แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 792

ถ. แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนที่ว่า เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียว ก็มีบางคนได้บรรลุผลถึงนิพพิทาญาณ

สุ. ที่ไหน ในพระไตรปิฎก หรือในอรรถกถาส่วนไหน

ถ. ผู้ปฏิบัติ

สุ. ผู้ปฏิบัติ ต้องปรากฏเป็นหลักฐานในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา

ถ. ไม่มี

สุ. ถ้าไม่มี จะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้นั้นได้บรรลุผล ใครพยากรณ์

ถ. อาจารย์ของเขา

สุ. ปัญญาของผู้นั้นจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นลักษณะ

ที่ต่างกันได้อย่างไร เพราะว่าปัญญาต้องสมบูรณ์ตามขั้น ก่อนที่จะถึงนิพพิทาญาณ จะต้องเริ่มด้วยนามรูปปริจเฉทญาณ

ถ. ข้อนี้เขาเข้าใจ

สุ. เข้าใจไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเข้าใจ แต่เป็นเรื่องที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่เพียงเข้าใจ เวลานี้ทุกท่านเข้าใจแล้วว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ทุกท่านเข้าใจแล้ว แต่การประจักษ์ ต้องอาศัยอบรมเจริญอย่างไร ซึ่งเวลาที่สภาพธรรมปรากฏในลักษณะที่เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ ในขณะนั้นไม่ใช่ขั้นฟังแล้วเข้าใจ

ถ. ขั้นฟังนี้ เขาฟังและก็เข้าใจ เวลาปฏิบัติเขาก็ผ่านแล้ว นามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่ตัวผม เพราะฉะนั้น ผมก็ไม่รู้

สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ต้องตื่นเต้นกับเรื่องการผ่านของคนอื่น แต่ต้องเป็นปัญญาของท่านผู้ฟังเองที่จะต้องรู้ว่า การที่จะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นที่เป็นวิปัสสนาญาณนั้น คือ การประจักษ์สภาพของนามธรรมที่กำลังเห็น กำลังได้ยินตามปกติ สภาพของรูปธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนั้น ทีละอย่าง ทางมโนทวาร และจะรู้ได้ว่า นามรูปปริจเฉทญาณนั้น มิใช่มีนามธรรมอย่างเดียวปรากฏ และไม่ใช่มีรูปธรรมอย่างเดียวปรากฏด้วย เพราะเหตุไร เพราะว่าขณะนี้มีเห็น มีได้ยิน มีสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เพราะฉะนั้น ถ้าวิปัสสนาญาณเกิด ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ จะมีแต่นามธรรมเดียวไม่ได้ จะมีแต่รูปธรรมเดียวปรากฏไม่ได้ เพราะสิ่งที่ปรากฏรวมกันอยู่เวลานี้ ปรากฏโดยแยกลักษณะแต่ละลักษณะทีละอย่าง แต่ว่าเป็นสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

ถ. ผู้ที่ปฏิบัติจนกระทั่งได้ถึงนิพพิทาญาณ ข้อปฏิบัติของเขา คือ การดูรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน ปฏิบัติไปจนกระทั่งได้นิพพิทาญาณ ก็สงสัยว่า รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน เขาไปดูกันอย่างไร ปฏิบัติกันอย่างไร จึงได้บรรลุถึงนิพพิทาญาณ

สุ. นามรูปปริจเฉทญาณของท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน เป็นอย่างไร เมื่อไม่รู้ จะถึงนิพพิทาญาณไม่ได้

เรื่องของการรู้จริง จะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ให้รู้ เวลานี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา จริงแล้วหรือยัง รู้จริงๆ ว่าเป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตา หรือว่ายังเห็นเป็นคนกำลังนั่ง ยังเห็นเป็นเก้าอี้กำลังตั้ง เวลาที่มีความจำในสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะลักษณะของรูปธรรมไม่ได้แยกปรากฏแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดยังคงประชุมควบคุมเป็นท่าทางอยู่ ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของรูปปรมัตถ์ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่อาศัยพื้นดิน ท่านยืนหรือท่านนอน เป็นท่าทางใช่ไหม แต่ว่ายืนหรือนอน ถ้าไม่อาศัยพื้นดินบอกได้ไหมว่า ยืนหรือนอน

ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค คิลานวรรคที่ ๒ ปาณูปมสูตร ข้อ ๔๐๙

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง สำเร็จอิริยาบถ ๔ คือ บางคราวก็เดิน บางคราวก็ยืน บางคราวก็นั่ง บางคราวก็นอน สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงสำเร็จอิริยาบถ ๔ นั้น อย่างนั้นแหละ …

ถ้าไม่มีแผ่นดิน บอกไม่ได้เลยว่ายืนหรือนอน ใช่ไหม แต่เมื่อรูปประชุมรวมกันและก็ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในอาการหนึ่งอาการใด ซึ่งใช้คำว่าอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรือสัตว์บุคคลก็ตาม จะตั้งอยู่ จะนอนลงก็ตาม เวลาที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะต้องรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏแต่ละทางตามความเป็นจริง

