เบ้าตาทุกเมื่อ แต่เมื่อใดสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีโสมนัสเกิดแล้ว ย่อมหัวเราะมาก เป็น ผู้ที่มีโทมนัสเกิดแล้ว ย่อมร้องไห้ ย่อมคร่ำครวญ โดยทำนองเดียวกัน ย่อมกลืนกินอาหารอันเป็นพิษ หรือเมื่อใดดวงตาทั้งหลายเหล่านั้นย่อมกระทบกับควันไฟ ธุลี หรือฝุ่น เป็นต้น เมื่อนั้นน้ำตาตั้งขึ้นจากโสมนัส โทมนัส อาหารอันเป็นพิษ และฤดู คือ อุตุหรือความร้อนทั้งหลาย แล้วยังเบ้าตาให้เต็มอยู่ หรือว่าย่อมไหลออกไป ก็ พระโยคีผู้กำหนดน้ำตาเป็นอารมณ์ พึงกำหนดด้วยสามารถแห่งน้ำตาตั้งอยู่เต็มเบ้า โดยปริจเฉท กำหนดส่วนที่เป็นน้ำตา นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำตานั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

ควรจะใช้น้ำตาให้เป็นประโยชน์ได้แล้ว แทนที่จะให้หมดไปเปล่าๆ หรือว่าเวลามีน้ำตาเกิดขึ้นเต็มเบ้า ถ้าไม่เคยฟัง น้ำตานั้นก็จะไหลออกไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่เวลาที่ฟังแล้ว ไม่ลืม จำได้ รู้ว่าเป็นลักษณะของความเป็นปฏิกูลส่วนหนึ่งของกาย หรือว่าสติจะระลึกในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นที่กำลังปรากฏที่กระทบกายก็ได้ แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึกเป็นไปโดยนัยของสมถภาวนา หรือว่าโดยนัยของสติปัฏฐาน ต่อไปจะได้ไม่ต้องเสียดายน้ำตาไปเปล่าๆ เพราะมีประโยชน์สำหรับการที่จะให้พิจารณาว่า เป็นปฏิกูล หรือว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ถ. ไม่เห็นว่าน้ำตาเป็นปฏิกูล

สุ. ชอบหรือ

ถ. ไม่ชอบ

สุ. แสดงแล้วว่าเป็นอย่างไร ปากบอกว่าไม่เป็นปฏิกูล แต่ในขณะนั้นก็ ไม่ชอบน้ำตา ถ้าไม่เป็นปฏิกูลก็ควรจะชอบ ก็ต้องเป็นของดี ของที่ทุกคนต้องปรารถนาอยากจะได้ แต่ถ้าให้ก็ไม่เอา น้ำยังจะเอา แต่ว่าน้ำตาไม่เอา เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะปฏิกูล ปฏิกูลหรือยัง เหงื่อปฏิกูลหรือยัง มองไม่เห็นว่าเป็นปฏิกูล โดยกลิ่น โดยสี แต่ความจริงต้องมีอาการที่เป็นปฏิกูล แต่ว่าน้อย และไม่ได้พิจารณา ถ้าพิจารณาบ่อยๆ ก็จะเห็นความเป็นปฏิกูลมากขึ้น แต่ที่กล่าวว่า ไม่เอา หรือว่า ไม่ชอบ ก็แสดงลักษณะอาการที่เป็นปฏิกูลแล้ว

อาการต่อไป อาการที่ ๒๘

คำว่า วสา คือ มันเหลว มันเหลวนั้น โดยสี มีสีดังน้ำมันมะพร้าว แม้การกล่าวว่า มีสีดังน้ำมันที่ราดในข้าวตังก็ควร โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังการแผ่ไปแห่งหยาดน้ำมันที่ลอยอยู่เบื้องบนน้ำใสในการแม้เป็นที่ชำระล้าง

เวลาล้างอะไรที่ไม่สะอาด มีน้ำมันที่ลอยอยู่ข้างบน ก็เป็นลักษณะอาการของมันเหลว ซึ่งมีอยู่ในร่างกาย

โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส โดยมากตั้งอยู่ที่ฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า หลังเท้า โพรงจมูก หน้าผาก และจะงอยบ่า