รูปที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ทรงจำว่า เป็นท่าทางอะไรทั้งหมด สัณฐานทั้งหมด จึงจะรู้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เวลาที่มีลักษณะของรูปปรากฏที่กาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ขณะนั้นเป็นท่าทางอะไรหรือเปล่า ในเมื่อลักษณะที่เย็นปรากฏเพียงลักษณะที่เย็น จึงไม่ใช่ท่าทางที่ควบคุมประชุมเป็นวัตถุ เป็นบุคคล เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะสภาพที่เย็นปรากฏให้รู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงสภาพที่เย็นเท่านั้น จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทางโดยความเป็นรูปจริงๆ จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้ เมื่อไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ จะถึงนิพพิทาญาณต่อไปไม่ได้

ถ. ในสัมปชัญญบรรพท่านแสดงไว้ว่า เรายืนก็รู้ว่าเรายืน เดินก็ให้รู้ว่าเราเดิน นั่งก็ให้รู้ว่าเรานั่ง หรือว่าคู้เข้า เหยียดออก อะไรก็ให้รู้ คำว่า เราเดินก็ให้รู้ว่าเราเดิน รู้ขณะที่เดินชื่อว่า ปฏิบัติรูปเดินได้ไหม

สุ. ถ้าไม่มีรูป เดินจะมีไหม

ถ. ไม่มีรูป ก็มีแต่อากาศ เดินไม่ได้

สุ. ถ้าไม่มีขา เดินได้ไหม

ถ. ถ้าไม่มีขา กลิ้งได้

สุ. เดินได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. เพราะฉะนั้น ที่จริงแล้ว เวลาที่กำลังเดิน มีรูปปรากฏให้รู้ แต่ไม่ใช่ท่าทาง

ถ. รูปอะไร รูปเดินหรือเปล่า

สุ. แล้วแต่ รูปอะไรก็ได้ที่กำลังปรากฏโดยไม่เจาะจง โดยไม่จงใจ ไม่ใช่นึกสร้างเป็นท่าเป็นทางกำลังเดินขึ้น นั่นเป็นความทรงจำ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ที่ปรากฏในขณะที่เดิน เดินเดี๋ยวนี้ก็ได้ มีรูปอะไรปรากฏ โดยไม่จงใจที่จะรู้ ลักษณะของรูปนั้น ก็เกิดปรากฏตามเหตุตามปัจจัยตามความเป็นจริง

ถ. นี่เขาจงใจ เพราะในอรรถกถาท่านอุปมาไว้ว่า เข้าประตูใดประตูหนึ่งก็ถึงใจกลางเมืองเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เขาก็เจริญเฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเดียวเท่านั้น ปัฏฐานอื่นๆ เขาไม่ต้องการ

สุ. นี่เป็นการอ่านอรรถกถาโดยที่ไม่ได้เข้าใจอรรถว่า ปัญญาที่จะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตนได้จริงๆ นั้น ปัญญาต้องรู้อะไร ไม่ใช่มีแต่รูป นามธรรมก็มี และถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ก็ยังคงยึดถือสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตนอยู่

ในขณะที่เดินก็รู้ว่าเราเดิน โดยพยัญชนะ ไม่มีเราตามความเป็นจริง แต่มีรูป เพราะฉะนั้น สติและปัญญาระลึกรู้ลักษณะของรูปในขณะที่เดิน แต่ว่าจะบังคับจิตให้รู้รูปอยู่ตลอดเวลาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสภาพของนามธรรมก็มี และยึดถือนามธรรมว่าเป็นตัวตนด้วย

เพราะฉะนั้น การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จึงต้องละด้วยการรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของทั้งนามธรรมและรูปธรรม

ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมุททวรรคที่ ๓ อุทายีสูตร ข้อ ๓๐๐ ท่านผู้ฟังจะเห็นการประพฤติปฏิบัติธรรมในครั้งพุทธกาลว่า ชีวิตของบุคคลในครั้งพุทธกาลก็ไม่ต่างกับบุคคลในสมัยนี้ คือ มีทั้งผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญู สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยรวดเร็ว มีทั้งที่เป็นวิปจิตัญญู เมื่อได้ทรงแสดงธรรมขยายโดยละเอียด ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ มีทั้งผู้ที่เป็นเนยยบุคคล ผู้ที่ศึกษามาก ฟังมาก อบรมมาก และรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ และมีทั้งผู้ที่เป็นปทปรมบุคคล ผู้ที่ถึงแม้ว่าจะศึกษามาก กล่าวสอนมากอย่างไรก็ตาม แต่ในชาตินั้นไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม

เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ใช่สิ่งที่รู้ยากเฉพาะในปัจจุบันนี้ ในขณะนี้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เป็นสภาพธรรมที่รู้ยาก และก็มีการถามตอบเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้อง

ใน อุทายีสูตร ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระอุทายีอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้นแลเป็นเวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า

ดูกร ท่านพระอานนท์ กายนี้พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วโดยปริยายต่างๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ กายนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ ท่านอาจจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ฉันนั้นหรือ ฯ

เห็นไหมว่า ถ้าไม่รู้เรื่องของนามธรรม ก็ยังไม่หมดความสงสัย เมื่อยังสงสัยอยู่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างไร จะเข้าประตูไหน เพราะประตูที่ว่านี้หมายความถึงขณะที่โลกุตตรจิตจะเกิดรู้แจ้งนิพพาน ผู้ที่มีความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม บรรลุวิปัสสนาญาณเป็นลำดับแล้ว ขณะที่โลกุตตรจิตจะเกิด ซึ่งก่อนที่ โลกุตตรจิตเกิด กามาวจรจิตต้องเกิดก่อน แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นมีสติปัฏฐานใดใน ๔ สติปัฏฐานเป็นอารมณ์ จะมีกายเป็นอารมณ์ก็ได้ อย่างท่านพระอานนท์ ท่านเป็นผู้ที่ชำนาญในฌานมาก ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ เวลาที่ท่านจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าเป็นบุคคลที่เป็นพระมหาสาวก และกล่าวว่าเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยมากจะเป็นการรู้ลักษณะของลมหายใจซึ่งเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อานาปานบรรพ แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านผู้นั้นไม่รู้ลักษณะของนาม ไม่รู้เวทนา ไม่รู้สัญญา ไม่รู้สังขาร ไม่รู้วิญญาณ และก็จะไปเข้าประตู คือ บรรลุอริยสัจธรรม รู้แจ้งนิพพานได้ แต่หมายความว่า ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยทั่ว โดยตลอด วิปัสสนาญาณสมบูรณ์ตามลำดับ จนกระทั่งขณะที่โลกุตตรจิตจะเกิด ซึ่งแล้วแต่ว่าท่านผู้นั้นมีกายเป็นอารมณ์ หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรมเป็นอารมณ์

เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่า แม้ในขั้นต้นก็ไม่ต้องรู้อะไรเลย เพียงแต่จะไปรู้กายอย่างเดียว ก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ท่านพระอุทายี ท่านก็มีความเข้าใจในเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของกายว่า กายนี้พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วโดยปริยายต่างๆ ว่า

โดยปริยายต่างๆ คือ ความละเอียดที่จะให้เห็นว่า กายนั้นไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล แล้วแต่ว่าสิ่งที่ปรากฏจะเป็นรูปที่ปรากฏที่กาย ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

แม้เพราะเหตุนี้ กายนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ ท่านอาจจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ฉันนั้นหรือ ฯ

ยากที่จะเข้าใจ กว่าจะเข้าใจได้ ต้องทั้งบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น

ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นขณะนี้เอง กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งกระทบสัมผัส กำลังคิดนึก มีอยู่เป็นประจำ แต่ช่างยากที่จะเข้าถึงอรรถของสภาพธรรมซึ่งเป็นเพียงสภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็เป็นสภาพรู้ ทางหูก็คือรู้ รู้เสียง ทางตาก็คือรู้ รู้สิ่งที่ปรากฏ คือ เห็น ทางจมูกก็คือรู้ รู้กลิ่นที่กำลังปรากฏ แต่ก็ยากเหลือเกินที่จะประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมนั้น

ข้อความต่อไป

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

ดูกร ท่านพระอุทายี กายนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้ว โดยปริยายต่างๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ กายนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ผมอาจบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ฉันนั้น ฯ

ถ้าท่านพระอานนท์ไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ได้เป็น พระโสดาบันบุคคล รู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมโดยทั่ว โดยตลอด จนกระทั่งละความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ท่านพระอานนท์คงจะกล่าวกับท่านพระอุทายีไม่ได้ว่า ผมอาจบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น บุคคลใดบรรลุธรรมใด ธรรมนั้นย่อมปรากฏกับบุคคลนั้น

เวลานี้สภาพธรรมเกิดขึ้นและก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าบุคคลใดยังไม่บรรลุธรรมใด ธรรมนั้นก็ไม่ปรากฏกับบุคคลนั้น อย่างลักษณะของนามธรรมนี้ ทั้งๆ ที่บอกกัน สักเท่าไรว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน แต่ถ้าบุคคลนั้นยังไม่บรรลุธรรมใด ธรรมนั้นก็ไม่ปรากฏกับบุคคลนั้น แต่เมื่อธรรมปรากฏกับบุคคลนั้นแล้ว บุคคลนั้นก็รู้ในลักษณะที่แท้จริงของธรรมนั้น

เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์ไม่ได้มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมเลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เปิด  220
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566