อนึ่ง น้ำมันเหลวนั้น ไม่เป็นมันเหลวตั้งอยู่ทุกเมื่อในโอกาสเหล่านั้น แต่เมื่อใดประเทศ คือ ที่ที่มีฝ่ามือเป็นต้นเหล่านั้น เกิดความร้อนขึ้นจากไฟ แสงแดด อุตุ คือ ฤดู อากาศไม่เสมอกัน และธาตุไม่เสมอกัน เมื่อนั้นน้ำมันเหลวนั้นย่อมซ่านไป ข้างโน้นและข้างนี้ ราวกะการแผ่ไปของหยดน้ำมันเบื้องบนน้ำใสในการที่เป็นที่ชำระล้างนั้น ว่าโดยปริจเฉท กำหนดในส่วนที่เป็นมันเหลว นี้เป็นสภาคปริจเฉทของมันเหลวนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท ก็เป็นกับเกสานั่นแหละ

อาการต่อไป อาการที่ ๒๙

คำว่า เขโฬ คือ น้ำลาย ได้แก่ อาโปธาตุที่เจือกันเป็นฟองภายในปาก น้ำลายนั้น โดยสี มีสีขาวดังสีฟองน้ำ โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ แม้การกล่าวว่า มีสัณฐานดังฟองน้ำก็ควร โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส หยั่งลงที่กระพุ้งแก้มทั้งสอง แล้วก็ตั้งอยู่ที่ลิ้น

อนึ่ง น้ำลายนั้นไม่ขังอยู่ทุกเมื่อในที่นั้น แต่เมื่อใดสัตว์ทั้งหลายย่อมเห็นอาหาร หรือว่าย่อมระลึกถึงอาหารนั้น หรือว่าย่อมวางอะไรๆ สิ่งที่ร้อน สิ่งที่มีรสขม รสเผ็ด เปรี้ยว เค็มในปาก หรือว่าหทัยของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมอ่อนเพลีย หรือความรังเกียจในสิ่งอะไรๆ เกิดขึ้น เมื่อนั้นน้ำลายเกิดขึ้นแล้ว จึงหยั่งลงที่กระพุ้งแก้มทั้งสอง แล้วขังอยู่ที่ลิ้น อนึ่ง ที่ปลายลิ้นย่อมมีน้ำลายจาง คือ มีน้อย ที่โคนลิ้นมีน้ำลายหนา คือ มีมาก น้ำลายนั้นย่อมไม่ถึงซึ่งความสิ้นไป คือ ไม่รู้หมด สามารถเพื่อยังข้าวเม่าซึ่งใส่เข้าไปในปาก หรือว่าข้าวสาร หรือว่าของที่ควรเคี้ยวอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชุ่มอยู่ราวกะบ่อน้ำที่เขาขุดแล้วในทรายใกล้น้ำ โดยปริจเฉท กำหนดส่วนที่เป็นน้ำลาย นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำลายนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท ก็เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

จริงไหม น้ำลายไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เวลานี้ใครมีบ้าง ถ้ามี ทราบไหมว่าเพราะอะไรจึงมี เวลาที่เห็นอาหาร หรือว่าระลึกถึงอาหาร หรือว่าวางอะไรๆ ที่มีรสขม รสเผ็ด รสเปรี้ยว เค็มในปาก หรือว่าเวลาที่อ่อนเพลีย ไม่สบาย หรือในขณะที่มีความรังเกียจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ในขณะนั้นจะเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดน้ำลายขึ้น และขังอยู่ที่ลิ้น ที่ปลายลิ้น ตลอดเวลาที่รับประทานอาหาร น้ำลายก็ออกมาเรื่อยๆ ไม่รู้หมด สามารถที่จะยังข้าวที่ใส่เข้าไปในปาก หรือว่าของที่ควรเคี้ยวอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชุ่มอยู่ราวกะบ่อน้ำที่เขาขุดแล้วในทรายใกล้น้ำ

ขณะนี้ไม่มีใครขุด แต่ก็มีน้ำลายเกิดขึ้นตามควร ปฏิกูล น่ารังเกียจ

เปิด  183
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566